แนะแนวเรียนอาชีวะ 1.2 แสนคน

28 พฤศจิกายน 2556

บอร์ด กอศ.ชี้เอกชนอุดหนุนทุนเรียน ถ้าเด็กไทยไม่สน “พม่า-ลาว” เสียบแทน
ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.56 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)โดยกลุ่มอาชีวศึกษาภาคเหนือ จัดประชุมสัมนาการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเรียนสายอาชีพ ให้กับครูแนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ

โดยนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนพัฒนาการลงทุนมากมาย โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องน้ำการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหา คือมีบุคลากรไม่เพียงพอ เพราะตามแผนการพัฒนาและการลงทุนต่างๆ ต้องการกำลังคนถึง 5 แสนคน แต่วันนี้สามารถผลิตช่างเทคนิคได้ไม่ถึง 70% หรือไม่ถึง 3 แสนคนเท่านั้น ดังนั้นการที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายสนับสนุนให้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายสายอาชีวะต่อสายสามัญที่ 51:49 ขณะที่ปัจจุบันมีนักศึกษาอาชีวะเพียง 2.8 แสนคน ฉะนั้นหากจะให้ได้ตามเป้าหมายต้องมีเด็กเข้าเรียนอาชีวะไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ซึ่งยังขาดอีก 1.2 แสนคน

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า หากมองตัวเลขนักเรียน ม.3 ในปัจจุบันที่มี 8.5 แสนคน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงเด็กมาเรียนอาชีวะได้ทันทีภายในปีสองปีนี้ แต่ถ้าทำได้ภายใน 5 ปีก็ถือว่าไม่สายเกินไป โดยทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความร่วมมือ ในการแนะแนวทางเลือกให้เด็ก อย่าปล่อยให้เป้าหมายอยู่แต่ในกระดาษ ต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จ ต้องทำให้ได้อย่างน้อยปีละ 5 หมื่นคน โดยเฉพาะครูแนะแนว ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงแก่เด็กมากขึ้น ต้องมีการจัดโรดโชว์ในโรงเรียนมัธยม นักเรียนคนใดชอบเรียนปฏิบัติก็แนะนำให้มาเรียนอาชีวะ เพราะประเทศเราต้องพัฒนาถ้าไม่แนะนำให้เด็กมาเรียนอาชีวะโอกาสพัฒนาประเทศก็จะยากขึ้น และขณะนี้มีบริษัทเอกชน หลายแห่งให้ทุนเรียนอาชีวะมากขึ้น ถ้าเด็กไทยไม่เรียน ต่อไปเด็กจากพม่าและลาวจะมาเรียนและทำงานแทน

“ไม่ว่าใครก็ต้องมีอาชีพ แต่จะเลือกเมื่อไหร่เท่านั้น ถ้าเป็นสมัยก่อนจะบอกว่าคนเรียนเก่งให้เรียน ม.ปลายสายสามัญ ถ้าไม่เก่งให้เรียนสายอาชีพ ทำให้สายอาชีพกลายเป็นชนชั้น 2 และสมัยนี้ยังมีปัญหาว่าค่านิยมว่า พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนปริญญาตรีเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งมันไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้เด็กก็เรียนไม่ตรงกับความต้องของตลาดแรงงาน เพราะไม่สามารถเรียนในสาขาที่ตัวเองต้องการเรียนได้เพราะมีอัตราแข่งขันสูง อีกทั้งบริษัทชั้นนำ ก็จะคัดเลือกคนที่ได้เกียรตินิยม เพราะมีตัวเลือกมาก ทำให้เด็กจบแล้วไม่รู้จะทำอะไร ขณะที่เด็กที่เรียนจบ ปวส. จะสามารถทำงานได้ทันที และยังสามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของอาชีวะ โดยเฉพาะปัญหาทะเลาะวิวาท ที่ทำให้ผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกหลานเข้าเรียน จึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ภาพลักษณ์นั้น”ประธาน กอศ.กล่าว

ที่มา: http://www.siamrath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34943&Key=hotnews

นักวิชาการชี้ปฏิรูปครู ศธ.ต้องฟื้นโครงการ “ครูพันธุ์ใหม่”

