Education News

ข่าวการศึกษา เน้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

ชี้ กยศ.-กรอ.มีดีคนละอย่าง

5 มกราคม 2550

ดร.เปรมประชา ศุภสมุทร ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงกรณีที่นิสิตนักศึกษาที่กู้เงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ในปีการศึกษา 2549 เรียกร้องขอให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การกู้และการชำระเงิน กรอ. มาเป็นรูปแบบของ กยศ.ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กยศ. ในวันที่ 11 ม.ค. นี้ จะมีการหารือเรื่องดังกล่าว เพื่อเปิดทางเลือกให้นักศึกษาได้เลือกแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง แต่ในฐานะผู้ดูแลกองทุนต้องรับว่าภาระการบริหารงาน 2 กองทุนต้องมีความยุ่งยาก และอาจทำให้ผู้กู้เกิดความสับสนได้ แต่คงต้องยอมเพื่อสิ่งที่ดีสำหรับเด็ก อย่างไรก็ตามการเลือกที่จะใช้กองทุนไหนนั้นต้องเป็นความสมัครใจของผู้กู้เป็นหลักว่าต้องการหลักเกณฑ์กู้จากกองทุนใด

ดร.เปรมประชา กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักการเงินคงต้องบอกกับเด็ก ๆ ว่าเงื่อนไขของ กยศ.ดีกว่า กรอ. เพราะปลอดดอกเบี้ยนานแบบไม่มีที่ไหนในโลกทำเช่นนี้ เช่น หากกู้เงินเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 จนเรียนจบปริญญาตรี และทำงาน 2 ปีก่อนถึงมาชำระเงินคืน รวมแล้วเป็นเวลา 9 ปีที่ปลอดดอกเบี้ยจึงจะเริ่มชำระเงินคืน และคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น และถ้าเทียบแล้วค่าใช้จ่ายของ กยศ. จะถูกกว่า กรอ. เพราะ กรอ.จะต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำสัญญา แต่รูปแบบของ กรอ.จะมีข้อดีตรงที่กว่าจะเริ่มชำระเงินคืนจะมีการให้เวลาผู้กู้ตั้งตัวได้ก่อน ซึ่งอาจจะต้องทำงานถึง 10 ปีก็ได้กว่าเงินเดือนจะถึง 16,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ถึงจะเริ่มชำระเงินคืน แต่เมื่อพิจารณาทุกแง่ทุกมุมแล้ว ตนก็บอกไม่ได้ว่า กยศ.หรือ กรอ.จะดีกว่ากัน แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้กู้แต่ละคนว่าจะเห็นอะไรดีกว่ากัน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2374&Key=hotnews

ออมสินทุ่ม 80 ล้านปลูกคุณธรรมในใจเด็ก จัดรณรงค์รู้จักออม-ใช้เงินรับปีมหามงคล

5 มกราคม 2550

นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปีนี้เป็นปีมหามงคล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.2550 ธนาคารออมสินมีแนวคิดจะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อปลูกจิตสำนึกในด้านคุณธรรม และจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศได้เข้าร่วมแข่งขันในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจะมีรางวัลเป็นเงินสดให้สำหรับโรงเรียนที่ชนะเลิศ ชื่อโครงการเบื้องต้นคือ “บูรณฉัตร คุณธรรม จริยธรรม ดีเยี่ยม” ซึ่งธนาคารจะขอพระราชทานชื่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนรายละเอียดของการประกวด จะหารือกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไป สำหรับวงเงินรางวัลตั้งไว้ 80 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ธนาคารยังจะได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักออม และรู้คุณค่าของการใช้จ่ายเงินมากยิ่งขึ้น โดยจัดรูปแบบการออมขึ้นมาใน 3 ลักษณะ คือ 1. การออมเพื่อฉุกเฉิน 2. การออมเพื่อการศึกษา และ 3. การออมเพื่อการจับจ่ายใช้สอย โดยทั้ง 3 รูปแบบจะมีกระปุกออมสินแยกไปแต่ละแบบเพื่อเป็นแรงจูงใจการออมและเรียนรู้การใช้เงินอย่างถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน และจะจัดกิจกรรมตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากตอนนี้สังคมไทยหันไปใช้บัตรเครดิตมากขึ้น จนลืมคุณค่าของเงิน ถ้าสามารถปลูกฝังให้รู้จักการออมตั้งแต่เด็ก ก็จะช่วยในเรื่องของการใช้จ่ายอย่างประหยัดเหมือนกับคนญี่ปุ่น

