กอศ. ปลุกจิตสำนึกอาชีวะช่วยเหลือประชาชน.ผ่านโครงการ Fix it Center ตลอดเดือนมหามงคลนี้

6 ธันวาคม 2556

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ กอศ.กล่าวว่า เนื่องในวโรกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมพรรษา 86 พรรษา 5 ธันวาคม 2556 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้มีการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษามีจิตสำนึกทำความดีช่วยเหลือประชาชน ผ่านโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center)ตลอดเดือนมหามงคลนี้
โดย สอศ.ได้มอบให้วิทยาลัยในสังกัดทั่วประเทศ วางแผนดำเนินการเอง ทั้งการเปิดศูนย์พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ Fix it Center ภายในวิทยาลัย หรือตามหมู่บ้าน เพื่อซ่อมแซม อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องจักรกลทางการเกษตร รถจักรยานยนต์ การให้คำแนะนำบำรุงรักษาเครื่องมือต่างๆ เพื่อยืดอายุการใช้งาน และการถ่ายทอดความรู้ทักษะช่างชุมนุมให้กับประชาชน เพื่อยกระดับฝีมือช่างชุมชน เป็นต้น

“นอกจากตั้งศูนย์ตามจุดบริการต่างๆ แล้วในครั้งนี้ สอศ.จะเพิ่มการบริการผ่านรถโมบายซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ออกให้บริการแก่ประชาชนตามบ้านเรือนด้วย เนื่องจากชาวบ้านที่ลำบากจริงๆ จะไม่มีรถขนของที่ต้องการให้ซ่อม เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ หรือปั้มน้ำมายังจุดบริการได้ ผมเชื่อว่า Fix it Center จะช่วยพัฒนาจิตสำนึกของเด็กอาชีวะในเรื่องของการน้อมนำพระราชดำริและงานที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ มาเป็นแรงขับเคลื่อนการทำงานที่เสียสละเพื่อผู้อื่น ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณากับพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด”

ที่มา: http://www.thanonline.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34998&Key=hotnews

งานรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา เสียงสะท้อนการจัดการศึกษาจากชาวเหนือ

6 ธันวาคม 2556

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ธันวาคม 2556 ที่ห้องประชุมโรงแรมอมรินทร์ลากูน พิษณุโลก รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อเปิดรับฟังเสียงสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการจัดการศึกษาจากผู้ที่เกี่ยวข้องในเขตภาคเหนือโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 39 เป็นเจ้าภาพจัดงาน มีผู้เข้าร่วมงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 53 เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 53 เขตพื้นที่การศึกษาของภาคเหนือ จำนวน 550 คน

ดร.สมเกียรติ บุญรอด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 39 (ผอ.สฬม.39) ในฐานะประธานจัดงาน “รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” จุดที่ 4 ภาคเหนือ (1-2 ธันวาคม 2556) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีผลการผลักดัน 8 นโยบายด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติ ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐานนั้น ได้มีการประกาศให้ “การศึกษา” เป็นวาระแห่งชาติ และในปีพุทธศักราช 2556 เป็นปีแห่งการ “รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” เพื่อให้การศึกษาไทยมีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลและสอดคล้องกับสังคมโลกยุคใหม่ ในการจัดงานครั้งนี้ได้มุ่งเน้นใน 4 ประเด็นหลักตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ

1. การพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ทั้งระบบที่สัมพันธ์เชื่อมโยง ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อนเนื่อง เช่นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สนุกสนานเร้าใจผู้เรียนมีความสนุกสนานและไม่เบื่อหน่ายในการเรียน การจัดการเรียนการสอนที่มีระบบการวัดผล/ประเมิลผลตามศักยภาพของนักเรียน นักเรียนเกิดความสุขในการเรียน เป็นต้น

2. การพัฒนาครู ให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการการเรียนการสอน รองรับการเรียนรู้สู่โลกยุคใหม่ รวมถึงระบบการดูแลสวัสดิการ การสร้างขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการครู และการส่งเสริมความสามารถของข้าราชการครูให้มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน

3. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนเช่น การสร้างมาตรฐานการเรียนการสอนดัวยคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) การพัฒนาเนื้อหาสาระ รวมทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

