‘จาตุรนต์’ ฟันธงปี 58 ระบบเดียวคัดเด็กเข้ามหา’ลัย

18 พฤศจิกายน 2556

ASTVผู้จัดการรายวัน – “จาตุรนต์” ชี้ปี 58 ระบบสอบคัดเลือกควรเหลือระบบเดียว พร้อมมอบ สกอ.ทำหนังสือถึงมหา’ลัย ที่ยังไม่สอบรับตรงให้ดำเนินการหลังเด็กเรียนจบปีการศึกษา ส่วนที่สอบไปแล้วให้ทำหนังสือแจงเหตุผล และปี 58 มหา’ลัยไม่ควรจัดสอบรับตรงเอง แต่ให้ร่วมระบบเคลียริ่งเฮาส์และสอบหลังเรียนจบล้อมคอกปัญหาเด็กทิ้งห้องเรียน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมได้พิจารณาข้อสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ผลปรากฏว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกันที่จะต้องแก้ปัญหาการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยปัญหาใหญ่ของการคัดเลือกเกิดจากคณะและมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดรับตรงเองจนทำให้เกิดปัญหาการวิ่งรอกสอบ นักเรียนและผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่า ใช้จ่ายสูง รวมทั้งยังทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าศึกษาระหว่างคนจนกับคนรวย อีกทั้งการคัดเลือกของคณะและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สอบเองนั้นยังใช้ข้อสอบที่หลากหลาย ทำให้เด็กต้องไปกวดวิชาและไม่สนใจเรียนในห้องเรียน สุดท้ายส่งผล กระทบให้การปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ

ดังนั้น ที่ประชุมมีมติร่วมกันถึงแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น ดังนี้

1. มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อขอความร่วมมือว่าหากมหาวิทยาลัยใดยังไม่ได้ดำเนินการรับนิสิต/นักศึกษา ในปีการศึกษา 2557 ให้ไปจัดสอบหลังจากที่นักเรียนได้เรียนจบการศึกษาแล้ว แต่หากมหาวิทยาลัยใดดำเนินการรับนักศึกษาไปแล้วก็ให้ชี้แจงเหตุผล และความจำเป็นของการคัดเลือกที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ และ

2.ในปีการศึกษา 2558 ก็ขอให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งไม่จัดสอบรับตรงเอง แต่ถ้าจะรับตรงก็ขอให้มาใช้ระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ มากขึ้น และให้มีการจัดสอบหลังจากเด็กเรียนจบการศึกษาแล้ว เพื่อเด็กจะได้ไม่ทิ้งห้องเรียน

“อนาคตผมมีเป้าหมายจะให้การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมีระบบเดียวเท่านั้น เพราะระบบที่ดำเนินการอยู่สร้างปัญหานักเรียนและผู้ปครองมานานมาก หากจะมีการจัดสอบก็จะให้ใช้ข้อสอบกลาง” นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า ขณะนี้ได้มอบให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สกอ. ไปร่วมกัน ดูระบบการจัดสอบต่างๆ และให้ ดร.วราภรณ์ สีหนาท รองเลขาธิการ กกอ. เป็นประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการคัดเลือกฯ โดยคณะทำงานชุดนี้จะหาแนวทางการพัฒนาระบบคัดเลือก ฯ และมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไปจากนั้นจะรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องด้วย

ด้าน ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า จากนี้ สกอ.จะทำหนังสือส่ง ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือในการคัดเลือกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังย้ำด้วยว่าอยากให้มีการจัดสอบเพียงครั้งเดียว และให้นักเรียนสามารถนำผลคะแนนไปยื่นกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เลย รวมถึงจะพยายามให้การดำเนินการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษามีระบบเดียวเท่านั้น อย่างเช่นระบบเคลียริ่งเฮาส์

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34806&Key=hotnews

‘ภาวิช’ ยันครูพันธุ์ใหม่ต้องเดินหน้าต่อ

18 พฤศจิกายน 2556

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ตนได้นัดหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ถึงการเดินหน้าโครงการครูพันธุ์ใหม่หรือครูมืออาชีพว่าจะมีทิศทางอย่างไร ก่อนที่จะหารือกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง

รมว.ศธ.ในวันที่ 23 พ.ย. โดยส่วนตัวคิดว่า โครงการนี้ต้องเดินหน้าต่อแน่นอน แต่อาจต้องปรับรูปแบบให้ตอบโจทย์ของโครงการในการผลิตครูพันธุ์ใหม่อย่างแท้จริง คือ ต้องเป็นครูที่สามารถตอบโจทย์การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้ เพราะที่ผ่านมาโครงการยังไม่ได้ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะเป็นเพียงการแจกทุน และสถาบันฝ่ายผลิตก็ผลิตครูรูปแบบเดิม ๆ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่ครูพันธุ์ใหม่จริง ๆ ดังนั้นในเบื้องต้นตนจะหารือถึงการกำหนดคุณสมบัติของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งต้องเป็นคณะที่ผลิตบัณฑิตอย่างมีคุณภาพสามารถตอบโจทย์ครูพันธุ์ใหม่ โดยระยะแรกคณะที่จะได้เข้าร่วมโครงการอาจเป็นคณะที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ขณะที่คณะ ที่ยังไม่มีความพร้อมก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมี การปรับตัวและพัฒนาคุณภาพ ที่สำคัญจะต้องเลิกนโยบายรับนักศึกษาคราวละมาก ๆ เพราะทำให้ได้ครูที่มีคุณภาพต่ำ สร้างความเสียหายแก่วิชาชีพ

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปว่า สำหรับจำนวนการผลิตครูพันธุ์ใหม่นั้น จะต้องศึกษาข้อมูลอัตราเกษียณและการได้รับอัตรากำลังคืนประกอบกัน รวมถึงต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับผู้ที่เรียนครูอยู่แล้วให้เข้ามาในระบบได้ด้วย อย่างไรก็ตามตนมองว่าการผลิตครูพันธุ์ใหม่เข้าไปทดแทนอัตราเกษียณซึ่งมีจำนวนมากนั้น จะเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาของไทยได้ ส่วนระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มโครงการต้องรอผลการหารือก่อน หากได้ข้อสรุปก็สามารถเริ่มได้ในปีการศึกษา 2556 และเชื่อมั่นว่าภายในระยะเวลา 2 ปี จะสามารถผลิตครูพันธุ์ใหม่เข้าสู่ระบบได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่นักศึกษาชั้นปีที่ 1

“วันนี้เราเห็นว่าสถาบันผลิตครูต้องปรับตัวครั้งใหญ่ โครงการที่จะขึ้นมาใหม่นี้อาจไม่ใช่ทุกคณะมีสิทธิผลิต ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของคณะที่มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะผลิตครูพันธุ์ใหม่ได้ เพราะเราคาดหวังว่าครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นครูที่มีคุณภาพสูงมากเพื่อเข้าไปเป็นนักปฏิวัติระบบ ส่วนคณะที่ยังไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ก็ต้องเร่งพัฒนา ไม่ใช่ว่ามีการผลิตครูกันปีละ 6 พันคน แล้วจะบอกว่าเป็นครูพันธุ์ใหม่ทั้งหมด ถ้าเป็นแบบนั้นมันเสียหาย” ผู้ช่วย รมต.ศธ. กล่าว.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34807&Key=hotnews