28 พฤศจิกายน 2556

นักวิชาการ แนะปฏิรูปครูต้องเริ่มต้นที่การผลิต จี้ ศธ.ฟื้นโครงการครูพันธุ์ใหม่ ชี้ข้อดีคัดคนดี คนเก่งมาเป็นครู เสนอไอเดีย เปลี่ยนวิธีให้ทุนตรงที่คณะ ไม่ผ่านมหา’ลัยเช่นที่ผ่านมา

นายประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบัน กล่าวถึงกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายปฏิรูปครูทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการพัฒนาครู ว่า หาก รมว.ศึกษาธิการ จะเดินหน้าเรื่องปฏิรูปครูทั้งระบบนั้น อันดับแรกที่ต้องทำ คือ คิดหาวิธีจูงใจให้คนดี คนเก่งมาเป็นครู โดยเฉพาะควรเร่งเดินหน้าโครงการครูพันธุ์ใหม่โดยเร็วที่สุด เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี ที่สามารถคัดคนเก่ง คนดีมาเป็นครูได้ แต่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ต้องหาวิธีการที่จะให้สถาบันฝ่ายผลิตลดจำนวนการผลิตลงด้วย เนื่องจากขณะนี้แต่ละสถาบันต่างฝ่ายต่างผลิต จนทำให้มีบัณฑิตครูออกมาจำนวนมากแต่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และได้ครูที่ไม่มีคุณภาพ โดย ศธ.อาจจะใช้วิธีการส่งทุนโดยตรงมาที่คณะครุศาตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่ต้องผ่านสถานศึกษาหรือมหาวิทยาลัยโดยตรง เพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยใช้เป็นข้ออ้างในการหารายได้ และรับนักศึกษาในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มากเกินความจำเป็น ส่วนการใช้ทุนอาจจะทำลักษณะเดียวกับทุนผลิตแพทย์ ที่ให้ทุนผ่านคณะโดยตรง และคณะเองก็สามารถไปกำหนดจำนวนรับนักศึกษาเข้าเรียนได้ วิธีการนี้จะช่วยลดการผลิตในเชิงปริมาณได้มาก

“ภาครัฐเองก็จะต้องมีความชัดเจน ในเรื่องจำนวนความต้องการครูในว่ามีเท่าไหร่ และสาขาใด เพื่อช่วยให้สถาบันมีความชัดเจนในการผลิตมากขึ้น ขณะเดียวกันต่อไปศธ.ควรจะต้องมีการประเมิน และยกระดับคุณภาพการผลิตครูของแต่ละสถาบันโดยควรจะต้องมีสอบใบประกอบวิชาชีพครูทุกปี ไม่ใช่ว่าจบครู 5 ปี แล้วจะได้รับใบประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติ เพื่อให้แน่ใจว่าได้คนที่มีคุณภาพจริง ๆ มาเป็นครู” นายประวิต กล่าว

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34942&Key=hotnews

24 โรงเรียน กทม. ปิดเรียนต่อถึง 28 พ.ย.

27 พฤศจิกายน 2556

กทม.สั่งให้ปิดโรงเรียนในสังกัด กทม.ในเขตพื้นที่ชุมนุม จำนวน 24 โรงเรียน จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่ สพฐ. ให้อำนาจผู้อำนวยการตัดสินใจสั่งหยุดการเรียนการสอน หากเห็นว่าสุ่มเสี่ยงต่อเด็กและครู

น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกทม. เปิดเผย หลังจากการประเมินสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการกระจายไปยึดที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ทาง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานของ กทม.ปรับแผนปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมสั่งปิดโรงเรียนในสังกัดกทม. จำนวน 24 โรงเรียนในพื้นที่ 3 เขตคือ เขตพระนคร ดุสิต และป้อมปราบศัตรูพ่าย ต่อไปจนถึงวันที่ 27-28 พ.ย.56 ส่วนโรงเรียนในเขตอื่นๆ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนที่ไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการสั่งปิดการเรียนการสอนหรือไม่ ทั้งนี้ กทม.จะมีการสอนชดเชยให้กับนักเรียนของกทม.ที่มีการปิดการเรียนการสอน เพื่อให้ครบตามหลักสูตร