4. การเพิ่มและการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เช่น ประชาชนสามารถได้รับการบริการทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส การพัฒนากองทุนต่างๆ การพัฒนากองทุนกู้ยืมฯ การระดมทุนเพื่อพัฒนาการศึกษา ตลอดจนการนำมาใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษาเป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของการเสวนาบนเวทีภายใต้หัวข้อ “แนวคิดการพัฒนา ก้าวหน้าไม่มีอุปสรรค”  “การสนับสนุนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายด้วยความสำเร็จ” ได้มีการคัดเลือกบุคคลทั่วไปในด้านการจัดการศึกษา อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทนชุมชน ผู้นำองค์กรต่างๆ ผู้บริหารดีเด่น ครูต้นแบบ นักเรียน ในเขตพื้นที่ ภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดมาร่วมเสวนาให้ความรู้และสะท้อนเสียงการจัดการศึกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า ในการจัดงานด้านการศึกษาครั้งนี้ตามกำหนดการเดิม นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเดินทางมาเป็นประธานและการร่วมการเสวนาด้วย แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่อว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยทำให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยก่อนพิธีเปิดจะเริ่มขึ้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมต.ศึกษาธิการ ได้ส่งสัญญาณวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มายังห้องประชุม โดยได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่เดินทางมาร่วมงานไม่ได้ว่า ต้องอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองส่อว่าจะรุนแรง พร้อมทั้งฝากถึงผู้ที่เข้าร่วมงานเสวนาว่า ให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น ระดมความคิดเพื่อช่วยกันปฏิรูปการศึกษาอันจะนำปสู่การจัดการศึกษาของไทยให้ดียิ่งขึ้น.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34996&Key=hotnews

กลุ่มสถาบันผลิตครูหนุนจำกัดจำนวนรับนักศึกษา เพื่อผลิตครูให้มีคุณภาพคาดเริ่มรับผู้เรียนได้ปี 58

6 ธันวาคม 2556

กลุ่มสถาบันผลิตครู หนุนจำกัดจำนวนรับนิสิตนักศึกษา เพื่อผลิตครูให้มีคุณภาพเริ่มปี 2558 พร้อมเสนอรับร่วมกันเหมือนกลุ่มแพทย์

รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ทั้งในส่วนของ มหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) สภาคณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ผลิตครูสายช่าง และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอที่จะให้มีการจำกัดจำนวนรับนิสิตนักศึกษาในปี 2557 และปีถัดไป เพื่อผลิตครูให้มีคุณภาพในส่วนของปี 2557 จำนวนการรับนิสิต นักศึกษาอาจจะไม่ลดลง เนื่องจากขณะนี้

มหาวิทยาลัยบางส่วนได้ปิดรับตรงไปแล้ว ส่วนปีถัดไป ทุกกลุ่มรับปากจะไปหามาตรการการรับนิสิตนักศึกษา ซึ่งได้มีข้อเสนอว่าในอนาคตกลุ่มคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ทั่วประเทศอาจจะรวมตัวกันรับจำนวนนิสิตนักศึกษาเหมือนกลุ่มแพทย์ เพื่อให้การรับนิสิตนักศึกษาตรงตามจำนวนที่ต้องการและควบคุมคุณภาพการผลิต

“นอกจากนั้น ยังเห็นว่าควรมีการพัฒนาหลักสูตร ต้องปรับหลักสูตร เปลี่ยนการเรียนการสอน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต่อไปหารือร่วมกับเลขาธิการคุรุสภาด้วย เพราะเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ โดยแนวโน้มอาจจะให้ครูต้องสอบใบประกาศวิชาชีพครูเหมือนกับวิชาชีพอื่น โดยการสอบต้องสอบทั้งภาคทฤษฎีและกระบวนการสอน” รองเลขาฯ กกอ.กล่าว

รศ.ดร.พินิติ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการผลิตครูมืออาชีพนั้น ที่ประชุมอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาครูคุรภาพเข้าสู่ระบบ และอยากให้นำระบบการคัดเลือกเริ่มแรกกลับมาใช้ โดยมีการคัดเลือกสถาบันการผลิตครู เพราะแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน โดยรูปแบบโครงการอาจไม่จำเป็นต้องให้ทุนการศึกษา แต่ต้องประกันการมีงานทำ แต่อยากให้โครงการผลิตครูมืออาชีพ เริ่มในปี 2557 โดยคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ชั้นปีที่ 5 ที่มีผลการเรียนดีต่อเนื่องมาสอบแข่งขัน และพิจารณาผู้รับทุนต้องดูภูมิลำเนาของผู้สมัครเป็นหลัก และต้องดูข้อมูลทั้งระบบเพราะเกี่ยวข้องกับอัตราการบรรจุ ทั้งนี้ จะนำข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครูอีกครั้ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34995&Key=hotnews

