Blog.NTU

บันทึก หรือเรื่องราวจาก blog ของมหาวิทยาลัยเนชั่น ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาที่น่าสนใจ

Daily News Flash – iSnap คือ คำตอบ

Daily News Flash – iSnap คือ คำตอบ

โดย : จักร์กฤษ เพิ่มพูล
http://bit.ly/1hyQZ6R

ความพยายามที่จะค้นหา นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นทางออกให้กับหนังสือพิมพ์ อย่างน้อยเมื่อกลุ่มโพสต์ เปิดพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์เป็นเจ้าแรก

เมื่อเกือบสองทศวรรษก่อน ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราเร่งที่เร็ว และแรงกว่า เมื่อกิจการหนังสือพิมพ์เผชิญกับยุคที่สื่อกระจายเสียงและภาพเข้ามาสู่สังคมไทย และเคลื่อนผ่านไป โดยที่สื่อหนังสือพิมพ์ก็ยังอยู่ได้ ปรากฏการณ์ในห้วงเวลานั้น ทำให้เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หลายแห่งนอนใจ และเชื่อว่าถึงอย่างไรหนังสือพิมพ์ก็ยังไม่ตาย

แต่ความมั่นใจนั้น อยู่ได้ไม่นาน ยอดขายหนังสือพิมพ์ที่ปักหัวลง เป็นอัตราผกผันกับการเติบโตขยายตัวของสื่อออนไลน์ ส่งสัญญาณเตือนให้เจ้าของกิจการพิมพ์ มองหาเครื่องมือที่จะช่วยฟื้นความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง ข้อเสนอของนักวิชาการ ที่ให้หนังสือพิมพ์นำเสนอข่าวในรูปแบบของข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน หรือ Investigative Reporting เพื่อสร้างความต่าง และแข่งขันกับสื่อออนไลน์ในเชิงลึก ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ตรงกันข้าม เมื่อนักข่าวพลเมือง ในสื่อสังคมออนไลน์ โพสต์ภาพและเรื่องราวต่างๆ อย่างคึกคัก ทั้งกรณี เสก โลโซ เณรคำ หรือเรื่องของดาราสาว ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น หนังสือพิมพ์ก็หยิบฉวยข่าวเหล่านั้น ไปขยายความต่อ หนังสือพิมพ์กระแสหลักกลายเป็นสื่อชั้นสอง ที่ทำมาหากินกับความฉวบฉวย โดยไม่สนใจความถูกผิดอีก

ภาวะกลับตัวไม่ได้ ไปไม่ถึงนี้ อาจยกเว้นกรณี หนังสือพิมพ์แนวการเมืองเข้ม เช่น หนังสือพิมพ์แนวหน้า ไทยโพสต์ ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่อดีตหนังสือพิมพ์คุณภาพการเมืองเข้ม บางฉบับถดถอยลง

แน่นอนว่า สื่อออนไลน์ยังตอบโจทย์ทางธุรกิจไม่ได้ชัดเจน แต่พฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุค I หนังสือพิมพ์กลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับพวกเขา บรรดาเจ้าของกิจการทั้งหลายที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็มุ่งไปที่สื่อใหม่ๆ พื้นที่โฆษณาของหนังสือพิมพ์ที่อย่างน้อยต้องมี 70 เปอร์เซ็นต์ สั่นคลอน หลายฉบับมุ่งไปที่งบโฆษณาภาครัฐ ที่เป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจริยธรรม และตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม

การทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ที่เงียบงัน นอนนิ่งไม่ไหวติง กลับมามีชีวิต ชีวามากขึ้น ก็ต้องทำให้ตัวหนังสือและภาพนิ่ง แปรรูปเป็นภาพและเสียงได้ และนั่นก็อาจเป็นผลให้กลุ่มคนอ่านหนังสือพิมพ์ รวมทั้งผู้ลงโฆษณา หันกลับมามองและให้ความสำคัญกับสื่อหนังสือพิมพ์ในรูปแบบของมัลติมีเดีย ด้วยความเชื่อว่า ผู้รับสารจะได้ครบในสิ่งที่เขาต้องการ ทั้งภาพและเสียง ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียว และนั่นเป็นที่มาของ iSnap ของกลุ่มเนชั่น และ Daily News Flash เมื่อต้นปีนี้

แต่ หากดูพฤติกรรมของผู้รับสาร โดยไม่ต้องอิงกับทฤษฎีและหลักคิดใด หากผู้รับสารต้องการสื่อที่เป็นภาพและเสียง เหตุใดเขาจะต้องดูผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีขั้นตอน มีความยุ่งยากมากกว่า และต้องอาศัยสมาร์ทโฟนที่มีราคาแพง และคนโดยทั่วไปยังเข้าไม่ถึง ผลสัมฤทธิ์หรือประสิทธิภาพของการสื่อสาร จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีความสอดคล้องกันระหว่างสารที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อไปยังผู้รับสาร หากการรับรู้ความหมายผิดไป ก็ไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องดูภาพ ฟังเสียง หรือแม้กระทั่งดูโฆษณาผ่านสื่อหนังสือพิมพ์

เมื่อเริ่มเปิดตัว “เดลินิวส์แฟลช” ผู้บริหารอธิบายว่า เป็นอีกหนึ่งของเทคโนโลยี ที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ได้ร่วมมือกับบริษัท เวฟยี (ไทยแลนด์) จำกัด ทำแอพพลิเคชันมัลติมีเดีย เพื่อเชื่อมโยงสื่อหนังสือพิมพ์กับมัลติมีเดียอย่างวีดิโอหรือคลิปเข้าด้วยกัน โทรศัพท์มือถือ “สมาร์ทโฟน” ที่โหลดแอพพลิเคชันฯเวฟอายส์ จากนั้นเพียงแค่นำโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ไปถ่ายภาพที่มีสัญลักษณ์ “เดลินิวส์แฟลช” ปรากฏอยู่ในภาพข่าวหน้าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ก็สามารถตอบสนองความต้องการในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและผู้อ่านได้อย่างครบถ้วนเสมือนหนึ่งได้เข้าไปอยู่ร่วมรับรู้ได้สัมผัสความจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นวิธีการที่ง่ายกว่า iSnap ที่อาศัยพฤติกรรมชอบถ่ายรูปของคนไทย

ผ่านมาแล้ว ราวครึ่งปี เดลินิวส์แฟลช หายไป ในขณะที่ iSnap ยังอยู่ ไม่ว่าคำตอบแท้จริงจะเป็นอย่างไร แต่ความพยายามที่จะหาทางออกให้กับสื่อหนังสือพิมพ์ ก็ยังคงเป็นความพยายามอยู่ หลุมดำของโลกดิจิทัล มีเดีย กำลังดูดกลืนทุกสิ่ง

http://bit.ly/1hyQZ6R
Tags : จักร์กฤษ เพิ่มพูล

ครูพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล

ครูพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล

! http://bit.ly/19jRb58

โดย อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา   
สมัยอดีต “การไหว้ครู” เป็นพิธีกรรมที่ศิษย์แสดงถึงความเคารพและยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ ว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้

และศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการจึงพร้อมใจกันปวารณาตัวเพื่อรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และสัญลักษณ์ที่มักจะพบในพานไหว้ครูแบบดั้งเดิมมักจะประกอบด้วย “ข้าวตอก” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย “ดอกมะเขือ” เป็นสัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนและการมีสัมมาคารวะ “ดอกเข็ม” เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาที่ฉลาดหลักแหลม และ “หญ้าแพรก” เป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและความมีวิริยะอุตสาหะ ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าว ได้ถูกผลิตซ้ำและสืบทอดคุณค่าและความหมายเกี่ยวกับคุณลักษณะศิษย์ที่พึงประสงค์มาเป็นระยะเวลานาน

แต่ในยุคปัจจุบันสัญลักษณ์พานไหว้ครูได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และในช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวพิธีไหว้ครูของวัยรุ่นในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาบางแห่ง ที่ได้สร้างสรรค์พานไหว้ครูเป็นโลโก้กูเกิล เฟซบุ๊ค และไลน์ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อต้องการสื่อว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงและทันสมัยมากขึ้น ทั้งกูเกิล เฟซบุ๊ค และไลน์ถือเป็นสื่อใหม่ (New media) ที่วัยรุ่นได้นำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

