‘จาตุรนต์’ กู้วิกฤติภาษาไทยเล็งเพิ่มน้ำหนักสอบเข้า ม.1

7 สิงหาคม 2556 ศึกษาธิการ “จาตุรนต์” ห่วงปัญหาเด็กจำนวนมากอ่านไทยไม่ออก เขียนไม่คล่อง เล็งปรับเกณฑ์รับ ม.1 อาจต้องเน้นให้น้ำหนักความสำคัญวิชาภาษาไทยไม่น้อยกว่าภาษาอังกฤษ ชี้หากภาษาแม่ยังอ่อนยวบ ก็เรียนเชื่อมโยงวิชาอื่นไม่ได้ ผอ.รร.ดังแฉ แม้แต่เด็ก ม.1 อ่านไม่คล่อง ไม่ชอบเขียนบทความยาวๆ ชอบแต่ภาษาสแลงหรือศัพท์วัยรุ่นสั้นๆ ทำให้ภาษาไทยผิดเพี้ยน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากการเชิญผู้บริหารโรงเรียนและครูจากโรงเรียนต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามีเรื่องที่น่าสนใจและน่าตกใจคือ เด็กไทยจำนวนมากอ่านภาษาไทยไม่ออก ฉะนั้น ศธ.จะต้องนำเรื่องนี้มาแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เพราะหากเด็กอ่านภาษาไทยไม่ได้ก็ไม่มีทางที่จะเรียนวิชาอื่นได้เลย อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดผลประเมินผล และพัฒนาครูอย่างไรให้เชื่อมโยงกันทั้งระบบ โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยที่จะต้องเชื่อมโยงไปยังวิชาอื่น

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ในเร็วๆ นี้จะเชิญสำนัก งานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาหารือในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย โดยจะหยิบยกเรื่องนโยบายและแนวทางการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 สังกัด สพฐ. ประจำปีการศึกษา 2557 มาหารือด้วย ซึ่งจะต้องขอดูรายละเอียดก่อนว่าในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อจะต้องผ่านการทดสอบวิชาใดบ้าง รวมทั้งจะต้องดูด้วยว่าควรจะให้ความสำคัญกับวิชาใดบ้าง โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งคู่

นายชลอ เขียวฉลัว ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้เด็กไทยมีปัญหาเรื่องการอ่านออก เขียนได้ ซึ่งในส่วนของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเองก็พบปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กชั้น ม.1 ที่เข้ามาเรียน แต่ก็ยังอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่องเท่าที่ควร ทำให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ได้ช้า ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เพราะภาษาไทยถือเป็นภาษาหลักที่เราต้องใช้ในการเรียนรู้ในทุกรายวิชา

ที่สำคัญยังพบด้วยว่า เด็กสมัยนี้จะไม่ชอบอ่านและไม่ชอบเขียนบทความยาวๆ แต่ชอบอ่านอะไรที่ฉาบฉวย ใช้ภาษาสแลงหรือศัพท์วัยรุ่นสั้นๆ ทำให้ภาษามีการผิดเพี้ยนไป ไม่ถูกต้อง รวมถึงทำให้เอกลักษณ์ของภาษาไทยหายไป ดังนั้นจึงคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะหันมาช่วยกันแก้ไขเรื่องดังกล่าว เพื่อคงเอกลักษณ์และรักษาภาษาไทยเอาไว้” นายชลอกล่าว

น.ส.นิจสุดา อภินันทาภรณ์ หัวหน้าสถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการ สพฐ. กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้ปัญหาเรื่องนักเรียนระดับประถมศึกษามีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อยู่บ้าง แต่ต้องดูปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน อาทิ เด็กที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อาจจะเป็นนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ติดชายแดน เด็กพิเศษ หรือเป็นเด็กชาวเขาเผ่าต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สพฐ.มีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ โดยประสานเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ให้เน้นส่งเสริมให้นักเรียนและครูเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะครูภาษาไทย หรือนักศึกษาที่กำลังเรียนเอกภาษาไทยอยู่ขณะนี้ อยากให้มีความภาคภูมิใจ เพราะต่อไปประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน และเท่าที่ดูประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะเข้ามาทำงานในประเทศไทย ดังนั้นเราในฐานะเจ้าของภาษาจึงควรมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชายแดน ที่เป็นจุดเชื่อมโยงทางด้านการค้า แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านที่สำคัญด้วย.

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33615&Key=hotnews

ทักษะอื่น ๆ ของคนไทย ก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน
ทักษะอื่น ๆ ของคนไทย ก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน