อึ้ง! 30 เขตพื้นที่ไร้ ‘ผู้อำนวยการ’ ทำ ‘ผลการเรียนต่ำ-บริหารงานย่ำแย่’

8 พฤษภาคม 2556

อึ้ง! 30 เขตพื้นที่ไร้ ‘ผู้อำนวยการ’ ทำ ‘ผลการเรียนต่ำ-บริหารงานย่ำแย่’ สพฐ.เล็งทบทวนวิธีตั้ง’รก.ผอ.’ใหม่

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รายงานความคืบหน้าเรื่องการติดตามและประเมินผลด้านประสิทธิภาพการทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่ง สพฐ.ได้จัดทำระบบติดตามประสิทธิภาพการทำงานของเขตพื้นที่ฯ แบบเจาะลึกในกลุ่มที่ยังไม่มีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ตัวจริงประมาณ 30 เขต พบปัญหาการบริหารงานด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิชาการ เมื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจากการสอบประเมินคุณภาพการศึกษา (Nation Test) มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ และยังพบว่าระบบการ นิเทศก์ หรือการติดตามประเมินผลของเขตพื้นที่ฯ กลุ่มนี้ ไม่ตื่นตัว รวมถึงทักษะด้านเทคโนโลยีของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว อยู่เกณฑ์ปานกลางถึงต่ำ

“นอกจากนี้ การดูแลโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ทั้งเรื่องอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ด้านการเรียนการสอนที่ชำรุดเสียหาย ก็ดำเนินการล่าช้า ที่สำคัญตัวชี้วัดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเรื่องอัตราการออกกลางคัน พบว่าระบบการแนะแนวยังไม่ดีพอ และความสัมพันธ์ระหว่างเขตพื้นที่ฯ กับเครือข่ายผู้ปกครองยังไม่ดี จากปัญหาดังกล่าว สพฐ.จะนำมาสร้างความเข้มแข็งให้กับเขตพื้นที่ฯ เหล่านี้ต่อไป”  นายชินภัทรกล่าว
นายชินภัทรกล่าวอีกว่า จากนี้คงต้องทบทวนระบบวิธีการตั้งรักษาการผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ เพราะที่ผ่านมามักเลือกผู้ที่อาวุโส แต่ไม่ได้คำนึงภาวะผู้นำ ส่วนการแก้ปัญหาเขตพื้นที่ฯ ที่ยังไม่มีผู้อำนวยการตัวจริงนั้น คงต้องพยายามกระตุ้นเตือน และเป็นพี่เลี้ยงให้ เพราะในสภาวะที่ขาดผู้นำ ส่งผล กระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และสะท้อนมาถึงตัวนักเรียน ที่ประชุมจึงมอบให้สำนักติดตามฯ ลงพื้นที่หารายละเอียดเพิ่ม โดยเฉพาะประเด็นการบริหารงาน เพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้กระบวนการทำงานไม่เกิดประสิทธิภาพ อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนมากขึ้น จะหาทางแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32632&Key=hotnews

ยอดสมัครครูผู้ช่วยกว่า 8 หมื่น

8 พฤษภาคม 2556

ศึกษาธิการ * สพฐ.เผยยอดสมัครครูผู้ช่วยกว่า 8 หมื่น สมัครมากสุด สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 รองลงมา สพป.ตาก เขต 2 วิชาคอมพิวเตอร์มีคนสมัครมากที่สุด รองลงมาสังคมศึกษา ปฐมวัย สาขากายภาพบำบัดไร้คนสมัคร

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตามที่ สพฐ.เปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ปีการศึกษา 2556 ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-5 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เปิดสอบครูผู้ช่วย จำนวน 79 เขต ในจำนวนนี้เป็นสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 1 แห่ง รวมจำนวน 34 สาขาวิชา 1,070 อัตรา