เมื่อข่าวดังกล่าวเผยแพร่ไป ปรากฏว่ามีกระแสตอบรับจากสังคมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการนำสัญลักษณ์สื่อใหม่ (New media) และสื่อสังคม (Social media) มาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมไหว้ครู โดยวัยรุ่นโดยส่วนใหญ่มองว่า พานไหว้ครูยุคใหม่เป็นการสืบทอดสัญลักษณ์และประเพณีในเชิงสร้างสรรค์ แต่ในทางกลับกันผู้ใหญ่บางคนกลับไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าสัญลักษณ์ของพานไหว้ครูดังกล่าว อาจเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมไหว้ครูแบบดั้งเดิมให้เสื่อมถอยลงไป ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้นำเสนอปรากฏการณ์ดังกล่าวเพื่อตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด แต่สิ่งที่สนใจก็คือการสื่อสารเชิงสัญญะที่แฝงเร้นอยู่ในพานไหว้ครู สัญลักษณ์สื่อใหม่และสื่อสังคมที่ปรากฏบนพานไว้ครูได้สถาปนาความหมายและสถานภาพของ “ครูพันธุ์ใหม่ในยุคดิจิทัล” ขึ้นในสังคมไทย

อาจกล่าวได้ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารสามารถเข้าถึงผู้รับสารได้สะดวก รวดเร็ว เป็นจำนวนมาก โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ สื่อใหม่ (New media) ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ไอแพด โน้ตบุ๊ค ได้ถูกสถาปนาให้กลายเป็น “ครูพันธุ์ใหม่” ที่ สามารถแสวงหาคำตอบให้กับคนทุกเพศทุกวัยในทุกเรื่อง ทุกที่ และทุกเวลาโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และบางครั้งเราก็มักจะได้ยินครูบางท่านสบถในห้องเรียนด้วยความท้อแท้ใจในการสอนเด็กยุคใหม่ที่ก้มหน้าก้มตาดูสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ค หรือไอแพดโดยไม่สนใจครูผู้สอนว่า “เด็กสมัยนี้เชื่อคอมฯ มากกว่าเชื่อครู”

ข้อมูลจากการสำรวจของเว็บไซต์ alexa.com ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน แสดงข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันเฟซบุ๊ค (Facebook.com) ได้กลายเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก รองลงมาคือกูเกิล (google.com) และ ยูทูป (http://www.alexa.com) เป็นที่น่าสังเกตว่า คนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยปราศจากการติดต่อสื่อสารกับโลกออนไลน์ในทุกช่วงเวลาของชีวิต เช่น ตื่นนอน เดินทาง กินอาหาร เดินทาง พักผ่อน หรือแม้แต่ในยามที่ครูกำลังสอนในชั้นเรียน ผู้ส่งสารในโลกดิจิทัลยังคงสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารทั้งทางตรงและทางอ้อม

จุดเด่นของสื่อใหม่คือการให้อำนาจกับผู้รับสารในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นแบบสองทาง (Two-way-communication) โดยไม่ต้องกลัวการทำโทษ หรือกลัวว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิด จึงกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้สนใจให้เข้ามาใช้บริการในเว็บไซต์มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้อ่านหนังสือหรือตำราที่นับวันจะมีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากการสื่อสารแบบทางเดียวไม่สามารถตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นในยุคดิจิทัล หรือแม้แต่ครูพันธ์ดังเดิม (บุคคล) หากมุ่งที่เน้นการสอนแบบทางเดียวโดยไม่สร้างการมีปฏิสัมพันธ์แห่งการเรียนรู้ก็อาจไม่ได้รับความสนใจจากศิษย์ในยุคสมัยนี้

อย่างไรก็ดี แม้ครูพันธุ์ใหม่จะได้รับการยอมรับว่าสามารถให้ความรู้ที่รอบด้านอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถสร้างความรู้สึกแห่งความไว้วางใจระหว่างครูกับศิษย์ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ส่งสารในโลกดิจิทัลแม้จะทำหน้าที่ให้ความรู้แต่ก็ไม่มีตัวตนที่สามารถสัมผัสได้ รวมทั้งไม่สามารถให้คำปรึกษาหรือเยียวยาความทุกข์ของศิษย์ได้อย่างเข้าใจ หรือแม้แต่การสร้างทัศนคติและจิตสำนึกที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริง เพราะสื่อออนไลน์เป็นเพียงช่องทาง หรือเครื่องมือในการสื่อสารแต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นมนุษย์ หากเป็นเช่นนี้แล้วครูพันธ์ใหม่อาจมีสถานะเป็นเพียง “เปลือก” ในการสร้างความรู้ แต่ไม่ใช่ “แก่น” ที่สร้างคุณค่าแห่งการเรียนรู้ของศิษย์แบบครูสมัยก่อนก็เป็นได้

เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์สื่อใหม่ในพานไหว้ครูที่เปลี่ยนไปจึงสะท้อนให้เห็นเพียงรูปแบบการสื่อสารในพิธีกรรม แต่ยังขาดการสถานะครูพันธุ์ใหม่อย่างสมบูรณ์หากยังไม่ทำหน้าที่ในการสร้างจิตสำนึกของศิษย์ให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ (ผู้รู้จักใช้เหตุผล, ผู้มีจิตใจสูง) ได้อย่างสมบูรณ์

! http://bit.ly/19jRb58

Tags : อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา

แชร์ไม่แชร์ บนสื่อสังคมออนไลน์

การใช้สื่อออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดีย คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ถ้าชอบต้องกด “Like” ถ้าใช่ต้องกด “Share” คงเป็นกิจกรรมที่พบได้ทั่วไป

! http://bit.ly/1b8RM0W
โดย : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

หรือกลายเป็นวัตรปฏิบัติของการใช้โซเชียลมีเดียไปแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องราวครึกโครมใหญ่โตสะเทือนสังคมออนไลน์ประเด็นการกด Like หรือ Share บางเรื่องบางประเด็นอาจจะเป็นสิ่งที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จนกลายเป็นกระแสทางสังคมเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ หรือเสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์ของผู้ใช้หรือไม่

หากพิจารณาดีๆ ตัดประเด็นเหล่านั้นออกไป สร้างกรอบปฏิบัติที่ดีของการใช้สื่อออนไลน์ โดยเริ่มต้นที่ตัวผู้ใช้สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งใหญ่โตที่จะต้องคำนึงถึงมากนัก มนุษย์ยุคสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนแบ่งปันเป็นกิจกรรมกลุ่มทางสังคมจากยุคการแลกเปลี่ยนเชิงสิ่งของในยุคเก่าก่อนไปสู่ยุคการแลกเปลี่ยนแบบดิจิทัล ข้อมูลในรูปของ ข้อความ คลิปเสียง ภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว บนสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่มีภูมิทัศน์ของความหลากหลายในการแบ่งปันข้อมูล อาทิ บทความออนไลน์ผ่านบล็อก คลิปวีดิโอผ่านยูทูป ข้อความ โพสต์ข้อความบนแฟนเพจเฟซบุ๊ค เป็นต้น ประเด็นของการแบ่งปันของมนุษย์ยุคออนไลน์ มี 2 สิ่งหลัก คือ การแบ่งปันสิ่งที่มีความสำคัญ และการแบ่งปันความสนุกสนาน นอกนั้นก็เป็นการแบ่งปันเพื่อสะท้อนความเชื่อของตนเอง สะท้อนบุคลิกตัวตน การแนะนำสินค้า ภาพยนตร์ และอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วการแชร์ คือ “การแบ่งปันสิ่งที่มีความน่าสนใจ”

สามประการพื้นฐานสู่การเริ่มต้นการแบ่งปันที่ดีสามารถทำได้ง่าย เริ่มจากตัวผู้ใช้ ประการแรก ระมัดระวังข้อความหรือบทสนทนา อาทิ บนเฟซบุ๊คผู้ใช้งานสามารถส่งข้อความ โพสต์ภาพถ่าย หรือวีดิโอบนหน้ากระดานคนอื่นได้ แม้จะดูเหมือนกิจกรรมการส่งข้อความหากันคล้ายการส่งผ่านอีเมล์ของคนสองคน แต่มันสามารถเห็นโดยบุคคลทั่วไปที่เป็นเพื่อนของคนใดคนหนึ่ง ระมัดระวังประเด็นส่วนตัวกลายเป็นประเด็นที่วิ่งรอบโลก สิ่งนี้พบได้ในชีวิตประจำวันตามหน้าสื่อ อาทิ ข่าวกอสซิปของดารา ผ่านเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม คลิปหลุด แปลก จุดกระแสบนยูทูป ที่กลายเป็นประเด็นครึกโครม สื่อกระแสหลักนำไปเล่นขยายต่อ ดังนั้น เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นวิจารณญาณของผู้ใช้งานที่จะพิจารณา หากรู้ว่าสึกว่าไม่สะดวกที่จะแบ่งปันกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนแปลกหน้าที่ไม่สนิทชิดเชื้อ ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง

ประการที่สอง ข้อมูลส่วนบุคคลและองค์กรข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ไม่ควรที่จะโพสต์ เพราะเป็นการเชื้อเชิญ บุคคลที่ไม่ประสงค์ดี เข้ามาใกล้ หรือคุกคามชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัว ส่วนข้อมูลองค์กรหลายต่อหลายองค์กร ข้อมูลกิจกรรมบางอย่างเป็นสิ่งที่เป็นความลับ เช่น โครงการใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หากข้อมูลหลุดรั่วออกไปยังคู่แข่ง ก็สร้างมูลค่าความเสียหายแก่บริษัท หลายองค์กรจึงมีการจำกัดการเข้าถึงการใช้โซเชียลมีเดีย หรือการจำกัดการเข้าใช้เว็บไซต์บางเว็บ เพราะกลัวสิ่งที่พนักงานจะแชร์ออกไปด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม หนทางที่สะดวกกว่าคือการส่งผ่านอีเมล์ส่วนตัว และตระหนักเสมอว่าสิ่งที่กำลังนำเสนอออกไปบนโซเชียลมีเดียหากเกี่ยวข้องกับองค์กรควรสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร

ประการที่สาม พาสเวิร์ด ดูเหมือนประเด็นที่ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีใครทำกัน แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่า เรื่องพื้นๆ ทั่วไป สามารถสร้างเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้เสมอ พาสเวิร์ดไม่จำเป็นต้องเป็นพาสเวิร์ดบัตรเครดิต พาสเวิร์ดการล็อกอินเข้าเว็บไซต์ที่เป็นระบบสมาชิก หรือเครือข่ายโซเชียลมีเดียอื่นๆ น้อยคนนักที่ใช้เครือข่ายแต่ละแห่ง ใช้พาสเวิร์ดคนละชุดกัน หรือบางเครือข่ายก็อนุญาตให้ล็อกอิน ด้วยชุดพาสเวิร์ดผ่านเครือข่ายหนึ่งได้ เช่น คุณสามารถล็อกอินเข้ายูทูปด้วย ล็อกอินด้วยบัญชีผู้ใช้ของกูเกิล หรือล็อกอินเข้าพินเทอเรสต์ ที่สามารถล็อกอินด้วยบัญชีผู้ใช้อย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ หลายต่อหลายโซเชียลมีเดีย ให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ที่ไม่ต้องจดจำพาสเวิร์ด หรือใช้พาสเวิร์ดหลายชุด พึงระลึกไว้เสมอ บางครั้งด้วยความคาดไม่ถึงการณ์ ให้เพราะสนิทกัน ให้เพราะเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้งานได้ข้อมูลส่วนตัวหลุดเพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่เสมอ

โลกของโซเชียลมีเดีย เครือข่ายสังคมการแบ่งปันทุกสิ่งอย่าง มองด้านดี เป็นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคมขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาในทุกมิติ ชีวิตส่วนตัว งาน สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี บ่อยครั้งที่สังคมออนไลน์แห่งนี้พูดถึงการใช้งานสื่อ แต่ไม่ค่อยจะนำเสนอ การรู้เท่าทันสื่อและใช้งานสื่ออย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรพึงระลึกเสมอว่าทุกสิ่งอย่าง ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จะถูกบันทึกและปรากฏอยู่ตราบนานเท่าที่ยังมีคำว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ยังเป็นที่รู้จักของมวลมนุษย์

! http://bit.ly/1b8RM0W
Tags : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

กช.ไฟเขียวเพิ่มเบี้ยครูใต้ 224 ลบ. ‘อาชีวะ’ เอกชนเฮ-อนุมัติรับ น.ร.เทอม 2 ปรับสวัสดิการเบิกค่าเรียนบุตรถึงป.ตรี

28 ตุลาคม 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการอุดหนุนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับครูโรงเรียนเอกชนในระบบ พ.ศ. …ให้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย การสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักเรียน ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากขึ้น โดยได้อนุมัติให้ครูโรงเรียนเอกชนในระบบได้รับเงินเพิ่มพิเศษค่าใช้จ่ายในการพัฒนาการศึกษา จากเดิมคนละ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นคนละ 2,500 บาทต่อเดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยขณะนี้ ศธ.ได้เสนอของบกลางจากรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 224 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับจัดสรรไว้แล้วจำนวน 149 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณทั้งหมดจำนวน 373 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้ครูจำนวน 12,452 คน ครอบคลุมครูและโรงเรียนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา (เฉพาะ 4 อำเภอ คือ จะนะ นาทวี เทพ และสะบ้าย้อย)โดยครูที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุน ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2556 หรือกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป ส่วนโรงเรียนที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุน จะต้องยื่นคำขอ รับเงินอุดหนุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จังหวัด/อำเภอ พร้อมกับการขอรับเงินอุดหนุนรายบุคคล ประจำเดือน

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการศึกษาเอกชน พ.ศ.2556-2560 โดยสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาเอกชนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และอนุมัติให้โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนสามารถรับนักเรียนใหม่เข้าเรียนในภาคเรียนที่ 2 ได้ เพราะเห็นว่าปัจจุบัน สช.ได้ชะลอการอนุญาตให้โรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษารับนักเรียนใหม่เข้าเรียนในภาคเรียนที่ 2 ตามนโยบายที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามา มีส่วนร่วมจัดการและสนับสนุนการศึกษา และเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น ขณะ เดียวกันที่ประชุมยืนยันไม่ปรับเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

“เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรของสถานศึกษาในสังกัด สช. ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างระเบียบฯ เงินสวัสดิการสงเคราะห์การศึกษาบุตรของผู้อำนวยการ ครู บุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน พ.ศ. …เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนจนถึงระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ในปี 2556 จำนวนไม่เกินปีละ 20,000 บาท ต่อคนต่อปีการศึกษา จากเดิมที่ได้รับแค่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเท่านั้น คาดว่าจะใช้เงินประมาณจำนวน 50 ล้านบาทต่อปีเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป” นายจาตุรนต์กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

กีวีส่งครูฝึกสอนในโรงเรียนไทย

16 ตุลาคม 2556

นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีสถานทูตนิวซีแลนด์ แสดงความประสงค์ขอลงนามความร่วมมือ พัฒนาภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนในสถานศึกษาเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยจัดส่งนักศึกษามาฝึกสอนให้เป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากประเทศนิวซีแลนด์ มีนักศึกษาเรียนสายครูจำนวนมาก แต่มีจำนวนร.ร.ให้ฝึกสอนน้อยกว่า ความร่วมมือนี้อยู่ระหว่างการหารือข้อตกลงปลีกย่อย เช่น การเปิด-ปิดภาคเรียนของนักศึกษานิวซีแลนด์ กลุ่มที่จะเดินทางมาสอนนักเรียนเอกชนของ สช.ไม่ตรงกับการ เปิด-ปิดภาคเรียนของร.ร.เอกชนสังกัด สช. ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะตัวเทอมคาบเกี่ยวกันไม่มาก แต่ทั้งนี้สช. และนิวซีแลนด์ จะเร่งดำเนินการให้ทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2557 โดยเบื้องต้นเสนอขอให้จัดส่งนักศึกษานิวซีแลนด์มาฝึกสอน 100 คน ซึ่งทางสถานทูตนิวซีแลนด์ได้แจ้งกลับมาว่า ในระยะแรกอาจจัดส่งครูสอนภาษาอังกฤษนำร่องมาก่อน 1 ชุด แต่ยังไม่ได้ระบุจำนวนที่แน่ชัด

