เล็งติดเซ็นเซอร์เตือนล็อกรถร.ร. สช.หวั่นซ้ำรอย’น้องเอย’-ชงศธ.เร่งแก้ระเบียบ

7 พฤษภาคม 2556

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จะเสนอกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกระเบียบให้รถรับส่งนักเรียนระดับต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ลงมา โดยเฉพาะรถตู้โรงเรียน ติดอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ หรือระบบเซ็นเซอร์ ไว้ในรถทุกคัน ซึ่งตัวเซ็นเซอร์นี้จะส่งสัญญาณทันที ถ้าล็อกรถแล้วพบว่ายังมีสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวอยู่ภายในรถ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีซ้ำรอย ด.ญ.มนัสนันท์ ทองภู่ หรือ น้องเอย ที่ถูกครูลืมไว้บนรถตู้จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

“ระเบียบของศธ.ที่ใช้ควบคุมดูแลรถโรงเรียน คือ ระเบียบศธ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน ปี 2536 นั้น ก็มีความรัดกุมอยู่แล้ว แต่ถ้าแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการติดเซ็นเซอร์ในรถโรงเรียนเข้าไป ก็จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับเด็กเล็กมากขึ้น อย่าลืมว่าเด็กเล็ก ถ้าถูกลืมไว้บนรถ เด็กจะไม่สามารถช่วยตัวเองได้เหมือนเด็กโต เด็กเล็กจะไม่รู้จักร้องเรียกให้คนมาช่วย แต่ถ้าในรถมีระบบเซ็นเซอร์ก็จะส่งเสียงสัญญาณเตือนที่ล็อกรถ ว่ายังมีคนตกค้างอยู่ภายในรถ ขณะที่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์นี้ก็ไม่สูงแล้ว” นายบัณฑิตย์ กล่าว

เลขาธิการ สช.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สช.กำลังทำเรื่องขอแก้ไขระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียนปี 2536 อยู่ แต่ระหว่างนี้ สช.มีหนังสือไปถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนทุกแห่ง ให้ซักซ้อมความเข้าใจตามแนวปฏิบัติในระเบียบดังกล่าว โดย เฉพาะการเช็กชื่อนักเรียนที่รับ-ส่งให้ครบถ้วน ซึ่งจริงๆ แล้ว โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ดูแลนักเรียนด้วยความรอบคอบอยู่แล้ว และสช.ยังได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนเอกชนทุกแห่ง ติดตั้งอุปกรณ์จับสัญญาณในรถโรงเรียนด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32612&Key=hotnews

เปิดหลักสูตรเทคโนบัณฑิต

7 พฤษภาคม 2556

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุม กอศ.เห็นชอบเปิดสอนหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ของ 9 สถาบันการอาชีวศึกษา 43 วิทยาลัย 6 ประเภทวิชา 16 สาขาวิชา โดยเสนอปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรเทคโนโลยี ป.ตรี สายปฏิบัติการจริงๆ และระบุให้ชัดว่า เด็กแต่ละคนเมื่อเรียนจบจะเชี่ยวชาญด้านใด โดยให้มีหน่วยกิตการเรียนภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ 1 ปี และในหมวดวิชาทักษะชีวิตควรตัดวิชาที่เด็กไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเพิ่มเติมเรื่องที่จะผูกโยงกับการปฏิบัติอาชีพจริงๆ

ส่วนการเรียนการสอนทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ ต้องทำข้อตกลงเพื่อระบุให้เด็กฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ 1 ภาคเรียน โดยได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการ ทั้งนี้ให้ทุกสถาบันไปดำเนินการตามข้อเสนอแนะของบอร์ด และเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 วันที่ 10 มิ.ย.นี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32611&Key=hotnews

มข.ปลื้มรับจัดสรรงบ ’57 เพิ่ม 4 พันล้าน ผุดพิพิธภัณฑ์วิทย์-เสริมภาษา น.ศ. ถก ‘พงศ์เทพ’ 7 พ.ค. ขอเงินวิจัยเพิ่ม

7 พฤษภาคม 2556

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2557 มข.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2556 ที่ได้รับจัดสรร 3.7 พันล้านบาท โดยงบที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมส่วนใหญ่เป็นงบก่อสร้าง โดยจะก่อสร้างอาคารฟิสิกส์หลังใหม่ เพราะอาคารหลังเดิมเก่ามาก ปรับปรุงระบบประปาในมหาวิทยาลัย และก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อรองรับการประชุมนานาชาติด้านพันธุกรรม ในปี 2558 และเพื่อให้เด็กและเยาวชนในภูมิภาคได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ โดยจะสร้างในรูปแบบเดียวกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี

นายกิตติชัยกล่าวว่า แต่ที่น่าสนใจคือการจัดสรรงบ ในปี 2557 รัฐบาลให้งบเกี่ยวกับอาเซียน และ สหกิจศึกษาเพิ่มขึ้นประมาณ 50-60 ล้านบาท โดยงบเกี่ยวกับอาเซียนได้รับจัดสรร 30-40 ล้านบาท ส่วนงบสหกิจศึกษาได้ประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนงบวิจัยและพัฒนา ยังไม่ทราบว่าจะได้รับจัดสรรเท่าไร ต้องรอหารือกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในวันที่ 7-8 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลมีพันธสัญญาว่าจะให้งบวิจัยและพัฒนากับมหาวิทยาลัย 9 พันล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้เพิ่งจัดสรรให้เพียง 6 พันล้านบาท อย่างปีที่ผ่านมา มข.ได้ของบวิจัยไป 300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรเพียง 220 ล้านบาท จึงได้นำเงินรายได้ของ มข.สมทบลงไป

“เนื่องจาก มข.ต้องการส่งเสริมให้นักศึกษาเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงได้ให้ข้อมูลว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ตลาดแรงงานไม่ได้อยู่ในประเทศเท่านั้น ถ้าอยากได้งานดีๆ มีรายได้ดี ก็ต้องไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในเวียดนาม ที่ขณะนี้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก และเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เด็กไทย มข.จึงจัดงบส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนภาษาของประเทศในอาเซียน ซึ่งภาษาที่นักศึกษาให้ความนิยมมากที่สุดคือ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอังกฤษ โดยนักศึกษานิยมเรียนภาษาเวียดนามมากที่สุด โดยเมื่อปีการศึกษา 2555 มีเรียนเพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ จากเดิมมีไม่กี่สิบคน เพิ่มขึ้นเป็น 500 กว่าคน ส่วนการสอนภาษาอังกฤษ มข.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีโดยให้สถาบันสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งมีทั้งอาจารย์ต่างชาติ และอาจารย์ไทย ซึ่งจะพัฒนาการเรียนการสอนแบบใหม่ เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อ” นาย กิตติชัยกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32610&Key=hotnews

ศธ.ชง ครม.ขึ้นเงินเดือนพนักงาน 76 มหาวิทยาลัย…เฮ

7 พฤษภาคม 2556

พนักงานมหา’ลัย เฮ ศธ.ชง ครม. อนุมัติขึ้นเงินเดือนกว่า 6 หมื่นคน 76 มหาวิทยาลัยรัฐทั่วประเทศ มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค. 55

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเงินปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานที่บรรจุก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 เพื่อให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีเงินเดือน และสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ รวมถึงเสนอการปรับโครงสร้างค่าตอบแทน/อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่ ว่า ขณะนี้เรื่องดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแล้ว และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 พฤษภาคม

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า หาก ครม. มีมติเห็นชอบตามที่ ทปอ.เสนอ จะ ส่งผลให้พนักงานมหาวิทยาลัย กว่า 60,000 คน จากมหาวิทยาลัยรัฐ 76 แห่ง แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ. 27 แห่ง กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 40 แห่ง และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ได้รับการเพิ่มเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป โดยในปีงบประมาณ 2556 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555-30 กันยายน 2556

“สำนักงบประมาณขอให้มหาวิทยาลัยใช้เงินของมหาวิทยาลัยจ่ายไปก่อน แต่จะตั้งงบประมาณแผ่นดินให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป ซึ่งเบื้องต้นใช้งบประมาณรวมตั้งแต่ปี 2555-2557 ประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัยกลุ่มดังกล่าว จำนวนปีละ 3,000 กว่าล้านบาท” นพ.เฉลิมชัยกล่าว

อธิการบดี มศว กล่าวต่อว่า สำหรับสูตรที่ ทปอ.เสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณา มี 2 สูตร ได้แก่

1.  กรณีพนักงานที่ทำงานไม่เกิน 10 ปี และยังได้รับเงินเดือนน้อยกว่าอัตราบรรจุใหม่ ที่รัฐบาลให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่เข้าทำงานหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 สูตรนี้จะให้พนักงานมหาวิทยาลัยเดิมได้รับเงินเดือนเท่ากับพนักงานมหาวิทยาลัยที่เข้าใหม่ หรือไม่น้อยกว่าพนักงานมหาวิทยาลัยที่บรรจุใหม่ทุกคนตามนโยบายรัฐบาล และสูตรที่