สทศ.เตือนสมัครสอบ 7 วิชาสามัญ

15 พฤศจิกายน 2556

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ สทศ.มีความเป็นห่วงว่า นักเรียนอาจจะลืมสมัครและชำระเงินค่าการทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ประจำปีการศึกษา 2557 เนื่องจากขณะนี้มีผู้สมัครเข้ามาแล้ว 116,925 คน แต่ชำระเงินเพียง 45,736 คน ดังนั้นขอให้นักเรียนที่จะต้องใช้ผลคะแนนการทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา รีบสมัครและชำระเงิน เพื่อที่จะได้มีเวลาในการตรวจสอบความถูกต้องของการสมัคร โดย สทศ.เปิดรับสมัครทางเว็บไซต์ สทศ. www.cuas.or.th ถึงวันที่ 24 พ.ย. ให้ชำระเงินผ่านทางธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และเคาน์เตอร์เซอร์วิสทุกสาขา ถึงวันที่ 25 พ.ย.นี้ นอกจากนี้ขอฝากไปถึงนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับชั้นเทียบเท่า ม.6 ได้แก่ นักศึกษาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) นาฏศิลป์ อาชีวศึกษา การจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ Home school เป็นต้น ที่ต้องการใช้คะแนนผลสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2556 ให้รีบสมัคร เพราะจะปิดรับสมัครวันที่ 15 พ.ย.นี้แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ สทศ.จะมีการขยายการรับสมัครทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา และการสอบความถนัดทั่วไปหรือแกต และการทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพหรือแพต ครั้งที่ 1/2557 ที่จะสอบ 7-10 ธ.ค. นี้หรือไม่ รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์สอบต่าง ๆ ยังไม่มีการรายงานว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะมีผลกระทบกับการสอบและยังมีเวลาอีกพอสมควร ดังนั้น สทศ.ยังดำเนินการตามกำหนดเดิม.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34793&Key=hotnews

ก้าวสำคัญของการนำสะเต็มศึกษาไปใช้กับความหวังยกระดับคุณภาพศึกษาไทย

15 พฤศจิกายน 2556

สินีนาฎ ทาบึงกาฬ
จากปัญหาในปัจจุบันที่จำนวนผู้เรียนสายวิทยา ศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีลดลง ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา นอกจากนี้การประเมินผลทั้งในระดับประเทศและ ระดับนานาชาติ บ่งชี้ว่าการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิต ศาสตร์ และเทคโนโลยีในระดับโรงเรียน มีคุณภาพโดยเฉลี่ยต่ำ

ด้วยเหตุนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้ผลักดันให้เกิด “สะเต็มศึกษา” (STEM Education) ขึ้นในประเทศไทย โดยหวังว่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยขึ้นมาได้

STEM Education (Science Technology Engineering and Mathematics Education) เป็นแนวทางใหม่ในการจัดการศึกษาแบบบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าด้วยกัน ทั้งในการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงการศึกษาตลอดชีวิต

วันนี้เราลองมาคุยกับ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งมองว่าการเรียนการสอนของไทยไม่บรรลุเป้าหมาย เกิดจากหลายปัจจัยหลายอย่างทั้งครู สื่อการสอน กระบวนการเรียนการสอน การเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง จะกระตุ้นความสนใจได้มาก จากผลการวัดและประเมิน จะเห็นได้ว่าเด็กไทยไม่ได้ถูก ฝึกให้มีความสามารถในการคิดและการอ่านมากนัก การสอบวัดผลส่วนใหญ่จะเป็นคำถามแบบเลือกตอบ เป็นการปิดกั้นทางความคิดของเด็กทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้นการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสะเต็มศึกษาต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ตอบคำถามที่ใช้การอธิบาย หรือคำถามแบบปลายเปิด ครู ผู้สอนจะได้รู้ว่าเด็กมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือทักษะของการอ่าน และทักษะคณิต ศาสตร์ที่จะช่วยให้เข้าใจและนำไปปรับใช้กับวิชา อื่น ๆ ได้

