Blog.NTU

บันทึก หรือเรื่องราวจาก blog ของมหาวิทยาลัยเนชั่น ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาที่น่าสนใจ

พงศ์เทพเด็ดขาดสั่งไม่เลี้ยงอาชีวะก่อเหตุ

30 เมษายน 2556
   

 

          “พงศ์เทพ” ชี้ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดกับเด็กอาชีวะที่ก่อเหตุรุนแรง ต้องออกจากโรงเรียน เพื่อจะได้สำนึกและส่งสัญญาณต่อไปยังเด็กรุ่นหลัง จิตแพทย์ระบุนักเรียนตีกันเป็นปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบน ก่อตัวตั้งแต่ระดับประถม

          ในการประชุมปฏิบัติการจัดทำยุทธศาสตร์เชิงรุกการป้องกันและแก้ปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาที่ จ.ตรัง ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ซึ่งกล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาได้มีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การวิจัยและวิเคราะห์ทางการแพทย์ถึงสาเหตุของพฤติกรรมเบี่ยงเบนในเด็กอาชีวศึกษา สำหรับการใช้มาตรการให้ออกจากโรงเรียน เด็กที่ก่อเหตุรุนแรงนั้น ตนมองว่าเป็นการส่งสัญญาณให้นักเรียนที่ก่อเหตุรู้ว่า ถ้าทำแบบนี้จะได้รับผลกระทบอะไร เพราะถ้าเราไม่มีมาตรการ พฤติกรรมใช้ความรุนแรงก็จะเป็นแบบอย่างให้แก่เด็กรุ่นหลังต่อไป ขณะที่บุคคลที่ก่อปัญหานั้น เราจะจัดระบบอื่นที่จะได้รับการศึกษา ซึ่งเขาจะไม่อยู่ในสังคมที่สามารถทำให้ประชาชนเดือนร้อน หรือเป็นตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตามแบบได้อย่างแน่นอน

          ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผอ.รพ.จิตเวช นครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้วิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเบี่ยงเบนของเด็กอาชีวศึกษาที่ใช้ความรุนแรงและต่อต้านกฎระเบียบ พบว่า 10% ของชั้นเรียน ส่วนใหญ่เป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ ระบบการศึกษาและค่านิยม ซึ่งระบบการศึกษาชั้นประถมศึกษา ส่วนหนึ่งทำให้เด็กมีปัญหาสมาธิสั้น ไม่สามารถปรับตัวกับระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกส่วนหนึ่งคือสติปัญญาที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และภาวะไม่สามารถเรียนบางวิชาได้ ส่วนค่านิยมนั้นคือ ผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่อยากให้เรียนสายสามัญมากกว่า รวมถึงเด็กที่เรียนหนังสือเก่งส่วนใหญ่ไม่เลือกเรียนต่อสายอาชีวศึกษา จึงทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่งไปรวมอยู่สายอาชีพ

          “เด็กเบี่ยงเบนไม่ใช่เป็นเด็กเลว แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร จึงต้องแสดงออกให้สังคมได้เห็นว่าเขามีพลัง บางคนมีอาการป่วยทางจิต ซึ่งหลายท่านไม่ทราบ ถ้ามองปัญหานี้เขาน่าสงสาร เราต้องร่วมมือกัน ใช้วิธีการป้องกันก่อนเกิดความรุนแรง โดยมอบหมายให้ครูที่มีความเข้าใจและใกล้ชิดกับเด็กให้เป็นทั้งพ่อแม่และเพื่อน เอาใจใส่และให้คำปรึกษา หรือมีจิตแพทย์พิเศษดูแล” นพ.พิทักษ์พลกล่าว

          ขณะที่ตัวแทนนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษากล่าวว่า สาเหตุที่มีการทะเลาะวิวาทกันนั้นเป็นเรื่องการปกป้องศักดิ์ศรีของสถาบัน จึงมีการใช้ความรุนแรงกับคู่อริ ส่วนใหญ่จะใช้อาวุธปืนและมีด ส่วนแนวทางการแก้ปัญหานั้น อยากให้เพิ่มจุดระวังให้มากกว่าเดิม และอยากให้ประชาชนที่เห็นเหตุการณ์รีบแจ้งเบาะแสแก่ตำรวจทันที รวมถึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมที่แต่ละสถาบันสามารถทำร่วมกัน เช่น การเข้าค่าย เป็นต้น.

          ที่มา: http://www.thaipost.net

! http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32562&Key=hotnews

แผนดีต้องมีการปฏิบัติ (Execution)

ในประสบการณ์การเป็นนักบริหาร หรือนักจัดการทุก ๆ ระดับ ทั้งในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้กับบทบาทหรือความรับผิดชอบในการพัฒนาแผนงานสำหรับหน่วย งานหรือองค์กรของทุกท่าน

! http://bit.ly/ZFUrY4
โดย ดรรชกร ศรีไพศาล ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ดรรชกร ศรีไพศาล
ดรรชกร ศรีไพศาล

การเขียนแผนงานใด ๆ ทั้งแผนกลยุทธ์ระดับนโยบาย ระดับองค์กร ระดับหน่วยงาน หรือแม้แต่ในแผนงานระดับปฏิบัติการของส่วนงานต่างๆ ในองค์กร หากผู้เขียนแผนนั้น ๆ มีความรู้ ความเข้าใจ ถึง ความเป็นมา บทบาท พันธกิจ (Mission) และเป้าหมาย (Goal) ของหน่วยงานหรือองค์กรอย่างลึกซึ้ง การจะพัฒนาหรือเขียนแผนงานในแต่ละครั้ง ย่อมจะสามารถรังสรรค์ให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นไปได้ที่จะปฏิบัติให้สำเร็จ และถือเป็นคัมภีร์ หรือคู่มือประกอบการปฏิบัติงานของส่วนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับบนหรือบริหาร ถึงระดับปฏิบัติการ

แต่การมีเพียงแผนงานที่ผ่านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย และวิเคราะห์ และพัฒนาหรือเขียนขึ้นอย่างเป็นระบบ มีความน่าจะเป็นในการปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนงาน นั้น ๆ ยังไม่อาจจะถือเป็นความสำเร็จของหน่วยงาน ขององค์กร หรือของนักบริหาร และแม้แต่ผู้พัฒนาและเขียนแผนงานนั้นๆ

หากแผนงานนั้นไม่สามารถที่จะ นำไปประยุกต์สู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จได้ตามที่กำหนดในแผนงานที่ดีนั้น สุดท้ายแผนงานนั้นจะมีคุณค่าเป็นเพียงเอกสารกองหนึ่งที่ถูกจัดเก็บในลิ้นชัก หรือวางทิ้งให้เปื้อนฝุ่นบนโต๊ะทำงานของผู้เกี่ยวข้อง