ขณะนี้สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการได้สรุปข้อมูลผู้สมัครสอบแข่งขันแล้ว พบว่ามีผู้สมัครทั้งสิ้น 84,583 คน โดยเขตพื้นที่การศึกษาที่มีผู้สมัครสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สพป.ศรีสะเกษ เขต 3 จำนวน 6,385 คน, สพป.ตาก เขต 2 จำนวน 3,207 คน, สพป.กระบี่ จำนวน 3,105 คน, สพป.สมุทรปราการ เขต 1 จำนวน 3,095 คน และ สพป.นครราชสีมา เขต 3 จำนวน 2,749 คน โดยกลุ่มวิชาที่มีผู้สมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มวิชาคอมพิวเตอร์ จำนวน 12,236 คน, กลุ่มวิชาสังคมศึกษา จำนวน 9,673 คน, กลุ่มวิชาปฐมวัยศึกษา/อนุบาลศึกษา จำนวน 8,974 คน, กลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 8,222 คน และกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน 7,028 คน อย่างไรก็ตาม สำหรับสาขาที่ไม่มีผู้สมัครเลยคือ สาขากายภาพบำบัด ขณะที่สาขากิจกรรมบำบัดมีผู้สมัครเพียง 3 ราย.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32631&Key=hotnews

คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ปัญหา…อนาคต’แท็บเล็ต’

8 พฤษภาคม 2556

ธเนศน์ นุ่นมัน ผ่านไปกว่า 8 เดือน นักเรียนชั้น ป.1 ทั้งหมด 8.6 แสนคน ได้ลองใช้แท็บเล็ตจากนโยบายรัฐบาล ที่เริ่มแจกตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยสรุปว่า แท็บเล็ตยังสนับสนุนการเรียนการสอนได้ไม่ดีนัก เนื่องจากเนื้อหาของหนังสือที่มีอยู่ในแท็บเล็ตเน้นการแปลงจากหนังสือเรียนมาเป็นไฟล์พีดีเอฟ หรือส่วนใหญ่ยังเป็นเพียง 2 มิติขาดการสร้างรูปแบบบทเรียนต่างๆ อยู่
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำวิจัยผลการใช้งานแท็บเล็ตของนักเรียนชั้น ป.1 กับโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 503 โรงเรียน นักเรียน 7,078 คน ครูผู้สอน 533 คน เน้นเก็บข้อมูลผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจริงๆ หวังจะนำผลการวิจัยมาเป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับแนวทางการใช้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้แบบใหม่
ผลวิจัยที่ได้ระบุในเชิงบวกว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เด็กชั้น ป.1 ตื่นตัวใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการได้ดียังพบด้วยว่าเด็ก 72% ใช้แท็บเล็ตสืบหาความรู้เอง รวมถึงนำมาทำความเข้าใจและสรุปเป็นองค์ความรู้
ปัญหาที่พบจากการใช้แท็บเล็ตเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่น การชาร์จแบตในโรงเรียน แบตเตอรี่หมดเร็วเครื่องทำงานช้าและดับเองเด็กมีอาการปวดเมื่อยนิ้วปวดตา เคืองตา แสบตา เวียนหัว ปวดบริเวณคอและไหล่ และปวดหลังบ้างเล็กน้อยจากการใชแท็บเล็ต ยังพบอีกว่าเด็กชั้น ป.1 เล่นกับเพื่อนน้อยลง หลังจากได้รับแท็บเล็ตประมาณ 35.96%
งานวิจัยของ สพฐ.เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาว่า ทำเอง ชงเอง จึงยากที่จะเห็นผลลบต่อโครงการแท็บเล็ต  เพราะเนื้อหางานวิจัยไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ปกครองทั่วประเทศอยากได้ยินจาก สพฐ. คือแผนระยะยาวที่วางไว้สำหรับแท็บเล็ตที่จะเริ่มกลายเป็นอุปกรณ์ตกรุ่นใกล้สิ้นสุดระยะประกัน
แท็บเล็ตรอบแรกยังมีคำถามหลายเรื่องอย่างไรก็ตามการจัดซื้อแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ปีการศึกษานี้ อีก 1.7 ล้านเครื่องก็เดินหน้าเต็มสูบ ขณะเดียวกันสำนักงบประมาณ ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับลดงบปี 2557 ในโครงการจัดซื้อแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.4 และ ม.4 วงเงิน 7,000 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของโครงการ

สพฐ.ได้ออกมาชี้แจงกรณียื่นงบแบบตีเช็คเปล่าว่านักเรียนหรือ ม.4 เป็นต้นไป ต้องใช้คอมพิวเตอร์สำหรับชิ้นงานที่ซับซ้อนขึ้น ต้องมีสมรรถนะสูงกว่าแท็บเล็ต ถือเป็นครั้งแรกที่ สพฐ.ออกมาแตะเบรกการจัดซื้ออุปกรณ์นี้ และเป็นคำถามใหม่ถึงโครงการนี้ว่าในอนาคตจะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32630&Key=hotnews

ถวายพระราชสมัญญาแด่’ราชินี’พระผู้ทรงเป็นแม่และครูแผ่นดิน

8 พฤษภาคม 2556

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการถวายพระราชสมัญญา  “พระผู้ทรงเป็นแม่และครูแห่งแผ่นดิน” แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม พ.ศ.2555 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯแก่ปวงชนชาวไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระ วิริยอุตสาหะ ทรงเป็นคู่พระบารมี คู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ที่ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยขจัดความไม่รู้และความด้อยโอกาสให้ลดน้อยลง

นพ.ทศพรกล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยพัฒนาชีวิต สังคม และประเทศชาติ และทรงพระกรุณาดำเนินการเพื่อการศึกษาของราษฎรหลายรูปแบบ เช่น ทรงเป็นครูของผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ทรงอุปถัมภ์เยาวชนผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชนจากครอบครัวที่ยากจน พระราชทานพระราชดำริและพระราชทานสิ่งของต่างๆ แก่มูลนิธิที่ส่งเสริมการศึกษาและสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ด้วย นอกจากนี้ ทรงสนับสนุนการก่อตั้งและขยายโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนสร้างโรงเรียน พระราชทานอุปกรณ์การเรียน และทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ด้วย

“พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษาของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นที่ประจักษ์ทั่วไป ทั้งในประเทศและนานาประเทศ ทรงเป็นครูของพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยทรงอบรมสั่งสอนและทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่าง พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์จึงทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษา และทรงสงเคราะห์ประชาชนด้านการศึกษานานัปการ” นพ.ทศพรกล่าว

นพ.ทศพรกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังทรงเป็นครูของผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ทรงส่งเสริมการศึกษาแก่ราษฎรผู้ด้อยโอกาส โดยทรงสอนหนังสือแก่ราษฎรด้วยพระองค์เอง ในโอกาสที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ทรงสอดแทรกความรู้ทางพุทธศาสนา จริยศึกษาและสุขศึกษา ตลอดจนความรักชาติ รักแผ่นดินถิ่นกำเนิดของตนด้วย ซึ่งเป็นแบบฉบับของการสอนแบบบูรณาการ

“นับว่าทรงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบโรงเรียนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น และเป็นพระมหากรุณาแก่ผู้ด้อยโอกาส ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันบริสุทธ์ มิได้ทรงเลือกที่รักมักที่ชังแก่ผู้ใด กลุ่มใด ทรงมีแต่ให้ อันเป็นคุณลักษณะเด่นแห่งความเป็นครู จึงทรงเป็น ครู เป็น สิริ เป็น ศรี แผ่นดินไทยโดยแท้”  นพ.ทศพรกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32629&Key=hotnews

สกสค. ขนชุดนักเรียนมาขายช่วยผู้ปกครอง

8 พฤษภาคม 2556

สกสค. ขนชุดนักเรียนและสินค้าทางการศึกษาราคาพิเศษมาขาย แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองรับเปิดเทอม พร้อมเปิดหนังสือจิ๋วเล็กที่สุดในโลก“หลวงพ่อคูณ”

วันนี้ 7 พ.ค. ที่บริเวณโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค. กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และบริษัทห้างร้าน จัดงานมหกรรมสินค้าทางการศึกษา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ครั้งที่ 1 โดยนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิด ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในการซื้อสินค้าทางการศึกษาราคาถูกในช่วงเปิดภาคเรียน และอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในการซื้อสินค้าทางการศึกษาที่มีคุณภาพและครบวงจร