ดร.พรพรรณ ย้ำว่า การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายแนวทาง เช่น จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเป็นโครงงาน ประยุกต์ใช้กับวิชาอื่น ๆ เพราะถ้าเด็กมีการใช้กระบวนการคิด เพื่อทำโครงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เมื่อเจอปัญหาในชีวิตจริง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นสะเต็มศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ สสวท. อยากเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เน้นให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน วิชาที่เรียนสามารถนำไปปรับใช้ในอนาคตอย่างไรบ้าง หรือเขาอยากจะไปในทิศทางของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือไม่ เพราะวิชาเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ทั้งนี้การเรียนรู้แบบนี้ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ผู้ปกครองต้องให้โอกาสเด็ก ๆ ได้สังเกต ให้คำตอบในเรื่องต่าง ๆ และต้องเชื่อมโยงให้เด็กได้เห็นว่าสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้างรอบ ๆ ตัวเด็ก คิดว่ากระบวนการนี้จะสร้างความน่าสนใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้กับเด็กไทยทุกคน

“สำหรับการดำเนินงานด้านสะเต็มศึกษาใน เบื้องต้น สสวท.จะกระจายกระบวนการเหล่านี้สู่ท้องถิ่น ในรูปแบบของการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ พยายามสร้างเครือข่ายในอนุภูมิภาค เราได้นำวิธีการเหล่านี้มาเสริมศักยภาพเด็ก ด้วยการเรียนรู้จากการทำโครงงานอยู่แล้ว ตอนนี้ก็จะเริ่มใช้กับโรงเรียนในเครือข่ายก่อน หากเรื่องใดมีเนื้อหาที่ลึกก็อาจมีการขอความช่วยเหลือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เขาทำโครงการอยู่แล้ว ซึ่งภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการก็สามารถสนับสนุนองค์ความรู้ได้ เพราะสิ่งที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาในระบบโรงเรียนได้ก็คือ งบประมาณในการจัดหาสื่ออย่างเพียงพอ” ผอ.สสวท.กล่าว

กับคำถามที่ว่าโรงเรียนที่ สสวท. นำร่องไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ? ดร.พรพรรณ บอกว่า โรงเรียนที่นำร่องไปแล้วคือโรงเรียนที่มี ศูนย์สำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในเครือข่ายของ สสวท. แต่ตอนนี้กำลังจะเริ่มใช้กับนักเรียนปกติในปีการศึกษาใหม่นี้แทรกในสื่อประกอบการเรียนรู้ ซึ่งคู่มือครูจะมีการจัดทำและจะจัดอบรมเพื่อให้ครูสามารถนำสะเต็มศึกษาไปใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ ในที่สุดคุณครูและนักเรียนก็จะสามารถเลือกทำโครงงานได้ โดยจะเริ่มกระจายไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ โดยโรงเรียนที่เข้ามามีส่วนร่วมต้องมีความตั้งใจ ที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งในขั้นแรกก็จะมีโรงเรียนนำร่องที่เป็นศูนย์สะเต็ม 12 จังหวัด จังหวัดละ 6 โรงเรียน รวมระดับภูมิภาคที่เป็นศูนย์ก็จะเป็น 84 โรงเรียนด้วยกัน ซึ่งปีการศึกษา 2557 ก็จะเริ่มสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนสนุกกับสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและสนใจ นอกจากนี้เรื่องสื่อการศึกษาก็สำคัญ เป็นส่วนที่จะทำให้นักเรียนเข้าถึงเนื้อหา ต่าง ๆ ได้”

หากผล PISA ยังอยู่ในระดับต่ำ แล้วสะเต็มศึกษาจะมีส่วนช่วยอย่างไร ? ดร.พรพรรณ เห็นว่า ส่วนหนึ่งคือการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของ สสวท. รวมทั้งสะเต็มศึกษา จะกระตุ้นการเรียนการสอนให้เด็กสนใจ ดังนั้นในการตอบโจทย์ต้องมีการทำอย่างเป็นขั้นตอน และต่อเนื่องระยะยาว เพราะปัญหาของ PISA คือการอ่าน ซึ่ง สพฐ. มีนโยบายที่จะผลักดันในเรื่องของการอ่าน การเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ สามารถเน้นการอ่านได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องการอ่านจะเข้ามาแทรกในวิชาต่าง ๆ นอกจากนี้การวัดและการประเมินจะเน้นการคิดวิเคราะห์ให้ครูได้ใช้เป็นตัวอย่าง จึงอยากยกเลิกกระบวนการที่เน้นความจำ เปลี่ยนเป็นเน้นให้นักเรียน ได้อธิบายเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน และไม่ใช่แค่วิชาเดียว แต่ต้องทำทุกวิชา