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับให้จัดเวรยามดูแลรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ตามอาคารสถานที่ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงบริเวณพื้นที่การชุมนุม เพราะเป็นห่วงมือที่สามจะเข้ามาสร้างสถานการณ์ และยืนยันว่าในวันที่ 26 พ.ย. ข้าราชการและผู้บริหาร ยังคงเข้าทำงานตามปกติ โดยในวันนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้นัดประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ที่กระทรวงศึกษาธิการ

นายอภิชาติ จีรวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนต่างๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนในการสั่งปิดการเรียนการสอนได้ หากเห็นว่าสถานการณ์สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อเด็กและครู โดยโรงเรียนมีอำนาจสั่งปิดโรงเรียนได้ 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกิน 15 วัน จะเป็นอำนาจของเลขาธิการ สพฐ. สั่งปิดโรงเรียน ในส่วนของครูและนักเรียนที่จะไปร่วมชุมนุมนั้นถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้ปิดการเรียนการสอน ถ้าครูต้องการจะไปร่วมชุมนุมก็ต้องใช้วิธีขอลาราชการตามสิทธิ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาจะพิจารณา

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34939&Key=hotnews

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย
ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย

26 พ.ย.56 นักศึกษา และเพื่อนอาจารย์ มหาวิทยาลัยเนชั่น
ประกอบด้วย นายไวภพ ตุ้ยน้อย อาจารย์วิเชพ ใจบุญ และนายณภัทร เทพจันตา
เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.56
โดย กสทช. จัดเวิร์กช็อปนักศึกษา
เรื่อง ภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย
(Threats on Cyber security and Its Implication on Thai Culture Workshop)

ตามที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทุกประเทศในโลกมีอัตราการเติบโตของปริมาณผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบที่เรียกกว่า สมาร์ทโฟน ขึ้นสูงมาก วิวัฒนาการได้ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด จนทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัยของข้อมูลที่ตนเองได้ใช้ในการทำธุรกรรมผ่านสมาร์ทโฟนดังกล่าว ทำให้เกิดช่องโหว่ให้ผู้ไม่หวังดี และแฮคเกอร์ต่างใช้โอกาสนี้ในการโจรกรรมข้อมูล และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลและองค์กรเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ใช้เครือข่ายออนไลน์ โดยเฉพาะเฟชบุ๊คในกรุงเทพมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ยิ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มแฮคเกอร์ได้โดยง่าย

กสทช. เห็นความสำคัญ ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางไซเบอร์กับวัฒนธรรมไทย ทุกภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงภัยคุกคามออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ส่งเสริมให้เยาวชนและผู้เข้าร่วมประชุมใช้วัฒนธรรมนำชีวิต รู้จักใช้วัฒนธรรมในโลกไซเบอร์ รู้จักวิธีป้องกันปัญหาและวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสม และเพื่อสร้างความตื่นตัวของภาคการศึกษา ประชาชนและกรรมการสภาวัฒนธรรม ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยนักเรียนนักศึกษา รวมทั้งครูอาจารย์ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน นักธุรกิจ และประชาชนที่สนใจ

http://www.pracharkomnews.com/hilight/%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%81/

‘จาตุรนต์’ แนะสพฐ.ประชาพิจารณ์หลักสูตรก่อนใช้

26 พฤศจิกายน 2556

“จาตุรนต์”  แนะสพฐ. ส่งหลักสูตรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและเปิดสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วยก่อนนำไปใช้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ได้ประชุมคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2556 ขอให้ที่ประชุมช่วยพิจารณาวิธีและกระบวนการที่เหมาะสมในการออกแบบ การจัดทำ ปรับปรุงหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผล โดยขอให้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องเป็นผู้รับรองหลักสูตร และต้องเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการลงนามก่อนประกาศใช้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อจัดทำหลักสูตรเสร็จแล้วจะมีการส่งต่อให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบด้วย เช่น สพฐ. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

นอกจากนี้ในการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นควรให้หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เช่น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แม้จะมีการประชุมรับฟังที่เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากลุ่มมาแล้วหลายจุด พบว่ายังมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องหลักสูตร บางรายเห็นว่าหลักสูตรในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร บางรายอาจจะเห็นว่าต้องปรับปรุงเป็นบางส่วน

