เสวนาขับเคลื่อนนโยบาย ศธ.

22 พฤศจิกายน 2556

จากการเสวน “แนวคิดสู่การพัฒนา ปัญหาไม่ใช่อุปสรรค” ในการประชุมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติ การรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา ปี 2556 เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.เอนก ล่วงลือ ผอ.กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพฐ.) ปทุมธานี เขต1 กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้การศึกษาสำเร็จก้าวหน้าอยู่ที่ตัวครู ซึ่งเวลานี้เห็นว่าครูเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะสอนเด็กในแต่ละช่วงวัย ตามหลักสูตรที่กำหนดขึ้น แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการสอนของครูคือการขาดเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่จะดึงความสนใจให้เด็กเข้าห้องเรียนและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และการขาดขวัญและกำลังใจที่ดีที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าของงาน เป็นผลให้ครูไม่ปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาอย่างเต็มที่ จึงอยากให้ผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นขวัญและกำลังใจครูให้ฮึกเหิมในการทำงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ เพราะตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษามาเป็นเขตการศึกษาผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนของเด็กและคุณภาพของครูก็ลดลงโดยตลอด

ด้าน ดร.สมชัย ชวลิตธาดา ผอ.โรงเรียนเอกชัย จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดก็ต่อเมื่อมีการประกาศผลจัดอันดับการศึกษาระดับประเทศ หรือมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ จากนั้นก็เงียบหายไปเป็นระยะ อย่างไรก็ตามหากพูดถึงนโยบายด้านการศึกษาแล้วอยากให้พิจารณาว่า ทุกครั้งที่มีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาลงมาสู่โรงเรียน ควรวิเคราะห์ก่อนว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีนโยบายด้านการศึกษาจากหลายกระทรวงไม่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้นที่ลงมาสู่โรงเรียน จึงต้องพิจารณาก่อนว่าเหมาะกับสภาพปัญหาของโรงเรียนหรือไม่ เพราะนโยบายบางอย่างก็เหมาะสมกับบางโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งหากนโยบายใดตรงกับสภาพปัญหาของโรงเรียนก็ควรทำเต็มที่ แต่หากไม่ค่อยตรงก็จะทำพอประมาณ แต่ทั้งนี้ต้องถ่ายทอดและทำความเข้าใจกับครูให้ชัดเจนก่อนเพื่อไม่ให้เกิดกระแสการต่อต้าน โดยให้ครูร่วมเป็นผู้กำหนดเป้าหมายที่จะนำนโยบายไปสู่ความสำเร็จด้วยตนเอง

ทุกวันนี้การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเป็นเหมือนไฟไหมฟาง คือ ทำเป็นงานๆ ให้แล้วเสร็จ ซึ่งการทำลักษณะนี้จะได้ผลชั่วคราวเท่านั้นไม่ยั่งยืน จึงมองว่าหากจะแก้ปัญหาต้องคิดให้ยาวอย่างเป็นระบบ โดยต้องวางแผนตั้งแต่ต้นเช่นการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกก็ไม่ใช่ระดมการซ่อมเสริมเท่านั้น เพราะต้องทำกันทุกปีแต่จะต้องวางระบบอย่างไรให้เด็กอ่านได้โดยไม่ต้องซ่อมเลยจะดีกว่า” ดร.สมชัย กล่าว

ด้านนายคณิน นาคะไพบูลย์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนรัตนาธิเบศร์ กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาในเวลานี้คือไม่ได้มีการคุยกันให้ชัดเจนเรื่องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพราะขณะนี้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยมากจะจัดสอบตรง ทำให้เด็กต้องเลือกวิธีกวดวิชาเพื่อให้สอบได้ เพราะหากมัวแต่เรียนในระบบคงสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ส่วนเรื่องการสอนให้เด็กคิดเป็นนั้นเป็นเรื่องที่ดีแต่ตัวครูไม่เข้าใจเรื่องการสอนวิเคราะห์จึงมุ่งแต่จะหารายได้ด้วยการสอนกวดวิชา รวมถึงการให้เกรดเทียมกับเด็กเพื่อไม่ให้เป็นเป้าสายตาว่าสอนเด็กไม่มีคุณภาพ