สำหรับโรงเรียนที่ลงมือปฏิบัติไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ? ผอ.สสวท.ยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่เรามองจากการเรียนรู้ เช่น นักเรียนในโครงการ GLOBE จะมีทักษะในการสังเกต การวัด การรวบรวมข้อมูล การตอบโจทย์อย่างเป็นขั้นตอน เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแค่เพียงเด็กที่มีความสามารถพิเศษเท่านั้น อยากให้เกิดกับนักเรียนทั่วไปด้วย

ผอ.สสวท.ย้ำอีกว่า เป้าหมายสำคัญคือการทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ และมองเห็นการเชื่อมโยงอาชีพในอนาคตข้างหน้า ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปี นักเรียนจะได้ฝึกฝน สะสมความรู้ความคิด คนรุ่นใหม่มีความรู้และทักษะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สามารถประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคุณภาพชีวิตที่ดีในยุคประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งมีเป้าหมาย ที่จะยกระดับคุณภาพและเพิ่มจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประชากรไทยให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

สำหรับการเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมสะเต็มศึกษา สสวท.จะรับสมัครโรงเรียน และรับสมัครบุคคลหรือหน่วยงานในท้องถิ่นที่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่สนใจอยากเข้าร่วม เช่น สมาคมผู้ปกครองที่มีอาชีพหลากหลายก็สามารถเป็นอาสาสมัครได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เป็นการเชื่อมโยงการเรียนรู้ ที่บ้าน ที่โรงเรียน ด้วยตัวของนักเรียน และตอนนี้สื่อต่าง ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย เด็กโตอาจเข้า ไปศึกษาได้เอง แต่เด็กเล็กผู้ปกครองอาจต้องช่วย ชี้แนะด้วย

“สะเต็มศึกษา เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ครูจำนวนมาก ที่ได้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการนำเอาสาระเนื้อหา วิชาต่าง ๆ มาให้นักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน การ นำสะเต็มศึกษามาใช้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ครูจะต้อง ทิ้งของเดิมทั้งหมด เพียงแต่รู้จักบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เข้า ด้วยกัน โดยต่อจากนี้ไป สังคมไทย และแวดวงการศึกษาของไทยก็จะเห็นการส่งเสริมผลักดันด้าน สะเต็มศึกษาจาก สสวท. อย่างเป็นรูปธรรม และนำ ไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น” ดร.พรพรรณ กล่าว ทิ้งท้าย.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34792&Key=hotnews

เกณฑ์วิทยฐานะใหม่เน้น น.ร. 80% แต้มต่อครู’ กันดาร-เหมาหลายชั้น’ 20%

15 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายนิวัตร นาคะเวช ประธานคณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว17 เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจัดทำรายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะ ว17/2552 ที่จะนำมาใช้ในการขอให้มีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศในสายผู้สอน สายผู้บริหารการศึกษา สายผู้บริหารสถานศึกษา และสายศึกษานิเทศก์ ซึ่งหลักเกณฑ์วิทยฐานะที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะให้น้ำหนักของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การประเมินวิทยฐานะสายผู้สอนจะให้น้ำหนักของผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนร้อยละ 80% ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจะกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยในหลายๆ ด้าน อย่างคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ผลการทดสอบอื่นๆ ผลการทดสอบกลางที่กำลังจะดำเนินการอยู่ คะแนนด้านปัญญา ความมีจิตสาธารณะ การเคารพสังคมของผู้เรียน ส่วนอีก 20% จะดูปริมาณและสภาพงานของครู โดยครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนห่างไกลกันดาร ครูที่มีภาระงานสอนหลายชั้น และครูที่อยู่ในโรงเรียนที่อัตราครูขาด จะมีคะแนนให้ในส่วนนี้ด้วย

