ศธ.ห่วงคนไทยอ่อนภาษาไทยขั้นหนัก จุฬาฯชี้การสอนระดับมัธยมอ่อนแอ

21 พฤศจิกายน 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ตนได้ขอให้จุฬาฯ ออกแบบการทดสอบวัดผลภาษาไทย สำหรับใช้กับคนไทย เพื่อเตรียมไว้ใช้จัดทดสอบกลางวัดความสามารถในวิชาภาษาไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น มีการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถทางภาษา ซึ่งทั้งเจ้าของภาษาและชาวต่างประเทศที่มาเรียนภาษา ต้องเข้ารับการทดสอบ เพื่อประเมินความสามารถทางภาษานั้น ๆ แต่ยังไม่มีการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถทางภาษาไทย ทั้ง ๆ ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของเด็กไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

“ผู้เชี่ยวชาญในสถาบันอุดมศึกษา หลายคนยืนยันตรงกันว่า ทักษะภาษาไทยของนักเรียนมัธยมฯ โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ไม่น่าพอใจ เด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ยังมีทักษะทางภาษาไทยอ่อนมาก โดยเฉพาะความสามารถในการเขียน และอ่านสรุปความ แต่เด็กเหล่านี้กลับทำคะแนนสอบในวิชาต่าง ๆ ได้ดี เพราะข้อสอบส่วนใหญ่เป็นปรนัย ไม่มีอัตนัยให้เด็กได้ฝึกเขียน ฝึกสรุปความ อีกทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เน้นการทดสอบความสามารถทางภาษา ผมจึงเห็นว่าควรมีการทดสอบกลางวัดผลทางภาษาไทย เพื่อนำมาสแกนวัดความสามารถทางภาษาไทยของเด็กไทย พร้อมนำผลทดสอบไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” รมว.ศธ.กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ จุฬาฯ ได้เริ่มทำแบบทดสอบวัดความสามารถทางภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศไว้แล้ว ซึ่งก็ได้รับการยอมรับพอสมควร สำหรับแบบทดสอบภาษาไทยที่ให้ทางจุฬาฯพัฒนาขึ้นมานั้น จะนำมาหารือผู้เชี่ยวชาญว่า ควรจะนำมาทดสอบผู้เรียนระดับใดบ้าง ซึ่งอาจจะสอบก่อนจบระดับ ม.ปลาย สอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบก่อนจบมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังให้ทางจุฬาฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะการจัดการเรียนการสอนในหลายภาษายังให้ผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ เรียนแล้วนำมาใช้ไม่ได้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาต่างประเทศอย่างจริงจังด้วย

ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ได้มอบให้สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ รับเรื่องนี้ไปดำเนินการ ซึ่งต้องยอมรับว่าความสามารถทางภาษาไทยของผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ค่อนข้างอ่อนจริง โดยจุฬาฯ จะให้นิสิตปี 1 ที่สอบเข้าได้ทุกคนสอบวัดความสามารถทางภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ พบว่า ทักษะในการเขียนต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์จะได้คะแนนทดสอบภาษาไทยต่ำกว่าเด็กที่เรียนสายศิลป์ภาษา.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34873&Key=hotnews

ทปอ.รับถกข้อสอบกลางแนะมหา’ลัยต้องร่วมออกแบบ/จุฬาฯเร่งทำโทเฟลภาษาไทย

21 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.56 นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวถึงกรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ จะจัดทำข้อสอบกลางเพื่อให้มหาวิทยาลัยและคณะต่างๆ นำคะแนนไปใช้ในการรับตรงเพื่อแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบ และลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงให้มีการจัดสอบหลังจากเด็กเรียนจบการศึกษาแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ว่า ที่ผ่านมา สทศ.จัดสอบ 7 วิชาสามัญ เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำคะแนนไปใช้ในการรับตรง ผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์อยู่แล้ว แต่นโยบายที่จะให้มีการจัดสอบกลางขึ้นอีก ทางสทศ.ก็คิดว่าไม่มีปัญหา แต่ข้อสอบกลางจะมีลักษณะอย่างไร ต้องให้แต่ละมหาวิทยาลัยมาร่วมกันออกแบบ ซึ่งเท่าที่ทราบมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการแล้ว