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34905&Key=hotnews

‘ภาวิช’ ชงรื้อรูปแบบผลิตครู

22 พฤศจิกายน 2556

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะทำงานกำหนดประเด็นปฏิรูปการผลิตและพัฒนาครู ได้ยกร่างข้อเสนอการปฏิรูประบบผลิตครู เพื่อเสนอต่อ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ.ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางการผลิตครูให้สอดคล้อง กับความต้องการทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีข้อเสนอ ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาครูของชาติ อาทิ กระบวนการผลิตครู ควรทำเหมือนกระบวนการผลิตแพทย์ ที่ผู้จบแพทย์ทุกคนสามารถเป็นแพทย์ปฏิบัติทั่วไปได้ ดังนั้นผู้ที่จบครูทุกคน จะต้องสอนชั้นประถมศึกษาในทุกวิชาได้ จากนั้นจึงให้มีกระบวนการในการพัฒนาครูที่ มีความสามารถเฉพาะทางต่อไป เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาครูสอนไม่เป็น ไม่สามารถสอนนอกเหนือไปจากวิชาเอกที่จบมาได้ เพราะระบบผลิตครูปัจจุบันมีการจำแนกวิชาเอกตั้งแต่ต้น

ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปว่า เสนอให้ใช้โครงการ ครูพันธุ์ใหม่ รูปแบบใหม่ ผลิตนักศึกษาครูที่มีคุณภาพจริง ๆ ควบคู่กับการจัดระบบคัดเลือกครูในตลาดเสรี ให้ได้ครูที่มีคุณภาพเข้ามา โดยจำนวนการผลิตครูทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับข้อมูลอัตราเกษียณอายุราชการในอนาคต ที่มีประมาณ 20,000 คนต่อปี ซึ่งการบรรจุเข้ารับราชการครู ก็แบ่งสัดส่วนเป็นครูพันธุ์ใหม่ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาครูสอบแข่งขัน จะทำให้ได้ครูใหม่เป็นครูที่ มีคุณภาพทั้งหมด ทั้งนี้ หาก รมว.ศธ.เห็นด้วย ก็จะมีการกำหนด รายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34902&Key=hotnews

เตือนเด็กไทยอ่อนภาษาเสียเปรียบคู่แข่ง

22 พฤศจิกายน 2556

โพสต์ทูเดย์ห่วงเด็กไทยอ่อนอังกฤษเมินเรียนภาษาอาเซียน เสียเปรียบการแข่งขันหลังเปิดเออีซี แนะปรับทัศนคติใหม่

น.ส.จุไรรัตน์ แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จุดอ่อนที่สำคัญของเด็กไทยเวลานี้ คือ มีทักษะด้านภาษาอังกฤษอ่อนกว่าคนในประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขณะเดียวกันเด็กไทยยังไม่ตื่นตัวเรียนภาษาเพื่อนบ้านอาเซียนเนื่องจากมีทัศนคติที่ผิด ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสการแข่งขันในอนาคตได้

“เด็กไทยไม่ตื่นตัวด้านภาษาสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ดี พูดภาษาอาเซียนก็ไม่ได้ หากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) จะทำให้เสียเปรียบการแข่งขันในตลาดงาน รวมทั้งอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในธุรกิจท่องเที่ยวด้วย เพราะนักลงทุนต่างชาติอาจเข้ามาทำตลาดและชิงส่วนแบ่งไป” น.ส.จุไรรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาเซียนมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นปีละ 8.4% มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ 18%โดยประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นปีละ 11.2% รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัว 17.6%

นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าภูมิภาคอาเซียนจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปี 2558-2563 เพิ่มขึ้น 6.5% สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกระดับ 4.1%

น.ส.จุไรรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชาลาว พม่า และเวียดนาม มีการสอนภาษาไทยอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะเห็นว่าไทยมีศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคม จึงทำให้หลายประเทศสนใจมาลงทุนด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ประเทศกลุ่มนี้ต่างเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา หากประเทศไทยไม่พัฒนาตัวเอง อาจถูกประเทศอื่นแซงหน้าในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าการรวมตัวประชาคมอาเซียนจะช่วยกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาให้ความสำคัญด้านภาษามากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34901&Key=hotnews

