24 กรกฎาคม 2556
ก.พ.ชงปรับฐานเงินเดือนข้าราชการปี 57 หวังแก้ ปัญหาค่าตอบแทนลักลั่นของหน่วยงานภาครัฐ เสนอขยับเพดานระดับผู้บริหารเปิดช่องระดับล่างขยับขึ้น เผยนายกฯ เข้าข่ายได้รับการปรับด้วย
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องเปรียบเทียบค่าตอบแทนทุกส่วนทั้งภาคราชการ เอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และองค์กรมหาชน แล้วเสนอกลับมาอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาทบทวนความเหมาะสมของค่าตอบแทนของผู้บริหาร และบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ กล่าวว่า กรณีหลายองค์กรเสนอเรื่องขอปรับ ค่าตอบแทนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เกรงว่าจะเกิดความลักลั่น จึงตั้งกรรมการชุดนี้ ขึ้นซึ่งประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ก.พ.เสนอข้อมูลเบื้องต้นว่าข้าราชการประเภทต่างๆ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และองค์กรอิสระปัจจุบัน ได้รับการจ่ายค่าตอบแทนเท่าไร รวมถึงเงินประจำตำแหน่งในรูปค่าตอบแทนพิเศษ เงินเพิ่ม สวัสดิการ ซึ่งแต่ละหน่วยงาน มีกฎหมายกำหนดเองได้
“แต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่ให้อำนาจเสนอเรื่องเงินเดือน และเงินค่าตอบแทนรูปแบบต่างๆ มายังครม.ทำให้เกิดปัญหา แต่เดิมต้องผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) แต่ต่อมาได้แยกและเสนอ ขอแก้ไขกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ไม่มีหน่วยงานกลางดูแลจึงเกิดการลักลั่น ปัญหา ที่พบคือมีเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งเท่ากัน แต่บางกลุ่มมีเงินอื่นๆ เพิ่มเช่นค่าตอบแทนพิเศษ เบี้ยขยัน เป็นต้น” เลขาธิการ ก.พ.กล่าว
เขากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรและหน่วยงานภาครัฐต้องให้ความร่วมมือ แม้แต่ละองค์กรจะมีอำนาจพิจารณาแต่ก็ควรมีข้อเสนอไม่ควรให้เกิดความแตกต่างหรือมีความเหลื่อมล้ำ ส่วนของเงินเดือนข้าราชการในภาพรวม เนื่องจากไม่ได้ปรับมานานทำให้เพดานเงินเดือนปัจจุบันค่อนข้างต่ำ ข้าราชการเริ่มที่ 15,000 บาท ปลัดกระทรวงสูงสุดอยู่ที่ 69,000 บาท ประกอบกับเมื่อมีการปรับฐานแรกเข้ารับราชการ 15,000 บาทไปแล้ว เพดานเงินเดือนด้านบนจะเหมือนถูกบีบให้แคบลงในการบริหารจัดการ จึงต้องขยับเพดานของระดับผู้บริหารที่อยู่ด้านบน เปิดกรอบเพดานเงินเดือนของข้าราชการระดับรองลงมาให้ขยับขึ้น แต่เนื่องจากต้องใช้งบจำนวนมาก จึงมีความเห็นหลายแนวทาง
ที่ผ่านมา การพิจารณาระบบค่าตอบแทนจะพิจารณาจากตำแหน่งและเงินเดือนระนาบเดียว ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยฝ่ายบริหารสูงสุด คือ นายกรัฐมนตรี ส่วนนิติบัญญัติคือประธานสภา และฝ่ายตุลาการคือประธานศาลฎีกา
โดยคาดว่า การศึกษาโครงสร้างเงินเดือน ราชการจะแล้วเสร็จต้นปี 2557 และคาดว่าจะ กระทบหลายฝ่าย โดยเฉพาะบัญชีค่าตอบแทน ของฝ่ายการเมืองคือนายกรัฐมนตรีที่จะขยับ ขึ้นด้วย เพราะนายกฯอยู่ในตำแหน่งสูงสุด ฝ่ายบริหารคือทั้งของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ดังนั้นถ้าไม่ขยับเงินเดือนของนายกฯ ตำแหน่งอื่นๆ ก็จะขยับไม่ได้แก้ปัญหา ค่าตอบแทน ลักลั่นของ หน่วยงานรัฐ
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33448&Key=hotnews