“เราคุยกันว่า ครูนิวซีแลนด์กลุ่มนำร่องนี้ จะเข้ามาพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนในร.ร.เอกชน โดยมีเงื่อนไขข้อตกลงร่วมกันว่าตลอดระยะ 1 ปี ที่นักเรียนเอกชนได้รับการสอนภาษาอังกฤษจากครูกลุ่มนำร่อง ครูฝึกสอนจะต้องเน้นพัฒนาการสื่อสารภาษาอังกฤษ ให้กับเด็กนักเรียนอย่างเข้มข้น มากกว่าการเรียนไวยากรณ์” เลขาธิการ กช.กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

! http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34473&Key=hotnews

P ตัวที่ 5 ของอิชิตัน ในตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม

ผมชอบประโยคของ อ.ดรรชกร  ศรีไพศาล

ดรรชกร ศรีไพศาล - Datchakorn
ดรรชกร ศรีไพศาล – Datchakorn

ในบรรทัดสุดท้ายที่ทิ้งท้ายไว้ว่า “วันใดที่ตัน ภาสกรนที ถอนตัวจากอิชิตันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด” อาจรวมถึงคุณตันขาย อิชิตัน แล้วไปตั้งบริษัทชาใหม่ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็จะตามไปดื่มชายี่ห้อใหม่ของคุณตันไงครับ แล้วอิชิตันก็คงจะขาด P ตัวที่ 5 ไป

โดย ดรรชกร ศรีไพศาล จาก กรุงเทพธุรกิจ
! http://bit.ly/133OI04
! http://blog.nation.ac.th/?p=2827

หากย้อนประวัติของที่มาการแข่งขันที่เสมือนศึกสายเลือด อันมีที่มาจากต้นทางเดียวกันระหว่างโออิชิ และอิชิตัน

ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลุ่มบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเบียร์ช้างเป็นเครื่องหมายการค้าสำคัญ ได้เข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ ของตัน ภาสกรนที ในปี พ.ศ. 2549 ด้วยมูลค่า และข้อเสนอที่ตัน ภาสกรนที ยากที่จะปฏิเสธ

แต่ด้วยวิสัยความเป็นผู้ประกอบการ ประเภท “เถ้าแก่” ที่กล้าได้ กล้าเสีย กอปรกับความคุ้นเคย และเข้าใจในธุรกิจเครื่องดื่มพร้อมดื่มประเภทต่างๆ ในประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการกลับสู่ตลาด พร้อมกับผลิตภัณฑ์ใน Brand ใหม่ ชื่อ อิชิตัน แต่คงกลิ่นอายเดิม ทั้งรสชาติของเครื่องดื่มชาเขียว ที่ใช้สูตรในการปรุงรสชาติมาจากบุคคลคนเดียวกันกับผู้ปรุงรสชาติชาเขียวให้กับโออิชิ และรูปแบบการสร้างปรากฏการณ์ทางการตลาด ด้วย Campaign ที่เป็นสีสันของสังคมแบบโดนใจผู้บริโภค ทั้งการแจกเงิน แจกทอง เป็นต้น

เพียงไม่นานนับจากการหวนเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม ในปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2556 ตัน ภาสกรนที และอิชิตัน สามารถก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของตลาด ด้วยสัดส่วนทางการตลาดร้อยละ 44 ในขณะที่ผู้นำตลาดรายเดิม คือ โออิชิ ตามมาเป็นอันดับสอง สัดส่วนร้อยละ 37 ของตลาด และเป็นที่คาดการณ์ว่าตลาด จะมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 25 ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่ม มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท

ความสำเร็จของอิชิตัน ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์ (Product) หรือรสชาติของชาเขียวก็ยังไม่โดดเด่น เพราะคงยากที่จะหาผู้ใดมาให้ความเห็นเกี่ยวกับรสชาติของชาเขียวพร้อมดื่ม 2 Brand นี้ ว่า Brand ใด จะหวานหรือขมกว่ากัน หรือ Brand ใด จะมีรสชาติถูกปากคนไทยมากกว่ากัน

ปัจจัยด้านราคา (Price) ซึ่งตัน ภาสกรนที เลือกใช้ในการเปิดตัวสู่ตลาดให้แก่อิชิตัน ด้วยราคาที่ถูกกว่าของคู่แข่งขันทุกรายในตลาด นับเป็นส่วนผลักดันสำคัญให้อิชิตัน สามารถเบียดแย่งพื้นที่บนชั้นวาง และตู้แช่เครื่องดื่มในร้านค้าต่างๆ จากคู่แข่งขันได้ในระดับหนึ่ง

ดังนั้น Key Success ของการเข้าสู่ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในระยะเปิดตัวของอิชิตัน จึงหมายถึง ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) ที่ครอบคุลมตลาด และ สอดรับกับ Life Style ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่าไทยเบฟฯ ย่อมต้องพยายามปกป้องการกระจายตัวของอิชิตันอย่างเข้มข้น กระทั่ง อาจจะนำกลยุทธ์เดียวกับที่เคยใช้ได้ผลในอดีต มาประยุกต์หรือปรับใช้อีกครั้งในศึกชาเขียวพร้อมดื่มครั้งนี้ ด้วยการใช้สายสัมพันธ์กับร้านค้าโชห่วย กว่า 300,000 แห่ง ทั่วประเทศ

แต่ ตัน ภาสกรนที รู้ดีถึงจุดอ่อนสำคัญของอิชิตันในเวลานั้น ที่อาจจะถูกโออิชิ ของไทยเบฟฯ ใช้ความพร้อมที่เหนือกว่า เบียดแย่งพื้นจนอาจจะไร้ที่ยืนในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มได้ จึงได้หาและสร้างพันธมิตรธุรกิจที่จะขจัดจุดอ่อนด้านช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับอิชิตัน และเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างอิชิตัน ของตัน ภาสกรนที กับกลุ่มบุญรอดฯ เจ้าของผลิตภัณฑ์เบียร์สิงห์ ที่มี Dealer กว่า 200 รายในตลาด และพร้อมที่จะเป็นผู้จัดกระจายอิชิตัน สู่ร้านค้าโชห่วยกว่า 100,000 ราย ในขณะที่การเข้าสู่ร้านค้าประเภท Modern Trade ทั่วประเทศ เป็นหน้าที่ของดีทแฮล์ม

การส่งเสริมการตลาด และส่งเสริมการขาย (Promotion) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้บริโภค และนักการตลาดทั่วไป สามารถจับกระแสความรุนแรงของการแข่งขันระหว่างโออิชิ และอิชิตันได้อย่างชัดเจน มากกว่าการศึกษาจากปัจจัยทางการตลาดด้านอื่นๆ

ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ทั้งการแจกเงิน แจกทอง แจกรถ หรือแม้แต่การพาไปท่องเที่ยว พร้อม Pocket Money อย่างจุใจ ฯลฯ ที่สำคัญ คือ ทั้งโออิชิ และอิชิตัน ต่างใช้ Promotion อย่างต่อเนื่อง ด้วยความถี่ระดับสูง จนไม่อาจจะนำแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไปเปรียบเทียบในตำราการตลาดใดๆ ได้

อย่างไรก็ดี ดูเสมือนว่าการสร้างสรรค์ Campaign การ Promotion ของโออิชิ จะมีจังหวะที่ช้ากว่าอิชิตันอย่างน้อย 1 จังหวะอยู่เสมอ จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ในปัจจัยด้านการ Promotion คือ Key Success สำคัญของอิชิตันอย่างแท้จริง ที่ทำให้สามารถก้าวแซงหน้าโออิชิได้อย่างเด่นชัด โดยมีส่วนการถือครองตลาดในปัจจุบันเป็นเครื่องยืนยัน และยังเป็นสิ่งยืนยันให้ทราบถึงความสำคัญของอีกหนึ่งปัจจัย ที่อยู่นอกเหนือจากปัจจัยการตลาดทั้ง 4 ในข้างต้น นั่นคือ P ตัวที่ 5 หรือ People

รูปแบบการบริหารโออิชิ ของไทยเบฟฯ ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารขององค์กรใหญ่ จึงอาจจะขาดความคล่องตัวในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนงานการตลาด ให้สอดรับกับกลยุทธ์การแข่งขันของคู่แข่งขันในตลาด โดยเฉพาะกับคู่แข่งขัน เช่น ตัน ภาสกรนที ที่มีรูปแบบการบริหารในลักษณะของเถ้าแก่ ที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และที่สำคัญ คือ รู้ ที่จะใช้ประโยชน์จากสายสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นกับบรรดา Celebrity ในสังคม ทั้งอุดม แต้พานิช หรือสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้ช่วยผลักดัน Contents หรือ Story ต่างๆ ที่ตัน ภาสกรนที ได้สร้างขึ้นในแต่ละวาระ ให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วน “โดน” ใจผู้บริโภคคนชั้นกลางเป็นอย่างมาก

