สอศ.ปลุกเด็กอาชีวะฟิตร่างกาย หวังเพิ่มยอดสายอาชีพเรียน รด.

23 เมษายน 2556

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ประสานขอข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มจำนวนนักศึกษาอาชีวศึกษาเข้าเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) เพราะช่วยให้นักเรียน นักศึกษามีระเบียบวินัย เสริมสร้างบุคลิกภาพ และลดปัญหาการก่อเหตุทะเลาะวิวาทลงได้ แต่ได้รับแจ้งว่าในแต่ละปี นรด. สามารถรับเด็กใหม่เข้าฝึก รด.ตามศูนย์ฝึกทั่วประเทศได้ปีละ 100,000 คน ทั้งนักเรียน ม.ปลายจากสายสามัญศึกษาและนักศึกษาระดับประกาศนีย บัตรวิชาชีพ (ปวช.) และคงไม่สามารถเพิ่มจำนวนรับได้อีก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเด็กอาชีวะสามารถผ่านการทดสอบสมรรถภาพเข้าเรียน รด.ได้ประมาณ 60,000 คน ดังนั้นหากต้องการเพิ่มยอดเด็กอาชีวะเข้าเรียน รด.ก็ต้องเตรียมเด็กให้มีสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรงเพื่อผ่านการทดสอบในอันดับต้น ๆ และจะได้ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียน รด.มากขึ้น

“ผู้สมัครเรียน รด.ได้ต้องมีเกรดเฉลี่ย 1.00 ขึ้นไป และต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบสมรรถภาพร่างกายในส่วนของนักศึกษาชาย ดังนี้ ดันพื้น 22 ครั้งในเวลา 2 นาที ลุก-นั่ง 34 ครั้งในเวลา 2 นาที และวิ่ง 800 เมตรในเวลา 3 นาที 15 วินาที ซึ่งผมขอให้นักศึกษาเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อผ่านการทดสอบและได้เรียน รด. ทั้งนี้หนึ่งในนโยบายของ สอศ. คือ การจัดการศึกษาทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ เมื่อเรียนจบในแต่ละระดับสามารถเข้าสู่ระบบงานได้ทันที แต่ผู้เรียนจะต้องผ่านการเรียนหลักสูตร รด.หรือผ่านการเกณฑ์ทหารตามหน้าที่แล้ว ดังนั้นหากผู้เรียนต้องทำงานต่อเนื่องได้ทันที ผู้เรียนก็จะต้องวางแผนอนาคตของตนเองในเรื่องนี้ด้วย” เลขาธิการ กอศ. กล่าว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32483&Key=hotnews

สสวท.พร้อมเปิดยุทธศาสตร์ 5 ปีวางเป้า 14 ปี นร.ไทยทัดเทียมนานาชาติ

22 เมษายน 2556

สสวท.เตรียมเปิดยุทธศาสตร์ 5 ปี ขับเคลื่อนนักเรียนไทยทุกช่วงชั้นให้มีความรู้ ความสามารถด้านวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นลำดับและทัดเทียมกับนานาชาติ ภายใน 14 ปี และสอดรับกับการสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อานวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า สสวท.กำลังปรับโฉมแผนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ เพื่อตอบสนองต่อแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ประเทศ ปฏิวัติการเรียนรู้ สู่การรวมตัวของประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 และก้าวสู่มาตรฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับนานาชาติ กำหนดเปิดตัวโฉมร่างยุทธศาสตร์ 5 ปี ในวันอังคารที่ 23 เมษายนนี้ โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการ สสวท.
ทั้งนี้ ร่างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี มีเป้าหมาย คือ “ขับเคลื่อนนักเรียนไทยทุกช่วงชั้นให้มีความรู้ ความสามารถสูงขึ้นเป็นลำดับและทัดเทียมกับนานาชาติ ภายในปี พ.ศ. 2570” เพื่อแสดงให้เห็นว่านักเรียนไทยทุกช่วงชั้นมีความรู้ ความสามารถทัดเทียมกับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อก้าวเข้าสู่มาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติ ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยได้จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแผนและนโยบายสาคัญ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 นโยบายรัฐบาล/แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555-2558 ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงป้องกันและในเชิงรุก ทั้งความเปลี่ยนแปลงในด้านการปฏิวัติทางการเรียนรู้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การรวมตัวของประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558

สำหรับร่างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของ สสวท. ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการจัดการบริหารภายในและความรู้สู่องค์กรคุณภาพสูง และอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากต่อการพลิกโฉมการเรียนรู้ของเด็กไทยในครั้งนี้