ดังนั้น หากจัดให้มีการประชุมแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมให้แก่ผู้เกี่ยวข้องมากๆ ได้มาพูดคุยหารือร่วมกันจะทำให้รู้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างไรบ้าง และที่จำเป็นมากต้องให้คนทั้งสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะหลักสูตรเกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครองทุกคน หากประชาชนในวงกว้างได้รับความรู้ความเข้าใจในความจำเป็น เนื้อหา รายละเอียดของการปรับปรุงหลักสูตร ก็จะสร้างความเข้าใจ เห็นดีเห็นงามตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้การปฏิรูปหลักสูตรประสบผลสำเร็จ ไม่เป็นอุปสรรค และที่สำคัญเป็นไปตามนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการให้กระบวนการต่างๆ ในการปฏิรูปการศึกษา ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของ ศธ. และคนทั้งสังคม เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34936&Key=hotnews

ชี้เรียนอาชีวะโอกาสก้าวหน้าดีกว่าปริญญาตรี

26 พฤศจิกายน 2556

ภาคอุตสาหกรรมตั้งคำถามผู้ปกครองบังคับลูกเรียนปริญญาทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ ชี้เรียนอาชีวะมีโอกาสดีกว่ามาก เผย 3-5 ปีข้างหน้า 40 อุตสาหกรรมไทยขาดแรงงานกว่า 3.8 แสนคน ย้ำถ้าไม่พัฒนาทักษะฝีมือให้เด็กไทยก็ทำได้แค่แย่งงานแรงงานต่างด้าวที่ไร้ฝีมือ

วานนี้ (25พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาให้มีกำลังคนที่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ” ซึ่งมีผู้บริหารโรงเรียนมัธยม ครูแนะแนว โรงเรียนเอกชน เขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานกศน.เข้าร่วมกว่า 1,500 คน โดยดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะโครงการ 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลจะทำให้มีความต้องการแรงงานฝีมือเพิ่มอีกเป็นแสนคน รัฐบาลจึงมีนโยบายปรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญเป็น 51 ต่อ 49 ภายในปี 2558 ซึ่งในปีนี้มีความพยายามรณรงค์เชิญชวนเด็กม.3 แต่ในปีหน้าจะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รณรงค์ทำความเข้าใจกับเด็กตั้งแต่ชั้น ม.1 โดยมีหลักการสำคัญอยู่ที่การสอนเด็กได้รู้จักสำรวจตนเองว่ามีความถนัดด้านใด เป็นการทำความรู้จักตนเอง เพื่อจะได้รู้ว่าชีวิตควรจะเดินไปทิศทางใด และสามารถเลือกศึกษาต่อได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจต้องมีทบทวนหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย

น.ส.บุณฑริก กุศลวิทย์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งมีพลเมืองรวมกันกว่า 600 ล้านคน หากรวมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีหรืออินเดียก็จะมีกำลังการบริโภคมหาศาล ในขณะที่การท่องเที่ยวได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปแล้ว ทำให้งานที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ งานโรงแรมและการบริการจึงต้องการบุคลากรอีกจำนวนมาก แม้แต่ทุกชาติในอาเซียนก็พูดตรงกันว่าขาดแคลนแรงงานด้านนี้เหมือนกันทุกประเทศ เฉพาะประเทศไทยก็คาดว่าในปี 2015 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 2.2 ล้านล้านบาท ถ้าเราไม่สะดุดขาตัวเองเสียก่อน ดังนั้นการเรียนสายอาชีพจึงมีอนาคตที่ดี ซึ่งในส่วนของโรงแรมจะรับนักศึกษา ปวช.มาฝึก 2 ปี โดยให้ฟรีทุกอย่าง และยังจ่ายค่าแรงให้อีกด้วย เมื่อเรียนจบแล้ว หากจะเรียนต่อปริญญาตรีก็ยังให้การสนับสนุน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งบริหารได้มากกว่าคนที่เข้ามาทำงานด้วยวุฒิปริญญาตรี

“เส้นทางความสำเร็จในชีวิตมีอยู่หลากหลาย แล้วทำไมครูแนะแนวจึงไม่เติมเต็มข้อมูลเหล่านั้นให้นักเรียน เพื่อช่วยให้เขาค้นพบเส้นทางเดินชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง และได้ทำในสิ่งที่ชอบและมีความสุข” น.ส.บุณฑริก กล่าว

ในขณะที่นายพงศ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ ประธานอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไทย กล่าวว่า ในอีก 3-5 ปี 40 อุตสาหกรรมของไทยจะขาดแคลนแรงงานระดับฝีมือถึง 3.8 แสนคน ในขณะที่เรามีแรงงานต่างด้าวอยู่กว่า 3.7 ล้านคน ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ตนจึงอยากถามว่าเราจะให้เด็กไทยไปแย่งงานแรงงานไร้ฝีมือเหล่านั้นหรือจะพัฒนาคนของเราให้เป็นแรงงานฝีมือซึ่งยังมีความต้องการอีกมหาศาล เมื่อจบแล้วไม่ตกงานแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการรณรงค์ให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีพนั้น ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ปกครอง ไม่ใช่เด็ก ครูแนะแนวจึงต้องเป็นผู้ชี้แจงกับผู้ปกครองให้เข้าใจ ซึ่งตนอยากให้ถามผู้ปกครองว่าการที่อยากให้ลูกเรียนปริญญาทำให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ เป็นการบังคับให้ลูกเรียนเพื่อสนองตนเอง หรือสนองลูกกันแน่ ดังนั้นเด็กต้องลุกขึ้นมาค้นหาตัวตนให้ได้ว่าต้องการอะไร ซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจเส้นทางชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34937&Key=hotnews

ก.ค.ศ.เสนอต่ออายุราชการครูเป็น 65 ปี

26 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการผลิตและพัฒนาครู เปิดเผยว่า จากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การปฏิรูประบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา” ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีการเสนอความคิดเห็นหลายประเด็น อย่างระบบความก้าวหน้าของวิชาชีพข้าราชการครูยังไม่ชัดเจนเพราะไปผสมอยู่กับระบบราชการ ไม่ได้เป็นระบบวิชาชีพเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ

ทางด้าน นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ประธานคณะทำงานการผลิตครู กล่าวว่า กำลังรวบรวมความคิดเห็นจากการประชุมซึ่งหลายฝ่ายมองว่าการจะสร้างคุณภาพนักเรียน จะต้องไปเสริมสร้างอะไรได้บ้าง อย่างการผลิตครูควรจะต้องไปผูกกับการบรรจุครูเพราะก่อนการผลิตครู จะไม่รู้ว่าเมื่อผลิตออกมาแล้วจะไปอยู่ที่ไหนบ้าง

ส่วนแนวคิดการเสนอต่ออายุราชการครูเป็น 65 ปี นั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุปซึ่งหากจะต่ออายุราชการน่าจะต้องดูเป็นรายโรงเรียนที่มีความจำเป็นต่อคุณภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะต้องประชุมหารือกันอีกหลายรอบเพื่อหาข้อสรุปกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้นและระยะยาว

ขณะที่นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เสนอแนวคิดการต่ออายุราชการครูจาก 60 ปี เป็น 65 ปี แต่จะต้องเป็นข้าราชการครูในสาขาที่ขาดแคลน ครูในท้องถิ่นที่มีความต้องการครูเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการต่ออายุราชการด้วย เช่น การกำหนดวิทยฐานะขั้นต่ำที่จะต่ออายุราชการได้ อาจจะไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่จะต่ออายุราชการให้อาจารย์ที่จะต้องมีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ เป็นต้น ทั้งนี้ เรื่องการต่ออายุราชการครูอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายละเอียดของสำนักงาน ก.ค.ศ. ซึ่งการนำแนวคิดนี้มาใช้ จะลดปัญหาการขาดแคลนครูได้ระดับหนึ่งโดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน

Source – มติชนออนไลน์ (Th)

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34935&Key=hotnews

ศธ.ประสานกรมสรรพากร ยกเว้นภาษีให้กับสถานศึกษาเอกชน

25 พฤศจิกายน 2556

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษา ว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การจัดการศึกษาของเอกชน ที่ขณะนี้ประสบปัญหาในหลายด้านโดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐ ปัญหาการคิดอัตราภาษีโรงเรือน ซึ่งปัจจุบันการคิดอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้ผลการประเมินมีความหลากหลาย อีกทั้ง อัตราภาษีก็คิดในรูปแบบธุรกิจบริการซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาเนื่องจากการจัดธุรกิจการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่มีรายได้เหมือนธุรกิจบริการต่างๆ ที่มีรายได้มาก ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ระหว่างประสานกรมสรรพากร เพื่อขอให้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีอากรการโอนภาษีที่ดินให้กับสถานศึกษาเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอขอให้คิดในอัตราต่ำสุดที่ 1-2% ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาในเรื่องของการเสียภาษีนำเข้าสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีการคิดในอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่เสนอว่าอยากให้มีการลดหย่อนภาษีหรือคิดในอัตราภาษีการศึกษาแทน ซึ่งขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากสถานประกอบการด้วยว่าการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีนั้นยังไม่มีผู้เรียนเข้าร่วมตามเป้าหมายอย่างพอเพียง จึงเสนอว่าอยากให้อาชีวศึกษาเอกชนเข้าร่วมกับสถานประกอบการในการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี 100% นอกจากนี้มีข้อเสนอด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่สถานประกอบการในตำบลหรือในจังหวัดที่อยากได้คนเข้าทำงานจัดสรรทุนให้เด็กอาชีวะ โดยทำเป็นโครงการ 1 สถานประกอบการ 1 ทุน หรือ 1 ตำบล 1 ทุน ซึ่งจะมีรูปแบบคล้าย1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งจะเป็นการจูงใจและส่งเสริมคนมาเรียนอาชีวะเพราะได้เรียนฟรี หรืออาจจะจูงใจว่าเมื่อมาเรียนจบแล้วมีงานทำในสถานประกอบการด้วย

นางสุทธศรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาความล่าช้าในเรื่องการขออนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรจะไปทบทวนและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหากจำเป็นที่ต้องแก้ไขเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากปัญหาต่างๆ ที่ประชุมจึงได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อดูแล ได้แก่คณะทำงานที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาภาษีโรงเรือนการลดหย่อนภาษี คณะทำงานดูแลกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษาเอกชน คณะทำงานที่ส่งเสริมการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งจะรวมถึงการดูแลการจัดการศึกษาให้ได้คุณภาพมาตรฐานและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาเอกชนให้สอดคล้องกับความต้องการกับภาคเอกชนด้วย

ที่มา: http://www.naewna.com

เล็งแก้โจทย์ 15 ปี ปั๊มครูเกิน 2.8 แสน

25 พฤศจิกายน 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ” ซึ่งที่ประชุมได้หารือเรื่องการผลิตและพัฒนาครูเพื่อรองรับอัตราที่จะเกษียณอายุราชการในระยะยาวก่อน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พบว่า อีกประมาณ 10 ปี (2556-2565) จะมีครูเกษียณอายุราชการประมาณ 2 แสนคน ถึงปี 2570 ประมาณ 2.8 แสนคน เฉลี่ยจะมีครูเกษียณอายุราชการปีละประมาณ 2 หมื่นคน ขณะที่ตัวเลขการผลิตครูแต่ละปีประมาณ 5 หมื่น เท่ากับว่า ในช่วง 10 ปี จะมีครูเกิน 3 แสนคน 15 ปี เกิน 4.5 แสนคน ซึ่งเกินจำนวนครูเกษียณอายุราชการ 2.5 เท่า เพราะฉะนั้นจะต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน ควบคุมปริมาณในการผลิตครู และวางแผนดูแลครูที่จบเกินอยู่ขณะนี้ รวมถึงครูอัตราจ้างในระบบมี 6 หมื่นคน โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อหาข้อสรุปต่างๆ ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้ สถาบันผลิตครูจะรับนักศึกษาครูกันตามอัธยาศัยต่อไปไม่ได้แล้ว จะทำให้ปัญหาอัตราครูเกินสะสมไปเรื่อย

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมคณะกรรมการกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 1 เพื่อสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งรับทราบสรุปการจัดทำร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น เพราะยังมีความเห็นต่างกันมาก บางรายเห็นว่า หลักสูตรในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไร บางรายอาจจะเห็นว่าต้องปรับปรุงเป็นบางส่วน ฯลฯ
ด้าน นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมโดยทั่วไปเห็นด้วยที่จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตร ขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลต่างๆ ทั้งในแง่ของการนำหลักสูตรไปใช้ การปรับตัวของครูผู้สอน รวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน ซึ่งเดิมจะใช้ศึกษานิเทศก์ แต่ระบบใหม่จะต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ นายจาตุรนต์จึงไฟเขียวให้จัดตั้งสถาบันดังกล่าวขึ้น ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและวิจัยหลักสูตร เพื่อให้หลักสูตรมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ไปหยุดนิ่ง รวมถึงสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ทันสมัย ทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34922&Key=hotnews

อาชีวะเอกชนหนุนจัดทวิภาคีชู 1 สถานประกอบการ 1 ทุน – เน้นจบแล้วมีงานทำ

25 พฤศจิกายน 2556

คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษา ตั้งคณะทำงานแก้ไขอุปสรรคในการจัดการศึกษาเอกชน เพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาเอกชน เตรียมจัดทวิภาคี 100% หนุนโครงการ 1 สถานประกอบการ 1 ทุน หรือ 1 ตำบล 1 ทุน จูงใจและส่งเสริมคนมาเรียนอาชีวะเพราะได้เรียนฟรี เรียนจบแล้วมีงานทำในสถานประกอบการ

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การจัดการศึกษาของเอกชน ที่ขณะนี้ประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะการสนับสนุนจากภาครัฐ ปัญหาการคิดอัตราภาษีโรงเรือน ซึ่งปัจจุบันการคิดอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับการประเมินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้ผลการประเมินมีความหลากหลาย อีกทั้งอัตราภาษีก็คิดในรูปแบบธุรกิจบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานศึกษา เนื่องจากการจัดธุรกิจการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจที่มีรายได้เหมือนธุรกิจบริการต่างๆ ที่มีรายได้มาก

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อยู่ระหว่างประสานกรมสรรพากร เพื่อขอให้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีอากรการโอนภาษีที่ดินให้แก่สถานศึกษาเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอขอให้คิดในอัตราต่ำสุดที่ 1-2% ขณะเดียวกันยังมีปัญหาในเรื่องการเสียภาษีนำเข้าสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยจากต่างประเทศ ที่มีการคิดในอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่เสนอว่าอยากให้มีการลดหย่อนภาษี หรือคิดในอัตราภาษีการศึกษาแทน

“ขณะนี้มีเสียงสะท้อนจากสถานประกอบการด้วยว่า การจัดการศึกษาระบบทวิภาคีนั้น ยังไม่มีผู้เรียนเข้าร่วมตามเป้าหมายอย่างพอเพียง จึงเสนอว่าอยากให้อาชีวศึกษาเอกชนเข้าร่วมกับสถานประกอบการในการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี 100% นอกจากนี้มีข้อเสนอด้วยว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่สถานประกอบการในตำบลหรือในจังหวัดที่อยากได้คนเข้าทำงานจัดสรรทุนให้เด็กอาชีวะ โดยทำเป็นโครงการ 1 สถานประกอบการ 1 ทุน หรือ 1 ตำบล 1 ทุน ซึ่งจะมีรูปแบบคล้าย 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งจะเป็นการจูงใจและส่งเสริมคนมาเรียนอาชีวะ เพราะได้เรียนฟรี หรืออาจจะจูงใจว่า เมื่อมาเรียนจบแล้วมีงานทำในสถานประกอบการด้วย” ปลัด ศธ.กล่าว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาความล่าช้าในเรื่องการขออนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอนของ โรงเรียนเอกชน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรจะไปทบทวนและแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหากจำเป็น ที่ต้องแก้ไขเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จากปัญหาต่างๆ ที่ประชุมจึงได้ตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อดูแล ได้แก่ คณะทำงานที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาภาษีโรงเรือน การลดหย่อนภาษี คณะทำงานดูแลกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษาเอกชน คณะทำงานที่ส่งเสริมการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งจะรวมถึงการดูแลการจัดการศึกษาให้ได้คุณภาพมาตรฐานและผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาเอกชนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34921&Key=hotnews