การก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มของอิชิตันในวันนี้ เกิดขึ้นจาก P ตัวที่ 5 ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างโออิชิ ของไทยเบฟฯ และอิชิตัน ของตัน ภาสกรนที และน่าคิดต่อไปว่า วันใดที่ตัน ภาสกรนที ถอนตัวจากอิชิตันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เสน่ห์ของอิชิตัน จะยังหลงเหลือไว้ผูกใจผู้บริโภคได้อีกหรือไม่

โดย ดรรชกร ศรีไพศาล จาก กรุงเทพธุรกิจ
! http://bit.ly/133OI04
! http://blog.nation.ac.th/?p=2827

สิทธิในการฟ้องคดี กับเสรีภาพวิชาการ

มีประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณี คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ฟ้องคดีนักวิชาการ และสื่อมวลชนว่า เป็นสิทธิอันชอบธรรมของ กทค.

โดย จักร์กฤษ เพิ่มพูล จาก กรุงเทพธุรกิจ
! http://bit.ly/13FdELP
! http://blog.nation.ac.th/?p=2832

ทั้งในฐานะส่วนตัว และองค์กรที่จะฟ้องคดีคนที่ทำให้พวกเขาเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันก็มีประเด็นโต้แย้งว่า ถึงแม้จะเป็นการใช้สิทธิ แต่เป็นการใช้ในลักษณะลิดรอนในการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการ และสื่อมวลชน ซึ่งได้รับรองโดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่

ความเป็นธรรมเรื่องที่ กทค. ใช้เป็นฐานความผิด ในการฟ้องคดีนี้ คือ การวิพากษ์เรื่องสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 1800 ซึ่งเป็นประเด็นสาธารณะ แม้จะกระทบพาดพิงไปถึงบุคคลที่ประกอบขึ้นเป็น กทค.บ้าง ก็ถือว่า กทค. เป็น public figure หรือบุคคลสาธารณะด้วย บุคคลสาธารณะย่อมได้รับการยกเว้น ในการที่สื่อหรือสาธารณชนจะติดตาม ตรวจสอบ หรือนำเสนอเรื่องราวของเขาเหล่านั้น และหากพิจารณาประกอบกับข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท เรื่องประเด็นสาธารณะ การแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมต่อสาธารณะ ในประมวลกฎหมายอาญา ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายคดีเป็นบรรทัดฐาน

คำว่า ใช้สิทธิในการลิดรอนเสรีภาพ หรือการแสดงออกในลักษณะข่มขู่ คุกคาม นอกเหนือจากการใช้สิทธิตามกฎหมาย เช่น ขู่จะฟ้องทั่วราชอาณาจักร ซึ่งทำไม่ได้โดยข้อกฎหมาย หรือข้อหา คำขอท้ายฟ้องที่มุ่งหมายจะแก้แค้นตอบแทนในแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน มุ่งหมายจะให้จำเลยรับโทษหนักกว่าที่ควร อาจตีความได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งในทางคดีแพ่งเขียนไว้ชัด แต่ในคดีอาญา ประมวลกฎหมาย มาตรา 175 บอกว่า ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

หากพิเคราะห์ในแง่เสรีภาพ นักวิชาการ และสื่อมวลชน
ใช้เสรีภาพจนเกินขอบเขต หรือไม่มีความรับผิดชอบหรือไม่

การใช้เสรีภาพจนเกินเลยไปจากหน้าที่นักวิชาการ ที่มุ่งจะเสนอแง่มุมทางวิชาการด้วยเหตุ และผลเพื่อให้สังคมตื่นรู้และเท่าทันบางเรื่องราวที่ยากเข้าถึงและเข้าใจ หรือการใช้เสรีภาพของสื่อในการรายงานและอธิบายปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้ ไม่มีประเด็นที่จะชี้ให้เห็นเลยว่า สื่อและนักวิชาการได้ใช้เสรีภาพในทางที่จะไปกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของบุคคลใดในฐานะส่วนตัวเลย ตรงกันข้าม กลับแสดงให้เห็นว่า กทค. ใน กสทช. กำลังใช้สิทธิโดยไม่เข้าใจบริบท หรือบทบาทของนักวิชาการ และสื่อ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อ กสทช. มากกว่า

การฟ้องร้องครั้งนี้กลับยิ่งทำให้องค์กรได้รับความเสียหายมากกว่า เพราะการที่ กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์และอาจไม่พอใจกับข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบนั้น ก็สามารถใช้สิทธิในการโต้แย้งเพื่อชี้แจงข้อมูลผ่านการแถลงข่าว ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการใช้งบประมาณซื้อพื้นที่สื่อเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานของ กสทช. ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด รวมทั้งพบว่าสถานีโทรทัศน์บางช่องได้เชิญกรรมการบางท่านไปออกรายการเพื่อชี้แจง แต่กลับได้รับการปฏิเสธไม่ร่วม การกระทำเช่นนี้ย่อมอาจถูกมองได้ว่าเป็นการปฏิเสธการตรวจสอบจากภายนอก ซึ่งขัดเจตนารมณ์การเป็นองค์กรอิสระที่ต้องมีหลักธรรมาภิบาลเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้” สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าว

กสทช. และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” จากกรณีนำเสนอข่าวการสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ณ ศาลอาญา

กรณีเช่นนี้ เคยปรากฏมาก่อน จากการที่บริษัทโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งฟ้องผู้ร่วมรายการ และจอมขวัญ หลาวเพ็ชร พิธีกรรายการ คม ชัด ลึก ทางเนชั่นแชนแนล ศาลยกฟ้องชั้นไต่สวน โดยให้เหตุผลว่า

…การตั้งประเด็นคำถาม เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่ ความไม่โปร่งใสในการประมูล เป็นการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน

ซึ่งศาลได้ยกฟ้องผู้ร่วมรายการในเวลาต่อมา ด้วยเหตุว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ

ไม่ว่า กสทช. โดย กทค. จะเดินหน้าใช้อำนาจศาลข่มขู่ คุกคาม นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ตามวิชาชีพครั้งนี้อย่างไร ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ กทค. และกสทช. ทั้งคณะอย่างเข้มข้นต่อไปได้

กสทช. ตัดสินใจเดินหน้า ไม่ถอนฟ้อง ไม่เจรจา ไม่อ่อนข้อกับคู่กรณีอย่างใดทั้งสิ้น นี่นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเท่ากับ กสทช. กำลังยื่นดาบให้ศาลเชือดคอตัวเอง

โดย จักร์กฤษ เพิ่มพูล จาก กรุงเทพธุรกิจ
! http://bit.ly/13FdELP
! http://blog.nation.ac.th/?p=2832

Generation Me คือ มีบุคลิกภาพหลงตัวเอง

generation me in time magazine
generation me in time magazine

เราเคยพูดกันเรื่อง Generation X แล้วก็ Generation Y
เดี๋ยวนี้เขาเสนอคำใหม่ Generation ME
น่าสนใจนะครับ .. โดยเฉพาะคำว่า หลงตัวเอง
(คนแถว ๆ บ้านทำตัวเป็นนกหงส์หยก .. ธรรมดาของมนุษย์)

 

คุณธาม เชื้อสถาปนศิริ,
นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)
timeseven@gmail.com
เขียนเรื่องเมื่อ 18 พ.ค.56 จากที่พบใน Time U.S. เมื่อ 9 พ.ค.2013
แล้วพบข้อมูลอีกครั้งตามปกนิตยสาร TIME ฉบับ 20 พฤษภาคม 2013
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151458805008732&set=p.10151458805008732

Official by Josh Sanburn  May 9,2013
http://nation.time.com/2013/05/09/millennials-the-next-greatest-generation/
You might think they’re entitled, lazy and over-confident. You’d be right—but you’d also be wrong

จาก FB : Time Chuastapanasiri

ME ME ME Generation “คนรุ่นฉัน ฉัน ฉัน”
ถึงจะขี้เกียจ หลงตัวเอง และยังอาศัยพ่อแม่กิน
แต่ฉันก็จะช่วยโลกและทุกคนได้นะ!
………
ธาม เชื้อสถาปนศิริ,
นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)
timeseven@gmail.com

ภาพปกนิตยสาร “TIME” ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2013 เป็นปกที่เรียกความสนใจได้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อนำเสนอบทความพิเศษที่ว่าด้วย “ME GENERATION” พร้อมภาพเด็กหญิงวัยสาวกำลังนอนราบกับพื้นและยกกล้องจากโทรศัพท์มือถือขึ้นโน้มลงมาถ่ายรูปหน้าตัวเอง ปนปกสีฟ้าโทนอ่อน

ข้อความปนปก เขียนว่า “Millennials are lazy, entitled narcissists. Who still live with their parents.– Why they’ll save us all” by Joel Stein

แปลความได้ว่า “คนรุ่นใหม่(สหัสวรรษ)นั้นขี้เกียจ ขึ้นชื่อว่าหลงตัวเอง พวกเขายังอยู่กับพ่อแม่ของตนเอง – (แต่)ทำไมพวกเขาจะช่วยเหลือเราทุกคนไว้ทั้งหมด?” บทความนี้เขียนโดย โจเอล สไตน์.

โจเอล อ้างข้อมูลที่น่าตกใจจาก “The National Institutes of Health” (สถาบันสุขภาพ แห่งชาติ – อเมริกา) ว่า ผู้คนอเมริกัน ที่อายุเฉลี่ย 20ปี (20-29) มีระดับการ “หลงตัวเอง” มากกว่าคนรุ่นลุงป้า หรือ ยุคเบบี้บูม (ซึ่งน่าจะอายุขณะนี้ประมาณ65 ปี) เป็นอัตราที่มากถึง 3 เท่า!

สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (อเมริกา) เปิดเผยข้อมูลว่า คนรุ่นใหม่กำลังเป็นโรค “Narcissistic Personality Disorder” ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีอาการหลงใหลในบุคลิกภาพของตนเอง และมีความเชื่อว่าโลกหมุนเวียนโคจรรอบตนเอง อาการนี้บ่งชี้ได้จากการที่เขาขาดความสามารถที่จะรู้สึก แสดงความสนใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่เขากลับมีแรงปารถนาที่จะมุ่งสนใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา

คนที่มี “บุคลิกภาพหลงตัวเอง” อาจจะมีอาการ/พฤติกรรมดังนี้

(1) ปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยความโกรธแค้น สร้างความน่าละอาย/ขายหน้า และความอัปยศน่าอดสู

(2) เอาเปรียบผู้อื่น เพื่อตอบสนองความต้องการชนะ หรือวัตถุประสงค์ของตนเอง

(3) มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญมากเกินพอดี

(4) พูดขยายเกินกว่าความเป็นจริงเกี่ยวกับความสำเร็จหรือความสามารถของตนเอง

(5) มีใจหมกมุ่นกับจินตนาการความสำเร็จ พลัง อำนาจ ความงาม สติปัญญา หรือ รักในอุดมคติ

(6) ใช้เหตุผล ที่ไม่สมเหตุสมผล กับสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ หลงใหล คาดหวัง

(7) ต้องการเป็นที่ชื่นชม ยอมรับและหลงใหลอยู่ตลอดเวลา

(8) เพิกเฉย ไม่เอาใจใส่ต่อความรู้สึกของผู้อื่น และมีความพยายามเพียงน้อยนิดที่จะแสดงความเห็นใจผู้อื่น

(9) คิดหมกมุ่นอยู่กับผลประโยชน์และความต้องการของตนเอง

(10) ไล่ตามเป้าหมายที่เห็นประโยชน์แก่ตนเอง

เมื่อวิเคราะห์ถึง “สาเหตุ อัตราการเกิดโรค และ ปัจจัยความเสี่ยง” ของโรค ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามาจากสิ่งใด อาจเป็นได้ทั้งจาก ประสบการณ์ช่วงวัยเด็ก การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ละเลย ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักในการพัฒนาสภาวะของโรคนี้

วิธีการรักษาโรคนี้ คือ เข้ารับการบำบัด หรือได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น ด้วยความเอาใจใส่ และการดูแลอย่างเห็นอกเห็นใจ

……..
ขณะที่ บทความชื่อ “7 เหตุผลที่คนรุ่นใหม่ กลายเป็นคนหลงตัวเอง” เขียนโดย Hannah Kapp-Klote ที่อ้างบทความของ Joel Stein ก็วิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วความหลงตัวเองของคนรุ่นใหม่นั้น ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อ คือ

(1) รายการโทรทัศน์ประเภทเรียลิตี้

Hannah วิเคราะห์ว่า คนรุ่นใหม่นั้น เป็นคนรุ่นแรก ที่เติบโตภายใต้รายการโทรทัศน์ประเภทเรียลิตี้ และถูกความบันเทิงประเภทนี้กล่อมเกลาเป็นประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งผู้คนพยายามไต่เต้าจากคนธรรมดาทั่วไป มาประกวดแข่งขัน ผ่านการร้อง เล่นเต้นรำ หรือ ใช้ความสวยงาม ความสามารถ หรือชะตาชีวิตที่พลิกผันมากลายเป็นคนดังมีชื่อเสียงในสังคม
การเป็นคนดัง กลายเป็นงานที่ใฝ่ฝันของผู้คนรุ่นใหม่ในสังคมปัจจุบัน!

(2) อินเตอร์เน็ต

เฟซบุ๊ค ทวิเตอร์ เรดดิท พินเทอเรสต์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ นี้ ได้ผลิตและสร้างให้คนรุ่นใหม่ตกเป็นเหยื่อของตนเอง ด้วยเนื้อหาที่พวกเขาสร้าง ผลิต อวด และส่งต่อกันอย่างมากมาย (เฉพาะเนื้อหาที่พูดเกี่ยวกับตนเอง) และการสร้างความสัมพันธ์เสมือนที่ฉาบฉวยบนโลกออนไลน์ บทสนทนากับคนแปลกหน้า ฯลฯ เหล่านี้ได้กลายมาเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ

(3) ป๋าอวย ป๋าชม ป๋าเชลียร์ ป๋าดัน

ยอมรับความจริงเถอะว่า ในสังคมออนไลน์ หรือในสื่อปัจจุบัน ถ้ามีใครสักคนมาพูดมาชมว่าคุณน่ะเป็นคนพิเศษ เป็นคนสวย หล่อ ดี น่าหลงใหล และพูดแบบนี้ทุกวัน เป็นแรมปี คุณจะไม่สนใจเขาเลยหรือ? เราเป็นคนรุ่นพิเศษ ก็ตามที่พวกเขา(สังคมออนไลน์)เป็นลูกช่างอวยนั่นเอง

อธิบายได้ว่า ในสังคมปัจจุบัน มีคนช่างยุ ช่างอวย ช่างเสี้ยม เป็นวัฒนธรรมเฮโลสาระพา คนกลุ่มใหญ่ส่งเสียงเรียกร้องชื่นชมยินดีในความพิเศษที่เรามี ในสิ่งที่เรานำเสนออยู่ตลอดเวลา ก็เลยกลายเป็นวัฒนธรรม “ไปไหนไปด้วย เฮไหนเฮด้วย” (bandwagon)

(ข้อนี้ เปรียบเทียบจาก สังคมอเมริกัน จะรู้จัก Mr.Fred Rogers คนทำสื่อทางโทรทัศน์เกี่ยวกับรายการเด็ก ข่าว และวาระทางสังคมซึ่งมีอิทธิผลในการโน้มน้าวใน ชักจูงกระแสสังคมในอเมริกา อาจเปรียบเทียบได้กับ คนดังในวงการสื่อบ้านเราทั้งหลาย

แต่ในที่นี้ ผู้เขียนบทความหมายถึงว่า เราทุกๆ คนล้วนก็เป็น คนอวย คนเชียร์ คนดันกันทั้งนั้นในโลกสังคมออนไลน์)

เราทุกคนล้วนอยู่ในสังคมผู้ชม (spectacle society)