แผนงานที่ดี จึงต้องประกอบด้วยความสามารถ และตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม หรือการ Execution ของนักบริหารและนักจัดการของหน่วยงาน และองค์กร เป็นส่วนประกอบสำคัญ

Execution เป็นคำหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีถึงความหมายของการนำแผนงานการตลาด การโฆษณา หรือการประชาสัมพันธ์ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ระบุในแผนงานที่พัฒนาขึ้นในแต่ละวาระ และการ Execution ได้เริ่มส่งผ่านความสำคัญมาสู่การบริหารในภาคส่วนต่าง ๆ ขององค์กร ทั้งในภาครัฐ และเอกชนเป็นจำนวนมากในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ความสำคัญของ Execution มีมาก และมีความหมายต่อหน่วยงานหรือองค์กรอย่างมาก ดังจะพบได้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งที่ผู้บริหารสถาบันการเงินแห่งหนึ่งในสหรัฐ อเมริกา ได้เคยกล่าวว่า “เขาสามารถที่จะลืมทิ้งแผนกลยุทธ์ขององค์กรได้ โดยจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร เพราะบริษัทหรือคู่แข่ง จะไม่สามารถนำแผนกลยุทธ์ของเขาไปปฏิบัติได้ ด้วยความสำเร็จในแผนกลยุทธ์ของเขา อยู่ที่ความสามารถในการ Execution แผนกลยุทธ์ มากกว่าตัวแผนกลยุทธ์นั้น

เชื่อว่าคำกล่าวข้างต้น คงเป็นความเห็นหนึ่งที่สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของนักบริหาร นักจัดการทุก ๆ ระดับ ที่เป็นทั้งผู้พัฒนาแผนงาน และย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นในการเป็นผู้นำแผนงาน ทั้งที่พัฒนาขึ้นเอง หรือพัฒนาขึ้นโดยผู้อื่นไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลงานตามเป้าหมายที่กำหนดใน แผนงาน และต้องประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างสวยหรูนั้น

ทางออกหนึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการ Execution แผนงาน ที่นักบริหาร และนักจัดการนิยมใช้ คือ การกำหนดเป้าหมายในแผนงานให้มีความสะดวกในการปฏิบัติได้จริง หรือไม่ไกลเกินเอื้อมของผู้เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดเป้าหมายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงเท่าเดิม หรือการรักษาศักยภาพการดำเนินงานในระดับเดิม หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ง่าย และสะดวกต่อการ Execution แผนงานให้ประสบความสำเร็จ แต่อาจจะเป็นแนวทางบ่อนทำลายศักยภาพที่แท้จริงของหน่วยงานหรือองค์กรในเวลา เดียวกัน ดังจะเห็นหรือพิจารณาได้จากองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่มีผลการดำเนินงานอันน่าเป็นห่วงอยู่ในปัจจุบันนี้

และสังคมปัจจุบันคงปราศจากความก้าวหน้า และความน่าตื่นตา ตื่นใจในเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในวันนี้ หากขาดนักบริหาร นักจัดการ ที่กล้าท้าทายความสามารถของตนเอง และ Execution ให้เกิดผลงานอันเป็นรูปธรรมให้ปรากฏแก่โลกในทุกวันนี้

การ Execution จึงอาจจะเป็นสิ่งน่ากังวลสำหรับนักบริหาร นักจัดการบางคน บางกลุ่ม หรือในบางองค์กร แต่สำหรับนักบริหาร นักจัดการที่มีความสามารถ จะเห็นเป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาองค์กรเท่านั้น และยิ่งในแผนงานมีความยากมากเพียงไร ยิ่งเป็นความท้าทายความสามารถของนักบริหาร นักจัดการ มากเสียกว่าจะพิจารณาให้เป็นปัญหา หรืออุปสรรคในการดำเนินงาน

ถึงอย่างไร ความสำเร็จเบื้องต้นขององค์กรต่างๆ ย่อมมีแผนการดำเนินงานที่มีคุณภาพเป็นคัมภีร์การดำเนินงานขององค์กร ซึ่งแผนการดำเนินงานที่ดี มีคุณภาพเพียงไร ย่อมยากที่จะปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย แต่หากนักบริหาร นักจัดการขององค์กร มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถในการ Execution แผนงาน ย่อมสร้างความได้เปรียบแก่องค์กรในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จได้

และการ Execution ในแต่ละแผนการดำเนินงาน ของสำหรับหน่วยงานหรือองค์กร ย่อมต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน

ในส่วนของผู้บริหาร ที่จะ Execution แผนงานได้ดี จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีประสบการณ์ กล้าตัดสินใจ และสามารถสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานได้

ประสบการณ์ในการทำงาน หรือการบริหาร จะเป็นเครื่องมือสร้างจินตนาการถึงผลลัพธ์ของแผนงานนั้นๆ และส่งทอดเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่กล้า และถูกต้องของผู้บริหาร ก่อนจะสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละระดับเกิดความเข้าใจ เชื่อมั่น และมุ่งมั่นในแนวทางการดำเนินงานได้ในท้ายที่สุด

ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นเล็กขององค์กรหรือหน่วยงาน แต่หากขาดความพยายามในการที่จะปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบของตนให้ประสบความ สำเร็จ ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ส่วนงานอื่นๆ ได้ เช่น ฝ่ายจัดซื้อ ซื้อวัตถุดิบไร้คุณภาพ ฝ่ายผลิตย่อมผลิตได้แต่สินค้าด้อยคุณภาพ ยากที่ฝ่ายการตลาดจะแข่งขัน เพื่อจำหน่ายหรือขายได้ เป็นต้น

ถึงอย่างไร ในท้ายที่สุด ทั้งการจัดทำแผนงานที่ดี คุณสมบัติของผู้บริหารที่เหมาะสม ความเข้าใจ เชื่อมั่น และมุ่งมั่นของผู้ปฏิบัติงาน ล้วนมีที่มาจากผู้บริหารทั้งสิ้น ดังนั้น ความล้มเหลวของการดำเนินงานตามแผนธุรกิจ หรือแผนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร จึงเป็นความรับผิดชอบของบุคคลที่ดำรงสถานะผู้บริหารโดยไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

! http://blog.nation.ac.th/?p=2589

แนวคิด ทฤษฎี และการออกแบบองค์การ (Organization)