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการใช้ข้อสอบกลาง เพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วยวิธีการรับตรงนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะการที่คณะ/มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเองเพราะต้องการสอบวิชาเฉพาะทางของแต่ละคณะ/สาขา อาทิคณะแพทยศาสตร์ อาจจะต้อง การคัดเด็กที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ ขณะที่คณะนิติศาสตร์ ก็อาจจะต้องการเด็กที่มีความรู้ ความสามารถอีกแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน แต่ในฐานะประธาน ทปอ. ตนรับจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมทปอ. ต่อไป ส่วนวิธีการก็อาจ จะเป็นลักษณะเดียวกับการรับของกลุ่มแพทย์ อาทิ คณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศ อาจจะร่วมตัวกันและออกข้อสอบเพื่อรับนักศึกษา เป็นต้น วันเดียวกัน

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯโดยสถาบันภาษาไทยสิรินธร ได้รับเป็นเจ้าภาพในการออกแบบ “แบบทด สอบภาษาไทย”สำหรับคนไทยเจ้าของภาษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการให้มีแบบทดสอบทักษะภาษาไทย เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ที่ผู้เรียนจะต้องผ่านการประเมินความสามารถทางภาษานั้นๆ โดยแบบทดสอบ ที่ให้จุฬาฯ พัฒนาขึ้นมานั้น ศธ.จะนำไปหารือผู้เชี่ยวชาญว่าควรจะทดสอบผู้เรียนระดับใดบ้าง อาจจะสอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนจบมหาวิทยาลัย หรือก่อนจบม.ปลาย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าความสามารถทางภาษาไทย ของผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้น ค่อนข้างอ่อน โดยจุฬาฯ จะให้นิสิตชั้นปี 1 ที่สอบเข้าได้ทุกคนสอบวัดความสามารถทางภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ พบว่า ทักษะในการเขียนภาษาไทยต่ำมาก สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนระดับมัธยมน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์จะได้คะแนนทดสอบภาษาไทยต่ำกว่าสายศิลป์ภาษา

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34872&Key=hotnews

ชงยกมาตรฐานโรงเรียนเอกชนเทียบสากล

20 พฤศจิกายน 2556

โพสต์ทูเดย์ สช.เตรียมชงเกณฑ์อัพเกรดมาตรฐานสถาบันการศึกษาเอกชนเข้าที่ประชุม กช. เดือนหน้า นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กำลังจัดทำร่างเกณฑ์วัดผลสถาบันการศึกษาเอกชนในสังกัด สช. เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานสากล โดยคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)ในเดือน ธ.ค.นี้ และจะมีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2557

เกณฑ์ที่จะใช้วัดประเมินคุณภาพประกอบด้วย

1.ผลลัพธ์ของตัวนักเรียน นักศึกษา เช่น ทักษะด้านภาษา ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตนวัตกรรม ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) รวมถึงการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นต้น

2.หลักสูตรของสถาบัน ที่จะต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ทำให้ได้เรียนรู้เฉพาะทางมากขึ้น โดยวิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้ว่าตนเองมีความถนัดหรือความชอบด้านใดเป็นพิเศษ

3.ตัวบุคลากรครูและผู้บริหารสถาบัน ที่จะต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ หรือสอนให้ผู้เรียนมองเห็นภาพและความสำคัญของวิชาที่เรียน และอาจกำหนดให้สถาบันการศึกษาจะต้องมีผลงานวิจัยและพัฒนาจัดการศึกษาที่เป็นผลงานวิชาการของครูในสถาบันนั้น