.–ASTVผู้จัดการออนไลน์–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32481&Key=hotnews

ปลัด ศธ.เน้น พัฒนาครูเอกชนชายแดนใต้ มอบเงินกองทุนฯ-เพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัย

22 เมษายน 2556

นางพนิดา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ถึงประเด็นเรื่องการช่วยเหลือครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประสานมา สช.และสอบถาม เรื่องการเข้าไปดูแล ส่งเสริม พัฒนาบุคลากรครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทางกระทรวงศึกษาธิการเองก็มีกองทุนช่วยเหลือครูจัวหวัดชายแดนใต้ และดำเนินงานมาโดยตลอด อีกทั้ง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ก็ได้มอบเงินช่วยเหลือไปแล้วบางส่วน และจะมีการมอบเงินช่วยเหลืออีก ครั้งในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งจำนวนครูที่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งหมดจำนวน 160 ครอบครัวและมอบเงินช่วยเหลือครูที่ทุพลภาพและต้องออกจากสอนในโรงเรียนกลางคัน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีครูทั้งหมด ๘ ท่าน โดยทาง ศธ.ได้มอบเงินช่วยเหลือรายละ ๑ แสนบาท จำนวน ๘ แสน บาท และครอบครัวผู้สูญเสีย ครอบครัวละ ๑ แสน จำนวน 160 ครอบครัว เป็นเงิน 160 ล้านบาท รวมเงินช่วยเหลือที่ทาง ศธ.ช่วยเหลือเป็นเงินทั้งสิ้น 160 ล้าน 8 แสนลาท และเงินส่วนที่เหลือนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้โอนไปให้ทางการศึกษาธิการภาค 12 จังหวัดยะลา เป็นผู้บริหารจัดการ ทั้งนี้การโอนเงินไปยังส่วนภูมิภาคก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ทันท่วงที กรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือเหตุรุนแรงและต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อให้ทันเวลา และช่วยเหลือได้ทันท่วงที จึงได้โอนเงินไปไว้ในท้องที่และให้บริหารจัดการตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในการใช้เงินงบประมาณดังกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของเรื่องเงินอุดหนุน ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุน ครูสอนศาสนา โต๊ะอิหม่าม โต๊ะครู ทั้งปอเนาะและตาดีกา รวมทั้งการสอนสามัญควบคู่ศาสนา ซึ่งกรณีของปอเนาะ นั้น ทางศธ.ได้ดูแลโดยตรง แต่ “ตาดีกา” นั้น ทาง ศธ.รับโอนส่วนราชการการดูแลมาจากกระทรวงมหาดไทย จึงต้องขอรับการอนุมัติเงินอีกครั้งในคราวต่อไป และขณะนี้ทาง ศธ.เองก็กำลังเดินเรื่องขอเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือครูในจังหวัดชายแดนใต้ ในเรื่องเบี้ยเสี่ยงภัย ที่จากเดิมได้คนละ 2,500 บาทต่อเดือน เป็น 3,500 บาทต่อเดือน โดยจะขอเพิ่มอีก 1,000 บาท โดยจะเริ่มในปีงบประมาณหน้า ซึ่งงบประมาณส่วนนี้จะเป็นการขอเพิ่มในส่วนของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัย ให้มีกำลังใจในการสอนนักเรียนในพื้นที่ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32480&Key=hotnews

คุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม

22 เมษายน 2556

ผลงานการศึกษาว่าด้วย คุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม : บทบาทสำคัญของการพัฒนาทักษะและนิสัยการอ่านที่ดีในระดับประถมศึกษา โดย ดร.ธีร์ จินกราน ผู้ประสานงานด้านสิทธิการศึกษา ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติด้านการพิทักษ์สิทธิเด็กของประเทศอินเดีย และประสบการณณ์การทำงานด้านการศึกษาร่วมกับภาครัฐและองค์การพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศมานานกว่า 20 ปี ระบุไว้อย่างน่าสนใจถึง ความสำคัญของการอ่านที่เป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่ความเสมอภาคในการเรียนรู้ของเยาวชนในระดับประถมศึกษา