องค์การ ถือเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะในสถานะของสมาชิกในองค์การหนึ่ง ๆ หรือในสถานะผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากองค์การใดๆ ในสังคม

five S model
five S model
สวรัย นัยนานนท์
สวรัย นัยนานนท์

การศึกษาถึงแนวคิด ทฤษฎี และการออกแบบองค์การ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุคคลทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลในระดับบริหาร ซึ่งหากมีความรู้ ความเข้าใจถึงแนวคิดและทฤษฎีองค์การ เชื่อว่าจะสามารถบริหารและจัดการให้องค์การ มีผลการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวคิดและทฤษฎีองค์การ มีผู้ศึกษาและให้นิยามขององค์การไว้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น “องค์การ คือ การรวมตัวของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อดำเนินกิจกรรมใดๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้” (ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์) หรือ “สิ่งที่มีอยู่ในสังคม มีการจัดตั้งขึ้นมาอย่างมีเป้าหมาย มีการออกแบบระบบโครงสร้างและระบบกิจกรรมที่มีการประสานงานกัน และมีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมภายนอก” (Richard L. Daft) เป็นต้น

ในส่วนของทฤษฎีองค์การ “เป็นหลักการศึกษาถึงโครงสร้าง และการออกแบบองค์การ โดยอธิบายว่าองค์การถูกจัดตั้งขึ้นมาได้อย่างไร และให้ข้อเสนอแนะการสร้างองค์การในลักษณะใด ที่จะก่อให้เกิดประสิทธิผลแก่องค์การเอง” (นิตยา เงินประเสริฐศรี) และเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาทฤษฎีองค์การ จึงจัดแบ่งทฤษฎีองค์การออกเป็น 3 สำนัก คือ

1. สำนักทฤษฎีองค์การสมัยดั้งเดิม จะมุ่งเน้นโครงสร้างองค์การที่เป็นทางการ และการบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะที่กำหนดไว้เป็นหลัก

2. สำนักทฤษฎีองค์การเน้นมนุษยสัมพันธ์ จะมีลักษณะตรงข้ามกับสำนักทฤษฎีองค์การสมัยดั้งเดิม กล่าวคือ มีโครงสร้างองค์การอย่างไม่เป็นทางการ และให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนมากขึ้น

3. สำนักระบบและสถานการณ์ จะให้ความสำคัญกับการพิจารณาถึงลักษณะของระบบต่างๆ ภายในองค์การที่มีความสัมพันธ์กัน และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมขององค์การนั้นๆ

จากทฤษฎีองค์การของแต่ละสำนักตามข้างต้น จะพบว่า ในการศึกษาทฤษฎีองค์การให้เกิดความเข้าใจขึ้นได้นั้น จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจหรือศึกษาพฤติกรรมองค์การประกอบด้วย เพราะการบรรลุผลสำเร็จขององค์การได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคนหรือสมาชิกภายในองค์การนั้นๆ เป็นสำคัญ

การออกแบบองค์การ โดยทั่วไปองค์การจะประกอบด้วยองค์ประกอบ 5 ส่วน คือ ฝ่ายบริหารระดับสูง ฝ่ายบริหารระดับกลาง กลุ่มผู้ปฏิบัติการ ฝ่ายสนับสนุนทางการบริหาร และฝ่ายสนับสนุนทางเทคนิค ซึ่งระดับของบทบาทหน้าที่และความสำคัญขององค์ประกอบใดๆ ข้างต้น จะขึ้นอยู่กับรูปแบบขององค์การ ที่มี 5 รูปแบบ (มินซ์เบอร์ก) คือ องค์การแบบโครงสร้างอย่างง่าย องค์การแบบเครื่องจักรกล องค์การทางวิชาชีพ องค์การแบบโครงสร้างแยกหน่วยงาน และองค์การแบบเฉพาะกิจ

ทั้งนี้ มีแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการออกแบบองค์การ โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3Rs (ฐิติกร พูลภัทรชีวิน) คือ การปรับความคิดความเข้าใจ (Rethinking) การปรับกระบวนการทำงาน (Reengineering) และ การปรับโครงสร้าง (Restructuring) ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์การเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้ออกแบบองค์การควรตระหนักถึงลักษณะขององค์การสมัยใหม่ หรือ 5’s Model (รศ.ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต) คือ องค์การจิ๋วแต่แจ๋วคุณภาพ (Small) องค์การฉลาดทรงภูมิปัญญา (Smart) องค์การยิ้มแย้มเปี่ยมน้ำใจ (Smile) องค์การร่วมมือไร้ความขัดแย้ง (Smooth) และ องค์การทำเรื่องยากให้ง่ายและเร็ว (Simplify) ซึ่งจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถของผู้บริหาร (Competency) การมีวินัยและความรับผิดชอบต่อตนเอง ของพนักงาน (Self-Control) การมีกระบวนการที่ดีมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งลักษณะขององค์การตาม 5’s Model นี้ จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้แก่องค์การ สู่ความเป็นเลิศได้

โดย สวรัย นัยนานนท์  ในกรุงเทพธุรกิจ

! http://blog.nation.ac.th/?p=2576

ความร่วมมือในการพัฒนาสหกิจศึกษา

coop with payap
coop with payap

ประเทศไทยมีการพัฒนาการศึกษาอีกกระบวนการหนึ่ง ผ่านระบบสหกิจศึกษา เพื่อให้มีกลไกในการพัฒนากระบวนการนี้ให้เข้มแข็ง จึงเกิดเครือข่ายในแต่ละภูมิภาค ปัจจุบันมี เครือข่ายส่งเสริมการพัฒนาสหกิจศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภาคเหนือตอนบนเข้าร่วมเป็นสมาชิก และการพัฒนาระบบก็มีอยู่หลายมิติ ซึ่งมหาวิทยาลัยพายัพเห็นว่าระบบสหกิจศึกษาออนไลน์มีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนในฐานะระบบฐานข้อมูล ที่มีบทบาทช่วยในการตัดสินใจ และการเข้าถึงข้อมูลได้ทันเวลาตามความต้องการ ดังนั้นมหาวิทยาลัยพายัพได้รับทุนจากเครือข่ายฯ ซึ่งกิจกรรมหนึ่งในโครงการคือการทดสอบระบบฯ  จึงมีการแบ่งกลุ่มย่อยที่รวมสถาบันการศึกษาตามกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในบริเวณใกล้กันมาทำกิจกรรม ในที่นี้ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง วิทยาลัยชุมชนแพร่  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ลำปาง) และมหาวิทยาลัยเนชั่น ซึ่งการทดสอบจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงประสานใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยเนชั่น ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เป็นความร่วมมือในการพัฒนาระบบสารสนเทศในอีกมิติหนึ่ง เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ที่จะตอบความต้องการของสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

การศึกษาไทยถ้าไม่เปลี่ยนอาจบ๊วย .. แน่นอน

ตอนนี้หากถามว่าภูมิใจกับอันดับด้านการศึกษาของประเทศไทยในเวทีโลกหรือไม่
ก็คงไม่มีใครไปตอบว่า “ดีกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว” ! http://bit.ly/17oaJI9