นายสมมาตร์ มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้า ของ สกสค. เปิดเผยว่า ภายในงานดังกล่าวมีการจำหน่ายสินค้าทางการศึกษาในราคาพิเศษ อาทิ หนังสือเรียน ชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ ถุงเท้า รองเท้านักเรียน เป้-กระเป๋านักเรียน และสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ เช่น Tablet Digital นอกจากนี้ องค์การค้าของ สกสค.ได้จัดทำหนังสือเล่มเล็กที่สุดในโลกที่มีการพิมพ์ QR Code ไว้ในหนังสือออกจำหน่าย ได้แก่ หนังสือหลวงพ่อคูณปริสุทโธ ขนาด 1.3x 1.7 ซม.40 หน้า พร้อมผนึกจีวรของหลวงพ่อคูณในหนังสือ บรรจุในกล่องพลาสติก จำหน่ายพร้อมหนังสือหลวงพ่อคูณเล่มใหญ่ ขนาด 14.8 x 21 เซนติเมตร ในราคาเล่มละ 99.- บาท รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำถวายหลวงพ่อคูณเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และหนังสือภาษาอังกฤษ Project Play and Learn ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

“ สำหรับหนังสือจิ๋วที่จัดทำขึ้นโดย องค์การค้าของ สกสค. ซึ่งมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ หนังสือหลวงพ่อคูณปริสุทโธ โดยได้ขออนุญาตกับทางหลวงพ่อคูณปริสุทโธ จัดทำเพื่อให้พุทธศาสนิกชนกราบไว้บูชา และในปกหลังผนึกจีวรของหลวงพ่อคูณ นอกจากนี้ภายในเล่มมี QR Code เพื่อสแกนและสามารถเข้าไปชมข้อมูลได้ ในส่วนของ หนังสือภาษาอังกฤษ Project Play and Learn ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็สามารถเข้าไปศึกษาผ่าน QR Code อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถรวบรวมและจัดทำหนังสือในทุกวิชา ตั้งแต่ ป.1-ม.6 ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้” นายสมมาตร์ กล่าว

สำหรับบรรยากาศการจัดงานวันแรก มีผู้ปกครองทยอยมาจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าราคาพิเศษก่อนเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้กันเป็นจำนวนมาก โดยมหกรรมสินค้าทางการศึกษา โดยศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค.2556 ณ โรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค.ลาดพร้าว 61-63 ตั้งแต่เวลา 09.00-22.00 น.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32628&Key=hotnews

สกอ.แจกทุนเด็กใต้

7 พฤษภาคม 2556

ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยถึง โครงการทุนอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะที่ 2 ปีการศึกษา 2556 ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด/ในกำกับ สกอ. ให้ทุนจำนวน 250 ทุน โดยให้แก่เด็ก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.นักเรียนที่ไม่สามารถสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาได้หรือยังไม่มีที่เรียน 125 ทุน และ กลุ่มที่

2. นักเรียนที่สอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาได้แล้วในสาขาที่ขาดแคลน หรือสาขาที่เป็นความต้องการของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 125 ทุน โดยทุนที่ให้จะสนับสนุนค่าครองชีพตามระยะเวลาของการศึกษาของหลักสูตรประมาณคนละ 4,000 บาท ต่อเดือนระยะเวลา 10 เดือนต่อปีการศึกษา คือ เดือน มิ.ย. ถึงเดือน มี.ค.