สำหรับการประเมินวิทยฐานะสายผู้บริหารสถานศึกษา จะให้น้ำหนักผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนประมาณ 50% และ 20% จะในส่วนของครู อย่างการส่งเสริมการพัฒนาครู การส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ และสัดส่วนที่เหลือ จะดูการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา การมีส่วนร่วมกับชุมชน

“การดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนนั้น จะนำคะแนนโอเน็ตของผู้เรียนมาพิจารณา 2 ลักษณะทั้งระดับชาติ และระดับโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็กนั้น จะดูพัฒนาการของผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมากกว่าที่จะนำมาเปรียบเทียบกับผลระดับชาติ หากนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ก็จะมีคะแนนส่วนนี้ โดยวิธีการนี้จะเป็นผลดีกับโรงเรียนขนาดเล็กเพราะหากนำผลคะแนนของเด็กมาเปรียบเทียบกับคะแนนระดับชาติ โรงเรียนเหล่านี้ก็จะมีคะแนนต่ำกว่าระดับชาติอยู่แล้ว นอกจากผลคะแนนโอเน็ตแล้ว จะนำผลคะแนนส่วนอื่นๆ มาดูด้วย อย่างผลการทดสอบกลางที่เป็นนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทางคณะทำงานได้บรรจุไว้ในการประเมินวิทยฐานะนี้แล้ว” นายนิวัตรกล่าว และว่า การประเมินวิทยฐานะใหม่นี้ หลักการสำคัญคือจะทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน และไม่ต้องไปจ้างใครทำผลงาน เพราะการจะผ่านการประเมินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก ทั้งนี้ เมื่อจัดทำรายละเอียดทั้งหมดเสร็จแล้ว สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะต้องนำเสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ระบบฯ นำเสนอนายจาตุรนต์พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2557 กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34791&Key=hotnews

ศธ.ผลักดันโรดแมปปฏิรูปการศึกษา เน้นขับเคลื่อน 8 นโยบายหลัก

15 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ กระทรวงฯ ที่มีนายจาตุรนต์ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนงานหรือโรดแมป/โครงการเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ.2556-2558) ซึ่งประกอบด้วย 8 นโยบาย 52 มาตรการ

โดยแผนฯ นี้จะเป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและ ศธ. ในการปฏิรูปการศึกษาไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในรอบ 3 ปี ซึ่งหลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปจัดทำเป็นแผนงานโครงการ และกำหนดเป็นกรอบในการจัดสรรงบประมาณต่อไป ทั้งนี้ เป้าหมายเชิงนโยบายภายในปี 2558 อาทิ การกระจายโอกาส และเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น โดยจะเพิ่มโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษา ให้จบการศึกษาระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมการอ่านและเพิ่มอัตราการรู้หนังสือของคนไทย 100%

ปลัดกระทรวงฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทยให้ติดอันดับโลกมากขึ้น โดยจะส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานตลอดจนส่งเส ริมให้เอกชนและทุกภาคส่วนเข้ามา ร่วมจัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา และเร่งรัดให้มี พ.ร.บ.อุดมศึกษา

พร้อมกันนี้จะมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอน อีกทั้งจะเร่งพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะส่งเสริมการเรียนการสอนทวิภาษา และอิสลามศึกษา รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน และการศึกษาเพื่ออาชีพและอุดมศึกษาด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34790&Key=hotnews

30:70 วัดผลกลาง+ปลายภาค ‘จาตุรนต์’ ชี้สะท้อนคุณภาพ นร.อย่างแท้จริง/ร.ร.เล็กอย่ากังวล