วัฒนธรรมการศึกษา (education culture)
วัฒนธรรมการศึกษา (education culture)

เพราะระบบการศึกษาของไทยอยู่อันดับที่ 37 จากทั้งหมด 40 ประเทศในปี 2555 จากผลการจัดอันดับโดยบริษัทด้านการศึกษา คือ เพียร์สัน (Pearson) และ อีไอยู (EIU = The Economist Intelligence Unit) ในทางกลับกันพบว่ากรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมีสถิติการเข้าถึงเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊คเป็นอันดับหนึ่งในโลก เท่ากับ 12.7 ล้านคนจากทั้งหมด 7.8 ล้านคน มีบัญชีผู้ใช้เข้าถึงเกือบ 2 เท่าของจำนวนประชากร ก่อนถามคนไทยว่าภูมิใจหรือไม่กับการเป็นอันดับหนึ่ง ก็ต้องกลับไปทบทวนวรรณกรรมว่าสถิติแต่ละค่าเป็นตัวบ่งชี้ต่อการแผนพัฒนาประเทศในด้านใด แล้วการเข้าเฟซบุ๊คมากผิดปกติเช่นนี้จะทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาไปกว่าเดิมหรือไม่ ถ้ามีผลเป็นปฏิกิริยาต่อกันจะเป็นแนวแปรผันหรือแนวผกผัน

เมื่อเข้าอยู่ในสนามประลองย่อมต้องเหลียวซ้ายแลขวา และย้อนดูตนเองไปพร้อมกับการชำเรืองดูคู่แข่งขัน เพราะระบบการศึกษาของเราอยู่ในอันดับเกือบบ๊วย แล้ว 5 อันดับแรกคือใคร พบว่าเบอร์หนึ่งคือ ฟินแลนด์ ตามด้วย เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ หลังผลการจัดอันดับออกมาแล้วพบว่ากระทรวงศึกษาธิการขยับในหลายเรื่อง อาทิเช่น ส่งหนังสือเวียนไปยังโรงเรียนให้ยกเลิกการบังคับนักเรียนชายตัดผมเกรียน นักเรียนหญิงตัดผมบ๊อบ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสั่งลดการบ้าน และหวังลดภาระนักเรียน เพื่อจะเน้นบูรณาการ ทั้งเนื้อหา เวลาเรียน การวัดผลประเมินผล และบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ไม่ให้ซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าถูกที่ ถูกทางแล้วใช่ไหม

รายงานของเพียร์สันในส่วนสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ได้เขียนคำแนะนำสำหรับผู้จัดทำนโยบายด้านการศึกษาทั้งหมด 5 ข้อ ซึ่งขอสรุปเป็นวลีสำคัญดังนี้ ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง สอนเด็กให้เลิศต้องสอนโดยครูที่เป็นเลิศ มีวัฒนธรรมที่ดีที่สนับสนุนการศึกษา พ่อแม่ต้องส่งเสริม สอนเรื่องที่นำไปใช้ในอนาคตได้ ซึ่ง 5 วลีนี้เป็นข้อเสนอในภาพรวมของการปฏิรูปการศึกษา หลังจากอ่านแล้วอ่านอีกหลายรอบ ก็รู้สึกอื้ออึงในสมองซีกซ้ายเป็นคำถามว่ามีเรื่องใดแก้ไขได้เร็วที่สุดบ้าง เพราะทุกเรื่องล้วนเป็นปัญหาที่พบเห็นเป็นประจักษ์ แต่ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าถ้าประเทศของเราไม่มีปัญหาดัง 5 ข้อนี้ เราก็คงไม่ได้ตำแหน่งเกือบบ๊วยเป็นแน่

สำหรับข้อที่ 3 ในคำแนะนำของเพียร์สันเป็นเรื่องกลาง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนทุกอาชีพ และทุกวัยอย่างแท้จริง เกี่ยวตรงคำว่าวัฒนธรรม ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า วัฒนธรรม หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต รูปแบบของกิจกรรม ความสัมพันธ์ทางสังคม มุมมองต่อโลก และแนวการปฏิบัติของมนุษย์ ซึ่งวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยมที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษามีมากมาย อาทิเช่น อยากเรียนต้องได้เรียน สอบได้เป็นเรื่องตลกสอบตกเดี๋ยวก็สอบซ่อม จ่ายครบจบแน่ เชื่อในสิ่งที่เห็น เห็นแต่สิ่งที่อยากเชื่อ ชิงสุกก่อนห่าม ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ตั้งใจเรียนโตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน รีบเรียนให้จบนะลูกจะได้มาช่วยพ่อแม่ไถนา เรียนไปก็ตกงานจะตั้งใจเรียนไปทำไม เงินซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่ปริญญา สาธุขอให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ช่วยลูกช้างให้สอบผ่านทีเถอะ หมอดูในทีวีทักมาว่าราศีไม่ดีสอบปลายภาคตกแน่ ปล่อยให้หนูจบเถอะไม่งั้นอาจารย์เจอดีแน่

การเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านการศึกษาของคนไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ดังคำว่า กรุงโรมไม่อาจสร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ก็ไม่อาจพัฒนาการศึกษาให้สำเร็จได้ในปีเดียวฉันนั้น เพราะการเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษาต้องเริ่มต้นจากการมีต้นแบบวัฒนธรรมที่ดีที่เป็นแบบอย่างได้ ถ้ายังไม่รู้ยังไม่มีวัฒนธรรมการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับทั้งสังคม ประเทศก็คงค่อยเดินค่อยคลานไปในความมืดโดยมีเป้าประสงค์ที่เลือนรางรออยู่ เพราะในสังคมไทยมีผู้คนที่เดินสวนทางกับวัฒนธรรมการศึกษาคุณภาพอยู่มากมาย โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบทันที ถ้าคนในสังคมเริ่มคิดเป็น ทำเป็น แล้วรู้จักเลือกอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้ไปอิงกับค่านิยม ความเชื่อ ตามอิทธิพลของสื่อ ตามคนหมู่มาก หรือแฟชั่นที่ฟุ้งเฟ้อ

! http://blog.nation.ac.th/?p=2563

news paper
news paper

http://www.facebook.com/photo.php?fbid=477721182295748&set=a.160162067384996.39239.100001736120394

แหล่งข้อมูล
http://thelearningcurve.pearson.com/
http://www.thairath.co.th/content/edu/325982
! http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNMU56ZzJPRFl5T0E9PQ==
http://www.voathai.com/content/best-education-systems-ss/1557918.html
http://www.thaiall.com/blogacla/admin/2176/
http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsr-th/population_thai.html
http://www.socialbakers.com/facebook-statistics/cities/