การอ่านคืออะไร… การอ่านไม่ใช่แค่ความหมายในการถอดความหมายของตัวอักษรและอ่านเนื้อหา แต่การอ่านนั้นต้องประกอบด้วยกระบวนการที่เกี่ยวข้องกันทั้ง การจำคำได้ และความเข้าใจ ในกรณีของการจำคำได้นั้นเป็นกระบวนการรับรุ้ได้ว่าภาษาเชียนตรงกันกับภาษาพูดอย่างไร ส่วนความเข้าใจก็คือกระบวนการที่ทำให้ คำ ประโยค และข้อความที่ต่อเนื่องกันนั้นมีความหมายขึ้นมา

ทำไมการอ่านจึงสำคัญ ดร.ธีร์ แนะให้เห็นถึงความสำคัญของการอ่านซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้อื่นๆ ในชั้นเรียน กรณีศึกษาที่พบเห็นก็คือ เด็กที่อ่านไม่ได้ดีตั้งแต่แรกๆ จะเรียนรู้เรื่องอื่นๆ และพัฒนาทักษะอื่นได้ยากกว่า เมื่อเด็กเริ่มล้าหลัง และกลายเป็นคนที่อ่านหนังสือได้ลำบาก เด็กก็จะตามคนอื่นให้ทันในระยะหลายๆ ปีต่อมาได้ยาก เว้นเสียแต่มีการสนับสนุนซ่อมเสริมแบบเข้มข้นเฉพาะบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปได้ยาก หากปล่อยให้ดำเนินต่อไปช่องว่างระหว่างคนที่อ่านเก่ง กับคนที่อ่านไม่เก่งจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ หรือ ที่เรียกกันว่า Matthew Effect

วิกฤตการณ์การอ่านที่พบก็คือ นักเรียนในประเทศที่กำลังพัฒนามากมายยังไม่มีทักษะพื้นฐานในการอ่านใน ชั้นประถมศึกษาสองสามชั้น การประเมินระดับชาติ ระดับประถม 2 และ 3 ในประเทศเอเชียและแอฟริกาบ่งชี้ให้เห็นว่า มีนักเรียนที่ไม่สามารถอ่านออกเมื่อจบชั้นประถม 2 และ 3 ในอัตราส่วนที่สูงมาก ส่วนหนึ่งมากจากนักเรียนระดับประถมในประเทศที่กำลังพัฒนาจำนวนมากไม่มีสื่อการอ่านที่เพียงพอและเหมาะสม เช่น หนังสือนิทาน หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ทำให้เด็กๆ หันไปสนใจโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์มากกว่า

จากสิ่งที่ได้พบเห็น ดร.ธีร์ จินกราน นำเสนอถึงแผนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงทักษะการอ่านและนิสัยรักการอ่านของเด็กๆ ไว้ดังนี้

1. เสริมเวลาการสอนภาษาและการอ่าน นักเรียนต้องได้รับการพัฒนาทางภาษาที่แข็งแกร่งตั้งแต่ระดับประถมต้นๆ โดยเฉพาะอย่างในภาษาวิชาการ โดยให้มีเวลาในชั่วโมงเรียนสำหรับการฝึกอ่านเพื่อพัฒนาการอ่านให้คล่องแคล่วและการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน

2.ระบบที่มีประสิทธิภาพของการเรียนรู้ภายในชั้นเรียนภาษา ในกรณีนี้ ผู้ศึกษาบอกว่าเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลต้องเพิ่มเวลาให้นักเรียนในการทำกิจกรรมและเพิ่มโอกาสสำหรับการเรียนในเชิงรุกให้มากขึ้น การประเมินทักษะย่อยด้านภาษาเป็นประจำ เอาใจใส่นักเรียนที่ล้าหลังให้มากขึ้น และปรับการสอนให้เข้ากับระดับความสามารถในการอ่านของนักเรียน

3. ความเข้าใจของผู้สอนและการใช้กลยุทธ์การอ่านที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้สอนมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นการอ่านและเรียนรู้ของเด็ก จึงต้องทำทั้งพัฒนาภาษาพูด การสอนถอดความอย่างมีระบบ การเน้นความเข้าใจ การอ่านอย่างคล่องแคล่วด้วยการฝึกอ่านอย่างสม่ำเสมอด้วยสื่อการอ่านและกลยุทธ์ที่เหมาะสม เช่น การอ่านออกเสียง การอ่านเป็นกลุ่ม สุดท้าย เป็นการขยายขอบข่ายการเขียนให้รวมถึงการแต่งเรียงความ

4. หลักสูตรและตำรา ที่สอดแทรกกิจกรรมและแบบฝึกหัดให้นักเรียนมีส่วนร่วม การจัดลำดับเนื้อหาและแบบฝึกหัด และตำรา ควรมีขอบข่ายที่กว้างขวางเพียงพอต่อการทบทวนและเสริมสร้างความรู้และทักษะ

5. ความเข้าใจความสำคัญของการอ่าน และการจัดสร้างบรรยากาศแวดล้อมที่กระตุ้นให้ให้เกิดการอ่าน อาทิ สร้างห้องสมุดโรงเรียน และชั้นเรียน การจัดงานการอ่านทั่วโรงเรียน

6. การเรียนรู้อย่างมืออาชีพของครู ซึ่งผู้สอนควรผ่านกิจกรรมการพัฒนาแบบมืออาชีพที่หลากหลายและส่งเสริมกันและกันเพื่อนำมาใช้เปลี่ยนแปลงชั้นเรียน

7. การศึกษาก่อนประถมศึกษาที่มีคุณภาพ หลักสูตรที่ได้รับการออกแบบต้องพัฒนาทักษะการพูดที่ดีและความสามารถในการเตรียมอ่านและเขียน

8. ห้องสมุดในชั้นเรียนและโรงเรียน รวมถึงการทุ่มเวลาให้กับการอ่าน ครูผู้สอน
ควรตระหนักถึงระดับความสามารถที่แตกต่างกัน และ จัดเตรียมสื่อการอ่านเพื่อการฝึกหัดที่ต่างกันไป

9. การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยโรงเรียนควรจัดให้มีการส่งเสริมการอ่าน อาจเป็นในรูปแบบการแข่งขัน ชมรมหนังสือ และการจัดแสดงให้บรรดาพ่อแม่ได้เห็นถึงความสามารถในการอ่านของเด็กๆ

10. กลยุทธ์พิเศษสำหรับกรณีที่เด็กพูดภาษาอื่นเป็นภาษาแรก ในกรณีของโรงเรียนที่มีนักเรียนใช้ภาษาเผ่าพันธุ์อื่นๆ อาทิ ม้ง กระเหรี่ยง ลีซู จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างเพื่อให้เด็กๆ สนใจและหันมาเรียนภาษากลางได้ดี ซึ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างภาษากลางกับภาษาท้องถิ่นของเด็ก

ท้ายที่สุดแล้วผู้ศึกษาเห็นว่า การส่งเสริมทักษะการอ่านและนิสัยรักการอ่านในระดับประถมศึกษาต้องใช้ความพยายามที่สอดคล้องกัน ทั้งการมีกลยุทธ์การเรียนการสอนภาษาที่ดี กำหนดให้มีเวลาอ่านในชั้นเรียนให้มากขึ้น จัดสื่อการสอนที่หลากหลาย กระตุ้นให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่านว่าเป็นทักษะพื้นฐานในระบบการศึกษา ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกด้าน อาทิ กำหนดเป็นพันธกิจการอ่านระดับชาติ การจัดตั้งห้องสมุดชุมชน และส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคม
“นักเรียนระดับประถมในประเทศที่กำลังพัฒนาจำนวนมากไม่มีสื่อการอ่านที่ เพียงพอและเหมาะสม ทำให้เด็กๆ หันไปสนใจโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์มากกว่า”

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32479&Key=hotnews

เผยสอบทุนโอดาสผ่านไม่ถึง 10%

22 เมษายน 2556

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า มีแนวโน้มสูงว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจต้องเปิดรับสมัครโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (โอดอส) รุ่นที่ 4 เป็นรอบที่สองทั้งนี้เพราะผลการสอบคัดเลือกที่ผ่านมา มีผู้ทำคะแนนได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำน้อยมาก ก่อนหน้านี้ ศธ.ได้เปิดรับสมัครสอบชิงทุนโอดอส รุ่น 4 ไปตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม – 22 กุมภาพันธ์ ซึ่งครั้งนี้ได้มีการเพิ่มจำนวนทุนขึ้นเป็นอีก 1 เท่าตัว จากที่เคยจัดสรรให้อำเภอละ 1 ทุน ในรุ่นก่อนๆ เพิ่ม เป็นอำเภอละ 2 ทุน รวม 1,856 ทุน โดยแบ่งทุนออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นทุนสำหรับนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนอำเภอละ 1 ทุน รวม 928 ทุน ผู้มีสิทธิ์รับทุนต้องมาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี และให้เลือกศึกษาในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนอีกประเภทเป็นทุนสำหรับนักเรียนเก่ง อำเภอละ 1 ทุน รวม 928 ทุนเช่นกันไม่จำกัดรายได้ครอบครัวแต่ผู้มีสิทธิ์ชิงทุนต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 และให้เลือกศึกษาต่อในสาขาวิชาขาดแคลน ทั้งนี้ และได้จัดสอบข้อเขียนไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาและภาษาอังกฤษ

“ตามหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้สอบชิงทุนต้องทำคะแนนสอบข้อเขียนรวมทุกวิชาได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 จึงจะมีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ทำคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละอำเภอ ผู้ที่มีคะแนนสูงสุดจะได้รับเลือกให้สอบสัมภาษณ์เป็นลำดับแรก หากอำเภอใดไม่มีใครผู้เข้าสอบทำคะแนนสอบรวมได้ถึงตามเกณฑ์ ก็จะไม่มีใครมีสิทธิ์ได้รับทุน แต่ปรากฏว่าการประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการสอบข้อเขียนเมื่อวันที่ 19 เมษายน มีนักเรียนทำคะแนนผ่านเกณฑ์ไม่ถึง 10% ดังนั้น เมื่อผลสอบออกมาเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องหารือกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเสนอขอเปิดรับสมัครรอบสอง หรืออาจจะต้องปรับลดเกณฑ์ลงมาเพื่อให้มีผู้รับทุนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด” นางพนิตา กล่าว

อนึ่ง ศธ. ได้ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านข้อเขียนและมีสิทธิสอบสัมภาษณ์โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ผ่านทาง www.odos.moe.go.th มีผู้สอบผ่านทั้ง 2 ประเภท จำนวน 137 ราย จากจำนวนทุนทั้งหมด 1,856 ทุน โดยทุนประเภท 1 มีผู้สอบผ่านจำนวน 14 ราย จากผู้สมัครทั้งหมด 5,053 คน จาก 884 อำเภอ 77 จังหวัด ส่วนทุนประเภท 2 ทุนเรียนดี มีผู้สอบผ่านจำนวน จำนวน 123 ราย จากผู้สมัครทั้งหมดจำนวน 15,328 คน จาก 921 อำเภอใน 77 จังหวัด รวมผู้สมัครทั้ง 2 ประเภทจำนวน 20,381 คน

–คมชัดลึก ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32478&Key=hotnews

ผอ.อศ.ปัดฝุ่นสร้างศูนย์การศึกษา บอร์ดสกสค.ค้านเหตุแผนธุรกิจไม่ชัดเจน

22 เมษายน 2556

“ผอ.องค์การค้า” เตรียมแผนรื้อสร้างศูนย์การค้าด้านการศึกษาแบบครบวงจร “Educational Complex Center” ที่ดินโรงพิมพ์ลาดพร้าว ชวนเอกชนลงทุน คาดใช้เงินลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท บอร์ด สกสค.ยังไม่ยอมร่วมวง ตั้งเลขาฯ สกสค.เป็นประธานคณะทำงานศึกษารายละเอียด

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สกสค.เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พิจารณากรณีที่องค์การค้า (อศ.) สกสค.เตรียมเสนอแผนธุรกิจพัฒนาที่ดิน 47 ไร่ ของโรงพิมพ์องค์การค้าฯ ย่านลาดพร้าว ทำเป็น Educational Complex Center แผนธุรกิจนี้องค์การค้าฯ ต้องการนำที่ดินของตัวเอง ซึ่งอยู่ในทำเลทองมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การดำเนินการธุรกิจของตัวเอง

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า ตามแผนองค์การค้าฯ จะไม่ได้เป็นผู้ลงทุน แต่เชิญชวนให้เอกชนมาลงทุน แล้วแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งองค์การค้าฯ ให้ข้อมูลว่า มีผู้สนใจเสนอตัวร่วมลงทุนแล้ว คาดว่าการลงทุนจะใช้งบประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาทอย่างไรก็ตาม บอร์ด สกสค.ยังไม่ตัดสินใจ แต่ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษารายละเอียดโครงการโดยมอบให้นายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการ สกสค.เป็นประธานคณะทำงาน

“แผนธุรกิจขององค์การค้าฯ ยังไม่ชัดเจน ทั้งเรื่องมูลค่าการลงทุน แบบการก่อสร้าง กรรมสิทธิ์ว่ากี่ปีถึงจะเป็นขององค์การค้าฯ ขณะเดียวกันบอร์ดก็มีความเห็นว่า หากมีเดินหน้าโครงการ Educational Complex Center จริง ก็ควรเปิดประกาศหาผู้ลงทุนที่ให้เงื่อนไขดีสุด นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาด้วยว่า การพัฒนาที่ดินเป็น Educational Complex Center จำเป็นต้องย้ายโรงพิมพ์ออกไปหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องย้ายก็ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ลงทุนจัดหาที่ดินสำหรับย้ายโรงพิมพ์ให้และควรให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นขององค์การค้าฯด้วย” ปลัด ศธ.กล่าว