ปลัด ศธ.หนุนเพิ่มเงินพิเศษ ‘ครู’ สาขาขาดแคลน-สอนเก่ง-ร.ร.เสี่ยงภัย

22 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครูตามนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ว่า ขณะนี้ได้มีการยกร่างตั้งคณะกรรมการมาขับเคลื่อนในการผลิตและพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว ซึ่งวันที่ 23 พฤศจิกายน จะมีการระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นต้น มาร่วมหารือเรื่องการผลิตครูทั้งระบบ ส่วน วันที่ 24 พฤศจิกายน จะระดมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาวิชาชีพครูทั้งระบบ โดยเรื่องการพัฒนาวิชาชีพครู จะต้องนำมาพิจารณาทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือก แต่งตั้งคนเข้ามาเป็นครู จะมีหลักเกณฑ์ใหม่ๆ หรือไม่ และจะทำอย่างไรให้คนเก่งและดีมาเป็นครูซึ่งจะมีเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยต้องเอื้อให้คนเหล่านั้น มาเป็นครูในปริมาณที่เพียงพอและตรงตามความต้องการ และเมื่อได้ครูเข้ามาในระบบแล้ว จะต้องมีการพัฒนาให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน รวมทั้งจะต้องดูโอกาสและความก้าวหน้าของครู นอกจากนี้ จะต้องดูเรื่องขวัญและกำลังใจของครูในเรื่องหนี้สินต่างๆ ด้วย

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เสนอให้เงินเพิ่มพิเศษแก่ครูในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลนนั้น มี ความเป็นไปได้เพื่อเป็นการรับรองวุฒิการศึกษาในสาขาขาดแคลนและจะได้ดึงดูดให้คนเก่งมาเป็นครู ทั้งนี้ การให้เงินเพิ่มพิเศษดังกล่าว คิดว่าคงไม่ให้เฉพาะครูสาขาขาดแคลน แต่ควรจะพิจารณาให้ครูในส่วนอื่นๆ ด้วย เช่น ครูในพื้นที่ห่างไกล ครูในพื้นที่เสี่ยงภัย ครูที่ทุ่มเทการเรียนการสอนมาก ครูที่สอนหนังสือเก่ง แต่ไม่มีเวลาทำผลงานทางวิชาการ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้ จะต้องให้ได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34900&Key=hotnews

ยูเนสโกยกย่อง ร.7 บุคคลสำคัญของโลก

22 พฤศจิกายน 2556

“ยูเนสโก” ยกย่อง  “รัชกาลที่ 7-พระศรีพัชรินทราฯ-หม่อมงามจิตต์”บุคคลสำคัญของโลกปี 56 “ศธ.” พร้อม 3 หน่วยงานที่เสนอชื่อเตรียมจัดงานฉลองใหญ่รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และมีคุณูปการต่อการศึกษาไทย

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.56 นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 37 ณ สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประกาศยกย่องบุคคลสำคัญของโลกและร่วมเฉลิมฉลองประจำปี 2556 ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ได้รับการยกย่อง บุคคลสำคัญของโลก เละร่วมเฉลิมฉลองตามที่มีหน่วยงานเสนอพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยและเสนอชื่อผู้ที่มีผลงานดีเด่นให้ยูเนสโกดังนี้

1.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสนอ โดยสถาบันพระปกเกล้าเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ในการประกอบพระราชกรณียกิจในประเทศไทย หลังจากเสด็จกลับจากการศึกษา ณ ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2457 และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาส วันพระราชสมภพครบรอบ 10 ปีนักษัตร ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า

2.สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เสนอโดยราชินีมูลนิธิ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบ150 ปี วันที่ 1 มกราคม 2556 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาสำหรับเด็กหญิงและสตรี การศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสังคมและมนุษยศาสตร์ และ3.หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เสนอโดยมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาล ในปี 2558 เนื่องจากเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์การพัฒนาชุมชน และการศึกษาด้านวัฒนธรรม

“บุคคลดีเด่นทั้งของไทยที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก มีคุณงามความดีที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างมากและมีคุณูปการต่อการศึกษาไทยด้วย ส่วนการร่วมเฉลิมฉลองบุคคลดีเด่นในธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมาศธ.จะร่วมกับผู้เสนอจัดงานเฉลิมฉลองโดยตนได้มอบเป็นนโยบายให้หารือกับหน่วยงานที่เสนอว่าหากจะจัดเฉลิมฉลองพร้อมกันทั้งสามท่านจะได้หรือไม่ แต่ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานจะไปจัดเฉลิมฉลองและศธ.จะเข้าไปร่วมด้วย ซึ่ง ศธ.จะประสานไปยัง 3 หน่วยงานที่เสนอชื่อเพื่อร่วมเฉลิมฉลองด้วย” นางสุทธศรีกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34899&Key=hotnews