วารสารศาสตร์ กับคอนเวอร์เจ้นท์ และความเสี่ยงสูง

จักร์กฤษ เพิ่มพูล
จักร์กฤษ เพิ่มพูล

หากเราไม่พิจารณาปรากฏการณ์ วารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนท์ (Convergence Journalism) หรือรูปแบบการรายงานข่าวแบบหลากหลายสื่อ

ในมิติการปรับตัวของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งในแง่ทัศนคติของคนทำงาน ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียน การสอน นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ เพื่อให้มีทักษะในการทำงานในแบบ multi-tasking skills แล้ว ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามไป ก็คือ ระดับจิตสำนึกความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมก็เป็นความท้าทายของนักข่าวในยุคมีเดีย คอนเวอร์เจ้นท์ด้วย

การร่วมกันในการวางแผน เลือกช่องทางในการส่งสาร ไม่ว่าจะผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ สื่อดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ สื่อสังคมออนไลน์ที่มีความไวสูง แน่นอนที่สุดว่า ผู้บริโภคข่าวสารจะได้ประโยชน์ โดยสามารถเข้าถึงข่าว หรือข้อมูลในช่องทางที่ง่าย และสะดวกสบายขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการก็อาจได้ประโยชน์ในการลดต้นทุนการผลิต และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าในสื่อดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันภาระรับผิดชอบของบรรณาธิการ และนักข่าวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นการฟ้องคดี ในช่องทางสื่อดิจิตอลหรือสื่อใหม่

เริ่มจากสื่อดั้งเดิม ความรับผิดชอบของบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ขอบเขตความรับผิดตามหลักสันนิษฐานของกฎหมายเดิมนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือไม่ เพราะในทางคดี บรรณาธิการหลายคนที่ถูกฟ้องคดีก็ยังต้องรับผิดในฐานะตัวการร่วมในการหมิ่นประมาท ถึงแม้ว่าฝ่ายโจทก์หรือผู้เสียหาย จะไม่สามารถนำสืบได้ว่า บรรณาธิการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ แม้จะมีการตราพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ขึ้นใช้บังคับแล้ว ในหลายคดีโจทก์ก็ยังอ้าง พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ในคำขอท้ายฟ้องเพื่อให้ลงโทษจำเลยอีก เช่น คดีที่นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฟ้องบรรณาธิการ กรุงเทพธุรกิจ และเมื่อไม่นานมานี้ ข้อสอบวิชากฎหมาย ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ยังอ้างพระราชบัญญัติการพิมพ์ เป็นคำถามในการสอบ

แต่หลังจากมีคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ หลักในการพิจารณาอาจเปลี่ยนไป

พิพากษาศาลฎีกา ที่ 4948/2554 คดีหมิ่นประมาท ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โจทก์ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ 1 บริษัทหนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด ที่ 2 นายวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ที่ 3 และนายจิระพงศ์ เต็มเปี่ยม ที่ 4 ยืนยันหลักการบรรณาธิการไม่ต้องรับผิด เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งจะเป็นประเด็นข้อต่อสู้สำคัญของจำเลย ที่เป็นบรรณาธิการต่อไป

คดีนี้ โจทก์ ระบุว่าจำเลยร่วมกันหมิ่นประมาท โดยตีพิมพ์จดหมายจากผู้อ่าน ในคอลัมน์ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พูด” พาดหัวคอลัมน์ว่า “พลังเงียบ” มีข้อความบางตอนว่า มีการสร้างกระแสอย่างเป็นขบวนการ และอย่างเป็นระบบเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องแจ้งความเท็จแสดงทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีผู้นำของประเทศ จนทำให้ผู้คนทั่วไปคิดว่า ผู้นำของประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่เหนือกฎหมาย และอยู่เหนือสามัญชน

จำเลยที่ 1 ตอบจดหมายผู้ใช้ชื่อว่า “พลังเงียบ” ว่า เห็นด้วยทุกอย่างครับที่เขียนมา

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก่อนที่ศาลฎีกา จะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ข้อความที่ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พูด” เป็นการแสดงความคิดเห็น ความเป็นห่วงเป็นใยในกฎระเบียบกติกา และความถูกต้องของบ้านเมือง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ติชมด้วยเจตนาสุจริต ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทำได้โดยชอบตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน สื่อมวลชนภายใต้รัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ ขณะที่จำเลยที่ 1 นำข้อความในจดหมายของผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “พลังเงียบ” เขียนถึงจำเลยที่ 1 มาลงพิมพ์ในคอลัมน์ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พูด” ซึ่งเป็นคอลัมน์ประจำของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์รายวันแนวหน้านั้น อยู่ในช่วงที่โจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

..ตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และถือว่าเป็นตำแหน่งที่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งประเทศ โดยสถานะของโจทก์จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่โจทก์ต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของจริยธรรม

ศาลฎีกา ตัดสินว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ส่วนจำเลยที่ 4 ในส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ จำเลยที่ 4 ย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดในส่วนนี้

นี่เป็นการยืนยันหลักการตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ว่าไม่ได้บัญญัติให้ บรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการร่วมกับผู้ประพันธ์ บรรณาธิการจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้ประพันธ์ หากอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย นำสืบไม่ได้ว่าบรรณาธิการมีส่วนร่วมในการประพันธ์บทประพันธ์หรือมีส่วนร่วมรู้ เห็นกับการโฆษณาบทประพันธ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ อย่างไร ถือว่าบรรณาธิการไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ดังที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติ ว่า

บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และ โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่ บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ศาลไม่อาจนำหลักสันนิษฐาน ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่ได้ยกเลิกไปแล้วมาพิจารณาลงโทษบรรณาธิการได้

สำหรับการเสนอข่าวในรูปแบบของ วารสารศาสตร์ คอนเวอร์เจ้นท์ ยังไม่มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน แต่มีการฟ้องคดีแล้วจำนวนมาก ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ คือ บรรณาธิการ หรือ นักข่าวยังต้องรับผิดชอบในทุกสื่อที่เป็นช่องทางในการนำเสนอข่าวหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการอ้างอิงไปยังเว็บไซต์อื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ส่งสาร เช่น กรณีการที่ผู้เสียหายไปพบข้อความหมิ่นประมาทใน google.com บรรณาธิการยังต้องรับผิดชอบอยู่ในระยะเวลายาวนาน เพียงใด นับจากวันที่นำเสนอข่าวในครั้งแรก

โอกาสในการส่งข่าวที่ฉับไว ผ่านสื่อที่หลากหลาย จึงอาจหมายถึงความเสี่ยงสูงที่ต้องรับผิดชอบในทางคดีด้วย

http://blog.nation.ac.th/?p=2555

กสทช. ต้องตอบโจทย์สังคม

กสทช. ตอบโจทย์สังคม เรื่องทีวีสาธารณะในระบบดิจิทัล ได้ไหม
จาก กรุงเทพธุรกิจ 3 เมษายน 2556