2.  กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยที่ทำงานตั้งแต่ 2-10 ปี สูตรนี้ จะใช้วิธีทอนจำนวนเปอร์เซ็นต์ลง โดยพนักงานที่ทำงานมาแล้ว 1 ปี จะได้รับเงินเดือนห่างจากพนักงานใหม่ 1,000 บาท ในขณะที่พนักงานที่ทำงาน 2 ปี จะได้รับเงินเดือนห่างจากคนที่ทำงาน 1 ปี แค่ 900 บาท ถัดไปเรื่อยๆ ตามอายุงาน ซึ่งการคิดคำนวณการเพิ่มลักษณะนี้ ทำให้การจัดสรรงบประมาณเป็นจริงได้ แต่ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเห็นชอบตามสูตรแรกเท่านั้น ส่วนสูตรที่ 2 ไม่เห็นชอบ เพราะเห็นว่าต้องใช้งบประมาณมากเกินไป

หาก ครม.มีมติอนุมัติตามที่เสนอ ถือเป็นเรื่องดี ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานที่เข้าทำงานก่อนวันที่ 1 มกราคม 2555 มากขึ้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ไม่ถือว่าเป็นธรรม 100% เพราะเท่ากับว่า คนที่ทำงานมาก่อนจะได้ขึ้นเงินเดือนเท่ากับพนักงานมหาวิทยาลัยใหม่ แต่ถ้าจะให้เกิดความเป็น ธรรมจริงๆ ควรจะเพิ่มให้ตามสูตรที่ 2 คือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามอายุงาน ส่วนจะได้เพิ่มขึ้นประมาณเท่าไรนั้น คงตอบไม่ได้ เพราะแต่ละคนขึ้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอายุงาน และขึ้นกับวุฒิการศึกษาด้วย” นพ.เฉลิมชัยกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32609&Key=hotnews

‘ภาวิช’ แนะมหาวิทยาลัยวางระบบสกัดลอกวิทยานิพนธ์

7 พฤษภาคม 2556

นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะใช้เครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์ ตรวจสอบผลงานของนักศึกษาและผลงานที่จะสามารถเข้าสอบได้ จะต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับใบรับรองก่อนว่าไม่ได้ลอกใครมา ว่าแนวทางที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการดังกล่าว เป็นสิ่งที่ดี แต่ตนกลัวว่ามหาวิทยาลัยจะเดินหลงทาง เพราะเครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยจะจัดทำขึ้นนั้น เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น และตรวจสอบได้เฉพาะวิทยานิพนธ์ที่คัดลอกซ้ำซ้อนเท่านั้น แต่บริษัทรับจ้างทำวิทยานิพนธ์มีกระบวนการที่พัฒนามากขึ้น

“ตอนนี้การรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ไม่ใช่เป็นเพียงการคัดลอกผลงานอย่างเดียว แต่เป็นการทำวิทยานิพนธ์ฉบับใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับ ไม่ได้คัดลอกผลงานของใคร หรือถ้ามีการคัดลอก พวกบริษัทรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ ก็มีกระบวนการ หรือโปรแกรมในการจัดทำวิทยานิพนธ์ ที่รับรองต่อผู้จ้างทำวิทยานิพนธ์ว่าเครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์ไม่สามารถตรวจสอบได้ อยากให้มหาวิทยาลัยช่วยคิดและวางกระบวนการที่สามารถตรวจสอบวิทยานิพนธ์ที่เป็นระบบมากกว่านี้” นายภาวิชกล่าว และว่า ในสัปดาห์หน้า ตนจะทำหนังสือถึงนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อขอให้ช่วยหาทางแก้ไข ซึ่งจากการหารือเบื้องต้น ทางดีเอสไอยินดี

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32608&Key=hotnews

เปิดชิงทุน ‘1 อำเภอ’ 17 มิ.ย. – 31 ก.ค. ยึดเกณฑ์เดิมผ่านเกณฑ์ 70 %

7 พฤษภาคม 2556

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าที่ประชุมรับทราบรายงานผลการคัดเลือกโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 (ปีงบประมาณ 2556-2563) ซึ่งในการสอบคัดเลือกที่ผ่านมา

ทุนประเภทที่ 1 ผู้รับทุนมีผลการเรียนดี ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี มีผู้สอบผ่านทั้งสิ้น 12 คน