14 พฤศจิกายน 2556

ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรีเมื่อวันที่ 13 พ.ย.56 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ “การรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา” ประจำปี2556 ว่าที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไม่มีการทดสอบกลางที่เป็นมาตรฐาน จึงทำให้ไม่มีใครทราบว่าคุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศเป็นอย่างไร จึงจำเป็นต้องให้มีการสอบวัดผลกลางโดยขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นด้วยว่าควรจะมีการวัดผลกลาง ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะใช้การสอบวัดผลกลางควบคู่กับการสอบปลายภาคเรียน โดยในปีการศึกษา 2557 จะจัดสอบในสัดส่วน 30 : 70 และจะเพิ่มเป็น 50 : 50 ในปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป ส่วนจะจัดสอบในระดับชั้นใดบ้างนั้นได้มอบให้นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบและการวัดผล ไปพิจารณารายละเอียดและนำกลับมาเสนออีกครั้ง

“มีหลายฝ่ายกังวลว่าการสอบวัดผลกลาง จะเกิดความไม่ยุติธรรมต่อเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียนห่างไกล ซึ่งผมยืนยันว่าการสอบดังกล่าวไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้เด็กตก หรือคัดเด็กที่แย่ๆ ออกไป และไม่ใช่สอบเพื่อให้เกิดปัญหาแบบแพ้คัดออกหรือแข่งขันกันแบบบ้าเลือด แต่ต้องการสอบเพื่อให้รู้ผลการจัดการศึกษาของประเทศรวมทั้งครูจะได้รู้ว่านักเรียนของตนเองเป็นอย่างไร และจะต้องปรับปรุงในส่วนใดบ้าง ส่วนโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลเราก็จะพัฒนาให้ดีขึ้นโดยมีการปรับระบบเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน” นายจาตุรนต์ กล่าว

ด้านนางอ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ข้อสอบวัดผลกลางที่จะใช้ในปี 57 ในสัดส่วน30% นั้นจะเป็นข้อสอบที่ร่วมกันพัฒนาจาก สพฐ., สทศ. สสวท. 15% และเขตพื้นที่ฯ กับโรงเรียนอีก 15% ส่วนอีก70% นั้นจะเป็นการสอบปลายภาคเรียนจิตพิสัย คะแนนเก็บ เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34780&Key=hotnews

เรียกบัญชี 55-56 บรรจุครูผู้ช่วย

14 พฤศจิกายน 2556

นายอภิชาติ จีระวุฒิเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการเพื่อคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรณีที่มีความจำเป็น หรือเหตุพิเศษ ว12 ลอตใหม่ว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำเรื่องขออนุมัติคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อขอจัดสอบเป็นกรณีพิเศษแล้ว และจะนำเข้า อ.ก.ค.ศ.ระบบ ในวันที่ 28 พ.ย.56 อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้จะมีการเกลี่ยและโยกย้ายครูประจำปี ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พ.ย.56 จากนั้นจะมีการเรียกผู้สอบแข่งขันที่ขึ้นบัญชีไว้ตั้งแต่ปี 2555 และปี 2556 มาบรรจุให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค.56 โดย สพฐ.จะเป็นผู้ดำเนินการเรียกบรรจุให้ตามบัญชีที่มีอยู่ รวมถึงจะมีการสรรหาศึกษานิเทศก์ ในตำแหน่งที่ว่างกว่า 1,000 อัตราซึ่งจะทำให้มีอัตราครูว่างเพิ่มขึ้นอีก หลังจากนั้นจะมาพิจารณากันต่อไปว่าจะต้องเปิดสอบครูผู้ช่วยในสาขาวิชาใดบ้าง

“สพฐ.จะพยายามดำเนินการจัดสอบและเรียกบรรจุให้แล้วเสร็จ ภาย ในเดือน ม.ค. หรือ ก.พ.57 และให้ไปปฏิบัติงานได้ในเดือน พ.ค.57 เพื่อไม่ให้กระทบกับโรงเรียนเอกชน กรณีที่ครูโรงเรียนเอกชนสอบบรรจุได้และลาออก ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นแนวทางใหม่ที่ สพฐ.ดำเนินการ เพราะที่ผ่านมามักจะเรียกบรรจุในเดือน พ.ค. ซึ่งทำให้โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบอย่างมาก” นายอภิชาติ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34781&Key=hotnews