ศธ.หนุนเด็กใต้เรียน ม.ปลาย

6 ธันวาคม 2556

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2556-2558) โดยที่มีเป้าหมายยุทธศาสตร์ 7 ยุทธศาสตร์ เช่น ยุทธศาสตร์การเพิ่มคุณภาพการศึกษา การพัฒนาไอซีที และการให้ทุนการศึกษา เพื่อเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือถึงการส่งเสริมให้นักเรียนในพื้นที่ได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีหรือจบการศึกษาระดับชั้น ม.3 และเรียนต่อระดับ ม.ปลาย มากขึ้น เนื่องจากพบว่าสัดส่วนนักเรียนที่จบชั้น ม.ปลายยังมีไม่มาก เพราะส่วนใหญ่จะเรียนด้านศาสนา ซึ่งยังไม่สามารถเทียบโอนระดับชั้น ม.ปลาย ได้จึงยังทำให้ไม่สามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้ ดังนั้นที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้าไปช่วยส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนจนจบระดับ ม.ปลาย เพิ่มขึ้น

“ที่ประชุมยังเสนอให้ส่งเสริมการเรียนการสอนสองภาษา หรือ ทวิภาษาให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนใต้อ่านและเขียนภาษาไทยได้ นอกจากนี้นายจาตุรนต์ได้ย้ำให้ส่งเสริมการเรียนภาษาเพื่อเชื่อมโยงกับความเป็นอาเซียนและสากล โดยตั้งเป้าให้เด็กใต้เรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี และการเพิ่มสัดส่วนการเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีพตลอดจนการพัฒนาครูในพื้นที่ให้ได้อย่างน้อย 80% ด้วย” นางสุทธศรีกล่าว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34994&Key=hotnews

เร่งหารือเกณฑ์เงินเดือนเด็กอาชีวะ

3 ธันวาคม 2556

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอชื่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชนกลุ่มอาชีพ (Skill Cluster) 12 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน แม่พิมพ์ พลังงาน อาหาร โรงแรมและท่องเที่ยว อัญมณี ก่อสร้าง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อุตสาหกรรมเคมี และอุสาหกรรมสิ่งทอ กับรมว.ศธ. ในสัปดาห์นี้เพื่อลงนามแต่งตั้งให้คณะกรรมการ ได้ดำเนินการวางแผนผลิตกำลังคนตามกลุ่มสาขาอาชีพต่อไป เมื่อรมว.ศธ. ลงนามแต่งตั้งแล้ว คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะหารือกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อจัดทำรายละเอียดการพัฒนาการเรียนการสอน การจัดทำหลักสูตร และการพัฒนาบุคลากร ที่จะสนองตอบต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และภาคการผลิต

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะหารือถึงเรื่องเงินเดือนสำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่ฝึกปฏิบัติงานและทำงานในสถานประกอบการด้วยว่า ในแต่ละกลุ่มอาชีพควรจะได้รับเงินเดือนเท่าใดถึงจะเหมาะสม เบื้องต้นตั้งเป้าว่า ผู้ที่จบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) จะต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท แต่ขณะนี้มีบางกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มพลังงาน โลจิสติกส์ ที่เด็กระดับ ปวส.ได้เงินเดือนสูง 2-3 หมื่นบาท จึงมั่นใจว่าเด็กที่มาเรียน 12 กลุ่มอาชีพนี้ เงินเดือนจะสูงแน่นอน

–ข่าวสด ฉบับวันที่ 3 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34972&Key=hotnews