(4) วัฒนธรรมบริโภคนิยม

ใครกัน ที่จะชื่นชอบแนวคิดการสร้างวัฒนธรรมคนรุ่นต่างๆ มากที่สุดล่ะ ถ้าไม่ใช่ “นักการตลาด” คนรุ่นเรา (รุ่น generation x-อายุของผู้เขียน?) มีจุดกำเนิดมาจากโทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต (สำหรับรุ่น millennial) ซึ่งเป็นคนรุ่นที่เกิดมาในวัฒนธรรมของการบริโภค การซื้อ การขาย และกระทั่ง การขายบุคลิก หน้าตา ตัวตน ก็เป็นเรื่องปกติ

(5) การไร้ซึ่ง “คนต้นแบบ”

คนรุ่นใหม่ (Millennials) นั้น เติบโตมากับพ่อแม่ (เจเนอเรชั่นเอ็กซ์) ในรูปแบบครอบครัวเดี่ยวมากกว่าการเลี้ยงดูของปู่ย่าตายาย (ซึ่งเป็นรุ่นเบบี้บูมเมอร์-ยุคทารกเกิดใหม่หลังสงครามโลก) คนรุ่นใหม่นี้อยู่กับเพื่อนๆ มากกว่า และพวกเขาต่างก็สนใจว่า ในบรรดาเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ใครเด่น ใครเท่ห์ ใครเฟี้ยว ใครเฉี่ยว ใครเป็นผู้นำแฟชั่นและกิจกรรมสุดเจ๋ง

(ตัวอย่างหนังเรื่อง “Mean Girls (2004)” จะมีตัวละคร 2 คนที่คอยตามผู้นำกระแสวัยรุ่นที่โรงเรียน และยึดเธอ/เขาเป็นแบบอย่างในชีวิต) และคนรุ่นใหม่นี้ (ในวัฒนธรรม/สังคมอเมริกัน) ก็ชอบที่จะทำงานหาเลี้ยงตนเองเพื่อได้ค่าเทอม พวกเขาจึงมีสภาวะ “หยิ่งทะนง” (ego) ไปด้วย แต่ก็ยังขัดแย้งในตัวเอง เพราะไม่มีคนต้นแบบชีวิตให้ได้เรียนรู้นอกจากเพื่อนๆ ด้วยกันในวัยเรียน

(6) เราอยู่อุตสาหกรรม “ถ้วยรางวัลแห่งการมีส่วนร่วม”

สำหรับคนที่กังวลว่าคนรุ่นใหม่จะสนใจเฉพาะเรื่องตัวเองเท่านั้น พวกเขามักบ่นว่าคนรุ่นใหม่ชอบมีส่วนร่วมกับเรื่องต่างๆ อย่างบริสุทธิ์ใจเพราะมีแรงดึงดูดใจว่าจะได้ “ประกาศนียบัตร ป้ายประกาศ ถ้วยรางวัล”

เราจะเห็นภาพพ่อแม่ปัจจุบัน ต่างพะเน้าพะนอลูกๆ ให้เข้าร่วมกิจกรรมประกวดแข่งขัน ต่างๆ (ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ การศึกษา หรือร้องเล่น เต้นรำ) และทางโรงเรียน ครู หรือผู้จัด ก็จะต้องมี “ประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ” เหน็บท้ายติดตัวกลับบ้านกันไปทุกๆ คน

แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ที่กว่าจะได้ถ้วย โล่ห์รางวัล หรือประกาศคุณงามความดี ต่างก็ต้อง “ทำสิ่งนั้นจนสำเร็จบรรลุผล” เป็นที่หนึ่ง ยอดเยี่ยม กว่าคนอื่นๆ แบบพิสูจน์เห็นผลสัมฤทธิ์จริง ถึงจะได้รางวัล แตกต่างกับสมัยนี้ เพียงแต่การเข้าร่วม คือ ความสำเร็จ และหากเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดใดๆ แล้วไม่ได้รับโล่ห์ ประกาศ เด็กรุ่นใหม่ก็จะรู้สึกเสียใจ เศร้าใจมาก

กลายเป็นว่า คนรุ่นใหม่ ถูกเลี้ยงดูปลูกฝังค่านิยมการทำทุกอย่างโดยได้รับรางวัลและการประกาศเกียรติคุณ ถูกหล่อหลอมมาในอุตสาหกรรมถ้วยรางวัลแห่งการเข้าร่วม (The Participation Trophy Industrial Complex) โดยมีครู พ่อแม่สร้างแรงจูงใจสนับสนุนให้พวกเขาให้ความสำคัญตัวเองมากยิ่งขึ้น เสพติดความสำเร็จแบบสำเร็จรูปมากขึ้น

ฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เวลาที่พวกเขาทำงาน ทำการบ้าน รายงาน พวกเขาจะต้องพึ่งพิงพึ่งพา กูเกิ้ลมากขึ้น เพราะมันง่าย เร็ว สะดวกกว่าที่จะต้องใช้ความพยายามค้นคว้า คนทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สำเร็จรูป

(7) นิตยสารไทม์ แม็กาซีน. TIME Magazine
ก็เป็นนิตยสารไทมส์เองนั่นแหละ ที่ทำเรื่องนี้มาโดยตลอด นำเสนอเรื่องต่างๆ ที่กำหนด ชี้นำ ครอบงำโลกด้วยเรื่องราวข่าวสารต่างๆ “เป็นคุณมาโดยตลอด” (นิตยสารไทมส์) ลองไปดูปกเก่าๆ ของนิตยสารไทมส์ดู จะค้นพบว่า ทั้งยูทูบว์ เฟซบุ๊ค ไอโฟน และ เทคโนโลยีมากมายที่พาเหรดกันขึ้นปกอย่างต่อเนื่อง เพราะนิตยสารไทมส์ เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดวาระทางสังคมโลก (และในลักษณะประชดประชัน ว่า มีศูนย์กลางมาจากประเทศอเมริกาเท่านั้น ไม่เคยมองเห็นชาติอื่นสำคัญ)

(อันนี้ด่านิตยสารไทมส์ ในแบบจิกกัดเล็กน้อย)

……..
ด้าน Josh Sanburn เขียนในบทความข้างเคียงบทความเด่นในนิตยสารไทมส์เล่มเดียวกัน ชื่อ “Millennials: The Next Greatest Generation?” (คนรุ่นใหม่-สหัสวรรษ รุ่นถัดไปที่เยี่ยมยอด?)

โดยอ้างข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (อเมริกา) ว่า คนรุ่นใหม่กว่า 80 ล้านคนในอเมริกาที่เกิดระหว่างปีค.ศ. 1980 – 2000 นั้นหลงตัวเองเป็นสามเท่าของคนรุ่นพ่อแม่ และ กว่า 80% ของคนรุ่นนี้ ที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปี ต้องการได้งานที่มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ 10 ปีถัดมา จะมีเพียง 60% เท่านั้นที่ได้ทำตามที่ฝัน คนรุ่นใหม่นั้นได้รับการปลูกฝังเลี้ยงดูภายใต้วัฒนธรรม “แค่เข้าร่วม ก็ได้แล้วได้รางวัล ประกาศนียบัตร” (participation trophies) ดังนั้นพวกเขาจึงคิดว่า หากทำงาน พวกเขาควรได้รับการโปรโมทเลื่อนขั้นทุกๆ สองปีโดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาที่ผลงาน/ประสิทธิภาพ

คนรุ่นใหม่ พวกเขาหวังในอนาคต อย่าคิดว่าพวกเขาไม่สนใจไม่ได้ยินในสิ่งที่เราเรียกว่า “ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ” นะ

…….กลับไปที่จุดเริ่มต้นของบทความหลักในนิตยสารไทมส์……

Joel Stein ตั้งคำถามสำคัญว่า “แล้วทำไมคนรุ่นใหม่นี้ ถึงจะช่วยเหลือพวกเราไว้ทั้งหมด?” (ก็ทั้งๆ ที่พวกเขาขี้เกียจ หลงตัวเอง และยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ – ไม่มีงานทำ) เสียจนาดนั้น
Joel บอกว่า “ภายใต้สภาวะถาโถมของข้อมูลสารสนเทศ มหาศาลอันน่ากังวล สิ้นหวัง ในโลกสังคมข่าวสารปัจจุบัน และข้อถกเถียงเชิงกังวลมากมายจากคนรุ่นเก่าก่อนต่อคนรุ่นใหม่ว่าพวกเขาจะไปรอดน่ะหรือ?”

ที่สุดแล้ว แต่คนรุ่นใหม่จะพิสูจน์อะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่คนรุ่นเก่ากังวล!