“คาดว่าจะมีสถาบันการศึกษาเอกชนไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง จากทั้งหมดประมาณกว่า 3,000 แห่งผ่านเกณฑ์นี้” นายบัณฑิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานสากลจะสามารถรับนักเรียนจากต่างประเทศได้มากขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

นอกจากนี้ สช.จะเสนอให้นายจาตุรนต์ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกช. พิจารณาเกณฑ์ปรับขึ้นเพดานค่าเล่าเรียนของสถาบันการศึกษาเอกชน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังมีการปรับขึ้นทั้งเงินเดือนบุคลากรครู เป็น1.5 หมื่นบาทต่อเดือนและค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเพดานเดิมเป็นเกณฑ์ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2545

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34855&Key=hotnews

จี้รัฐประกาศนโยบายเอาจริงพัฒนาภาษาอังกฤษ

20 พฤศจิกายน 2556

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คนที่ 2 กล่าวในการเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ : ประสบการณ์จากต่างประเทศ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันสอนภาษาอีเอฟ (Education First) ของสวีเดน ได้รายงานผลการทดสอบทางอินเทอร์เน็ตในกลุ่มประชากรวัยทำงานที่ใช้ภาษาอังกฤษ จำนวน 7.6 แสนคน ใน 60 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งในส่วนของเอเชีย พบว่ามาเลเซียเป็นอันดับ1 แต่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 12 สิงคโปร์, 21 อินเดีย, 22 ฮ่องกง, 24 เกาหลีใต้, 25 อินโดนีเซีย, 26 ญี่ปุ่น, 28 เวียดนาม, 33 ไต้หวัน, 34 จีน และ 55 ไทย

“ในรายงานยังระบุด้วยว่า ประเทศที่ประชากรมีความรู้ ภาษาอังกฤษสูงขึ้นจะทำให้แนวโน้มมีรายได้เฉลี่ยมวลรวมต่อปีสูงขึ้นด้วย ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องค้นหามาตรการในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มศักยภาพในการ แข่งขัน เตรียมรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

ดร.ดอริส วิบูลย์ศิลป์ อดีต ผอ.บริหารมูลนิธิฟุลไบรท์ กล่าวว่า ตนสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยมา 40 ปี พบว่าปัจจุบันทักษะภาษาอังกฤษทั้งของนักเรียนและคนไทยยิ่งแย่ลง แม้แต่การใช้คำศัพท์พื้นฐานง่ายๆก็ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้แก่คนไทยนั้น รัฐบาลต้องเอาจริงและประกาศนโยบายที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบตั้งแต่รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา ครู ผู้ปกครอง ฯลฯ ทั้งนี้การเอาจริงเอาจังสามารถเริ่มได้จากครูเป็นอันดับแรก

ด้าน ผศ.ดร.เสงี่ยม โตรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ม.ศิลปากร ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดนโยบายด้านภาษาต่างประเทศอย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะมีนโยบายพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เช่น สิงคโปร์จะจัดการเรียนการ สอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ในขณะที่ไทยยังถือว่าภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาต่างประเทศ อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ยังพบว่าเฉพาะประเทศไทยนั้น ผู้ที่จะสอนภาษาอังกฤษต้องมีวุฒิด้านครู และจบวิชาเอกภาษาอังกฤษจากคณะครุศาสตร์ ทำให้พื้นฐานความรู้น้อยกว่าผู้ที่จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง ในขณะที่ประเทศจีน เวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซีย ผู้ที่สอนภาษาอังกฤษมักจบจากคณะอักษรศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์แล้วจึงมาเรียนวิชาชีพครูเพิ่มเติมในภายหลัง.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34854&Key=hotnews