ศธ.เตรียมคลอด ‘เงินรายหัว’ ใหม่

14 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายกิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิด เผยถึงความคืบหน้าการปรับเงินอุดหนุนรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่า ได้ประชุมคณะทำงานหลายรอบแล้ว และกำลังสรุปเรื่องทั้งหมดให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า ว่า เงินอุดหนุนรายหัวของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะมีอัตราที่ปรับเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยหลักการจะต้องบริหารจัดการภายใน ศธ.ก่อน และให้ใช้บุคลากรให้เป็น ประโยชน์เต็มที่ จะได้ไม่ใช้งบเพิ่ม แต่หากจำเป็นต้องใช้งบ ก็จะจัดเพิ่มให้โดยจะเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งทั้งหมดจะต้อง จัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะที่ 1 ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณา ต่อไป
“นอกจากนี้ จะจัดสรรงบอุดหนุนให้โรงเรียนในแต่ละกลุ่มด้วย อย่างกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชายขอบ พื้นที่ชนบทห่างไกล จะมีรูปแบบโมเดลจัดการศึกษาร่วมกันและจัดสรรเงินก้อนไปให้เพื่อยกระดับคุณภาพ ส่วนกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม จะให้เสรีในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น จะได้ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินและจะทำให้มีเงินเหลือจากการจัดสรรให้โรงเรียนกลุ่มนี้ นำไปจัดสรรให้โรงเรียนขนาดเล็กแทนได้” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34779&Key=hotnews

สอศ.เฟ้นนักศึกษาอาชีวะ ปวส.ร่วมโครงการกองทุนตั้งตัวได้

13 พฤศจิกายน 2556

นางศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล ผู้เชี่ยวชาญของโครงการกองทุนตั้งตัวได้ เปิดเผยว่า โครงการกองทุนตั้งตัวได้สนับสนุนแหล่งทุนให้นักศึกษาที่กำลังเรียนชั้นปวส. และผู้ที่จบการศึกษาในระดับ ปวส. ไม่เกิน 5 ปี กู้เพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว ประเภทของธุรกิจมีทั้งการผลิตสินค้าและบริการ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จเป็นเถ้าแก่น้อย สินเชื่อแบ่งเป็น 3 ส่วน ในสัดส่วนจากกองทุน 1 ส่วน อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และเงินกู้จากธนาคารอีก 2 ส่วน อัตราดอกเบี้ย 8-9% ต่อปี ระยะเวลา 7 ปี วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยหน่วย ABI ของอาชีวศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 29 แห่ง
ทั้งนี้ผู้ขออนุมัติสินเชื่อรุ่นที่ 1 มี 35 ราย จาก 10 หน่วย ABI ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่, วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์วิทยาลัยเทคนิค(วท.)พิจิตร, วท.บุรีรัมย์, วท.สกลนคร, วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ, วท.หาดใหญ่, วิทยาลัยการอาชีพกาญจนาภิเษกหนองจอก พณิชยการบึงพระพิษณุโลก และวท.พังงา

ประเภทของธุรกิจ มี กิจการร้านขายของชำขนส่งสินค้า คาร์แคร์จิวเวลรี ธุรกิจโรงกลึง รับจ้างกลึงโลหะ-เชื่อมโลหะรับทำมุ้งลวด รับสกรีนเสื้อ ร้านกาแฟสด ร้านขายของชำ ร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ร้านซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านซักรีด ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าและของใช้ร้านติดตั้งเครื่องเสียงในรถยนต์ ร้านป้ายโฆษณาร้านผลิตของชำร่วย ร้านดอกไม้สด ร้านเสริมสวย ร้านอาหารและ อู่รถยนต์ จากนี้ธนาคารจะมาสัมภาษณ์เพื่อพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาผู้ประกอบการ คาดว่า จะผ่านการคัดเลือกทั้งหมด หรืออย่างน้อย 21 ราย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34769&Key=hotnews