พวกเขามีความมั่นใจมาก พวกเขาเรียนรู้ได้เร็ว พร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับโลก ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี นอกจากนี้แล้ว คนรุ่นใหม่ยังเป็นคนมองโลกในแง่ดี สร้างสรรค์ พวกเขาเป็นนักปฏิบัติที่ดี ในเวลาที่เผชิญความยากลำบาก และก็สามารถแก้ไขทุกอย่างลุล่วงไปได้ แม้ว่าพวกเขาจะเสียเวลาไปกับโทรศัพท์มากไปหน่อยก็ตาม!

===============

บรรณานุกรม
• Millennials: The Me Me Me Generation อ่านเพิ่มเติมที่
http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,2143001,00.html
• Millennials: The Next Greatest Generation? อ่านเพิ่มเติมที่ http://nation.time.com/2013/05/09/millennials-the-next-greatest-generation/
• Narcissistic personality disorder อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000934.htm
• “7 Reasons Millennials Are Such Narcissists” อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.policymic.com/articles/40753/7-reasons-millennials-are-such-narcissists
• Every Every Every Generation Has Been the Me Me Me Generation อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.theatlanticwire.com/national/2013/05/me-generation-time/65054/
• Me generation อ่านเพิ่มเติมที่
http://en.wikipedia.org/wiki/Me_generation
• Generation Me อ่านเพิ่มเติมที่
http://eubie.com/genme.pdf

http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=9560000064309

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=717728818253686&set=a.419037914789446.114737.100000497233295

http://www.thairath.co.th/column/pol/thai_remark/348271

ชี้ WEF จัดอันดับศึกษาไทยร่วงลงทุนสูงคุณภาพต่ำ

5 กันยายน 2556

“ชินภัทร”วิเคราะห์ผลการจัดอันดับ WEF เน้นความคุ้มค่าในการลงทุนด้านการศึกษา ส่งผลไทยอันดับร่วงเพราะลงทุนสูงแต่คุณภาพต่ำ

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)กล่าวว่า โดยส่วนตัวเข้าใจว่า รายงานผลการจัดอันดับของ WEF จะวิเคราะห์ระบบการศึกษาของแต่ละประเทศในฐานะของการผลิตกำลังคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มองการศึกษาว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น อาจมีการเปรียบเทียบเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนด้านการศึกษาและผลที่ได้รับกลับมา ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือGDP ที่สูงแต่ได้ผลตอบแทนที่ต่ำ เลยทำให้อันดับอยู่ต่ำกว่าประเทศอื่นซึ่งลงทุนต่อ GDP ต่ำกว่า แต่ได้คุณภาพที่สูง

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า เข้าใจว่าการจัดอันดับของ WEF จะมอง 3 ส่วนหลัก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการผลิตกำลังพลที่มีคุณภาพ ประเด็นแรกคือมองที่คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีปัจจัยสำคัญในการชี้วัดความสำเร็จคือคุณภาพและสมรรถนะของครู ในส่วนของประเทศไทยมีการลงทุนเกี่ยวกับบุคลากรที่สูงโดยเฉพาะเงินเดือนครู แต่ไม่สัมพันธ์กับคุณภาพของการศึกษาที่ได้รับกลับคืน ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI ) อยู่แล้ว และเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความสำคัญ มีนโยบายที่จะเพิ่มคุณภาพและสมรรถนะของครู รวมทั้งปรับการประเมินครู ให้เป็นการประเมินที่สัมพันธ์กับคุณภาพของผู้เรียน และประเมินจากผลการสอนจริงส่วนที่ 2 WEF น่าจะดูจากทักษะของนักเรียน โดยให้ความสำคัญกับ ทักษะในศตวรรษที่21 โดยหลักประกอบด้วย 3 สมรรถนะหลัก คือ สมรรถนะทางด้านการคิด สมรรถนะทางด้านภาษา และสมรรถนะทางด้านไอซีที อย่างไรก็ตามปัจจุบัน สพฐ. พยายามที่จะเติมคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนอยู่ และส่วนที่3 การประเมินของ WEF น่าจะประเมินจากอัตรากำลังคนทางด้านอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังคนที่สำคัญมาในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแต่ผู้เรียนสายอาชีวะของไทย ยังมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และคุณลักษณะของผู้เรียนสายอาชีพก็ยังไม่ถึงระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เพราะฉะนั้นจุดบกพร่องทั้ง 3 เรื่องนี้ของไทย โดยเฉพาะในเรื่องอัตรากำลังคนในสายอาชีวะ ทั้งนี้จะมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสพฐ.นำผลการจัดอันดับมาศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลของ WE มีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่งอยู่แล้ว และจากข้อมูลนี้ น่าจะทำให้ประเทศไทยเกิดการตื่นตัว ว่าทำไมการจัดการศึกษาของเราถึงแพ้ประเทศกัมพูชา ซึ่งเท่าที่ตนได้ศึกษาประเทศในกลุ่มอาเซียนพบใน 4-5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่จะเข้ามาศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ในประเทศไทย และนำความรู้ต่าง ๆ กลับไปพัฒนาประเทศ ขณะที่ปัญหาการศึกษาของไทยเดินหน้าไปแทบทุกวัน แต่กระบวนการแก้ปัญหายังคงเดินถอยหลัง ติดหล่ม ไม่มีความต่อเนื่อง นโยบายเปลี่ยนบ่อยทุก 6 เดือน ไม่มีความต่อเนื่อง

“อย่างที่เห็นว่าปัญหาการศึกษาของเรายังย่ำอยู่ที่เดิม เหมือนติดหล่ม เช่น ตอนนี้เรามีปัญหาเด็ก 1.6 ล้านคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นปัญหาเดิมที่เราพยายามแก้มาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ากลไกทางด้านการศึกษาของเราตายซาก นโยบายเปลี่ยนบ่อย ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็เปลี่ยนบ่อย ขณะที่นโยบายด้านการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้าน มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายอยู่ที่เด็กและเยาวชน ซึ่งหากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลเรื่องปัญหาเยาวชนให้มากขึ้น รวมถึงอาจจะต้องมีการกำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อให้เป็นการบังคับไปในตัว โดยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาจะต้องเดินหน้าพัฒนาการศึกษาให้เกิดความต่อเนื่อง”นายสมพงษ์ กล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33989&Key=hotnews

สพฐ.เร่งยกระดับการศึกษาหลัง WEF จัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยรั้งท้ายอาเซียน

5 กันยายน 2556

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาไทยในที่ประชุม World Economic Forum หรือ WEF ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 8 ในกลุ่มอาเซียนว่า ยังไม่ทราบว่าที่ประชุมใช้หลักเกณฑ์ใดมาใช้วัด แต่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งแล้ว โดยยินดีที่จะนำฐานข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงแก้ไขระบบการเรียนการสอนของไทย ซึ่งขณะนี้ สพฐ.มีความพยายามในการยกระดับการศึกษา โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอน ให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์แทนการท่องจำอยู่แล้ว และมั่นใจว่าระบบการศึกษาไทยทำได้ดีพอสมควร

ด้าน รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเห็นด้วยกับผลของการจัดอันดับ เนื่องจากที่ผ่านมาการแก้ปัญหาระบบการศึกษาของไทยยังย่ำอยู่กับที่ และขาดความต่อเนื่องทั้งด้านนโยบายและการลงมือปฏิบัติ หลายปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ก็ยังคงเป็นปัญหาในปัจจุบันอยู่ อย่างเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ซึ่งการแก้ปัญหาการศึกษาของไทย ต้องเริ่มจากคัดบุคลากรครูที่มีคุณภาพและสามารถเป็นต้นแบบ ระบบหลักสูตรที่ยังเน้นเรื่องการท่องจำ ไม่ใช่คิดวิเคราะห์ รวมถึงการปฏิรูประบบการวัดผลทางการศึกษาและระบบประเมินวิทยฐานะทั้งระบบ
ทั้งนี้ เวทีการประชุมเศรษฐกิจโลกดังกล่าวเป็นเวทีการประชุมเพื่อเสนอทิศทาง กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งได้ระบุว่าคุณภาพการศึกษาของกลุ่มประเทศอาเซียนใน 8 ประเทศนั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 โดย เรียงลำดับดังนี้ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และไทย

–มติชนออนไลน์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33988&Key=hotnews