ผุดศูนย์โรดแมปปฏิรูปการศึกษาดึงผู้ตรวจเช็กงาน

20 พฤศจิกายน 2556

นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมติเห็นชอบแผนงาน/โครงการเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2556-2558) หรือโรดแมป ซึ่งสอดคล้องกับ 8 นโยบาย 52 มาตรการ ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ โดยแผนนี้จะเป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและศธ. ในการปฏิรูปการศึกษาไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในรอบ 3 ปี โดยกำหนดมาตรการและกิจกรรมให้หน่วยงานต่างๆไปทำ ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้น เตรียมการรองรับไว้แล้วโดยสพฐ. มีความเห็นคล้ายกับที่สำนักงานปลัด ศธ. ดังนั้น สพฐ.จึงตั้งศูนย์ขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายของ ศธ. ตั้งอยู่ที่สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) นอกจากนี้ จะตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย โดยมีตนเป็นประธานมี ผอ.สนผ. เป็นรองประธาน และมี ผอ.สำนักงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

นายกมล กล่าวต่อว่า กรรมการชุดนี้มีหน้าที่รับนโยบายของนายจาตุรนต์ไปดำเนินงาน เพราะทุกวันนี้นโยบายจะกระจายอยู่ แต่คณะทำงานนี้จะรับนโยบายมาแล้ว มอบให้แต่ละสำนักไปดำเนินการเพื่อเป็นระบบ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ติดตามนโยบายต่างๆ ว่าดำเนินการไปถึงขั้นไหนแล้ว “ผมเสนอที่ประชุมองค์กรหลักว่า ควรจะมีตัวศูนย์ใหญ่ หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดใหญ่ดูในภาพรวมซึ่งควรจะอยู่ที่สำนักงานปลัดศธ. แต่หากไม่สะดวกอาจจะใช้การประชุมองค์กรหลักเป็นตัวขับเคลื่อน และมอบให้ผู้ตรวจราชการ ศธ. ไปติดตามการดำเนินงานแทนซึ่งรมว.ศึกษาธิการ ก็เห็นด้วยที่จะมอบภารกิจนี้ให้ผู้ตรวจฯ” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34851&Key=hotnews

ก.ค.ศ.ร่อนหนังสือตรวจคุณสมบัติครูผู้ช่วยรุ่นโกง

20 พฤศจิกายน 2556

ศึกษาธิการ * นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศ กรณีการทุจริตสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว12 ดังนี้

1. กรณีครูผู้ช่วยที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการ และได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. ให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) วิสามัญเกี่ยวข้องกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ พิจารณาคำร้องทุกข์ตามกระบวนการของกฎหมายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

2. กรณีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และ/หรือยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้ขอข้อมูลพยานหลักฐานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงศึกษาธิการตั้ง ฯลฯ รวมทั้งสอบพยานหลักฐานแวดล้อม โดยให้ครูผู้ช่วยได้มีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน หากพบว่ามีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ ฟังได้ว่ามีการทุจริตในการสอบคัดเลือกจริง ให้สั่งให้ออกจากราชการตามและรายงาน ก.ค.ศ.ทราบ

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวอีกว่า หากตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยให้ครูผู้ช่วยชี้แจงและสอบพยานหลักฐานแวดล้อมแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนพอที่จะรับฟังได้ว่ามีการกระทำทุจริตในการสอบคัดเลือกตามที่ถูกกล่าวหา ให้รับราชการต่อไป และรายงาน ก.ค.ศ.ทราบ 3.กรณี การตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ซึ่งสอบคัดเลือกเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2556 จำนวน 2,161 ราย ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษเชื่อว่ามีผู้สมัครสอบยื่นเอกสารหลักฐานการสมัครสอบไม่ถูกต้อง หรือขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบ และมีการรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครสอบไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34849&Key=hotnews

คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ไทย ชูยกระดับคุณภาพการศึกษา…บนเวทียูเนสโก

19 พฤศจิกายน 2556

วารินทร์ พรหมคุณ
องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization :UNESCO) มีภารกิจหลักครอบคลุมการส่งเสริมด้านการศึกษาพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์วัฒนธรรม และการสื่อสาร เพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิก

และในทุก 2 ปี ยูเนสโกจะจัดประชุมสมัยสามัญ ซึ่งในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 37 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีสสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 194 ประเทศเข้าร่วมสำหรับประเทศไทย มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลไทยที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ด้วย

Ms.Alissandra Cummins  ประธานคณะกรรมการบริหารยูเนสโก กล่าวว่า ประชาคมโลกมีพันธกิจร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะรวบรวมความคิดของผู้นำด้านการศึกษา นำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคต เพื่อก่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างยั่งยืน โดยยูเนสโกจะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของโลกในการให้ประชาคมโลกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาภายหลังปี 2558

Mrs.Irina Bokova  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวว่า ภายหลังปี 2558 ประชาคมโลกจะต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการขจัดความยากจน การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เคารพในสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมสันติภาพ และการดำเนินงานด้านการศึกษาจะเป็นวาระสำคัญ โดยจะต้องมีการดำเนินงานในลักษณะข้ามสาขา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาของ 2558 ซึ่งเด็กทุกคนจะต้องได้เรียนหนังสือและประชาชนทุกคนมีการศึกษาตลอดชีวิต ขณะเดียวกันจะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนให้มีนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะที่เป็นสตรี ทั้งนี้ ยูเนสโกจะต้องมีบทบาทสำคัญและกำหนดบทบาทที่ชัดเจนในวาระการพัฒนาภายหลังปี 2558

สำหรับประเทศไทย…นายจาตุรนต์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้แทนรัฐบาลไทย ได้แถลงต่อเวทีนี้ โดยมุ่งเน้นความสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนของโลก ให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ริเริ่ม “การจัดการศึกษาเพื่อปวงชน”  เมื่อปี 2543 และยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพื่อประชาชนคนไทยได้เข้าถึงการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งความรู้ สังคมแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม และมีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้ ในปี 2557 ประเทศไทยยังรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ภายหลังปี 2558 ต่อไป

“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการจัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยทุกคนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถประสบผลสำเร็จในการดำรงชีวิต โดยในปี 2557 รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณร้อยละ 20.5 ของงบประมาณชาติ ให้แก่การจัดการศึกษา เพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนอย่างมีศักยภาพ อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศวาระแห่งชาติด้านการศึกษาให้ปี 2556 เป็นต้นไป เป็นปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งเน้นความสำคัญในการวางรากฐานพัฒนาเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ การพัฒนาทักษะชีวิต การรู้หนังสือ และการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในทุกระดับ ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาโดยปฏิรูปการศึกษาแบบบูรณาการมีการเชื่อมโยงกัน”

นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ยังแสดงความเห็นสอดคล้องว่าวาระการพัฒนาในอนาคตจะต้องตั้งอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชน และการยึดมั่นในค่านิยมสากลแห่งความเท่าเทียมกันความยุติธรรม และความมั่นคงของประชาชนทุกคน โดยให้การสนับสนุนข้อริเริ่ม”Global Education First Initiative”ทั้งโลก..การศึกษาต้องมาก่อน

“นโยบายการจัดการศึกษาของไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาของยูเนสโก ที่มองโลกในอนาคต เราจะส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ให้ความสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้ ค่านิยม ทักษะในการดำรงชีวิตซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการสร้างสังคมแห่งความร่วมมือ ความมีสันติภาพ และเป็นสังคมที่ประชาชนมีความร่มเย็นเป็นสุข

…ประเด็นหนึ่งที่ไทยกำลังเร่งพัฒนาคือ การสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญพัฒนาการเรียนการสอน เนื้อหาบทเรียน มาตรฐานการเรียนรู้ และการประเมินผล ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาโดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมความรู้ เสริมสร้างทักษะและการจ้างงาน และสุดท้ายนี้รัฐบาลไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับยูเนสโก โดยเฉพาะเรื่องพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาสู่ประชาชนอันเป็นเครื่องมือขจัดปัญหาความยากจน การป้องกันความรุนแรง และส่งเสริมให้เกิดสันติภาพโลกอย่างยั่งยืน