เด็กไทยสุดเจ๋งคว้า 11 เหรียญทองแข่งขันคณิต-วิทยาศาสตร์โอลิมปิก

3 ธันวาคม 2556

นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้คัดเลือกและส่งนักเรียนระดับประถมศึกษาจากทุกสังกัดของไทยที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ จำนวน 12 คน และวิทยาศาสตร์ จำนวน 15 คน รวม 27 คน เข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศ ระดับประถมศึกษา International Mathematics and Science Olympiad For Primary School 2010 (IMSO 2010) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-29 พฤศจิกายน 2556 ณ เมืองอัลฟองโซ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวนรวม 247 คน จาก 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไน จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา แอฟริกาใต้ ไต้หวัน คาซัคสถาน มาเลเซีย เนปาล อินเดีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยนั้น ผลปรากฏว่านักเรียนไทยสามารถกวาดรางวัลจากการแข่งขันได้ถึง 28 รางวัล ประกอบด้วย

การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกได้ 6 เหรียญทอง, เหรียญเงินได้ 5 เหรียญ และเหรียญทองแดง 1 รางวัล สำหรับ ผู้ได้รับเหรียญทองได้แก่ เด็กชายลภัส เปรมเจริญ โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราช รังสฤษฎ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา, เด็กชาย นิรวิทธ์ อารยะพิพัฒน์กุล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพ มหานคร, เด็กชายปพณ ละเภท โรงเรียนดรุณากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี, เด็กชาย พรพิพัฒน์ กิตติสุภาพ โรงเรียนอนุบาลสุธีธร จ.นครปฐม, เด็กชาย ภานุพงศ์ พุ่มพวง โรงเรียนอยู่เย็นวิทยา จ.นครปฐม และเด็กชายสรรค์เปรม เตชะวิเชียร โรงเรียนพระมารดานิจจา นุเคราะห์ กรุงเทพมหานคร

สำหรับการแข่งขันวิทยาศาสตร์ โอลิมปิก ได้ 5 เหรียญทอง, เหรียญเงิน ได้ 8 เหรียญ และเหรียญทองแดง 2 รางวัล ซึ่งผู้ได้รับเหรียญทอง ได้แก่ เด็กชายชาลี โลหะรุ่งโรจน์ โรงเรียนราชวินิต กรุงเทพมหานคร, เด็กชายจิรภัทร วัฒนเรืองโกวิท โรงเรียนอนุบาลยโสธร จ.ยโสธร, เด็กหญิง ปพิชญา จันทร์ผ่อง โรงเรียนสุวรรณวงศ์ จ.สงขลา, เด็กชายกันตภณ วงศ์แจ่มเจริญ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร และเด็กชายฐิติวัสส์ อัศวเลิศพลากร โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ เด็กชายปพณ ละเภท โรงเรียนดรุณากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ยังสามารถคว้ารางวัลพิเศษคะแนนรวมสูงสุดด้านการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ (Best in Solving Math Exploration Problems) อีกหนึ่งรางวัลด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34970&Key=hotnews

กศน.ย้ำเพิ่มผู้เรียนอาชีวะต้องรุมกันทำ เตรียม 2 ยุทธศาสตร์ควานหาผู้เรียน

3 ธันวาคม 2556

นายสุรพงษ์ จำจด รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า ตามที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มี นโยบายเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพต่อสายสามัญ จาก 36 ต่อ 64 เป็น 51 ต่อ 49 ในปี 2558 เพื่อผลิตบุคลากรสายอาชีพที่มีแนวโน้มขาดแคลนอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงาน กศน.นั้น ในส่วนของสำนักงาน กศน.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวไว้ 2 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. สำนักงาน กศน.จะจัดการเรียนการสอน ปวช.สำหรับผู้เรียนนอกระบบเอง โดยใช้หลักสูตรปวช. ของ สอศ.แต่จะปรับให้สอดคล้องไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญจะประสานกับสถานประกอบการในพื้นที่เข้ามาร่วมจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาคี เพื่อให้ผู้เรียนได้เน้นการฝึกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเรียนอาชีวศึกษามีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายเปิดอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ห้องเรียน และห้องเรียนละ 40 คน

