แผนดีต้องมีการปฏิบัติ (Execution)

ในประสบการณ์การเป็นนักบริหาร หรือนักจัดการทุก ๆ ระดับ ทั้งในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้กับบทบาทหรือความรับผิดชอบในการพัฒนาแผนงานสำหรับหน่วย งานหรือองค์กรของทุกท่าน

! http://bit.ly/ZFUrY4
โดย ดรรชกร ศรีไพศาล ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ดรรชกร ศรีไพศาล
ดรรชกร ศรีไพศาล

การเขียนแผนงานใด ๆ ทั้งแผนกลยุทธ์ระดับนโยบาย ระดับองค์กร ระดับหน่วยงาน หรือแม้แต่ในแผนงานระดับปฏิบัติการของส่วนงานต่างๆ ในองค์กร หากผู้เขียนแผนนั้น ๆ มีความรู้ ความเข้าใจ ถึง ความเป็นมา บทบาท พันธกิจ (Mission) และเป้าหมาย (Goal) ของหน่วยงานหรือองค์กรอย่างลึกซึ้ง การจะพัฒนาหรือเขียนแผนงานในแต่ละครั้ง ย่อมจะสามารถรังสรรค์ให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นไปได้ที่จะปฏิบัติให้สำเร็จ และถือเป็นคัมภีร์ หรือคู่มือประกอบการปฏิบัติงานของส่วนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับบนหรือบริหาร ถึงระดับปฏิบัติการ

แต่การมีเพียงแผนงานที่ผ่านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย และวิเคราะห์ และพัฒนาหรือเขียนขึ้นอย่างเป็นระบบ มีความน่าจะเป็นในการปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนงาน นั้น ๆ ยังไม่อาจจะถือเป็นความสำเร็จของหน่วยงาน ขององค์กร หรือของนักบริหาร และแม้แต่ผู้พัฒนาและเขียนแผนงานนั้นๆ

หากแผนงานนั้นไม่สามารถที่จะ นำไปประยุกต์สู่การปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จได้ตามที่กำหนดในแผนงานที่ดีนั้น สุดท้ายแผนงานนั้นจะมีคุณค่าเป็นเพียงเอกสารกองหนึ่งที่ถูกจัดเก็บในลิ้นชัก หรือวางทิ้งให้เปื้อนฝุ่นบนโต๊ะทำงานของผู้เกี่ยวข้อง

แผนงานที่ดี จึงต้องประกอบด้วยความสามารถ และตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม หรือการ Execution ของนักบริหารและนักจัดการของหน่วยงาน และองค์กร เป็นส่วนประกอบสำคัญ

Execution เป็นคำหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีถึงความหมายของการนำแผนงานการตลาด การโฆษณา หรือการประชาสัมพันธ์ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ระบุในแผนงานที่พัฒนาขึ้นในแต่ละวาระ และการ Execution ได้เริ่มส่งผ่านความสำคัญมาสู่การบริหารในภาคส่วนต่าง ๆ ขององค์กร ทั้งในภาครัฐ และเอกชนเป็นจำนวนมากในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ความสำคัญของ Execution มีมาก และมีความหมายต่อหน่วยงานหรือองค์กรอย่างมาก ดังจะพบได้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งที่ผู้บริหารสถาบันการเงินแห่งหนึ่งในสหรัฐ อเมริกา ได้เคยกล่าวว่า “เขาสามารถที่จะลืมทิ้งแผนกลยุทธ์ขององค์กรได้ โดยจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร เพราะบริษัทหรือคู่แข่ง จะไม่สามารถนำแผนกลยุทธ์ของเขาไปปฏิบัติได้ ด้วยความสำเร็จในแผนกลยุทธ์ของเขา อยู่ที่ความสามารถในการ Execution แผนกลยุทธ์ มากกว่าตัวแผนกลยุทธ์นั้น

เชื่อว่าคำกล่าวข้างต้น คงเป็นความเห็นหนึ่งที่สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของนักบริหาร นักจัดการทุก ๆ ระดับ ที่เป็นทั้งผู้พัฒนาแผนงาน และย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นในการเป็นผู้นำแผนงาน ทั้งที่พัฒนาขึ้นเอง หรือพัฒนาขึ้นโดยผู้อื่นไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลงานตามเป้าหมายที่กำหนดใน แผนงาน และต้องประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างสวยหรูนั้น

ทางออกหนึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการ Execution แผนงาน ที่นักบริหาร และนักจัดการนิยมใช้ คือ การกำหนดเป้าหมายในแผนงานให้มีความสะดวกในการปฏิบัติได้จริง หรือไม่ไกลเกินเอื้อมของผู้เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดเป้าหมายทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงเท่าเดิม หรือการรักษาศักยภาพการดำเนินงานในระดับเดิม หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ง่าย และสะดวกต่อการ Execution แผนงานให้ประสบความสำเร็จ แต่อาจจะเป็นแนวทางบ่อนทำลายศักยภาพที่แท้จริงของหน่วยงานหรือองค์กรในเวลา เดียวกัน ดังจะเห็นหรือพิจารณาได้จากองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่มีผลการดำเนินงานอันน่าเป็นห่วงอยู่ในปัจจุบันนี้

และสังคมปัจจุบันคงปราศจากความก้าวหน้า และความน่าตื่นตา ตื่นใจในเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในวันนี้ หากขาดนักบริหาร นักจัดการ ที่กล้าท้าทายความสามารถของตนเอง และ Execution ให้เกิดผลงานอันเป็นรูปธรรมให้ปรากฏแก่โลกในทุกวันนี้

การ Execution จึงอาจจะเป็นสิ่งน่ากังวลสำหรับนักบริหาร นักจัดการบางคน บางกลุ่ม หรือในบางองค์กร แต่สำหรับนักบริหาร นักจัดการที่มีความสามารถ จะเห็นเป็นกระบวนการหนึ่งของการพัฒนาองค์กรเท่านั้น และยิ่งในแผนงานมีความยากมากเพียงไร ยิ่งเป็นความท้าทายความสามารถของนักบริหาร นักจัดการ มากเสียกว่าจะพิจารณาให้เป็นปัญหา หรืออุปสรรคในการดำเนินงาน

ถึงอย่างไร ความสำเร็จเบื้องต้นขององค์กรต่างๆ ย่อมมีแผนการดำเนินงานที่มีคุณภาพเป็นคัมภีร์การดำเนินงานขององค์กร ซึ่งแผนการดำเนินงานที่ดี มีคุณภาพเพียงไร ย่อมยากที่จะปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย แต่หากนักบริหาร นักจัดการขององค์กร มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถในการ Execution แผนงาน ย่อมสร้างความได้เปรียบแก่องค์กรในการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จได้

และการ Execution ในแต่ละแผนการดำเนินงาน ของสำหรับหน่วยงานหรือองค์กร ย่อมต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน

ในส่วนของผู้บริหาร ที่จะ Execution แผนงานได้ดี จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีประสบการณ์ กล้าตัดสินใจ และสามารถสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานได้

ประสบการณ์ในการทำงาน หรือการบริหาร จะเป็นเครื่องมือสร้างจินตนาการถึงผลลัพธ์ของแผนงานนั้นๆ และส่งทอดเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ไปสู่กระบวนการตัดสินใจที่กล้า และถูกต้องของผู้บริหาร ก่อนจะสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละระดับเกิดความเข้าใจ เชื่อมั่น และมุ่งมั่นในแนวทางการดำเนินงานได้ในท้ายที่สุด

ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน แม้จะเป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นเล็กขององค์กรหรือหน่วยงาน แต่หากขาดความพยายามในการที่จะปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบของตนให้ประสบความ สำเร็จ ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ส่วนงานอื่นๆ ได้ เช่น ฝ่ายจัดซื้อ ซื้อวัตถุดิบไร้คุณภาพ ฝ่ายผลิตย่อมผลิตได้แต่สินค้าด้อยคุณภาพ ยากที่ฝ่ายการตลาดจะแข่งขัน เพื่อจำหน่ายหรือขายได้ เป็นต้น

ถึงอย่างไร ในท้ายที่สุด ทั้งการจัดทำแผนงานที่ดี คุณสมบัติของผู้บริหารที่เหมาะสม ความเข้าใจ เชื่อมั่น และมุ่งมั่นของผู้ปฏิบัติงาน ล้วนมีที่มาจากผู้บริหารทั้งสิ้น ดังนั้น ความล้มเหลวของการดำเนินงานตามแผนธุรกิจ หรือแผนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร จึงเป็นความรับผิดชอบของบุคคลที่ดำรงสถานะผู้บริหารโดยไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

! http://blog.nation.ac.th/?p=2589