 

 

ชูอุดมศึกษาเอกชนเทียบชั้น ม.โลก

21 พฤศจิกายน 2556

รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่องการเตรียมพร้อมกับการผลักดันสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยเข้าสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก” ในงานครบรอบ 36 ปีของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ว่า สถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชนเป็นกำลังสำคัญในการผลิตผู้คนให้กลายเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติ ซึ่งขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีความก้าวหน้าไปมาก แต่การศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านกำลังนำหน้าไปไกลกว่าที่คิด ดังนั้นสิ่งที่การศึกษาไทยทำได้และต้องทำคือการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก แต่ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด โดยอาจจะทำเป็นบางส่วน เช่น สาขา ภาควิชา คณะ และไม่จำเป็นจะต้องทำเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาใหญ่ๆเท่านั้น สถาบันอุดมศึกษาระดับกลางและระดับเล็กก็สามารถทำได้

ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะนายก สสอท. กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนมีจุดเด่นคือการบริหารงานต่อเนื่อง จึงทำให้สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับประเทศและโลกได้ ส่วนสาขาที่จะนำไปสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ได้แก่ นิเทศศาสตร์และสารสนเทศ วิศวกรรมยานยนต์ และศิลปะการแสดง.

ที่มา: http://www.thairath.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34875&Key=hotnews

ศธ.ห่วงคนไทยอ่อนภาษาไทยขั้นหนัก จุฬาฯชี้การสอนระดับมัธยมอ่อนแอ

21 พฤศจิกายน 2556

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ตนได้ขอให้จุฬาฯ ออกแบบการทดสอบวัดผลภาษาไทย สำหรับใช้กับคนไทย เพื่อเตรียมไว้ใช้จัดทดสอบกลางวัดความสามารถในวิชาภาษาไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น มีการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถทางภาษา ซึ่งทั้งเจ้าของภาษาและชาวต่างประเทศที่มาเรียนภาษา ต้องเข้ารับการทดสอบ เพื่อประเมินความสามารถทางภาษานั้น ๆ แต่ยังไม่มีการจัดทดสอบกลางวัดความสามารถทางภาษาไทย ทั้ง ๆ ที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยของเด็กไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

“ผู้เชี่ยวชาญในสถาบันอุดมศึกษา หลายคนยืนยันตรงกันว่า ทักษะภาษาไทยของนักเรียนมัธยมฯ โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ไม่น่าพอใจ เด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ยังมีทักษะทางภาษาไทยอ่อนมาก โดยเฉพาะความสามารถในการเขียน และอ่านสรุปความ แต่เด็กเหล่านี้กลับทำคะแนนสอบในวิชาต่าง ๆ ได้ดี เพราะข้อสอบส่วนใหญ่เป็นปรนัย ไม่มีอัตนัยให้เด็กได้ฝึกเขียน ฝึกสรุปความ อีกทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เน้นการทดสอบความสามารถทางภาษา ผมจึงเห็นว่าควรมีการทดสอบกลางวัดผลทางภาษาไทย เพื่อนำมาสแกนวัดความสามารถทางภาษาไทยของเด็กไทย พร้อมนำผลทดสอบไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” รมว.ศธ.กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ จุฬาฯ ได้เริ่มทำแบบทดสอบวัดความสามารถทางภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศไว้แล้ว ซึ่งก็ได้รับการยอมรับพอสมควร สำหรับแบบทดสอบภาษาไทยที่ให้ทางจุฬาฯพัฒนาขึ้นมานั้น จะนำมาหารือผู้เชี่ยวชาญว่า ควรจะนำมาทดสอบผู้เรียนระดับใดบ้าง ซึ่งอาจจะสอบก่อนจบระดับ ม.ปลาย สอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบก่อนจบมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังให้ทางจุฬาฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะการจัดการเรียนการสอนในหลายภาษายังให้ผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ เรียนแล้วนำมาใช้ไม่ได้จริง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนา ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาต่างประเทศอย่างจริงจังด้วย

ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ได้มอบให้สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ รับเรื่องนี้ไปดำเนินการ ซึ่งต้องยอมรับว่าความสามารถทางภาษาไทยของผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ค่อนข้างอ่อนจริง โดยจุฬาฯ จะให้นิสิตปี 1 ที่สอบเข้าได้ทุกคนสอบวัดความสามารถทางภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ พบว่า ทักษะในการเขียนต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์จะได้คะแนนทดสอบภาษาไทยต่ำกว่าเด็กที่เรียนสายศิลป์ภาษา.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34873&Key=hotnews

ทปอ.รับถกข้อสอบกลางแนะมหา’ลัยต้องร่วมออกแบบ/จุฬาฯเร่งทำโทเฟลภาษาไทย

21 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.56 นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวถึงกรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ จะจัดทำข้อสอบกลางเพื่อให้มหาวิทยาลัยและคณะต่างๆ นำคะแนนไปใช้ในการรับตรงเพื่อแก้ปัญหาวิ่งรอกสอบ และลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงให้มีการจัดสอบหลังจากเด็กเรียนจบการศึกษาแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ว่า ที่ผ่านมา สทศ.จัดสอบ 7 วิชาสามัญ เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำคะแนนไปใช้ในการรับตรง ผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์อยู่แล้ว แต่นโยบายที่จะให้มีการจัดสอบกลางขึ้นอีก ทางสทศ.ก็คิดว่าไม่มีปัญหา แต่ข้อสอบกลางจะมีลักษณะอย่างไร ต้องให้แต่ละมหาวิทยาลัยมาร่วมกันออกแบบ ซึ่งเท่าที่ทราบมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการแล้ว

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการใช้ข้อสอบกลาง เพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วยวิธีการรับตรงนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะการที่คณะ/มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเองเพราะต้องการสอบวิชาเฉพาะทางของแต่ละคณะ/สาขา อาทิคณะแพทยศาสตร์ อาจจะต้อง การคัดเด็กที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ ขณะที่คณะนิติศาสตร์ ก็อาจจะต้องการเด็กที่มีความรู้ ความสามารถอีกแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน แต่ในฐานะประธาน ทปอ. ตนรับจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมทปอ. ต่อไป ส่วนวิธีการก็อาจ จะเป็นลักษณะเดียวกับการรับของกลุ่มแพทย์ อาทิ คณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศ อาจจะร่วมตัวกันและออกข้อสอบเพื่อรับนักศึกษา เป็นต้น วันเดียวกัน

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาฯโดยสถาบันภาษาไทยสิรินธร ได้รับเป็นเจ้าภาพในการออกแบบ “แบบทด สอบภาษาไทย”สำหรับคนไทยเจ้าของภาษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการให้มีแบบทดสอบทักษะภาษาไทย เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ที่ผู้เรียนจะต้องผ่านการประเมินความสามารถทางภาษานั้นๆ โดยแบบทดสอบ ที่ให้จุฬาฯ พัฒนาขึ้นมานั้น ศธ.จะนำไปหารือผู้เชี่ยวชาญว่าควรจะทดสอบผู้เรียนระดับใดบ้าง อาจจะสอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนจบมหาวิทยาลัย หรือก่อนจบม.ปลาย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าความสามารถทางภาษาไทย ของผู้ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้น ค่อนข้างอ่อน โดยจุฬาฯ จะให้นิสิตชั้นปี 1 ที่สอบเข้าได้ทุกคนสอบวัดความสามารถทางภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคอมพิวเตอร์ พบว่า ทักษะในการเขียนภาษาไทยต่ำมาก สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนระดับมัธยมน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเด็กสายวิทย์จะได้คะแนนทดสอบภาษาไทยต่ำกว่าสายศิลป์ภาษา

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34872&Key=hotnews

ชงยกมาตรฐานโรงเรียนเอกชนเทียบสากล

20 พฤศจิกายน 2556

โพสต์ทูเดย์ สช.เตรียมชงเกณฑ์อัพเกรดมาตรฐานสถาบันการศึกษาเอกชนเข้าที่ประชุม กช. เดือนหน้า นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กำลังจัดทำร่างเกณฑ์วัดผลสถาบันการศึกษาเอกชนในสังกัด สช. เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้มีมาตรฐานสากล โดยคาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)ในเดือน ธ.ค.นี้ และจะมีผลบังคับใช้ในปีการศึกษา 2557

เกณฑ์ที่จะใช้วัดประเมินคุณภาพประกอบด้วย

1.ผลลัพธ์ของตัวนักเรียน นักศึกษา เช่น ทักษะด้านภาษา ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตนวัตกรรม ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) รวมถึงการเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นต้น