นายสุรพงษ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 จะเน้นกระบวนการแนะแนว โดยใช้สำนักงาน กศน.ตำบลเป็นฐานในการรณรงค์และกระจายข้อมูลข่าวสาร เพราะมีห้องเรียนกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ทั้ง 7,406 ตำบล แล้วจึงส่งต่อผู้เรียนให้แก่สอศ. โดยกศน.จะขอสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะใช้ในการรณรงค์จากสอศ.เพื่อนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ ในชุมชน เช่น หอกระจายข่าว หรือวิทยุชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของกศน.จะต่างจากของ สอศ. เพราะผู้เรียนของกศน.จะเป็นกลุ่มวัยแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และทำงานอยู่แล้ว แต่ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ตนเอง ซึ่งการดำเนินการทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ ตนมั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้ที่อยู่นอกระบบมีโอกาสเข้าถึงการเรียนอาชีวะได้มากขึ้น และจะตรงกับความต้องการของผู้เรียนด้วย

“การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพให้ประสบความสำเร็จตามนโยบายนั้น ผมเห็นว่าต้องมีการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ร่วมกัน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันทำเชื่อว่าจะเปลี่ยนวิธีคิดของคนได้ แต่หากทำงานแบบต่างคนต่างพาย แม้จะไปได้ แต่เมื่อไหร่จะไปถึง ดังนั้นการประกอบร่างมาทำงานร่วมกันจะมีพลังมากกว่า” นายสุรพงษ์ กล่าว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

ww.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34968&Key=hotnews

 

สพฐ.ร่อนหนังสือแจง กวพ.อ. – สตง.

3 ธันวาคม 2556

สพฐ.ส่งหนังสือแจงประมูลอี-ออกชัน โซน 3 เพิ่มเติมให้ กวพ.อ. แล้วพร้อมส่งหนังสือถึง สตง.ขอข้อมูลเพิ่มเติมปัญหาจัดซื้อแท็บเล็ตด้วย “จาตุรนต์” ระบุต้องรอผลตัดสินการอุทธรณ์ที่ชัดเจนจาก กวพ.อ.

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงความคืบกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 แท็บเล็ต ต่อ 1 นักเรียน มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่งข้อมูลเพิ่มเติมชี้แจงการยกเลิกผลการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอีเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน แท็บเล็ตโซน 3(ภาคกลางและภาคใต้) ของนักเรียนชั้นม. 1 และครู ไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) นั้น คงต้องรอคำตัดสินของ กวพ.อ.ก่อน แต่ที่ห่วงคือ ส่วนที่ประมูลและทำสัญญาไปแล้วก่อนหน้านี้ในโซน 1, 2 ระดับ ป. 1 และโซน 4 ระดับ ม.1 ที่ยังมีความล่าช้า เนื่องจากยังไม่สามารถส่งแท็บเล็ตให้โรงเรียนตามที่คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เรื้อรังมานาน สะท้อนชัดว่าระบบวิธีการจัดซื้อแท็บเล็ต มีปัญหา

นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ.ได้ทำหนังสือ 2 ฉบับ ส่งไปยัง กวพ.อ.และ สตง. โดยในส่วนของ กวพ.อ.นั้นเป็นการส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมการจัดซื้อจัดจ้างในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการอี-ออกชันในโซน 3 ที่ผ่านมามีการดำเนินการอะไรบ้าง ซึ่งสำนักการคลังและสินทรัพย์ ของ สพฐ.ได้รวบรวมข้อมูลการจัดซื้อแท็บเล็ตโซน 3 ว่ามีการจัดซื้อแพงกว่าโซน 4 อย่างมีนัยสำคัญอย่างไร ส่วน ของ สตง.นั้น เป็นการสอบถามและขอข้อมูลเพิ่มเติมว่า สตง. มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อแท็บเล็ต ประจำปีการศึกษา 2556 ในประเด็นปัญหาอื่นๆ นอกจากที่เคยได้ให้ข้อสังเกตมาหรือไม่และขอให้ส่งกลับมา เพื่อที่ สพฐ.จะได้รวบรวมปัญหาทั้งหมดและนำดำเนินการแก้ไข

“คงต้องรอฟังผลตัดสินของ กวพ.อ.ว่าจะมีมติเช่นไรซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ แต่หากมีมติให้ยกเลิกผลอี-ออกชันโซน 3 ตามที่บอร์ดบริหารแท็บเล็ตมีมติ ก็จะต้องเปิดอีออกชันใหม่ แต่บริษัทเดิมที่ชนะการประมูลก็คงยื่นฟ้องศาลปกครอง หรือหากพิจารณาให้ดำเนินการต่อ สพฐ.ก็อาจจะต้องประชุมเพื่อหาแนวทางที่จะรักษาประโยชน์ให้ราชการ เช่น อาจจะเจรจากับบริษัทเพื่อต่อรองราคา หรือหาวิธีการอื่น ๆ แต่ที่สุดแล้วจะต้องเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้พิจารณา” นาย กมล กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34966&Key=hotnews