ทุนประเภทที่ 2 ทุนเรียนดี ไม่จำกัดรายได้ครอบครัว มีผู้สอบผ่านทั้งสิ้น 86 คน รวมผู้ได้รับทุนทั้งสิ้น 98 คน

ยังเหลือทุนอีก 1,758 ทุน

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกรอบที่ 2   โดย จะรับสมัครในวันที่ 17 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม สอบข้อเขียน วันที่ 13 ตุลาคม สอบสัมภาษณ์ประมาณวันที่ 8 ตุลาคม

ทั้งนี้ ที่ต้องใช้คำว่าประมาณ เนื่องจากหากตรงกับการสอบในระดับ ม.ปลาย หรือกิจกรรมอื่นของมหาวิทยาลัย อาจจะต้องเลื่อนขยับวันออกไป คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้รับทุนได้ประมาณเดือนธันวาคม และผู้ได้รับทุนจะไปเรียนต่อในเดือนกันยายน 2557 สำหรับเกณฑ์คัดเลือกไม่เปลี่ยนแปลง โดยจะต้องทำคะแนนรวมได้ไม่ต่ำกว่า 70%

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ในการเปิดรับสมัครรอบแรกที่ผ่านมา มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 20,381 คน มีผู้เข้าสอบ 17,869 คน แต่คะแนนการสอบยังไม่ถึง 70% ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งในรอบที่ผ่านมา มีคนสอบได้น้อย อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการรับตรง และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในส่วนต่างๆ เนื่องจากทุนอำเภอมีน้อย โอกาสได้ยาก แต่ช่วงนี้ผลการสอบต่างๆ ออกมาแล้ว เชื่อว่าจะมีเด็กให้ความสนใจมาสมัครสอบแข่งขันเพื่อรับทุนอำเภอมากขึ้น

“สำหรับข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ขอให้พิจารณาทุนสำหรับนักเรียนอาชีวศึกษาเป็นกรณีพิเศษนั้น คงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากข้อสอบไม่ได้แบ่งเป็นประเภทสายอาชีวศึกษา กับสายสามัญศึกษา วิชาสอบส่วนใหญ่จะเน้นในวิชาของสายสามัญ ซึ่งการปรับข้อสอบให้เป็นสายอาชีวะในขณะนี้ทำได้ลำบาก” นายพงศ์เทพกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32607&Key=hotnews

สร้างทางตัน หรือทางออก (itinlife395)

end road
end road

ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีเรื่องของทางเลือก (Decision) ที่คนเขียนโปรแกรมทุกคนต้องใช้คำสั่ง if สำหรับการเขียนโปรแกรมยุคใหม่ก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ไม่ใช่เงื่อนไขปกติ จะมีบริการตรวจสอบความผิดพลาดที่เป็นข้อยกเว้น (Exception) แล้วดำเนินการแบบพิเศษกับเหตุการณ์เหล่านั้น ซึ่งการเขียนโปรแกรมก็จะต้องเขียนตามนโยบาย หรือความต้องการของผู้ใช้ อาทิ เขียนโปรแกรมตัดเกรด คุณครูก็ต้องกำหนดว่าจะตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์ หรืออิงกลุ่ม ถ้าอิงเกณฑ์จะให้ A มีคะแนนเท่าใด หรืออิงกลุ่มจะใช้ค่าเบียงเบนมาตรฐานเท่าใด

http://www.oknation.net/blog/zumon/2011/07/05/entry-1

ในทางคอมพิวเตอร์มีทางออก และมีแนวทางแก้ไขเสมอ มีเหตุและมีผลทุกครั้ง ไม่มีหลักไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในอดีตตัวแปรภาษายังไม่ดีนัก เวลากำหนดให้โปรแกรมทำซ้ำตลอดกาลก็จะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ค้างไม่ตอบสนองใด แล้วผู้ใช้ก็ต้องปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ เมื่อรู้ก็เข้าไปแก้ไขได้ไม่ปล่อยให้ปัญหาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่างกับปัญหาในชีวิตจริงที่ไม่สมเหตุสมผล อาทิ ในบางกิจกรรมบอกว่าเรามีเมตตาไปทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา จากนั้นไปทานอาหารร่วมกันบนโต๊ะอาหารก็มีปลาเผาไก่ย่างส้มตำ ซึ่งปลาก็ได้มาจากแม่น้ำหน้าวัดนั่นเอง หรือดื่มสุราทำให้เสียสุขภาพ แต่ก็เหมือนดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะดื่มกันบ่อยแล้วแบ่งปันผ่านเฟสบุ๊คมาให้ดูอย่างมีความสุข