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2372&Key=hotnews

กระทรวงวัฒนธรรมตั้งโครงการ “นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่น.ร.พิการ”

5 มกราคม 2550

รายงานการศึกษา  กุมารี วัชชวงษ์

เพื่อเด็กๆ ผู้พิการทางร่างกายได้เปิดรับสุนทรียภาพ สัมผัสซาบซึ้งศิลปวัฒนธรรม ได้เล่นดนตรี ระบำรำฟ้อน โครงการ “เอื้ออาทรและห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” จึงก่อกำเนิดขึ้นโดยวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เป็นโครงการนำร่องของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยจัดครูนาฏศิลป์และดนตรีไทยหลักสูตรระยะสั้นสอนนักเรียนผู้พิการ นอกจากความรู้ เด็กๆ ยังได้ผ่อนคลายความเครียด ใกล้ชิดศิลปะ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญ กระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้

โรงเรียนในโครงการ ประกอบด้วย “โรงเรียนกาวิละอนุกูล” สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสมองและสติปัญญา คุณครูที่เข้าไปคือครูสอนการฟ้อนงิ้ว ศิลปะของภาคเหนือ สอนด้วยความเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่มักจะมีสมาธิสั้น จึงสลับด้วยการให้เล่มเกมสนุกสนาน ขณะที่ “โรงเรียนโสตอนุสารสุนทร” เป็นสถานศึกษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางหู ก่อนจะมาคุณครูจึงต้องฝึกเรียนภาษามือเพื่อสื่อสารอธิบายท่าทางการเต้นและการฟ้อนรำให้เด็กๆ และที่สุดก็รำได้สวยตามจังหวะทั้งที่ไม่ได้ยินดนตรี สุดท้ายคือ “โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ที่นี่ วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ค้นพบช้างเผือก เด็กพิการทางสายตา 5 คน ได้เข้าเป็นนักเรียนเพื่อเป็นนักดนตรีไทยต่อไป

หลังจากลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการนำร่อง “เอื้ออาทรห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่จัดครูเข้าไปสอนเด็กผู้พิการตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา โดยวธ.ต้องการส่งเสริมสติปัญญา ดึงความสามารถของเด็กออกมา ที่สำคัญมีเด็กหลายคนที่มีความสามารถพิเศษด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย อย่างเด็กที่มีความพิการทางสายตาจะมีประสาทสัมผัสทางการได้ยินดีมาก บางรายเป็นอัจฉริยะทางดนตรีไทยได้เลยทีเดียว ดังนั้น วธ.จะสนับสนุนเด็กเหล่านี้โดยรับไว้เป็นนักเรียนในสังกัดวิทยาลัยนาฏศิลป์ และส่งเสริมให้ศึกษาต่อสาขาดนตรีในระดับอุดมศึกษา หากเด็กมีความตั้งใจและผลการเรียนดีก็จะหาทุนเพื่อส่งเสริมให้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอก เพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์สอนด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยต่อไป

“การสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้กับนักเรียนผู้พิการจะช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าว และเด็กสามารถนำพื้นฐานจากนาฏศิลป์และดนตรีไทยไปปรับใช้ในชีวิตด้านอื่นๆ อาทิ เด็กหูหนวกบางคนมีความตั้งใจเรียนนาฏศิลป์และรำไทยมาก หากมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเด็กอาจเรียนต่อในระดับปริญญาตรีและนำไปใช้ประกอบอาชีพ หรือเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนได้ด้วย ทางด้านครูที่เข้าไปก็พบว่าครูที่ไปสอนในวันเสาร์อาทิตย์นั้นทำด้วยใจจริงๆ โดยวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่เป็นต้นแบบการสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้กับผู้พิการ มีการจัดทำคู่มือการเรียนดนตรีไทยเป็นอักษรเบรล ดังนั้น ผมจะขยายผลการจัดโครงการนี้ไปยังวิทยาลัยนาฏศิลป์กรุงเทพฯ และประสานความร่วมมือกับโรงเรียนเศรษฐเสถียรต่อไป” ปลัดวธ.กล่าว

ด้านนางเพียงแข จิตรทอง อาจารย์ผู้สอนนาฏศิลป์และการฟ้อนรำให้กับน้องๆ ผู้พิการทางหู เปิดเผยว่า ตนและอาจารย์จันทิวา เกษร เพื่อนครูที่ช่วยกันสอนนักเรียนหูหนวกต้องฝึกหัดเรียนภาษามือให้เข้าใจ ขณะเดียวกัน ก็จะมีอาจารย์ของโรงเรียนโสตอนุสารสุนทรช่วยแปลภาษามือสอนการรำให้กับนักเรียนอีกทอดหนึ่ง โดยครูจะสาธิตให้ดู ซึ่งแม้เด็กๆ จะมีการนับจังหวะท่ารำแตกต่างจากคนทั่วไป แต่สามารถนับจังหวะและเรียนรู้นาฏศิลป์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะความชื่นชอบ มีความสนใจ และมีพรสวรรค์ สามารถจดจำท่าได้เร็วไม่แพ้กัน

“น้องเฟย”น.ส.สุดารัตน์ พนมพิบูลย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โสตอนุสารสุนทร ส่งภาษามือเล่าว่า ชอบเรียนนรำไทยมากเพราะทำให้บุลคิกภาพดีขึ้น อีกทั้งเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่สวยงาม และเยาวชนควรสืบสานต่อไป น้องเฟยไม่ชอบการเต้นสมัยใหม่ที่มีท่าทางยั่วยวนและใส่เสื้อผ้าโป๊เปลือย ซึ่งดารานักร้องในปัจจุบันเป็นตัวอย่างให้วัยรุ่นทำตาม ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากเคยเป็นสังคมที่เรียบร้อย มีมารยาท เปลี่ยนเป็นสังคมที่วุ่นวายยุ่งเหยิง เกิดปัญหาตามมา จึงอยากเชิญชวนให้เด็กรุ่นใหม่ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมไทยเอาไว้ แล้วเลือกเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกในด้านดีๆ จะเหมาะสมกว่า

นักเรียนจากโครงการ “เอื้ออาทรและห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” ฝากถึงเยาวชนทุกคน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2370&Key=hotnews

“คุณครูธรรมชาติ”ฟื้นรากเหง้าแห่งชีวิต

5 มกราคม 2550

เปิดตัวบริษัท มีเดีย เลิฟเวอร์ จำกัด พร้อมผลิต 2 รายการโทรทัศน์ บอสใหญ่ผู้กุมบังเหียน “เดียว”สุรชาติ ตั้งตระกูล เผยรายละเอียด

“รายการแรก “คุณครูธรรมชาติ” เป็นรายการแนว เอ็ดดูเทนเมนต์ รูปแบบใหม่ ที่จะนำผู้ชมกลับคืนสู่ธรรมชาติ เป็นมุมมองจากผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเกิดการการละเลย หรือห่างหายจากวิถีธรรมชาติ แต่กลับสนใจแต่เรื่องนวัตกรรมไอที และดำเนินชีวิตตามกลไกของวัตถุนิยมจนหลงลืมรากแท้ของชีวิต โดยเฉพาะธรรมชาติที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ถือเป็นความรอบรู้ที่มีค่ามากที่สุด และจะเป็นครูที่ดีที่สุด โดยนำเสนอผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่ที่ให้ทั้งสาระและความสนุกกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย เทปแรกจะออกอากาศวันอาทิตย์เวลา 17.05 น. ทางช่อง 5″

“ส่วนอีกรายการ “เที่ยวอย่าง…เดียว” รายการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “ฮิพจัง ตังค์พอไหว” เป็นรายการท่องเที่ยวที่นำเสนอการจัดงบประมาณการเดินทางเพื่อเป็นแนวทางการท่องเที่ยวทั้งหรูและลุยแบบไม่เดือดร้อนกระเป๋าสตางค์ จะพาผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดรูปแบบและวางแผนการเที่ยว เทปแรกออกอากาศวันเสาร์ที่ 6 ม.ค. เวลา 17.05 น. ทางช่อง 5 เช่นกัน”

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2371&Key=hotnews

ศรัทธาแห่งการศึกษา วิถีแห่งสันติภาพ

5 มกราคม 2550

คอลัมน์ เจาะใจจีน

โดย แทนคุณ จิตต์อิสระ eee004@hotmail.com

ความรู้คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งจะกำหนดชะตาอนาคตของโลกและมนุษย์ให้เป็นไปตามสิ่งที่รับรู้นั้นๆ ยิ่งสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามสภาวะคุกคามจากความรู้ที่ไหลบ่าเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ระบบการศึกษาของไทยยังตั้งรับอย่างเชื่องช้า ไม่เพียงแต่ก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงไปของกระแสโลก แต่ยังขาดระบบภูมิคุ้มกันที่ดีพอ

ดังสะท้อนผ่านภาพปัญหาความเครียดต่อการแข่งขันเสรีในระบบการศึกษา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยมีปัจจัยทั้งทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกำหนดอย่างชัดเจน ในที่สุดผู้มีฐานะน้อยก็อาจจะกลายเป็นผู้ด้อยการศึกษาไป อีกด้านหนึ่งเป็นปัญหาการขาดระเบียบวินัยในตนเองของนักเรียน นักศึกษา ทั้งการแต่งกาย พฤติกรรม ค่านิยม ความฟุ้งเฟ้อ โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายการแก่งแย่งแข่งขัน และการใช้ความรุนแรงของสังคมไทย ที่เยาวชนเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งสะท้อนวิกฤตศรัทธาของการศึกษาบ้านเราทั้งสิ้น

เพราะเมื่อการศึกษาไม่สามารถสร้างอุปนิสัยที่ดีให้กับมนุษย์ได้ ตรงกันข้ามกลับเป็นต้นทางแห่งความแตกต่างและแตกแยก ในที่สุดความรุนแรงในมิติต่างๆ จึงระเบิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็นฝักฝ่าย พรรคพวก เป็นสถาบันนั้นสถาบันนี้ มหาวิทยาลัยนั้นมหาวิทยาลัยนี้ พวกนั้นพวกนี้ เป็นต้น

เมื่อมองเห็นปัญหา ต้องมองหาสาเหตุ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เมื่อปัญหาของการศึกษาเกิดจากความไม่มั่นใจ หรือไม่ได้รับคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา ซึ่งควรหมายถึง วิธีการสร้างและขยายองค์ความรู้ไปสู่การพัฒนามนุษย์และสังคม ให้การลดความเห็นแก่ตัว ประสานสามัคคี และสมประโยชน์ คือสังคมได้รับประโยชน์ มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น จิตใจและปัญญาสูงขึ้น การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบเน้นการปฏิบัติและประสบการณ์ของผู้เรียนให้เกิดแรงบันดาลใจที่ดี และมีการสร้างเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้อยู่เสมอ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาต้องมีคุณธรรม และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภูมิปัญญา ที่ได้จากพ่อครู แม่ครู ปราชญ์ชาวบ้าน ที่สังกัดกลุ่มหรือเครือข่ายท้องถิ่น และดำเนินการถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่ชนรุ่นหลัง

ผมยังเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของไทยเราที่สามารถสร้างเอกลักษณ์ที่ดีงามให้กับเยาวชนในแต่ละภูมิภาคได้ภาคภูมิใจได้ โดยไม่ต้องหมุนไปตามกระแสที่สังคมเมืองกำหนดหรือครอบงำระบบคิดของพวกเขา ซึ่งจะทำให้เยาวชนของเรามีความมั่นใจในความเพียรพยายามและประสบความสำเร็จได้ โดยบูรณาการความรู้รอบตัวกับความรู้ชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นภาคการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายที่สุด ผ่านกิจกรรมที่พวกเขาควรจะมีสิทธิในการเลือกแนวทางที่ตนชอบและเชื่อมั่น ทั้งการเกษตร การแพทย์พื้นบ้าน การพัฒนาอาชีพ การสืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การอนามัยและสาธารณสุข การป้องกันยาเสพติด และสิทธิชุมชน เป็นต้น

ผมเชื่อในการศึกษาหาความรู้ที่มีคุณค่าและความงดงามเสมอ ยิ่งในสังคมไทยปัจจุบันความรู้ที่นำพาสันติภาพมาสู่ผู้คนในสังคมยิ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างที่สุด ความรู้และการศึกษาต้องมีเป้าหมาย และเป้าหมายนั้นต้องรวดเร็วและเน้นการมีส่วนร่วมในการจัดการองค์ความรู้และความคิด ปลูกฝังคุณธรรม และค่านิยมที่ดี เพื่อคุ้มครองเยาวชนให้พ้นจากภัยจากสื่อละครโทรทัศน์ที่ไม่สร้างสรรค์และพัฒนาเท่าที่ควร เต็มไปด้วยความรุนแรง ฉากตบตีกัน ความฟุ่มเฟือย ราคะวิสัย ชิงรักหักสวาท ที่มีให้เห็นทุกวันจนกลายเป็นรอยพิมพ์ฝังใจให้เลียนแบบ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้พวกเขาให้ได้

ผมหวังว่า ปีใหม่เราจะได้สิ่งใหม่ๆ ขึ้นในระบบการศึกษาที่ต้องเน้นคุณธรรม จริยธรรมในเชิงการปฏิบัติการ ส่งเสริมการเรียนรู้และการค้นพบความชอบหรือศรัทธาแห่งการศึกษาด้วยตัวของพวกเขาเอง ที่สำคัญที่สุดการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วย การศึกษา เพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ครับ

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2369&Key=hotnews

กรมศาสนาเคาะประตูบ้านชวนคนเข้าวัด

5 มกราคม 2550

จับมือ”อปท.”สำรวจทุกครัวเรือน ตั้งเป้าปี”50พบพระเดือนละ2หน

นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงแผนปฏิบัติงานของกรมการศาสนา ในปีงบประมาณ 2550 ว่า ในปีงบประมาณ 2550 กรมการศาสนาได้รับงบฯเพิ่มจากปีงบฯที่แล้ว 50% โดยได้รับ 560 ล้านบาท นอกจากนี้ จะขออนุมัติงบกลางจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นค่าสอนศีลธรรมอีกประมาณ 260 ล้านบาท ซึ่งถือว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในเรื่องของศาสนาอย่างแท้จริง ส่วนแผนปฏิบัติงานของกรมการศาสนานั้น ได้วางหลักในเรื่องการวิเคราะห์และส่งเสริมศีลธรรมในประชาชน โดยจะหาและใช้วิถีทางต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าวัดปฏิบัติธรรม อย่างน้อยให้พาครอบครัวเข้าวัดเดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งจะใช้มาตรการเชิงรุกร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตรวจสอบรายชื่อว่าบ้านไหนยังไม่เข้าวัด ก็จะเข้าไปพูดคุยและเชิญชวนให้เข้าวัด นอกจากนี้ ในกลุ่มข้าราชการจะส่งเสริมโดยเสนอขอให้มีมติ ครม.ให้ข้าราชการทุกหน่วยงานเข้าไปปฏิบัติธรรมอย่างน้อย 5 วัน 5 คืน ในช่วงเวลา 1 ปี ส่วนกลุ่มเด็กและเยาวชน จะใช้ครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษาที่ปัจจุบันมีจำนวน 1 หมื่นรูปทั่วประเทศ และขณะนี้กำลังขออนุมัติ ครม.เพิ่มครูพระอีก 1 หมื่นรูป ก็จะได้ครูพระสอนศีลธรรมในเกือบทุกสถานศึกษา