วนิดา วินิจจะกูล
วนิดา วินิจจะกูล

มีกี่คนที่รู้และเข้าใจว่า… กสทช. มีประกาศ เรื่อง แผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัล และ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555

ซึ่งทั้ง 2 ประกาศนี้ มีผลบังคับใช้แล้ว เพราะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปลายปีที่แล้ว

การที่ประชาชนไม่ติดตามกฎหมายก็คงไม่น่าแปลกใจ แต่สำหรับ 2 ประกาศนี้ และระเบียบอื่นๆ ที่สืบเนื่องกัน เป็นเรื่องที่ทุกคนปล่อยผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ เพราะจะส่งผลต่อสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน และลูกหลานของเราอย่างมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เพราะจะเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของคนทั้งประเทศ เป็นทีวีสาธารณะ ในระบบดิจิทัล จำนวน 12 ช่อง ไปให้กับผู้ประกอบการทีวีวิทยุ ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ๆ ที่อยากจะเข้ามาแบ่งเค้กก้อนนี้ (ความจริงยังมีทีวีช่องธุรกิจอีกที่ยังต้องถกเถียงกันอีกเยอะ)

จากวงเสวนา “ปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีดิจิทัล : กสทช.ควรทำอย่างไรให้บรรลุเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ” และจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในกลุ่มนักวิชาการ หัวข้อ “การปฏิรูปสื่อในทีวีดิจิทัลสาธารณะ : รูปแบบที่ควรจะเป็น

มีหลายประเด็นที่ กสทช. ต้องออกมา “ตอบ
จะงุบงิบทำไป แบบค้านสายตาคนดู คงจะไม่ได้

เบื้องต้นขอให้ข้อมูลไว้ก่อนว่า กิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ที่ กสทช. กำหนดจะให้ใบอนุญาตสำหรับกิจการบริการสาธารณะ มี 3 ประเภท

กิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 1 ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ สุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

กิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 2 ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ

กิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 3 ออกให้สำหรับกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชนและรัฐสภากับประชาชน การกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส หรือกลุ่มความสนใจที่มีกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือบริการข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์สาธารณะอื่น

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ประชาชนอย่างเราๆ เกิดคำถาม ข้อสงสัย อะไร หรือไม่ ?

แต่ในวงเสวนา ฟันธง ตรงไปถึง กสทช. ว่าต้องตอบ อย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

กสทช. จะนิยามคำว่า “กิจการบริการสาธารณะ” ว่าอย่างไร และเหมือนหรือต่างจาก “ทีวีสาธารณะ” อย่างไทยพีบีเอส อย่างไร ตลอดจนเรื่องรูปแบบรายการ สัดส่วนรายการ ผังรายการ กลไกการกำกับดูแล เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อเนื้อหาสาระ คุณภาพของรายการ และเป็นเงื่อนไขการหารายได้ของแต่ละช่อง

กิจการฯ ประเภทที่ 2 เขียนไว้ไม่เกิน 2 บรรทัด แต่ กสทช. กำหนดจะให้ใบอนุญาตถึง 2 ช่อง ซึ่งขณะนี้ กองทัพบก ช่อง 5 ประกาศตัวชัดเจนมาตั้งแต่ 2-3 เดือนที่แล้วว่า จะยื่นขออนุญาตเพื่อให้ช่อง 5 เป็นช่องเพื่อความมั่นคงของรัฐ เรียกว่า ประกาศไว้ ใครก็ห้ามแย่ง แล้วล่าสุด กสทช.ก็ให้สิทธินั้นไปแล้วโดยอัตโนมัติ

ส่วนอีกช่อง ที่บอกว่าเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ก็คาดเดากันได้อย่างไม่น่าพลาดว่า โทรทัศน์ตำรวจ คงขอจอง

ข้อสังเกตที่คาใจมากที่สุดอีกเรื่อง คือ การที่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2551 มาตรา 9 และ 11 เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงหารายได้จากการให้เช่าเวลาได้ไม่เกินร้อยละ 40 และการโฆษณาได้เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการ ซึ่งสถานีวิทยุจุฬาฯ บอกว่าแค่ร้อยละ 20 เขาก็อยู่ได้สบายๆ แล้ว และถ้าสถานีจะดำเนินการเองเพียงร้อยละ 60 เช่นนี้ควรจะยังเรียกว่า “กิจการบริการสาธารณะ” อีกหรือ ?

นอกจากนี้ เรื่องที่ กสทช. ควรต้องตอบด้วยในเชิงของการปฏิรูปสื่อ คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีสาธารณะครั้งนี้ จะทำให้เกิดการจัดสรรโครงสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างไร ให้ถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิรูปสื่อที่เรียกร้องกันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540

ม. เนชั่น และเหล่านักวิชาการทางสายนิเทศศาสตร์ ที่เข้าร่วมประชุมจากทั่วประเทศ
จึงทำข้อเสนอถึง กสทช. ขอให้ “ตอบโจทย์” สังคมในเรื่องเหล่านี้
ผลจะเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันติดตาม !

http://bit.ly/10rHgYQ

http://blog.nation.ac.th/?p=2552

เกณฑ์คำนวณครูต่อนักเรียนในระดับประถมและมัธยม

teacher criteria
teacher criteria

การคำนวณอัตรากำลังข้าราชการครู
โรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษา

แบบ 1
โรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 120 คน ลงมา
และจัดการเรียนการสอน อ.1-ป.6 หรือ ป.1-ป.6

– นักเรียน 1 -20 คน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีครูผู้สอนได้ 1 คน
– นักเรียน 21 -40 คน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีครูผู้สอนได้ 2 คน
– นักเรียน 41 -60 คน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีครูผู้สอนได้ 3 คน
– นักเรียน 61 -80 คน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีครูผู้สอนได้ 4 คน
– นักเรียน 81 -100 คน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีครูผู้สอนได้ 5 คน
– นักเรียน 101 -120 คน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีครูผู้สอนได้ 6 คน

แบบ 2
โรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป
และจัดการเรียนการสอน อ.1-ป.6 หรือ ป.1-ป.6

อัตราส่วน (อนุบาล) ครู : นักเรียน = 1 : 25
จำนวนนักเรียน : ห้อง = 30 : 1
อัตราส่วน (ประถม) ครู : นักเรียน = 1 : 25
จำนวนนักเรียน : ห้อง = 40 : 1

จำนวนบุคลากรสายบริหาร
– นักเรียน 121 – 359 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง
– นักเรียน 360 – 719 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 1 ตำแหน่ง
– นักเรียน 720 – 1,079 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 2 ตำแหน่ง
– นักเรียน 1,080 – 1,679 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 3 ตำแหน่ง
– นักเรียน 1,680 คนขึ้นไป มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 4 ตำแหน่ง

เงื่อนไข
– การคิดจำนวนห้องเรียน (โดยใช้จำนวนนักเรียน : ห้อง หารจำนวนนักเรียน) แต่ละชั้น
หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มอีก 1 ห้อง
– การคิดจำนวนครูให้ปัดเศษตามหลักคณิตศาสตร์ (0.5ขึ้นไปปัดเป็น 1 , ไม่ถึง 0.5 ปัดทิ้ง)

แบบ 3
โรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป
และจัดการเรียนการสอน อ.1-ม.3 หรือ ป.1-ม.3

อัตราส่วน (อนุบาล) ครู : นักเรียน = 1 : 25
จำนวนนักเรียน : ห้อง = 30 : 1
อัตราส่วน (ประถม) ครู : นักเรียน = 1 : 25
จำนวนนักเรียน : ห้อง = 40 : 1
อัตราส่วน (มัธยม) ครู : นักเรียน = 1 : 20
จำนวนนักเรียน : ห้อง = 40 : 1

จำนวนบุคลากรสายบริหาร
– นักเรียน 121 – 359 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง
– นักเรียน 360 – 719 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 1 ตำแหน่ง
– นักเรียน 720 – 1,079 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 2 ตำแหน่ง
– นักเรียน 1,080 – 1,679 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 3 ตำแหน่ง
– นักเรียน 1,680 คนขึ้นไป มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 4 ตำแหน่ง

เงื่อนไข
– การคิดจำนวนห้องเรียน (โดยใช้จำนวนนักเรียน : ห้อง หารจำนวนนักเรียน) แต่ละชั้น
หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มอีก 1 ห้อง
– การคิดจำนวนครูให้ปัดเศษตามหลักคณิตศาสตร์ (0.5ขึ้นไปปัดเป็น 1 , ไม่ถึง 0.5 ปัดทิ้ง)

แบบ 4 โรงเรียนมัธยมศึกษา

อัตราส่วน (มัธยม) ครู : นักเรียน = 1 : 20
จำนวนนักเรียน : ห้อง = 40 : 1

จำนวนบุคลากรสายบริหาร
– นักเรียน 121 – 359 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง
– นักเรียน 360 – 719 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 1 ตำแหน่ง
– นักเรียน 720 – 1,079 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 2 ตำแหน่ง
– นักเรียน 1,080 – 1,679 คน มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 3 ตำแหน่ง
– นักเรียน 1,680 คนขึ้นไป มีผู้บริหารได้ 1 ตำแหน่ง มีผู้ช่วยได้ 4 ตำแหน่ง

เงื่อนไข
– การคิดจำนวนห้องเรียน (โดยใช้จำนวนนักเรียน : ห้อง หารจำนวนนักเรียน) แต่ละชั้น
หากมีเศษตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้เพิ่มอีก 1 ห้อง
– การคิดจำนวนครูให้ปัดเศษตามหลักคณิตศาสตร์ (0.5ขึ้นไปปัดเป็น 1 , ไม่ถึง 0.5 ปัดทิ้ง)

แบบ 5 การคำนวณอัตรากำลังข้าราชการครูโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์
อัตราส่วน ครู : นักเรียน = 1 : 12
จำนวนนักเรียน : ห้อง = 35 : 1

จำนวนครูรวม = (35 x จำนวนห้องเรียน) / 12

จำนวนครูปฏิบัติการสอน = จำนวนครูรวม – จำนวนบุคลากรสายบริหาร

จำนวนบุคลากรสายบริหาร
1 – 2 ห้องเรียน มีผู้บริหารได้ 1 คน
3 – 6 ห้องเรียน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีผู้ช่วยผู้บริหารได้ 1 คน
7 – 14 ห้องเรียน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีผู้ช่วยผู้บริหารได้ 2 คน
15 – 23 ห้องเรียน มีผู้บริหารได้ 1 คน มีผู้ช่วยผู้บริหารได้ 3 คน
24 ห้องเรียนขึ้นไป มีผู้บริหารได้ 1 คน มีผู้ช่วยผู้บริหารได้ 4 คน

หมายเหตุ ในการคำนวณตามสูตรหากมีเศษตั้งแต่ 0.1 ขึ้นไปให้ปัดเป็น 1
! http://www.saraeor.org/Job%20school3/km.kumlungkroo.htm
http://www.kroobannok.com/14836

เตรียมตัวอย่างไร ถ้าจะกลายเป็นชาวอาเซียน

ตอนนี้หากคนถามว่าอาเซียนคืออะไร แล้วทำหน้างง ๆ สงสัยจะต้องหลุดกระแส ยิ่งผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาชูประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ
! http://bit.ly/Yclnyq

ภควัต สมิธธ์
ภควัต สมิธธ์

ทั้งโลกยิ่งตื่นเต้นกับคำว่า Change (เปลี่ยน) คลื่นความใหม่ของแนวคิดย่อโลกด้วย Cyber Network จึงทำให้คำว่า เปลี่ยน มีความชัดเจนมากขึ้น ประสบการณ์ท่องเที่ยวภาคเหนือของผม บ่งบอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการย่อโลกด้วยการติดต่อสื่อสารผ่านระบบสังคมออนไลน์ ทำให้ความเชื่อ ความคิด และพฤติกรรมของบุคคลเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่พบเห็น และได้สื่อสารกับคนในสังคมที่ต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม ลองนึกถึงเวลาไปเที่ยวดอยแล้วพบคนพูดสำเนียงชาวเขาที่สวมยีนส์ คู่กับรองเท้าผ้าใบยี่ห้อดังแบบนักบาสเกตบอล ก็เกิดความคิดที่ว่า เราไม่สามารถหยุดโลกได้ แต่เราจะใช้ประโยชน์อย่างไรกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น

การรวมกลุ่มของประเทศอาเซียนมีพื้นฐานแนวคิดมาจากการรวมกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป การใช้ค่าเงินเดียวกัน ข้อตกลงทางการค้าเดียวกัน การแลกเปลี่ยน เคลื่อนย้ายแรงงาน และการศึกษาแบบเสรี ฟังดูดีและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เมื่อได้ยินบางกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมอาเซียน โดยคิดไปว่าการรวมกลุ่มจะทำให้ประเทศไทยหายไป ภาษา วัฒนธรรม เอกลักษณ์จะโดนชาติที่เจริญอย่างสิงคโปร์กลืนความเป็นไทย ในทางกลับกันมองได้ว่า แนวคิดเรื่องอาเซียนไม่ได้ต้องการให้ทุกประเทศกลายเป็นประเทศเดียวกัน หากแต่มองเรื่องศักยภาพของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน จะสามารถเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กันและกันได้ โดยเรียกพวกเราทั้งหมดว่าอาเซียน เป็นการแสดงความสัมพันธ์ในภูมิภาคว่า เรามีแนวทางการค้า การลงทุน การดำเนินชีวิตคล้ายคลึงกัน และเราจะช่วยกันดูแลผลประโยชน์ของภูมิภาคบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกัน

คนไทยมีหลายแนวคิด บ้างอนุรักษนิยม บ้างสมัยใหม่นิยม บางคนมีเพื่อนเยอะแต่กลับไม่ถูกคอกับคนข้างบ้าน เราชอบแข่งกับคนข้างบ้านแต่ญาติดีกับคนที่อื่น ถ้าเขาซื้อรถใหม่เราจะอารมณ์เสีย แล้วเวลาโจรจะปล้นบ้าน หรือในยามเจ็บป่วย คนที่ไหนจะช่วยเรา ผมอยากให้เราลองมองย้อนไปในอดีตว่า ความคล้ายคลึงของพวกเราชาวอาเซียนมีมากมาย เรากินข้าว เราเคารพผู้ใหญ่ เราเก่งเกษตรกรรม เราเด่นศิลปะ เราอุดมสมบูรณ์ ส่วนความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ได้เกิดโดยประชาชนของประเทศนั้นๆ เพียงแต่เป็นเรื่องของโอกาสทางการเมือง การปกครอง แนวคิดของผู้นำ การขยายดินแดน ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของการอยู่รอดแบบสมัยอดีต แต่ปัจจุบันเรารู้จักกัน เราสื่อสารกัน เราค้าขายกัน เราสามารถใช้ประโยชน์จากความคล้ายคลึงให้เป็นจุดแข็งในการต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคอื่น เช่น การทำให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตอาหารและการเกษตรของโลก เพราะเราปลูกข้าว เรามีพืชผักผลไม้ อาหารทะเล สมุนไพรที่มีประโยชน์ เรามีฝีมือ นอกจากนั้นชาวอาเซียนมีอุปนิสัยเป็นมิตร ชอบต้อนรับ เราสามารถเป็นฐานการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบที่ทำรายได้มหาศาลในแต่ละปี

ประชาชนของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องปรับตัวปรับใจ เพื่อยินยอมเป็นสมาชิกที่แท้จริงของอาเซียน ไม่ใช่แค่พูดถึงแล้วผ่านไป ต้องสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกัน ประมาณว่าร่วมกันเป็นหุ้นส่วน ชาวอาเซียนต้องฝึกฝนตนเองในการรับรู้ข่าวสารประเทศเพื่อนบ้าน ฝึกการใช้ภาษาอังกฤษอย่างน้อยก็ฝึกอ่านข่าวสั้นๆ จากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ยอมรับในความเป็นตัวตนของกันและกัน รับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนภูมิปัญญา และเลิกเปรียบเทียบให้เกิดปมด้อย แต่จะต้องช่วยกันยกระดับความรู้ ความคิด ค่านิยม ในการสร้างความเจริญและความมั่นคงของภูมิภาค

จากที่เห็นทุกมหาวิทยาลัยเปิดโปรแกรมการเรียนเพื่อป้อนความต้องการของตลาดอาเซียน การส่งนักศึกษาไปฝึกงานกับมืออาชีพ เพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนสำเร็จการศึกษา และการเปิดรับนักศึกษาจากอาเซียนเข้ามาเรียน ทำให้บรรยากาศความร่วมมือดูมีชีวิตชีวาและมีความเป็นสากลมากขึ้น เราลองหันมาเรียนภาษาประเทศเพื่อนบ้านเป็นภาษาที่สาม ซึ่งยังมีผู้ที่ชำนาญจำนวนไม่มากก็จะดูดีมีเสน่ห์อยู่ไม่น้อย น้องๆ รุ่นใหม่ จะต้องวางแผนในการเลือกสาขาที่จะเรียนให้สอดคล้องกับอนาคตในสาขาที่ขาดแคลน เช่น แพทย์แขนงต่างๆ วิศวกรรมปิโตรเลียมและเคมี บัญชีและการเงิน สาธารณสุข หรือสาขาที่จำเป็นต่อตลาดธุรกิจอินเตอร์ เช่น นิเทศศาสตร์ คอมพิวเตอร์ บริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มัลติมีเดีย สถาปนิกและออกแบบ การโรงแรมและท่องเที่ยว แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะเลือกเรียนสาขาใด ก็จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของภูมิภาคอาเซียนว่ายังคงมีกรอบวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ หากเราเรียนรู้ การต้อนรับ การทักทาย การแสดงความเคารพซึ่งหมายถึงการยอมรับและการรับฟังผู้อื่น ก็จะเพิ่มความราบรื่นในการผูกมิตร

asean
asean

เมื่อก่อนเวลาเห็นคนที่ทำตัวเชยๆ เรามักจะเรียกเขาว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ในทางกลับกัน ถ้าเราล้าหลังกว่าใครในอาเซียนก็จะตกที่นั่งลำบากแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม รวมกันเป็นกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่ง คิดดูสิขนาดซุปเปอร์ฮีโร่ยังต้องทำงานเป็นทีม

โดย : ภควัต สมิธธ์
! http://www.ประเทศอาเซียน.com

! http://blog.nation.ac.th/?p=2534

ข้อมูล สถิติด้านการศึกษา

ข้อมูลสถิติด้านการศึกษาฉบับย่อ เป็นข้อมูลสถิติพื้นฐานที่ได้สำรวจและจัดเก็บ ณ วันที่ 10 มิถุนายนของทุกปีการศึกษา และได้จำแนกเป็นข้อมูลพื้นฐานทางการศึกษาของการศึกษาทุกระดับและทุกสังกัด นำเสนอผ่านตารางข้อมูลพื้นฐาน และในลักษณะแผนภูมิเปรียบเทียบถึงความ สัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม/ประเภทข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการตัดสินใจและการบริหารจัดการในภารกิจต่างๆ ของผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารการศึกษาทุกระดับรวมถึงผู้สนใจและองค์กรทั้งภาครัฐ/เอกชนที่อยู่ทั้งในและนอกประเทศ อาทิ จำนวนนักเรียน นักศึกษา จำแนกรายชั้น รายจังหวัด  จำนวนนักเรียน นักศึกษา จำแนกรายชั้น รายสังกัด  จำนวนนักเรียน นักศึกษา จำแนกรายสังกัด รายจังหวัด

data statistic
data statistic

http://www.moe.go.th/data_stat/