 

ไมโครซอฟท์ ให้สิทธิ์ นศ.ใช้ ‘ออฟฟิศ 365’ ฟรี ยกระดับการศึกษา

28 พฤศจิกายน 2556

“ไมโครซอฟท์” มอบสิทธิ์สำหรับนักศึกษาผ่านโครงการ “Student Advantage” เพิ่มโอกาสให้นักศึกษาทั่วโลก ใช้บริการ Office 365 เพื่อการศึกษาได้ฟรี…

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเปิดตัวโครงการ “สิทธิประโยชน์สำหรับนักศึกษา” (Student Advantage) สำหรับสถาบันการศึกษาที่เลือกใช้ Office หรือ Office 365 เพื่อการศึกษา ในประเภทไลเซ่นส์ โปรแกรม ออฟฟิศ โปรเฟสชันนอล พลัส (Office Professional Plus) หรือออฟฟิศ 365 โปรพลัส (Office 365 ProPlus) สำหรับคณาจารย์และบุคลากรทั้งสถาบัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป นักศึกษาในสถาบันการศึกษานั้นๆ จะสามารถใช้งานโปรแกรม Office 365 Pro Plus โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งข้อเสนอดังกล่าว จะมอบแก่นักศึกษาทั่วทุกมุมโลกรวมถึงประเทศไทย

ทั้งนี้ บริการ Office 365 เพื่อการศึกษา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน โดยสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่น Office ที่ประกอบด้วย Word PowerPoint และ Excel ผ่านทุกดีไวซ์ และจดบันทึกผ่าน OneNote โดยมีข้อมูลที่เชื่อมต่อกันตลอดเวลา กับพื้นที่จัดเก็บบนคลาวด์ (Sky Drive หรือ Sky Drive Pro) ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้บริการเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมั่นใจว่าข้อมูลจะมีความเป็นส่วนตัว

นายฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับด้านการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้วิสัยทัศน์ We Make 70 Million Lives Better โดยปฏิรูปการเรียนการสอนของผู้สอนให้ทันสมัย ตอบรับความต้องการของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านการใช้งานนวัตกรรมไอที และผลิตภัณฑ์นำสมัยอย่าง Office 365 เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาศักยภาพของเยาวชน และสร้างผู้ริเริ่มนวัตกรรมในอนาคต ด้วยการมอบโอกาสให้เยาวชน สามารถใช้งานโปรแกรมเพิ่มประสิทธิภาพผ่านระบบคลาวด์ได้

สำหรับโครงการ Student Advantage เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงโปรแกรมชั้นนำ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในเวอร์ชั่นที่ทันสมัย และอัพเดต ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับนักศึกษา ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษากว่า 35,000 แห่งทั่วโลก ที่ได้สิทธิ์ในการมอบสิทธิประโยชน์การใช้งานให้กับนักศึกษา ตามเงื่อนไขโครงการ Student Advantage โดยอัตโนมัติ ซึ่งกว่า 98% ของนักศึกษาที่ใช้งานซอฟต์แวร์เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ได้ใช้งานไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 365โปรพลัส ประกอบไปด้วย แอพพลิชั่นออฟฟิศต่างๆ ที่คุ้นเคยแบบครบวงจร โดยสามารถติดตั้งได้บนเครื่องพีซีหรือแมคได้ถึง 5 เครื่อง และสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ได้ถึง 5 ดีไวซ์ และสามารถทำงานแบบออฟไลน์ได้ เมื่อผนวกการใช้สิทธิ์ในโครงการ Student Advantage พร้อมกับการใช้งานคลาวด์เซอร์วิสของไมโครซอฟท์ อาทิ Exchange Online , SharePoint Online and Lync Online ที่สามารถใช้งานได้ฟรีในบริการ Office 365 เพื่อการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ไมโครซอฟท์ เชิญชวนมหาวิทยาลัยที่สนใจร่วมงานสัมมนา “ระบบคลาวด์สู่การศึกษายุคใหม่” เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพ ประโยชน์ และผลของการใช้งานของบริการ Office 365 จากสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ และรายละเอียดโครงการ Student Advantage โดยงานดังกล่าว จะจัดขึ้นที่สำนักงานบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย.