ด้านนางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานฝ่ายการศึกษา ยูเนสโก ได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานของยูเนสโกโดยเฉพาะเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน  Education for All หรือ EFA2015 ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาตลอดชีวิตการเพิ่มโอกาส การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของไทย ที่มุ่งเน้นคุณภาพ เพิ่มโอกาส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการศึกษาต่อเนื่อง…การเข้าถึงการบริการการศึกษา การส่งเสริมให้ประชาชนไทยอ่านออกเขียนได้ การปฏิรูปหลักสูตร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นประชาคมโลกที่ทรงประสิทธิภาพตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในทศวรรษที่ 21…รู้ใช้เทคโนโลยี คิดวิเคราะห์ได้ และเป็นกำลังพลที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานโลกอนาคต เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34827&Key=hotnews

 

เล็งเปิดรองฯ สพป.สอบชิง ‘บิ๊กสพม.’ สพฐ.ชง ก.ค.ศ.แก้เกณฑ์คัด ’49’ ผอ.เขต เสนอให้แต้มต่อผู้สมัคร ‘สาย’ เดียวกัน

19 พฤศจิกายน 2556

รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังพิจารณาเสนอปรับคุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่งในหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)ในสังกัด สพฐ. ที่จะรับสมัครสอบคัดเลือกในเร็วๆ นี้ เพื่อบรรจุแทนตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุ ราชการและตำแหน่งว่างจากกรณีที่มีการ ฟ้องร้องต่อศาลปกครองและมีการยกเลิกในเวลาต่อมา รวมจำนวน 49 ตำแหน่งโดย คุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่งใหม่ที่จะเสนอ ให้ปรับ จะเปิดโอกาสให้กลุ่มรองผู้อำนวยการ สพป. สามารถมีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการ สพม.ได้ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมไม่ได้ ให้สิทธิสมัครข้ามสายได้ นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้รอง ผอ.สพม. มีสิทธิสมัครคัดเลือกเป็น ผอ.สพป.ได้ด้วยเช่นกัน และหลักเกณฑ์ ดังกล่าวจะมีคะแนนพิเศษเพิ่มให้แก่ผู้สมัครในสายเดียวกันด้วย เช่น หากเป็นรอง ผอ.สพป. สมัครสอบคัดเลือกเป็น ผอ.สพป. จะมีคะแนนประสบการณ์ส่วนนี้ให้ เป็นต้น

รายงานข่าว ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้ สพฐ.จะต้องจัดทำรายละเอียดเสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทาง การศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ระบบที่เกี่ยวข้องจากนั้น ต้องนำเสนอที่ประชุมกรรมการข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) พิจารณาเห็นชอบ และจะได้กำหนดปฏิทินการรับสมัครคัดเลือกต่อไป

นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า สพฐ.ได้ทำหนังสือแจ้งเรื่องการคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มาแล้ว แต่ตนไม่แน่ใจว่ามีเรื่องการขอปรับคุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่ง หรือไม่ และเรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณาในที่ประชุม อ.ก.ค.ศ.ระบบฯ ที่มีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน ซึ่งการคัดเลือกผู้อำนวยการ สพท.ในขณะนี้ ยังต้องรอหนังสือแจ้งมาจากศาลปกครองก่อน ในกรณีที่ผู้ฟ้องร้อง ได้ถอนฟ้องแล้ว ถึงจะดำเนินการคัดเลือกแต่งตั้งได้ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. เห็นว่าอาจจะต้องใช้คุณสมบัติมาตรฐานตำแหน่งเดิมไปก่อน