ดร.วราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า การรับสมัครจะรับสมัคร กลุ่มที่ 1 ก่อนโดยสมัครด้วยตนเอง วันที่ 10-12 พ.ค. 56 เวลา 08.30-15.30 น. ณ อาคารเรียนรวม (อาคาร 19) ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ วันที่ 23 พ.ค. 56 สอบสัมภาษณ์/รายงานตัวที่สถาบัน วันที่ 29-30 พ.ค.56 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษาและได้รับทุนค่าครองชีพ ภายในเดือนมิ.ย. 2556 ทางเว็บไซต์ www.mua.go.th ผู้สนใจดูรายละเอียดโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.mua.go.th หรือ สอบถามโทร. 0-2610-5419 สำหรับกลุ่มที่ 2 จะรับสมัครประมาณภาคการศึกษาที่ 2/2556.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32619&Key=hotnews

เชิดชูครูผู้เสียสละรับรางวัล’เจ้าฟ้าฯ’

7 พฤษภาคม 2556

ยึดมั่นตามรอยพระปณิธาน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นถึงความเสียสละของวิชาชีพครู โครง การพระเมตตาสมเด็จย่า ภายใต้ทุนการกุศลสมเด็จย่า ได้จัดพิธีมอบรางวัล “ครูเจ้าฟ้ากรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ ประจำปี 2556” ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 5 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่ครูดีเด่นผู้เสียสละปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาร พร้อมเผยแพร่ผลงาน คุณความดีในการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สาธารณชน และในปีนี้ถือเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันประสูติ 90 พรรษา ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะ “ครูของแผ่นดิน”

ภายในงานพิธีมอบรางวัลอันทรงเกียรติ เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (6 พ.ค.) ที่ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารมูลนิธิ พอ. สว. กรุงเทพฯ ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับเกียรติจาก นายบุญธันว์ มหาวรรณ์ ประธานอำนวยการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพร้อมกล่าวให้ข้อคิดแก่ครูผู้ได้รับรางวัลฯ ว่า ปัจจุบันโลกของเรามีทั้งคนดีและคนเลวเพิ่มขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้มีคนดีมากกว่าคนเลว ครูเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการสร้างคนดี ดังนั้นครูต้องปฏิบัติงานด้วยจิตอาสาอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อสร้างคนดีสู่สังคม

การคัดเลือกครูดีเด่นประจำปีนี้ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกจาก 3 หน่วยงาน เข้ารับรางวัลหน่วยงานละ 3 รางวัล คือ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ นายอนุศักดิ์ ฮงประยูร ครูศิลปะ ร.ร.บ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย, จ.ส.ท.สัญญา สอนบุญทอง ครูชำนาญการพิเศษ ร.ร.บ้านห้วยเฮี๊ยะ ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอนและ นายสุเทพ เท่งประกิจ ครูชำนาญการ ร.ร.บ้านคลองน้ำใส ต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา, สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ได้แก่ ด.ต.สุมน ขันติพิทักษ์กุล ครูใหญ่ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตุน ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน, ร.ต.อ.เกียรติศักดิ์ จิตวิจารณ์ ครูใหญ่ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนสังวาลย์วิท 8 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และ ส.ต.อ. วิโรจน์ ชูแหละ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้แก่ นายชัยณรงค์ คำอ้าย ครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนชุมชนบนพื้นที่สูงบ้านห้วยเฮียะ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน, นายวัชรินทร์ แก้วมาลา ครูอาสาสมัครศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านแม่ระมีดหลวง ต.อมก๋อย อ.อม ก๋อย จ.เชียงใหม่ และ นางสากีน๊ะ บิง ดอเล๊าะ ครูการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อ.รามัน สำนักงาน กศน. จ.ยะลาอ.รามัน สำนักงาน กศน. จ.ยะลา
หนึ่งในครูที่ได้รับรางวัลจากสังกัดสำนักงาน สพฐ. นายอนุศักดิ์ ฮงประยูร เผยว่า ตลอดระยะเวลา 24 ปี ของวิชาชีพครู ยึดมั่นพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ที่ว่า “เราช่วยเขา เพื่อให้เขาช่วยตัวเอง” โดยการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาผสมผสานกับความรู้ด้านศิลปะ “เส้นสาย ลายศิลป์” ที่ตัวเองมีความชำนาญถ่ายทอดให้แก่เด็ก เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ขณะที่ ส.ต.อ.วิโรจน์ ชูแหละ ครูจากสังกัด ตชด. ที่เสียสละปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ความไม่สงบ บอกว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสงสารเด็ก ๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากขาดแคลนครูจึงเข้ามาเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือ แม้เป็นระยะเวลาไม่นานในการทำหน้าที่ครูมีบางครั้งที่ท้อบ้าง แต่ไม่เคยคิดถอย ยิ่งได้รับรางวัลนี้ถือเป็นกำลังใจในการทำงานอย่างมาก เช่นเดียวกับ นางสากีน๊ะ บิงดอเล๊าะ ครูจากสำนักงาน กศน. ที่ปฏิบัติงานอย่างไม่ย่อท้อในพื้นที่ความไม่สงบ เผยความรู้สึกว่า ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับรางวัลนี้ ถือเป็นเกียรติแก่ชีวิตและครอบครัว ตัวเองจะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะพยายามเรียนรู้ แก้ไข และใช้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เป็นบทเรียนของชีวิต.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32618&Key=hotnews