ที่มา: http://www.thairath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34945&Key=hotnews

แนะแนวเรียนอาชีวะ 1.2 แสนคน

28 พฤศจิกายน 2556

บอร์ด กอศ.ชี้เอกชนอุดหนุนทุนเรียน ถ้าเด็กไทยไม่สน “พม่า-ลาว” เสียบแทน
ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.56 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)โดยกลุ่มอาชีวศึกษาภาคเหนือ จัดประชุมสัมนาการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเรียนสายอาชีพ ให้กับครูแนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ

โดยนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนพัฒนาการลงทุนมากมาย โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องน้ำการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหา คือมีบุคลากรไม่เพียงพอ เพราะตามแผนการพัฒนาและการลงทุนต่างๆ ต้องการกำลังคนถึง 5 แสนคน แต่วันนี้สามารถผลิตช่างเทคนิคได้ไม่ถึง 70% หรือไม่ถึง 3 แสนคนเท่านั้น ดังนั้นการที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายสนับสนุนให้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายสายอาชีวะต่อสายสามัญที่ 51:49 ขณะที่ปัจจุบันมีนักศึกษาอาชีวะเพียง 2.8 แสนคน ฉะนั้นหากจะให้ได้ตามเป้าหมายต้องมีเด็กเข้าเรียนอาชีวะไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ซึ่งยังขาดอีก 1.2 แสนคน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า หากมองตัวเลขนักเรียน ม.3 ในปัจจุบันที่มี 8.5 แสนคน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงเด็กมาเรียนอาชีวะได้ทันทีภายในปีสองปีนี้ แต่ถ้าทำได้ภายใน 5 ปีก็ถือว่าไม่สายเกินไป โดยทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความร่วมมือ ในการแนะแนวทางเลือกให้เด็ก อย่าปล่อยให้เป้าหมายอยู่แต่ในกระดาษ ต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำให้ได้อย่างน้อยปีละ 5 หมื่นคน โดยเฉพาะครูแนะแนว ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เด็กมากขึ้น ต้องมีการจัดโรดโชว์ในโรงเรียนมัธยม นักเรียนคนใดชอบเรียนปฏิบัติก็แนะนำให้มาเรียนอาชีวะ เพราะประเทศเราต้องพัฒนาถ้าไม่แนะนำให้เด็กมาเรียนอาชีวะโอกาสพัฒนาประเทศก็จะยากขึ้น และขณะนี้มีบริษัทเอกชน หลายแห่งให้ทุนเรียนอาชีวะมากขึ้น ถ้าเด็กไทยไม่เรียน ต่อไปเด็กจากพม่าและลาวจะมาเรียนและทำงานแทน

“ไม่ว่าใครก็ต้องมีอาชีพ แต่จะเลือกเมื่อไหร่เท่านั้น ถ้าเป็นสมัยก่อนจะบอกว่าคนเรียนเก่งให้เรียน ม.ปลายสายสามัญ ถ้าไม่เก่งให้เรียนสายอาชีพ ทำให้สายอาชีพกลายเป็นชนชั้น 2 และสมัยนี้ยังมีปัญหาว่าค่านิยมว่า พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนปริญญาตรีเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งมันไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้เด็กก็เรียนไม่ตรงกับความต้องของตลาดแรงงาน เพราะไม่สามารถเรียนในสาขาที่ตัวเองต้องการเรียนได้เพราะมีอัตราแข่งขันสูง อีกทั้งบริษัทชั้นนำ ก็จะคัดเลือกคนที่ได้เกียรตินิยม เพราะมีตัวเลือกมาก ทำให้เด็กจบแล้วไม่รู้จะทำอะไร ขณะที่เด็กที่เรียนจบ ปวส. จะสามารถทำงานได้ทันที และยังสามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของอาชีวะ โดยเฉพาะปัญหาทะเลาะวิวาท ที่ทำให้ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกหลานเข้าเรียน จึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ภาพลักษณ์นั้น”ประธาน กอศ.กล่าว

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34943&Key=hotnews