‘กมธ.ศึกษา’ จี้ สกอ.สางปัญหามหา’ลัย ‘เถื่อน-นายหน้าค้ากศ.-จ่ายครบจบแน่’

25 กรกฎาคม 2556

AST Vผู้จัดการรายวัน – กมธ.ศึกษาเร่งสางปัญหามหา’ลัยเถื่อน นายหน้าค้าการศึกษาต่างประเทศ การแก้เกรด เข้าที่ประชุมสภา 1 ส.ค.นี้จ่อฟันวลี “จ่ายครบจบแน่” หลังหมักหมมมานานไม่มีข้อกฎหมายกำกับดูแล เผย สกอ.เร่งผุด พ.ร.บ.อุดมศึกษาคุมค่าเทอม หวั่นผู้ปกครองเดือดร้อน

วานนี้ (24 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) นายประกอบ รัตนพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ว่า ในการหารือเรื่องการพัฒนาการศึกษาร่วมกับผู้บริหาร สกอ. ซึ่งที่ประชุมหารือถึงปัญหาต่างๆ ของอุดมศึกษาโดยเฉพาะกรณีมหาวิทยาลัยเปิดสอนโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก สกอ. หรือมหาวิทยาลัยเถื่อนรวมถึงปัญหาคนไทยไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ที่ไม่ได้รับการรับรองจาก สกอ.และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ทำให้เมื่อได้วุฒิมาก็ไม่สามารถนำไปใช้ในการสมัครงาน หรือเข้ารับราชการหรือปรับวุฒิเงินเดือนได้ ทำให้เสียเวลา เสียเงิน และเสียโอกาส เป็นการสร้างความเสียหาย ดังนั้น กมธ.ขอให้ สกอ.ประชาสัมพันธ์ว่า มหาวิทยาลัยใดหรือหลักสูตรใดบ้างที่ สกอ.รับรอง ทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ผู้ที่จะสมัครเข้าเรียนได้รู้ และไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของนายหน้าค้าการศึกษาโดย สกอ.จะต้องปรับตัวมาทำงานในเชิงรุกมากขึ้นไม่ใช่ทำงานเชิงรับอย่างเดียว

ส่วนกรณีอธิการบดีของสจล.แก้เกรดให้ลูกชาย นั้น นายประกอบ กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ทางสภาสถาบันฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ โดยได้ขอความร่วมมือ จาก สกอ.เพื่อส่งนิติกรเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพิ่มเติมแต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรยังไม่ชัดเจน แต่หากเป็นเรื่องจริง คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าละอายมากไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้อุดมศึกษาเกิดความเสียหาย ซึ่งทางฝ่ายนิติบัญญัติ คงไม่ยอม อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญวันที่ 1 ส.ค.นี้ ตนจะนำปัญหาดังกล่าวหารือต่อสภาฯ รวมถึงภาพรวมของปัญหาอุดมศึกษา ทั้งเรื่องจ่ายครบ จบแน่ ซึ่งมีปัญหาทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ และเอกชนเพราะไม่มีกฎหมายกำกับดูแล โดยขณะนี้ทางสกอ.กำลังร่าง พ.ร.บ.อุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภาพรวม โดยเฉพาะกรณีค่าหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยทั้งรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับและมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งแพงขึ้นกว่าเดิมมาก

“สิ่งที่น่ากังวล คือ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ภาครัฐตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับและ สกอ. เองก็ออกมายอมรับแล้วว่า รัฐบาลได้มีนโยบายในการควบคุมเรื่องดังกล่าว ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต้องถือว่ามหาวิทยาลัยได้เปรียบมาก เพราะนอกจากไม่ต้องนำรายได้เข้ากระทรวงการคลัง แล้วยังมีอิสระในการบริหารจัดการและมีอิสระในการขึ้นค่าเล่าเรียน โดยจะเห็นว่าสภามหาวิทยาลัยเองมักจะมีความเห็นสอดคล้องไปกับฝ่ายบริหารเสมอ และขณะนี้ไม่ใช่แต่ ม.ในกำกับเท่านั้นแม้แต่ ม.รัฐเองก็ขึ้นค่าเล่าเรียนเช่นกัน โดยถึงแม้จะมีเหตุผลเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจที่สูงขึ้นแต่ก็ไม่ควรไปเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองมากนักดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายกลางขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ไม่ปล่อยให้ขึ้นค่าเทอมได้อย่างเสรี เพราะขณะนี้ผู้ปกครองเดือดร้อนมาก” นายประกอบกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33462&Key=hotnews