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34825&Key=hotnews

ชู ‘ละอออุทิศ’ ต้นแบบปฐมวัย

19 พฤศจิกายน 2556

อาจารย์ ณฐิณี เจียรกุล ประธานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) เปิดเผยว่า จากการที่ มสด.ได้ทำความร่วมมือบันทึกข้อตกลงทางวิชาการร่วม กับ University of Southeastern Philippines เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านระบบการศึกษาของทั้งสองประเทศในภาพรวมนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่ มสด.มีความสนใจศึกษาดูงานโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ และ สาขาการศึกษาพิเศษ โดยให้เหตุผลว่า มสด.มีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นระบบ มีความชัดเจน และมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนทุกชั้นเรียนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของประเทศไทยด้วย ทำให้มีความมั่นใจในระบบการจัดการศึกษาปฐมวัยของ มสด. ซึ่งสอดคล้องกับทางฟิลิปปินส์ที่เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาระดับนี้ เพราะหากประเทศจะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพได้ พื้นฐานทางการศึกษาต้องเข้มแข็งก่อน

“นอกจากประเทศฟิลิปปินส์ จะให้ความสนใจด้านระบบการจัดการเรียนการสอนของ มสด.แล้ว ทางคณะศึกษาดูงานหลายคนซึ่งมีทั้งที่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก เจ้าของโรงเรียน รวมถึงผู้บริหารระดับสูง ลงทุนเดินทางมาศึกษาดูงานด้วยตนเอง เพื่อนำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศฟิลิปปินส์ให้เกิดผล อย่างเป็นรูปธรรม”  อาจารย์ณฐิณีกล่าวและว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนและเป็นการตอกย้ำศักยภาพความเป็นเลิศด้านปฐมวัยของ มสด.ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้ มสด.ได้พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่เป็น อัตลักษณ์ให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34826&Key=hotnews

สพฐ.ชงเพิ่มคะแนนโอเน็ต 30% วัดผลนักเรียนชั้น ป.6 – ม.6

18 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นางอ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดสอบวัดผลกลางแล้วและเตรียมเสนอ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการ กพฐ. พิจารณาเพื่อนำเสนอนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบ โดยการสอบวัดผลกลางจะเริ่มใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2557 ในสัดส่วน 30% จะแบ่งเป็น 15% เป็นข้อสอบที่ร่วมกันพัฒนาโดยส่วนกลาง และ 15% เป็นข้อสอบจากเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน ส่วนอีก 70% จะเป็นการวัดผลของโรงเรียน ซึ่งการสอบวัดผลกลางจะใช้ในระดับชั้น ป.2, 4, 5 ม.1, 2, 4 และ ม.5 จะมีการทดสอบใน 5 วิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคม ยกเว้นระดับชั้น ป.2 จะทดสอบเฉพาะวิชาภาษาไทยเท่านั้น เนื่องจากระดับชั้นนี้จะเน้นการอ่านออกเขียนได้ของ ผู้เรียน ส่วนระดับชั้นอื่นจะไม่ใช้การสอบวัดผลกลางเนื่องจากมีการทดสอบระดับชาติในส่วนอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 เป็นต้น

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปีการศึกษา 2557 จะเสนอให้ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ในระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 จากสัดส่วนเดิม 20% เป็น 30% ส่วนอีก 70% จะเป็นผลคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือจีพีเอของโรงเรียน และเมื่อนำสองส่วนมาคิดรวมกันจะกลายเป็นผลการเรียนของนักเรียน ทั้งนี้การเพิ่มสัดส่วนคะแนนโอเน็ตเป็น 30% เป็นข้อเสนอของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะการใช้คะแนนโอเน็ตในสัดส่วน 20% ที่ผ่านมาเป็นผลดีต่อการจัดการศึกษาและทำให้นักเรียน ครูผู้สอน เขตพื้นที่การศึกษาให้ความสำคัญกับการสอบโอเน็ตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้คะแนนโอเน็ตดังกล่าวจะต้องเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาลงนามในประกาศต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34804&Key=hotnews