“นอกจากนี้แล้ว กรมการศาสนายังจะส่งเสริมศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งเวลานี้ยังมีไม่ครบทุกพื้นที่ ปีนี้ก็จะพยายามเปิดให้ได้ใน 2 พันตำบล รวมของเดิมเป็น 4 พันตำบล จากทั้งหมด 8 พันตำบลทั่วประเทศ และจะให้มีพระมาสอนศีลธรรมในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้เด็กได้เรียนธรรมศึกษา รวมไปถึงการสอบธรรมศึกษาชั้นตรี โท และเอกในสถานศึกษาด้วย รวมทั้งกำลังจะประสานกับทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้หมายเหตุในสมุดพกนักเรียนด้วยว่าเด็กที่จบ ป.6 หรือ ม.3 และม.6 คนใดที่สอบธรรมศึกษาได้ในระดับใดด้วย เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการสมัครเรียนต่อหรือไปสมัครทำงาน โดยควรต้องให้โอกาสพิเศษกับนักเรียนเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนสนใจในธรรมศึกษา” อธิบดีกรมการศาสนากล่าว

นายปรีชากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีนักเรียนประมาณ 1 ล้านคน ที่เรียนธรรมศึกษาในแต่ละปี จากจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งหมดประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนน้อย ตนอยากจะเห็นมีนักเรียนสัก 10 ล้านคน ที่สอบธรรมศึกษาต่อปี ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็จะส่งผลให้หลวงพ่อตามวัดต่างๆ จำนวน 2-3 หมื่นรูป ได้มีโอกาสมาสอนเด็ก แต่ทุกวันนี้หลวงพ่ออยากจะสอน แต่เด็กไม่อยากจะเรียน เพราะเรียนแล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ถ้าทำให้การเรียนมีความหมายดังกล่าวก็จะทำให้เด็กๆ ให้ความสนใจกันมากขึ้น

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2366&Key=hotnews

“การศึกษา” รากฐานแห่งความ “พอเพียง”

5 มกราคม 2550

เป็นที่ทราบกับดีว่าหลักความ “พอเพียง” สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งใดก็ได้ ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยวิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้วและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นลำดับต่อไป…”

ดั่งพระราชดำริที่ทรงเน้นว่า “การพัฒนาความเจริญต้องพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานที่มั่นคง” ซึ่ง…พื้นฐานจะมั่นคงได้ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ “การศึกษา” เนื่องในโอกาสพิเศษคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานปีใหม่รังสรรค์สิ่งดีเพื่อชีวิตสดใส ได้รับเกียรติจาก รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับสถานศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายขวัญแก้วบอกว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนมีการศึกษา ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้ดี ทัดเทียมกันหมด ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ดี

“การศึกษาเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นมาก จะเห็นได้จากทรงมีพระบรมราโชบายให้เปิดโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เมื่อปี 2531 ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยจัดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ ป.1-ม.6 และให้โรงเรียนดำเนินการตามพระบรมราโชบาย คือ สอนให้นักเรียนรู้จักรักษาความสะอาด เริ่มตั้งแต่ ป.1 พระองค์ทรงเน้นให้เด็กรักความสะอาด เด็กต้องรู้จักซักผ้าเอง ทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำให้สะอาด เพราะพระองค์ทรงถือว่า ห้องน้ำเหมือนห้องรับแขก ทุกอย่างเด็กต้องทำได้ด้วยตัวเอง”

นายขวัญแก้วเล่าว่า เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะมีพระราชประสงค์ให้เด็ก “รู้จักการช่วยเหลือตนเอง” ซึ่งเป็นสิ่ง “สำคัญที่สุด”