ปัจจุบันเราพูดว่าปฏิเสธรถไฟความเร็วสูง ปฏิเสธเสื้อผ้ายี่ห้อ ปฏิเสธฟุตบอลนอก ปฏิเสธอาหารต่างชาติ ปฏิเสธยักค้าปลีก เพราะชาตินิยมสูง แต่พบว่าสถิติอุปโภคบริโภคไม่เป็นเช่นนั้น หากนึกไปถึงการปฏิเสธผู้นำ ถ้าคนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าผู้นำไม่ดี ไม่ชอบผลการเลือกตั้ง แล้วขอให้เลือกตั้งใหม่หลังรู้ผลเลือกตั้ง สังคมนั้นก็คงมีชีวิตอยู่ในทางตัน เพราะในชีวิตจริงไม่มีสังคมขนาดใหญ่สังคมใดยอมรับผู้นำที่ถูกเลือกตั้งร้อยละร้อย คงเพราะสามัญสำนึกของผู้คนรู้ว่าสังคมต้องมีผู้นำ แม้ไม่ถูกใจบ้างแต่เรือจะขาดกัปตันไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้บริหารไปวาระหนึ่ง แล้วค่อยมาพิจารณากันใหม่ ในทางคอมพิวเตอร์ก็เช่นกันเทคโนโลยีใดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการทดลองใช้ แล้วประเมินผล  หากผลประเมินไม่น่าพอใจก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ถ้าดีก็บอกต่อ แต่อย่างน้อยก็ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นไประยะหนึ่ง เมื่อมีของใหม่มาให้เลือกก็ค่อยพิจารณาทางเลือกนั้นอีกครั้ง

 

 

ปัญหาแท้จริงคืออะไร ตอบได้ด้วย why-why analysis

why why analysis
why why analysis

http://www.syque.com/improvement/Why-Why%20Diagram.htm

มีโอกาสประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เรื่อง “ประสบการณ์ในการทำหน้าที่ประธาน/กรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน” เมื่อวันที่ 29 เม.ย.56 แล้ว 30 ก็เป็น http://www.cheqa.mhesi.go.th/ ซึ่งผลของการนำเสนอในวันที่ 29 มาจากข้อมูลในระบบ cheqa จึงเห็นภาพในวันที่ 30 ว่านำข้อมูลส่วนใดไปวิเคราะห์ และระบบช่วยป้องกันจุดตรวจสอบ (check point) ในอนาคตอย่างไร

เริ่มจาก ศ.เกียรติคุณ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร ฉายภาพรวมว่ามาทำอะไร จะเห็นอะไรในวันนี้ แล้ว ผศ.ประเสริฐ อัครประถมพงศ์ ให้ความรู้เรื่องการวิเคราะห์ว่ามีเครื่องมือชื่อว่า Root cause analysis, why-why analysis และ 5W1H แล้วก็หนุนให้ทำ KM และมีภาพน้ำแข็งที่ลอยกับที่จม หากไม่รู้ก็อาจชน ถ้าน้ำแข็งที่จมอยู่ก็นำมาใช้ไม่ได้ เป็นต้น ผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ แจ้งว่า graph เส้นในเอกสารขอเปลี่ยนเป็นแท่งจะเหมาะสมกว่า  ซึ่งผลการศึกษา “ความสามารถด้านการประเมิน (Evaluation capacity)” จากข้อมูลปี 2553 และ 2554 จำแนกเป็น 6 องค์ประกอบ

! http://www.mua.go.th/users/bhes/bhes2/qa%20exc56/qa%20exc2556.html
! http://photopeach.com/album/xw38dn?ref=more

ความสามารถด้านการประเมิน มี 6 องค์ประกอบ ดังนี้

1. การรวบรวม ตรวจสอบ บันทึกข้อมูลครบถ้วนในระบบ CHE
1.1 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
1.2 รายนามคณะผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน
1.3 สรุปข้อมูลพื้นฐานของสถาบัน
1.4 การวางแผนและการประเมิน (ก่อน ระหว่าง และหลังการตรวจเยี่ยม)
1.5 วิธีการตรวจสอบและความน่าเชื่อถือของข้อมูล