2.หลักสูตรของสถาบัน ที่จะต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ทำให้ได้เรียนรู้เฉพาะทางมากขึ้น โดยวิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้ว่าตนเองมีความถนัดหรือความชอบด้านใดเป็นพิเศษ

3.ตัวบุคลากรครูและผู้บริหารสถาบัน ที่จะต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ หรือสอนให้ผู้เรียนมองเห็นภาพและความสำคัญของวิชาที่เรียน และอาจกำหนดให้สถาบันการศึกษาจะต้องมีผลงานวิจัยและพัฒนาจัดการศึกษาที่เป็นผลงานวิชาการของครูในสถาบันนั้น

“คาดว่าจะมีสถาบันการศึกษาเอกชนไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง จากทั้งหมดประมาณกว่า 3,000 แห่งผ่านเกณฑ์นี้” นายบัณฑิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานสากลจะสามารถรับนักเรียนจากต่างประเทศได้มากขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

นอกจากนี้ สช.จะเสนอให้นายจาตุรนต์ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกช. พิจารณาเกณฑ์ปรับขึ้นเพดานค่าเล่าเรียนของสถาบันการศึกษาเอกชน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังมีการปรับขึ้นทั้งเงินเดือนบุคลากรครู เป็น1.5 หมื่นบาทต่อเดือนและค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเพดานเดิมเป็นเกณฑ์ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2545

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34855&Key=hotnews

จี้รัฐประกาศนโยบายเอาจริงพัฒนาภาษาอังกฤษ

20 พฤศจิกายน 2556

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คนที่ 2 กล่าวในการเสวนาวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ : ประสบการณ์จากต่างประเทศ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันสอนภาษาอีเอฟ (Education First) ของสวีเดน ได้รายงานผลการทดสอบทางอินเทอร์เน็ตในกลุ่มประชากรวัยทำงานที่ใช้ภาษาอังกฤษ จำนวน 7.6 แสนคน ใน 60 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งในส่วนของเอเชีย พบว่ามาเลเซียเป็นอันดับ1 แต่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก และอันดับที่ 12 สิงคโปร์, 21 อินเดีย, 22 ฮ่องกง, 24 เกาหลีใต้, 25 อินโดนีเซีย, 26 ญี่ปุ่น, 28 เวียดนาม, 33 ไต้หวัน, 34 จีน และ 55 ไทย

“ในรายงานยังระบุด้วยว่า ประเทศที่ประชากรมีความรู้ ภาษาอังกฤษสูงขึ้นจะทำให้แนวโน้มมีรายได้เฉลี่ยมวลรวมต่อปีสูงขึ้นด้วย ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องค้นหามาตรการในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มศักยภาพในการ แข่งขัน เตรียมรับการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

ดร.ดอริส วิบูลย์ศิลป์ อดีต ผอ.บริหารมูลนิธิฟุลไบรท์ กล่าวว่า ตนสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยมา 40 ปี พบว่าปัจจุบันทักษะภาษาอังกฤษทั้งของนักเรียนและคนไทยยิ่งแย่ลง แม้แต่การใช้คำศัพท์พื้นฐานง่ายๆก็ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้แก่คนไทยนั้น รัฐบาลต้องเอาจริงและประกาศนโยบายที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วย โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบตั้งแต่รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา ครู ผู้ปกครอง ฯลฯ ทั้งนี้การเอาจริงเอาจังสามารถเริ่มได้จากครูเป็นอันดับแรก

ด้าน ผศ.ดร.เสงี่ยม โตรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ม.ศิลปากร ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์สถานการณ์การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดนโยบายด้านภาษาต่างประเทศอย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ จะมีนโยบายพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เช่น สิงคโปร์จะจัดการเรียนการ สอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ในขณะที่ไทยยังถือว่าภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาต่างประเทศ อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ยังพบว่าเฉพาะประเทศไทยนั้น ผู้ที่จะสอนภาษาอังกฤษต้องมีวุฒิด้านครู และจบวิชาเอกภาษาอังกฤษจากคณะครุศาสตร์ ทำให้พื้นฐานความรู้น้อยกว่าผู้ที่จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง ในขณะที่ประเทศจีน เวียดนาม สิงคโปร์และมาเลเซีย ผู้ที่สอนภาษาอังกฤษมักจบจากคณะอักษรศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์แล้วจึงมาเรียนวิชาชีพครูเพิ่มเติมในภายหลัง.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34854&Key=hotnews