ด้านนายสมมาตร มีศิลป์ ผอ.องค์การค้าฯ กล่าวว่า แผนพัฒนาที่ดินโรงพิมพ์องค์การค้าย่านลาดพร้าว เป็น Educational Complex Center เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันตั้งแต่ปี 2540 แล้ว แต่เกิดฟองสบู่แตกก่อน โครงการนี้จึงไม่ได้ดำเนินการต่อ แต่ปัจจุบันที่ดินย่านลาดพร้าวมีความเจริญขึ้นมา และอยู่ในแนวที่รถไฟใต้ดินผ่าน การค้าขายเป็นทำเลทอง โดยเฉพาะที่ดินโรงพิมพ์มีส่วนที่ติดถนนใหญ่ยาวกว่า 200 เมตรเหมาะที่ลงทุนพัฒนาเป็นศูนย์การค้าได้

“จะทำเป็นศูนย์การค้าด้านการศึกษาแบบครบวงจร มาที่นี่แห่งเดียวจบได้ทุกอย่างครบ อย่างไรก็ตาม ตามแผนนั้น ไม่ได้นำที่ดินทั้งหมดมาสร้างเป็น Educational Complex Center หากใช้ที่ดินแค่ 1 ใน 3 จากที่ดินแผนใหญ่กว่า 47 ไร่ โรงพิมพ์องค์การค้าฯ ก็ยังอยู่ที่เดิม ทั้งนี้องค์การค้าฯ ยังไม่นำเสนอโครงการอย่างเป็นทางการเพราะต้องรอศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อน” นายสมมาตร กล่าว

–คมชัดลึก ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32477&Key=hotnews

คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: การตรวจสอบคุณวุฒิที่ใช้สมัครสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุเป็นครูผู้ช่วย

22 เมษายน 2556

ศรีชัย พรประชาธรรม ผู้อำนวยการภารกิจนโยบายและระบบบริหารงานบุคคล จากการที่ ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ประจำปี พ.ศ.2556 แล้ว และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในปฏิทินการสอบฯเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้มีการเปิดรับสมัครสอบแข่งขันระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2556 และสอบแข่งขันระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2556 นั้น เห็นว่าที่ผ่านมามีเรื่องขอหารือเกี่ยวกับคุณวุฒิที่ใช้สมัครสอบแข่งขันเข้ามายังสำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นจำนวนมากในหลายๆ กรณีด้วยกัน ในวันนี้จึงขอหยิบยกกรณีหนึ่งที่เห็นว่าจะเป็นการบอกกล่าว ย้ำเตือนไปยังมหาวิทยาลัย และผู้สนใจสมัครสอบแข่งขัน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบคุณวุฒิที่ใช้ในการสมัครสอบแข่งขันว่าเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้วหรือไม่อย่างไร ดังนี้

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้มีการเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2555 และได้มีการประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีผู้สอบแข่งขันได้ที่มีคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่ไม่ชัดเจน และไม่อาจพิจารณาได้ จึงมีหนังสือขอหารือคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่ผู้สอบแข่งขันได้นำมาใช้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู ผู้ช่วย กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คุณวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอัญมณี มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าเป็นคุณวุฒิ และหรือสาขาวิชาที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้วหรือไม่ และไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่ตรงตามประกาศรับสมัครหรือไม่

สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ตรวจสอบและมีการประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีอัญมณี เป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตรจากหลักสูตรที่ ก.ค.ศ.เคยรับรองไว้ จึงไม่ได้ยื่นขอการรับรองหลักสูตรใหม่นี้ เนื่องจากเห็นว่ามีโครงสร้างของหลักสูตรเหมือนกัน และเพิ่งได้ขอให้ ก.ค.ศ.รับรองคุณวุฒิดังกล่าว ดังนั้น คุณวุฒินี้จึงเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองภายหลังการเปิดรับสมัครสอบแข่งขัน จึงทำให้ผู้สอบแข่งขันได้รายนี้ขาดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง

จากกรณีที่นำมาเสนอในวันนี้ จะเห็นได้ว่าการตรวจสอบการรับรองคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่จะใช้สมัครสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะสอบแข่งขันได้ รอการบรรจุ หากคุณวุฒิที่นำมาสมัครสอบ ก.ค.ศ. ยังไม่ได้รับรองก็หมดสิทธิในการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการนะครับ ดังนั้นจึงขอฝากไปยังมหาวิทยาลัยทุกแห่งให้ตรวจสอบด้วยว่าคุณวุฒิและหรือสาขาวิชาที่เปิดสอนได้มีการเสนอให้ ก.ค.ศ.รับรองเพื่อใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ดำเนินการก็ขอให้รีบดำเนินการโดยด่วนนะครับ เพื่อนักศึกษาของท่านจะได้ไม่เสียสิทธิเช่นเดียวกับกรณีนี้

–มติชน ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32475&Key=hotnews

สพฐ.ระดมสมองปรับแนวทางสอนใหม่

22 เมษายน 2556

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เตรียมจัดเวทีเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับแนวคิดการปรับทิศทางของห้องเรียนในเร็ว ๆ นี้ โดยจะนำแนวคิดจากหนังสือ Flip Your Classroom ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการปรับทิศทางการจัดกิจกรรมในชั้นเรียนภายใต้บริบทของเทคโนโลยี ระบบไอซีทีที่ความรู้มีอยู่ทั่วทุกสถานที่และสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลามาเป็นหลักในการเสวนา เพราะปัจจุบันการเรียนการสอนที่โรงเรียนใช้อยู่นั้น เด็กมีส่วนร่วมในชั้นเรียนน้อยมาก คือ ช่วงเวลา 5 นาทีแรกจะเป็นการนำเข้าสู่บทเรียน 20 นาทีต่อมาเป็นการบรรยาย จากนั้นเป็นเวลาของการสาธิต 10 นาที และ 5 นาทีสุดท้ายครูจะตั้งคำถามให้เด็กคิดและตอบ ดังนั้นจากนี้ไปจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนและการใช้เวลาในห้องเรียน โดยใช้เทคโนโลยีที่มีมาช่วยให้เกิดการประโยชน์คล้ายกับการใช้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือใช้ในการสืบหาข้อมูล

“ต่อไปเด็กจะมาเรียนโดยมีความพร้อมที่จะตั้งคำถามกับครู พร้อมที่จะเสวนาหรือถกแถลงในชั้นเรียนเกี่ยวกับเรื่องที่ครูมอบเป็นการบ้านให้กลับไปสืบค้นจากเนื้อหาที่มีอยู่ในแท็บเล็ตได้ ไม่ใช่มาเรียนด้วยสมองว่างเปล่าและรอรับความรู้จากครูซึ่งเป็นวิธีการแบบเดิม”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า หากปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้สำเร็จเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อโรงเรียนที่มีข้อจำกัดได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในโรงเรียนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเด็กจะสามารถใช้เวลาเรียนด้วยตนเองได้มากขึ้น เวลาเรียนในห้องเรียนต่อวันและสัปดาห์จะลดลง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน สื่อการเรียนการสอน ระบบอินเทอร์เน็ต แผนการสอนต้องมีความพร้อม รวมถึงครูต้องยอมรับและเข้าใจและพร้อมที่จะปรับตัวเข้าสู่การเรียนการสอนรูปแบบใหม่ด้วย.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32474&Key=hotnews

กศน.เน้นเรียนรู้เอง – เอ็นเน็ตผลพลอยได้

22 เมษายน 2556

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวกรณีผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ด้านการศึกษานอกโรงเรียน หรือ เอ็นเน็ต ประจำปีการศึกษา 2555 ที่ออกมาเฉลี่ยแต่ละวิชาค่อนข้างต่ำในทุกระดับว่า ฐานะที่ติดตามเรื่องการประเมินผลการศึกษาของผู้เรียน กศน.มาโดยตลอด หากมองในภาพรวม จากในอดีตที่ กศน.จัดทดสอบเอ็นทีกันเอง แล้วมาเข้าสู่ระบบเอ็นเน็ตที่ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้จัดถือว่า ผลการประเมินมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าคะแนนเฉลี่ยที่ได้จะต่ำกว่าร้อยละ 50 ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจแล้วสำหรับผู้เรียนที่เป็นผู้ด้อยโอกาส พลาดโอกาส และขาดโอกาสทางการศึกษา

รองเลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า ประเด็นหลักที่ทำให้ผลคะแนนออกมาไม่สูงนั้น น่าจะขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียน เพราะคนที่เรียน กศน.ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีภาระมีแต่ความตั้งใจและต้องเจียดเวลามาเรียน ซึ่งประเด็นนี้เป็นพื้นฐานที่ทุกคนยอมรับได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเรียน กศน. คือ การเรียนด้วยตนเอง ดังนั้นผู้เรียนต้องควบคุมตัวเองได้และต้องจัดเวลามาเรียนรวมถึงร่วมทำกิจกรรมด้วย ขณะเดียวกันกระบวนการเรียนการสอนของ กศน.เองก็ต้องมีการปรับปรุง ครูก็ต้องใกล้ชิดผู้เรียนมากขึ้นโดยต้องเป็นพี่เลี้ยงและเอาใจใส่ผู้เรียนให้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ถึงเวลาที่ต้องมีการทบทวนสื่อการเรียนการสอนของ กศน.ให้ตรงตามประเด็น เนื้อหาสาระ และมีระดับความยากง่ายตามระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย รวมถึงต้องพัฒนาหลักสูตรโดยลดเนื้อหาบางวิชาลงซึ่งทางกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียนกำลังศึกษาแนวทางอยู่

“ในอนาคตการเรียน กศน.จะต้องยึดหลัก “สอนน้อยเรียนมาก” ให้มากขึ้น คือ ผู้เรียนจะต้องแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นหลักปรัชญาการเรียนรู้ที่แท้จริงและสอดคล้องกับการเรียนตามแนวทางของ กศน. ซึ่งมั่นใจว่าผู้เรียน กศน.ทำได้แน่นอน โดยที่ผ่านมาก็มี กศน.อำเภอหลายแห่งที่ทำได้ผลเป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าครูสามารถทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและมีความสามารถในการมอบหมายงานเป็นอย่างดี” ดร.ชัยยศกล่าวและว่า หากสามารถปรับแนวทางการจัดการเรียนการสอนรวมถึงพัฒนาหลักสื่อและหลักสูตรต่าง ๆ ได้ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าผลการทดสอบเอ็นเน็ตน่าจะดีขึ้นได้.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32473&Key=hotnews

ศธ.ออกประกาศอัตราค่าเทอม EP อาชีวะ

22 เมษายน 2556

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง การเก็บเงินบำรุงการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาภาคภาษาอังกฤษ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีสาระสำคัญคือ สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้นักเรียนเกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้ สามารถขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน ดังนี้ ห้องเรียนพิเศษ English Program (EP) ระดับ ปวช.เก็บได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อคนต่อภาคเรียน ห้องเรียนพิเศษ Mini English Program (MEP) ระดับ ปวช. เก็บได้ไม่เกิน 17,500 บาท และห้องเรียนพิเศษด้านภาษาต่างประเทศ ด้านวิชาการ และด้านอื่น ๆ เช่น ห้องเรียนทฤษฎี และห้องเรียนปฏิบัติทางวิชาชีพ เก็บได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และเหมาะสมกับสภาพฐานะทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น  ยกเว้นค่าใช้จ่ายห้องเรียนพิเศษด้านภาษาอังกฤษเก็บได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของห้องเรียน MEP

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า การเปิดห้องเรียนพิเศษของสถานศึกษาต้องได้รับอนุมัติจาก สอศ. และการเก็บเงินบำรุงการศึกษาต้องเป็นไปตามประกาศ ศธ. และต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการสถานศึกษา โดยประกาศให้ผู้ปกครองและนักเรียน นักศึกษาทราบล่วงหน้า และสถานศึกษาต้องพิจารณาให้การดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้อยโอกาส โดยไม่รอนสิทธิที่จะได้เรียนกับครูชาวต่างประเทศ โดยจัดให้ทุกคนได้เรียนสัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง การเรียนการฝึกคอมพิวเตอร์ และการใช้บริการอินเทอร์เน็ตปีละ 40 ชั่วโมง เป็นต้น ทั้งนี้สามารถเก็บเงินบำรุงการศึกษาดังกล่าวได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป ส่วนสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร ปวช.ปกติ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองได้ เนื่องจากรัฐบาลได้จ่ายเงินอุดหนุนให้แล้ว

“ปีการศึกษา 2555 สถานศึกษาในสังกัด สอศ. ได้มีการนำร่องจัดห้องเรียน EP, MEP และห้องเรียนพิเศษต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาเพิ่มเติมจากมาตรฐานทั่วไป ดังนั้นเพื่อให้การขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นการคุ้มครองผู้ปกครองไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32472&Key=hotnews