2. การให้ข้อสรุปเชิงประเมิน (Evaluative conclusion) ตามองค์ประกอบ/มาตรฐาน
เป็นการตรวจสอบความครบถ้วนของการลงข้อสรุป การแปลผล ตาม ป.2 – ป.5
2.1 จุดแข็ง/จุดอ่อน แนวทางเสริมจุดแข็ง/จุดที่ควรพัฒนา
2.2 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนา
2.3 ข้อสรุปตามองค์ประกอบคุณภาพ
2.4 ข้อสรุปตามมาตรฐานการอุดมศึกษา
2.5 ข้อสรุปตามมุมมองด้านการบริหารจัดการ

3. การตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูล CDS
3.1 การยืนยันข้อมูลตัวบ่งชี้ สมศ. และสำนักงาน ก.พ.ร.
3.2 การตรวจสอบการเขียนผลประเมินที่สอดคล้องกับ CDS
3.3 ความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลที่ไม่สมเหตุสมผล
3.4 การเขียนสรุปผลประเมินสอดคล้องกับตัวเลข ตาราง ป.2- ป.5

4. การให้ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องกับจุดแข็งจุดอ่อน (SWR) ตามบริบทของสถาบัน
ความสมเหตุสมผลของการให้ข้อเสนอแนะ
ถ้าองค์ 7 ตกประเมิน แล้วจะบอกว่า ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ และบุคลากรทุกระดับมีความรู้ความตั้งใจในการทำงานไม่ได้

5. การตรวจสอบร่องรอยหลักฐานประกอบผลประเมิน
มีหลักฐานจริง จึงจะให้คะแนนตามเกณฑ์ได้

6. การจัดทำบทสรุปผู้บริหารตามหลักเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด
6.1 ชื่อหน่วยงาน จุดประสงค์การก่อตั้ง และกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาการปฏิบัติตามพันธกิจพร้อมพัฒนาการ
6.2 ผลการประเมินในภาพรวมตามองค์ประกอบคุณภาพ
6.3 ผลการประเมินในภาพรวมตามมาตรฐานการอุดมศึกษา
6.4 ผลการประเมินในภาพรวมตามมุมมองด้านการบริหารจัดการ
6.5 ผลการประเมินในภาพรวมตามมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษา
6.6 จุดเด่น/แนวทางเสริม
6.7 จุดที่ควรพัฒนา/แนวทางแก้ไข
6.8 ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

กรณีศึกษา 15 กรณีให้ชวนแลกเปลี่ยน
! http://www.eit.or.th/dmdocuments/plan/why_why_analysis_3.pdf

หลักสูตรฝึกอบรม why-why analysis เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาด้วยเทคนิคการตั้งคำถาม ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถค้นหาต้นตอของปัญหาไปพร้อมๆ กับแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น
! http://www.thaicostreduction.com/DocFile/Seminar/031%20why%20why%20analysis.doc

กระเป๋าโลกร้อน
กระเป๋าโลกร้อน

http://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151542200633895&set=a.450805098894.247019.814248894

“ห้องเรียนกลับด้าน” สพฐ.ให้ “เรียนที่บ้าน-ทำการบ้านที่ ร.ร.”

3 พฤษภาคม 2556 เรียบเรียงโดย สุพินดา ณ มหาไชย

 

homework at school
homework at school

“ห้องเรียนกลับด้าน” หรือ “Flipped Classroom” เป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ Jonathan และ Aaron ครูวิชาเคมีของโรงเรียน Woodland Park High School สหรัฐอเมริกา ค้นคิดขึ้น นักเรียนบางส่วนของพวกเขาจำเป็นต้องขาดเรียนบ่อยครั้งเพราะถูกกิจกรรมต่างๆ ดึงตัวออกไป ทั้ง 2 คนจึงระดมสมองคิดหาทางแก้ไข จนนำไปสู่ Flipped Classroom ในปี 2007 จนถึงปัจจุบัน กระแส Flipped Classroom แพร่ขยายเป็นวงกว้างในอเมริกา และในปีการศึกษา 2556 นี้ ชั้นเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะปรับตัวให้เป็นห้องเรียนกลับด้าน เช่นกัน

“เรียนที่บ้าน-ทำการบ้านที่โรงเรียน”
นิยามสั้น ๆ ของ Flipped Classroom นั้น “รุ่งนภา นุตราวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญของ สพฐ. ซึ่งจับเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า นำสิ่งที่เดิมเคยทำในชั้นเรียนไปทำที่บ้าน และนำสิ่งที่เคยถูกมอบหมายให้ทำที่บ้านมาทำในชั้นเรียนแทน ชั้นเรียนที่เราคุ้นเคยกันมานั้น ครูจะเป็นผู้บรรยายเนื้อหาต่างๆ ในชั้นเรียนแล้วมอบงานให้นักเรียนกลับไปทำเป็นการบ้าน แต่ Jonathan และ Aaron สังเกตว่า เวลาที่นักเรียนต้องการพบครูจริงๆ คือ เวลาที่เขาติดขัดและต้องการความช่วยเหลือ เขาไม่ได้ต้องการครูอยู่ในชั้นเรียนเพื่อบอกเนื้อหา เพราะเขาสามารถค้นหาเนื้อหานั้นด้วยตนเองได้

