bangkokbiz

แชร์ไม่แชร์ บนสื่อสังคมออนไลน์

การใช้สื่อออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดีย คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ถ้าชอบต้องกด “Like” ถ้าใช่ต้องกด “Share” คงเป็นกิจกรรมที่พบได้ทั่วไป

! http://bit.ly/1b8RM0W
โดย : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

หรือกลายเป็นวัตรปฏิบัติของการใช้โซเชียลมีเดียไปแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องราวครึกโครมใหญ่โตสะเทือนสังคมออนไลน์ประเด็นการกด Like หรือ Share บางเรื่องบางประเด็นอาจจะเป็นสิ่งที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จนกลายเป็นกระแสทางสังคมเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ หรือเสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์ของผู้ใช้หรือไม่

หากพิจารณาดีๆ ตัดประเด็นเหล่านั้นออกไป สร้างกรอบปฏิบัติที่ดีของการใช้สื่อออนไลน์ โดยเริ่มต้นที่ตัวผู้ใช้สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งใหญ่โตที่จะต้องคำนึงถึงมากนัก มนุษย์ยุคสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนแบ่งปันเป็นกิจกรรมกลุ่มทางสังคมจากยุคการแลกเปลี่ยนเชิงสิ่งของในยุคเก่าก่อนไปสู่ยุคการแลกเปลี่ยนแบบดิจิทัล ข้อมูลในรูปของ ข้อความ คลิปเสียง ภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว บนสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่มีภูมิทัศน์ของความหลากหลายในการแบ่งปันข้อมูล อาทิ บทความออนไลน์ผ่านบล็อก คลิปวีดิโอผ่านยูทูป ข้อความ โพสต์ข้อความบนแฟนเพจเฟซบุ๊ค เป็นต้น ประเด็นของการแบ่งปันของมนุษย์ยุคออนไลน์ มี 2 สิ่งหลัก คือ การแบ่งปันสิ่งที่มีความสำคัญ และการแบ่งปันความสนุกสนาน นอกนั้นก็เป็นการแบ่งปันเพื่อสะท้อนความเชื่อของตนเอง สะท้อนบุคลิกตัวตน การแนะนำสินค้า ภาพยนตร์ และอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วการแชร์ คือ “การแบ่งปันสิ่งที่มีความน่าสนใจ”

สามประการพื้นฐานสู่การเริ่มต้นการแบ่งปันที่ดีสามารถทำได้ง่าย เริ่มจากตัวผู้ใช้ ประการแรก ระมัดระวังข้อความหรือบทสนทนา อาทิ บนเฟซบุ๊คผู้ใช้งานสามารถส่งข้อความ โพสต์ภาพถ่าย หรือวีดิโอบนหน้ากระดานคนอื่นได้ แม้จะดูเหมือนกิจกรรมการส่งข้อความหากันคล้ายการส่งผ่านอีเมล์ของคนสองคน แต่มันสามารถเห็นโดยบุคคลทั่วไปที่เป็นเพื่อนของคนใดคนหนึ่ง ระมัดระวังประเด็นส่วนตัวกลายเป็นประเด็นที่วิ่งรอบโลก สิ่งนี้พบได้ในชีวิตประจำวันตามหน้าสื่อ อาทิ ข่าวกอสซิปของดารา ผ่านเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม คลิปหลุด แปลก จุดกระแสบนยูทูป ที่กลายเป็นประเด็นครึกโครม สื่อกระแสหลักนำไปเล่นขยายต่อ ดังนั้น เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นวิจารณญาณของผู้ใช้งานที่จะพิจารณา หากรู้ว่าสึกว่าไม่สะดวกที่จะแบ่งปันกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนแปลกหน้าที่ไม่สนิทชิดเชื้อ ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง

ประการที่สอง ข้อมูลส่วนบุคคลและองค์กรข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ไม่ควรที่จะโพสต์ เพราะเป็นการเชื้อเชิญ บุคคลที่ไม่ประสงค์ดี เข้ามาใกล้ หรือคุกคามชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัว ส่วนข้อมูลองค์กรหลายต่อหลายองค์กร ข้อมูลกิจกรรมบางอย่างเป็นสิ่งที่เป็นความลับ เช่น โครงการใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หากข้อมูลหลุดรั่วออกไปยังคู่แข่ง ก็สร้างมูลค่าความเสียหายแก่บริษัท หลายองค์กรจึงมีการจำกัดการเข้าถึงการใช้โซเชียลมีเดีย หรือการจำกัดการเข้าใช้เว็บไซต์บางเว็บ เพราะกลัวสิ่งที่พนักงานจะแชร์ออกไปด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม หนทางที่สะดวกกว่าคือการส่งผ่านอีเมล์ส่วนตัว และตระหนักเสมอว่าสิ่งที่กำลังนำเสนอออกไปบนโซเชียลมีเดียหากเกี่ยวข้องกับองค์กรควรสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร

ประการที่สาม พาสเวิร์ด ดูเหมือนประเด็นที่ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีใครทำกัน แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่า เรื่องพื้นๆ ทั่วไป สามารถสร้างเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้เสมอ พาสเวิร์ดไม่จำเป็นต้องเป็นพาสเวิร์ดบัตรเครดิต พาสเวิร์ดการล็อกอินเข้าเว็บไซต์ที่เป็นระบบสมาชิก หรือเครือข่ายโซเชียลมีเดียอื่นๆ น้อยคนนักที่ใช้เครือข่ายแต่ละแห่ง ใช้พาสเวิร์ดคนละชุดกัน หรือบางเครือข่ายก็อนุญาตให้ล็อกอิน ด้วยชุดพาสเวิร์ดผ่านเครือข่ายหนึ่งได้ เช่น คุณสามารถล็อกอินเข้ายูทูปด้วย ล็อกอินด้วยบัญชีผู้ใช้ของกูเกิล หรือล็อกอินเข้าพินเทอเรสต์ ที่สามารถล็อกอินด้วยบัญชีผู้ใช้อย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ หลายต่อหลายโซเชียลมีเดีย ให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ที่ไม่ต้องจดจำพาสเวิร์ด หรือใช้พาสเวิร์ดหลายชุด พึงระลึกไว้เสมอ บางครั้งด้วยความคาดไม่ถึงการณ์ ให้เพราะสนิทกัน ให้เพราะเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้งานได้ข้อมูลส่วนตัวหลุดเพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่เสมอ

โลกของโซเชียลมีเดีย เครือข่ายสังคมการแบ่งปันทุกสิ่งอย่าง มองด้านดี เป็นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคมขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาในทุกมิติ ชีวิตส่วนตัว งาน สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี บ่อยครั้งที่สังคมออนไลน์แห่งนี้พูดถึงการใช้งานสื่อ แต่ไม่ค่อยจะนำเสนอ การรู้เท่าทันสื่อและใช้งานสื่ออย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรพึงระลึกเสมอว่าทุกสิ่งอย่าง ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จะถูกบันทึกและปรากฏอยู่ตราบนานเท่าที่ยังมีคำว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ยังเป็นที่รู้จักของมวลมนุษย์

! http://bit.ly/1b8RM0W
Tags : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล

เตรียมตัวอย่างไร ถ้าจะกลายเป็นชาวอาเซียน

ตอนนี้หากคนถามว่าอาเซียนคืออะไร แล้วทำหน้างง ๆ สงสัยจะต้องหลุดกระแส ยิ่งผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาชูประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ
! http://bit.ly/Yclnyq

ภควัต สมิธธ์
ภควัต สมิธธ์

ทั้งโลกยิ่งตื่นเต้นกับคำว่า Change (เปลี่ยน) คลื่นความใหม่ของแนวคิดย่อโลกด้วย Cyber Network จึงทำให้คำว่า เปลี่ยน มีความชัดเจนมากขึ้น ประสบการณ์ท่องเที่ยวภาคเหนือของผม บ่งบอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการย่อโลกด้วยการติดต่อสื่อสารผ่านระบบสังคมออนไลน์ ทำให้ความเชื่อ ความคิด และพฤติกรรมของบุคคลเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่พบเห็น และได้สื่อสารกับคนในสังคมที่ต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม ลองนึกถึงเวลาไปเที่ยวดอยแล้วพบคนพูดสำเนียงชาวเขาที่สวมยีนส์ คู่กับรองเท้าผ้าใบยี่ห้อดังแบบนักบาสเกตบอล ก็เกิดความคิดที่ว่า เราไม่สามารถหยุดโลกได้ แต่เราจะใช้ประโยชน์อย่างไรกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น

การรวมกลุ่มของประเทศอาเซียนมีพื้นฐานแนวคิดมาจากการรวมกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป การใช้ค่าเงินเดียวกัน ข้อตกลงทางการค้าเดียวกัน การแลกเปลี่ยน เคลื่อนย้ายแรงงาน และการศึกษาแบบเสรี ฟังดูดีและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เมื่อได้ยินบางกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมอาเซียน โดยคิดไปว่าการรวมกลุ่มจะทำให้ประเทศไทยหายไป ภาษา วัฒนธรรม เอกลักษณ์จะโดนชาติที่เจริญอย่างสิงคโปร์กลืนความเป็นไทย ในทางกลับกันมองได้ว่า แนวคิดเรื่องอาเซียนไม่ได้ต้องการให้ทุกประเทศกลายเป็นประเทศเดียวกัน หากแต่มองเรื่องศักยภาพของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน จะสามารถเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กันและกันได้ โดยเรียกพวกเราทั้งหมดว่าอาเซียน เป็นการแสดงความสัมพันธ์ในภูมิภาคว่า เรามีแนวทางการค้า การลงทุน การดำเนินชีวิตคล้ายคลึงกัน และเราจะช่วยกันดูแลผลประโยชน์ของภูมิภาคบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกัน

คนไทยมีหลายแนวคิด บ้างอนุรักษนิยม บ้างสมัยใหม่นิยม บางคนมีเพื่อนเยอะแต่กลับไม่ถูกคอกับคนข้างบ้าน เราชอบแข่งกับคนข้างบ้านแต่ญาติดีกับคนที่อื่น ถ้าเขาซื้อรถใหม่เราจะอารมณ์เสีย แล้วเวลาโจรจะปล้นบ้าน หรือในยามเจ็บป่วย คนที่ไหนจะช่วยเรา ผมอยากให้เราลองมองย้อนไปในอดีตว่า ความคล้ายคลึงของพวกเราชาวอาเซียนมีมากมาย เรากินข้าว เราเคารพผู้ใหญ่ เราเก่งเกษตรกรรม เราเด่นศิลปะ เราอุดมสมบูรณ์ ส่วนความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ได้เกิดโดยประชาชนของประเทศนั้นๆ เพียงแต่เป็นเรื่องของโอกาสทางการเมือง การปกครอง แนวคิดของผู้นำ การขยายดินแดน ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของการอยู่รอดแบบสมัยอดีต แต่ปัจจุบันเรารู้จักกัน เราสื่อสารกัน เราค้าขายกัน เราสามารถใช้ประโยชน์จากความคล้ายคลึงให้เป็นจุดแข็งในการต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคอื่น เช่น การทำให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตอาหารและการเกษตรของโลก เพราะเราปลูกข้าว เรามีพืชผักผลไม้ อาหารทะเล สมุนไพรที่มีประโยชน์ เรามีฝีมือ นอกจากนั้นชาวอาเซียนมีอุปนิสัยเป็นมิตร ชอบต้อนรับ เราสามารถเป็นฐานการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบที่ทำรายได้มหาศาลในแต่ละปี

ประชาชนของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องปรับตัวปรับใจ เพื่อยินยอมเป็นสมาชิกที่แท้จริงของอาเซียน ไม่ใช่แค่พูดถึงแล้วผ่านไป ต้องสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกัน ประมาณว่าร่วมกันเป็นหุ้นส่วน ชาวอาเซียนต้องฝึกฝนตนเองในการรับรู้ข่าวสารประเทศเพื่อนบ้าน ฝึกการใช้ภาษาอังกฤษอย่างน้อยก็ฝึกอ่านข่าวสั้นๆ จากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ยอมรับในความเป็นตัวตนของกันและกัน รับฟังความคิดเห็น แลกเปลี่ยนภูมิปัญญา และเลิกเปรียบเทียบให้เกิดปมด้อย แต่จะต้องช่วยกันยกระดับความรู้ ความคิด ค่านิยม ในการสร้างความเจริญและความมั่นคงของภูมิภาค

จากที่เห็นทุกมหาวิทยาลัยเปิดโปรแกรมการเรียนเพื่อป้อนความต้องการของตลาดอาเซียน การส่งนักศึกษาไปฝึกงานกับมืออาชีพ เพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนสำเร็จการศึกษา และการเปิดรับนักศึกษาจากอาเซียนเข้ามาเรียน ทำให้บรรยากาศความร่วมมือดูมีชีวิตชีวาและมีความเป็นสากลมากขึ้น เราลองหันมาเรียนภาษาประเทศเพื่อนบ้านเป็นภาษาที่สาม ซึ่งยังมีผู้ที่ชำนาญจำนวนไม่มากก็จะดูดีมีเสน่ห์อยู่ไม่น้อย น้องๆ รุ่นใหม่ จะต้องวางแผนในการเลือกสาขาที่จะเรียนให้สอดคล้องกับอนาคตในสาขาที่ขาดแคลน เช่น แพทย์แขนงต่างๆ วิศวกรรมปิโตรเลียมและเคมี บัญชีและการเงิน สาธารณสุข หรือสาขาที่จำเป็นต่อตลาดธุรกิจอินเตอร์ เช่น นิเทศศาสตร์ คอมพิวเตอร์ บริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มัลติมีเดีย สถาปนิกและออกแบบ การโรงแรมและท่องเที่ยว แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะเลือกเรียนสาขาใด ก็จำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของภูมิภาคอาเซียนว่ายังคงมีกรอบวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ หากเราเรียนรู้ การต้อนรับ การทักทาย การแสดงความเคารพซึ่งหมายถึงการยอมรับและการรับฟังผู้อื่น ก็จะเพิ่มความราบรื่นในการผูกมิตร

asean
asean

เมื่อก่อนเวลาเห็นคนที่ทำตัวเชยๆ เรามักจะเรียกเขาว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ในทางกลับกัน ถ้าเราล้าหลังกว่าใครในอาเซียนก็จะตกที่นั่งลำบากแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม รวมกันเป็นกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่ง คิดดูสิขนาดซุปเปอร์ฮีโร่ยังต้องทำงานเป็นทีม

โดย : ภควัต สมิธธ์
! http://www.ประเทศอาเซียน.com

! http://blog.nation.ac.th/?p=2534