วัดผลทำดีเลื่อนวิทยฐานะ

7 พฤษภาคม 2556

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ประชุมหารือถึงแผนการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในด้านวิชาการและคุณธรรมแบบบูรณาการ โดยจะส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาคุณธรรมนำวิชาการมากขึ้น ซึ่งผู้บริหาร และครูทุกคนจะต้องได้รับการอบรมคุณธรรม และจริยธรรม ผ่านภาคปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย สพฐ.ลงนามความร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในโครงการเด็กดีมีที่เรียนแล้ว เชื่อว่าในปีการศึกษา 2556 จะมียอดโควตาเด็กที่ได้รับโอกาสโดยใช้คะแนนความประพฤติดีเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ยังมีข้อเสนอว่าอยากให้สร้างขวัญและกำลังใจให้กับครูที่ได้รับการอบรมคุณธรรม จริยธรรมด้วย โดยขอให้กำหนดเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร หรือการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะต่างๆ ให้ประเมินด้านความดีเข้าไปด้วย สพฐ.กำลังพิจารณาการประเมินเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร ทั้งผู้บริหารโรงเรียน เขตพื้นที่ ครู จะเพิ่มองค์ประกอบความดีเข้าไปอีก ซึ่งจากเดิมที่ประเมินไว้ 3 ด้าน คือ ด้านวินัย ผลการปฏิบัติงาน และผลงานวิชาการ ซึ่งหลักฐานที่จะใช้ประเมินความดีจะต้องมาจากภาคปฏิบัติ การฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม สพฐ.จะจัดทำเป็นข้อเสนอ เข้าสู่ที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาต่อไป

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

อาชีวะฝึกอบรมอาชีพช่วยคนด้อยโอกาส

7 พฤษภาคม 2556

โพสต์ทูเดย์ อาชีวะเล็งใช้ศูนย์ฝึกอาชีพช่วยเหลือกลุ่มด้อยโอกาส-ผู้สูงอายุเตรียมรับเออีซี

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)กล่าวว่า สอศ.มีโครงการที่จะจัดโครงการฝึกอบรมอาชีพ โดยจะใช้ศูนย์อบรมอาชีพในสถานศึกษาของ สอศ. จำนวน 121 ศูนย์ทั่วประเทศเปิดอบรมให้บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สตรี และผู้สูงวัยที่ต้องการเรียนมาใช้เป็นสถานที่อบรมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ สอศ.ยังจะประสานกับสถานประกอบการ เพื่อดึงเด็กที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) และต้องการทำงานแต่ติดปัญหากฎหมายแรงงาน ให้สามารถทำงานควบคู่กับการเรียนอาชีวะได้
ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐบาล ที่ให้วิทยาลัยที่มีศักยภาพโดดเด่นเฉพาะด้าน เปิดอบรมอาชีพแก่ประชาชนเช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เด่นเรื่องอาหารนานาชาติก็เปิดอบรมด้านอาหาร โดยแต่ละหลักสูตรใช้เวลาอบรมไม่น้อยกว่า 75 ชั่วโมง และการันตีว่านำไปประกอบอาชีพได้แน่