เพราะฉะนั้น ถ้าครูบันทึกวิดีโอการสอนให้เด็กไปดูเป็นการบ้าน แล้วครูใช้ชั้นเรียนสำหรับชี้แนะนักเรียนให้เข้าใจแก่นความรู้ หรือชี้แนะในการที่เด็กได้รับมอบหมายจะดีกว่า ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก เว็บไซต์ต่างๆ อย่างยูทูบอัดแน่นไปด้วยความรู้ต่างๆ เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง หมดยุคที่ต้องคอยมารอรับความรู้ในชั้นเรียนเพียงช่องทางเดียวแล้ว

เพราะฉะนั้นในห้องเรียนกลับด้าน ครูจะแจกสื่อให้เด็กไปเรียนรู้ล่วงหน้าที่บ้าน หรืออาจให้เด็กไปดูสื่ออย่างยูทูบ เมื่อมาเข้าชั้นเรียนในวันรุ่งขึ้น นักเรียนจะซักถามข้อสงสัยต่างๆ จากนั้นก็ลงมือทำงานที่ได้รับมอบหมายเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มโดยมีครูคอยให้คำแนะนำตอบข้อสงสัย

เพื่อตรวจสอบว่า เด็กได้ดูสื่อที่ครูให้ไปเรียนรู้ล่วงหน้าหรือไม่นั้น จะมีเด็กบันทึกโน้ตมาส่งครู อาจบันทึกมาในสมุด เข้าไปเขียนไว้ใน Blog ของครู หรือเขียนส่งมาทางอีเมล และจะให้เด็กตั้งคำถามมาด้วยอย่างน้อย 1 ข้อ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการฝึกทักษะในการจดบันทึกให้แก่นักเรียนก่อนช่วงต้นปีการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ห้องเรียนกลับด้านให้เด็ก

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวเสริมว่า การให้เด็กเรียนรู้เนื้อหาล่วงหน้าที่บ้านแล้วมาพูดคุยในชั้นเรียนนั้น จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น เร็วขึ้น เหลือเวลาสำหรับเติมสิ่งอื่นๆ ให้เด็กโดยเฉพาะทักษะคิดวิเคราะห์ รูปแบบเดิมนั้น เวลาในชั้นเรียนจะหมดไปกับการ warm-up (เตรียมพร้อม) จำนวน 5 นาที ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการบ้านของนักเรียน 20 นาที บรรยายเนื้อหาใหม่ 30-45 นาที เหลือแค่ 20-35 นาทีให้นักเรียนทำงานและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ แต่ห้องเรียนกลับด้าน ใช้เวลา warm-up จำนวน 5 นาที ถามตอบเกี่ยวกับวิดีโอที่ดู 10 นาที ที่เหลืออีก 75 นาที เต็มๆ นักเรียนจะได้ทำงาน กิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ มี่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้ลุ่มลึกกว้างขวางขึ้น

ที่ผ่านมา เด็กไทยอยู่ในกลุ่มเรียนเยอะ เปรียบเทียบจำนวนชั่วโมงเรียนกับนานาชาติแล้ว ไทยอยู่ในกลุ่มบน ต่อปีเด็กไทยเรียนถึง 1,200 คาบ แต่ผลประเมินระดับนานาชาติ เช่น Pisa กลับอยู่ในกลุ่มล่าง เข้าทำนอง เรียนมากแต่รู้น้อย
ดร.ชินภัทร บอกว่า 70% ของชั้นเรียนเป็นการบรรยายของครู แต่ถ้ากลับด้านห้องเรียนแล้ว แทนที่เด็กจะมาตัวเปล่า นั่งรอรับความรู้จากครู เด็กก็จะมาเรียนด้วยความเข้าใจเพราะเรียนรู้เนื้อหาล่วงหน้ามาแล้ว ในชั้นเรียนจะเป็นการซักถามเพิ่มเติม การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เราจะได้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 30-40 นาที สำหรับพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ให้เด็ก

