การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

14 มิถุนายน 2556

หลังจากที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบาย “ยุบ”โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนจำนวนไม่ถึง 60 คน และให้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง โดยให้เหตุผลสำคัญสองประการ คือ รัฐบาลไม่มีกำลังงบประมาณพัฒนาโรงเรียนทุกแห่ง และ ไม่สามารถนำงบประมาณจากเงินภาษีมาดูแลทุกโรงเรียนได้เท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านอย่างกว้างขวาง ตามที่ปรากฎให้เห็นในสื่อต่างๆ

จากข้อมูลของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน มีทั้งหมด 14,816 โรง ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน มีทั้งหมด 5,962 โรง แยกเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 709 โรง มีนักเรียน 21-40 คน จำนวน 2,090 โรง และมีนักเรียน 41-60 คน จำนวน 3,163 โรง

โดยฝ่ายที่ให้การสนับสนุน เชื่อว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะทำให้ระบบการศึกษาของเด็กชนบททัดเทียมกับเด็กในเมือง กระบวนการจัดการเรียนการสอนจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และยังช่วยประหยัดงบประมาณ ซึ่งฝ่ายที่คัดค้านกลับมองว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีย้ายเด็กไปเรียนรวมกันอาจเกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองบางคนที่อยู่ไกลจากโรงเรียน โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งมีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ปัญหาคุณภาพทางการศึกษาอาจอยู่ที่ครู

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการการศึกษาได้มีมติเห็นด้วยกับกระทรวงศึกษาธิการ และได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้ (1) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองรับทราบรายละเอียดและแนวทางที่ชัดเจน (2) การเตรียมความพร้อมในเรื่องรับ-ส่งนักเรียนโดยต้องเน้นเรื่องความปลอดภัย (3) ควรมีแนวทางที่ชัดเจนว่า อาคารบ้านพักและอาคารที่ทำการของโรงเรียนต่างๆ ที่ยุบรวมจะนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องใด (4) เรื่องการโยกย้ายครูและบุคลาการทางการศึกษาในโรงเรียนที่ถูกยุบรวมให้เหมาะสมและเป็นธรรม และ(5)การจัดการศึกษาทางไกลโดยนำเทคโนโลยีใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนการสอนและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาแก่ประชาชนทุกระดับ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 49 วรรคแรกได้บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงละมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” รัฐควรมุ่งเน้นเรื่องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน การยุบโรงเรียนขนาดเล็กย่อมทำให้สถานที่ที่จะให้ความรู้ขาดหายไป การนำจำนวนนักเรียนที่น้อยกว่า 60 คน มาพิจารณาย่อมขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลับตั้งงบประมาณจัดซื้อรถตู้ ทำไมไม่นำงบส่วนนี้บางส่วนไปพัฒนาโรงเรียน

การยุบโรงเรียนขนาดเล็กยังถือว่าไม่เป็นธรรมต่อชุมชน เพราะโรงเรียนขนาดเล็กส่วนมาก ชุมชนมักจะมีส่วนไม่ว่าจะเป็นการบริจาคที่ดินเพื่อก่อตั้ง ชาวบ้านที่เป็นจิตอาสาช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียน โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง โดยเฉพาะในชนบทที่อยู่ห่างไกล นักเรียนส่วนมากมักจะเป็นลูกเกษตกร การมีโรงเรียนในหมู่บ้านเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สามารถใช้เป็นที่ดูแลบุตรหลาน การยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ควรฟังเสียงสะท้อนจากชุมชน มิฉะนั้นจะกลายเป็นรัฐละเมิดสิทธิชุมชนเสียเอง
การยุบโรงเรียนขนาดเล็กหากรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไปก็ควรที่จะต้องตั้งคำถามให้กับตัวเองเสมอว่าจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและมีความทัดเทียมกันได้อย่างไร ควรจัดระบบติดตามประเมินดูว่าแต่ละเขตพื้นที่มีอุปสรรคเช่นไร เกิดสัมฤทธิผลมากน้อยอย่างไร การเตรียมรับส่งนักเรียน แม้จะมีรถรับส่ง แต่การเรียนไกลบ้านย่อมเกิดค่าใช้จ่ายจิปาถะต่อผู้ปกครอง การจัดหาที่พักให้บุคลากรทางการศึกษาจะทำได้ตลอดหรือไม่ อย่าลืมว่านักเรียนแต่ละคนคืออนาคตของชาติ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญ เด็กไทยต้องมีศักยภาพและสามารถแข่งขันกับเด็กชาติอื่นๆในอาเซียน

ที่มา: http://www.naewna.com

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33023&Key=hotnews