“อีกข้อที่ทรงเน้นคือ การอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดี มีเมตตากรุณา ดั่งที่สมเด็จย่าตรัสว่า ความเมตตาคือความสงสาร ส่วนความกรุณา คือ ช่วยตามกำลังความสามารถของตนเอง ไม่ใช่ช่วยเพราะอำนาจ เช่น ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน แทนที่มีน้อยจะทำน้อย กลับไปยืมเงินคนอื่นมาทำเกินฐานะ”

รองเลาขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บอกอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชประสงค์ให้ปลูกฝัง ความประพฤติเรียบร้อย กตัญญูกตเวที ความขยันหมั่นเพียร มีจิตใจโอบอ้อมอารี และรู้รักสามัคคคีเพื่อสันติสุข

“เรื่องสุดท้ายที่ทรงเน้นคือ ให้นักเรียนดำรงชีวิตโดยยึดหลักพอเพียง คือ เมื่อจบจากโรงเรียนไปแล้วสามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงอธิบายว่า ถ้าหากจบมหาวิทยาลัยแล้วเดินเตะฝุ่น นี่ไม่ใช่พระราชประสงค์ แต่ถ้าจบมัธยมแต่สามารถอยู่ได้ด้วยลำแข้งตนเอง สิ่งนี้ต่างหากที่ถือว่าเยี่ยม”

นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ “นักเรียน-นักศึกษา” สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็น “ผู้ใหญ่” ที่รู้จักความ “พอเพียง” อย่างลึกซึ้ง

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2368&Key=hotnews

“ดร.สว่าง”ประธาน”ทปอ.มรภ.”คนใหม่ ชูยกมาตรฐาน”ราชภัฏ”เทียบชั้นม.รัฐ

5 มกราคม 2550

ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พิบูลสงคราม และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ทปอ.มรภ.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้เลือกประธาน ทปอ.มรภ.คนใหม่ แทน รศ.ดร.สุพล วุฒิเสน อธิการบดี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่หมดวาระลงเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2549 โดยผลการคัดเลือกให้ตนเป็นประธาน ทปอ.มรภ.คนใหม่ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป ส่วนนโยบายของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ยังไม่ได้หารือรายละเอียดในที่ประชุม ทปอ.มรภ. แต่เบื้องต้นตนเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ น่าจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มทำเรื่องที่เหมือนๆ กัน แต่ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันในทุกเรื่อง เช่น เรื่องการวิจัยเพื่อชุมชน เรื่องนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และเรื่องโครงการพระราชดำริ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนเพื่อวัตถุประสงค์ในการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษ ทั้งในแง่ของอัตรากำลังคน และงบประมาณ รวมถึงเพื่อดำเนินการให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรัฐทั่วไป เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นสอง

“เราต้องการอยู่ในมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยรัฐทั่วไป แต่ไม่จำเป็นต้องเป็น World Class University ซึ่งในปัจจุบันทางสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็เริ่มพูดถึงเรื่องคุณภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ฉะนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งใดที่ดำเนินงานในลักษณะทำไร่เลื่อนลอย หรือเปิดศูนย์และวิทยาเขตโดยไม่ได้คุณภาพ ก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ซึ่งผมจะหยิบยกปัญหาเรื่องนี้มาพูดคุยกันในที่ประชุม ทปอ.มรภ.ในโอกาสต่อๆ ไป” ดร.สว่างกล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2364&Key=hotnews

เล็งหักเงินวิทยฐานะแก้หนี้ครู

5 มกราคม 2550

นายบำเรอ ภานุวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนเอง และผู้บริหารของธนาคารออมสิน ได้เข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เสนอว่า สกสค. ควรนำเรื่องครูเป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบ บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาหนื้สินครู โดยถือเป็นเรื่องด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่จะนำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ จำนวนครูที่ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูกับทาง สกสค. จำนวน 131,217 คนนั้น พบว่า มีครูเป็นหนี้นอกระบบ 45,650 คนคิดเป็นมูลหนี้ 11,082,808,552 บาท เฉลี่ยสูงถึง 200,000 บาทต่อคน ขณะที่ครูเป็นหนี้บัตรเครดิต มีจำนวน 4,403 คน คิดเป็นมูลหนี้ 2,416,946,328 บาท เฉลี่ย 70,000 บาท ต่อคน