“ห้องเรียนกลับด้าน” ยังเป็นการเข้าใกล้การจัดการเรียนการสอนแบบ Child Center มากขึ้น แทนที่การสอนแบบ Teacher Center ซึ่งกำลังจะตกยุคเข้าไปทุกที ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบ้านได้ด้วย

ดร.ชินภัทร บอกว่า เด็กไม่ต้องไปทุกข์ทนกับการทำการบ้านที่บ้านอีกต่อไป การบ้านบางประเภทโดยเฉพาะ Problem solving นั้น เด็กไม่สามารถทำคนเดียวโดยปราศจากการแนะนำของครูได้ การฝึกให้การบ้านกับเด็กไป รั้งแต่สร้างความเครียดกับเด็ก สุดท้ายเด็กอาจเกลียดกลัวการมาโรงเรียน แต่ถ้ากลับด้านให้เด็กเรียนเนื้อหาล่วงหน้ามาเป็นการบ้านแล้วมาทำงานร่วมกันในชั้นเรียน จะช่วยให้เด็กเรียนด้วยความเข้าใจและมีความสุขขึ้น

สพฐ.จะเดินหน้าปรับโฉมชั้นเรียนเป็น Flipped Classroom ทันทีในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 ดร.ชินภัทร ย้ำว่า และนี่จะเป็นสิ่ง สพฐ.ทำเพื่อเพิ่มคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้โดยไม่ต้องรอการปฏิรูปหลักสูตรซึ่งอาจใช้เวลานาน และสำหรับ ดร.ชินภัทร แล้ว ห้องเรียนกลับด้าน เป็นการคิด “นอกกรอบ” ที่สพฐ.หามานาน สำหรับตอบโจทย์ปฏิรูปการศึกษา

–คมชัดลึก ฉบับวันที่ 3 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32600&Key=hotnews

ยกเครื่องกู้เรียนแก้ขาดแรงงานสายวิทย์

3 พฤษภาคม 2556

พิมพ์ไทยออนไลน์ // นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน มอบนโยบายแก้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับการกู้ยืม เงินเพื่อการศึกษาประจำปีการศึกษา 2556 ว่า เพื่อให้การบริหารงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ .ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถผลิตแรงงานในสาขาที่ขาดแคลน เช่นวิทยาศาสตร์ แพทย์ คอมพิวเตอร์ และอาชีวะหลายสาขา ทางกระทรวงการคลังจึงได้ยกร่างกฎหมายใหม่ให้มีการควบรวมกองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ.และ กยศ.ด้วยกัน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล นำนักเรียน นักศึกษามาดูแลอยู่ในรูปแบบเดียวกัน

นางสาวฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. กล่าวว่า ผลการปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาสำหรับปีการศึกษาปี 55 เป็นเงิน 30,000 ล้านบาท จำนวน 8 แสนราย ส่วนภาระหนี้สะสมค้างอยู่ประมาณร้อยละ 40 หรือเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนปีการศึกษาประจำปี 2556 ในส่วนของกองทุน กรอ.ตั้งวงเงินไว้ 86,000 ล้านบาท กองทุน กยศ.อนุมัติกรอบวงเงินไว้ 36,213 ล้านบาท

โดยกองทุน กยศ.จะเน้นจัดสรรเงินกู้ในสายอาชีวะมากกว่าสายสามัญในระดับมัธยมปลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังพยายามสร้างเครือข่ายแนวร่วม จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้ช่วยกันดูแล ผู้จบการศึกษา พื่อสร้างจิตสำนักให้ช่วยกันชำระหนี้คืนให้กับกองทุน เพื่อให้มีเงินรองรับการกู้จากนักศึกษารุ่นต่อไป

ปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษา กู้ยืมเงินจากกองทุนฯ 4.1 ล้านรายซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและสำเร็จการศึกษา คิดเป็นเงินงบประมาณกว่า4 แสนล้านบาท โดยในปีการศึกษา 2556 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติกรอบวงเงินให้กู้ยืมกองทุน กรอ.
สำหรับนักศึกษาประมาณ 86,000 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 6,037 ล้านบาท และอนุมัติกรอบวงเงินให้กู้ยืมกองทุน กยศ. สำหรับนักเรียนนักศึกษาประมาณ 880,000 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 36,213 ล้านบาท โดยได้มีการเพิ่มสัดส่วนการจัดสรรเงินกู้ยืมในสายอาชีวะมากกว่าสายสามัญในระดับมัธยมปลาย

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32599&Key=hotnews