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพของสอศ.จะไม่ซ้ำซ้อนกับการฝึกอบรมอาชีพของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)เพราะ สอศ.มีจุดต่างในเรื่องความพร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือในการอบรมอาชีพเฉพาะด้าน เช่น สาขาช่างต่างๆ

นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า นอกจากการอบรมสร้างอาชีพแก่ผู้สูงอายุแล้ว สอศ.ได้พยายามผลิตกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ โดยเปิดสอนหลักสูตรการดูแลเด็กและผู้สูงอายุระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อรองรับความต้องการของอาเซียน หลังมีแนวโน้มเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะคนมองว่าอาชีพเมื่อเรียนจบไปยังไม่มั่นคงทั้งที่อาชีพบริการผู้สูงอายุในปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอาเซียนมาก

สำหรับปีการศึกษา 2555 มีสถานศึกษาเปิดสอน 4 แห่ง คือ วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) เชียงราย มีผู้เรียน 17 คน วก.พละ 8 คน วิทยาลัยเทคนิค (วท.)เดชอุดม 3 คน และ วท.สุวรรณภูมิ 1 คนซึ่ง สอศ.ได้เตรียมจับมือกับผู้ประกอบการด้านนี้ต่อไป n

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32616&Key=hotnews

เผยเกษตรกร…แห่เทียบระดับกับ กศน.

7 พฤษภาคม 2556

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2556 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2556 ส่งผลให้นโยบายจบ ม.6 ภายใน 8 เดือนสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มตัวแล้ว เพราะทำให้การประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานมี 2 วิธี คือ 1. การประเมินระดับการศึกษา ซึ่งเป็นการประเมินความรู้ ความคิด โดยการสอบ สามารถประเมินได้ทีละระดับ และ 2. การประเมินเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการประเมินประสบการณ์ โดยกรรมการ 5 คน หรือ จบ ม.6 ใน 8 เดือน เนื่องจากการประเมินวิธีนี้สามารถประเมินข้ามระดับได้ และผู้ที่ผ่านการประเมินประสบการณ์จะสามารถสะสมผลการประเมินส่วนนี้ไว้ได้เป็นเวลา 5 ปี ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสจบได้ภายใน 8 เดือน อย่างไรก็ตามเมื่อมีวิธีการประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2 วิธี ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ส่วนใครควรจะเข้ารับการประเมินด้วยระบบใดนั้นต้องเป็นหน้าที่ของศูนย์เทียบระดับที่จะต้องให้คำแนะนำหรือแนะแนวการศึกษาให้

รองเลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการประเมินเทียบระดับปีการศึกษาที่ 2/2555 ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้ารับการประเมิน 6,536 คน ใน 356 สถานศึกษา พบว่า มีผู้ผ่านการประเมิน 4,819 คน หรือ ร้อยละ 73.73 เมื่อจำแนกตามระดับพบว่า ระดับประถม มีผู้สมัคร 1,049 คน ผ่าน 863 คน ม.ต้น สมัคร 2,397 คน ผ่าน 1,738 คน และ ม.ปลาย สมัคร 3,090 คน ผ่าน 2,432 คน ส่วนอายุเฉลี่ยของผู้ที่เข้ารับการประเมินอยู่ที่ 40 ปีขึ้นไป สำหรับอาชีพที่เข้ารับการประเมินมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เกษตรกร ค้าขาย และ รับจ้าง

“ที่ผ่านมาผู้ที่เข้ารับการประเมินเทียบระดับ กับ กศน. จะมีทั้งที่นำผลการเทียบไปใช้ในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่ไม่ต้องการคะแนนทดสอบความถนัดทั่วไป หรือแกต และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือแพต ขณะที่จำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ใช้เรียนต่อ แต่ก็เป็นการสร้างความภาคภูมิใจว่าสามารถเรียนจบ ม.ปลาย อย่างไรก็ตามคงต้องมีการทำวิจัย เพื่อดูว่ามีการนำผลการเทียบระดับไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง” ดร.ชัยยศ กล่าว.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32615&Key=hotnews