รองเลขาธิการ สกสค.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สกสค.จะขอรายชื่อครูที่ได้รับเงินวิทยฐานะ จากทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อมาดูว่ามีครูที่ได้รับเงินวิทยฐานะคนใดบ้าง ที่ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินกับทาง สกสค. เพื่อจะได้นำเงินวิทยฐานะที่ครูแต่ละคนได้รับ มาใช้จ่ายดอกเบี้ยแทนการหักเงินเดือน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแต่ครูต้องยินยอมให้หักเงินวิทยฐานะ ส่วนกรณีที่ครูไม่ได้รับเงินวิทยฐานะนั้น จะมีการจัดเป็นบัญชีที่ 2 เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: กรุงเทพฯ–5 ม.ค.—สยามรัฐ

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2357&Key=hotnews

ปฏิรูปครูก่อน

5 มกราคม 2550

ผ่านไปอีกแล้วหนึ่งปีที่การศึกษาต้องเสียเวลากับการต้องนำปัญหาเก่าๆ ที่ซุกกันไว้ใต้พรมสะสมกันมาหลายสมัย ออกมาชำระสะสางกันใหม่อีกรอบ โดยเฉพาะปัญหาการปฏิรูปครูที่ยังไปไม่ถึงไหน

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ และคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ที่เวลานี้หลายท่าน ได้เข้าไปนั่งเป็นใหญ่เป็นโตในสถาบันอุดมศึกษาและในองค์กรมหาชนที่มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายในเรื่องการประกันคุณภาพสถานศึกษา ต่างเคยพูดเป็นเสียงดียวกันว่า

ถ้าปฏิรูปครูไม่ได้ ก็อย่าไปหวังว่าจะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ

และวันนี้รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนถึงการปฏิรูปครูเห็นได้จากผลงานทางวิชาการผ่านกองกระดาษ มีเงินวิทยฐานะเมื่อผ่านการประเมินสูงขึ้น มีใบประกอบวิชาชีพที่แสดงถึงศักดิ์ศรีเหมือนวิชาชีพอื่น มีคุรุสภาที่บอกตนเองว่าเป็นสภาครู แต่ไม่ค่อยคิดทำอะไรในเชิงพัฒนาวิชาชีพครู

มีสำนักงานสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สก.สค.) ที่คอยขายของผ่อนส่งให้ครูได้เป็นหนี้เป็นสิน มากกว่าจะคิดสร้างความมั่นคงให้สมาชิกครูตามชื่อ

นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานกคศ.หรือกค.ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คอยเป็นนิติบริกรให้กับนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีมากกว่าหลักการที่ผดุงไว้ซึ่งโปร่งใส เป็นธรรม เป็นที่พึงแก่ข้าราชการครูที่ดี มีความรู้ ความสามารถให้มีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างที่ควรจะเป็น

จึงมิแปลกที่มีผลออกมาว่า ครูตกประเมิน 2 ใน 3 ผ่านเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเพียงการประเมินจากเอกสารเท่านั้น และยังพบว่านักเรียนอ่านหนังสือไม่ออกมีจำนวนถึงเกือบล้านคน

ขอถามหน่อยเถอะว่า นี่มิใช่ความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาหรืออย่างไร หากเจาะลึกเอาผลจริงๆ อาจจะต่ำกว่านั้นก็ได้

ดังนั้น จึงขอฟันธงได้เลยว่า การปฏิรูปการศึกษาแม้ใครคนไหนจะเข้ามารับผิดชอบศธ. ตราบใดที่การปฏิรูปครูยังไปไม่ถึงไหน

ก็ยากที่จะสำเร็จได้โดยง่าย

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2361&Key=hotnews