การศึกษาแนวเสรี บูรณาการความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิด

4 มกราคม 2550

“สฤณี อาชวาทนันกุล” นักวิชาการอิสระ เป็นอีกผู้หนึ่งในได้ร่ำเรียนทางด้าน liberal atrs education มา และได้เคยเขียนบทความเรื่องการศึกษาแนว liberal arts ลงในเว็บไซต์ onopen.com และเห็นว่ายังน่าสนใจอยู่จึงตัดตอนบางส่วนมา

“สฤณี” อธิบาย liberal arts education หรือเรียกสั้นๆ liberal education ว่า “การศึกษาแนวเสรี” การศึกษาแนวเสรี คือปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษาปรัชญาหนึ่ง ที่มีอิทธิพลครอบงำมหาวิทยาลัยเก่าแก่ชื่อดังของอเมริกาหลายแห่ง ปรัชญานี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า นอกเหนือจากวิชาเฉพาะด้านที่เลือกเรียน นักศึกษาปริญญาตรีควรได้รับความรู้เบื้องต้นในสาขาวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่หลากหลาย ครอบคลุม ตลอดจนมีความสนใจ เข้าใจ และนับถือในวิธีคิดของแต่ละสาขาวิชาเหล่านั้น เพื่อให้สามารถคิดได้อย่าง “บูรณาการ” คือสามารถนำความรู้จากสาขาวิชาอื่นมาประยุกต์ใช้ในสาขาที่ตนมีความชำนาญ

ในความหมายของปรัชญานี้ “liberal arts” ไม่ได้หมายความเฉพาะวิชาด้าน “ศิลปศาสตร์” ดังคำแปลปกติของศัพท์คำนี้ในภาษาไทย แต่มีความหมายครอบคลุมวิชาด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่สะท้อนข้อเท็จจริงว่า “วิทยาศาสตร์” และ “ศิลปศาสตร์” นั้น ไม่สามารถแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันอันซับซ้อน ที่ต้องอาศัยความรู้ และความเชี่ยวชาญหลายแขนงประกอบกัน ในการเข้าถึงสัจธรรมที่เป็นองค์รวม แก้ไขปัญหา และคิดค้นกระบวนการพัฒนาโลก ทั้งในมิติด้านวัตถุ และมิติด้านจิตใจ

หากมองอย่างผิวเผิน มหาวิทยาลัยของอเมริกาส่วนใหญ่ดูไม่ต่างกันมาก เพราะแต่ละแห่งก็บังคับให้นักศึกษาเรียน “วิชาบังคับ” จำนวนหนึ่ง ควบคู่ไปกับวิชาอื่นๆ ในภาควิชาที่ตนเลือก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนโดยปรัชญาการศึกษาแนวเสรีอย่างเข้มข้น แตกต่างจากมหาวิทยาลัยที่ขับเคลื่อนโดยปรัชญาการศึกษาอื่นเป็นหลัก (ซึ่งในที่นี้จะนิยามว่า “การศึกษาแนววิชาชีพ” คือการศึกษากระแสหลัก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน) หลายประการด้วยกัน เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่อนุรักษ์ปรัชญาการศึกษาแนวเสรีอย่างเหนียวแน่น ไม่อนุญาตให้นักศึกษาปริญญาตรี เลือกเรียนเอกในสาขาที่ถือว่าเป็น “วิชาชีพ” โดยตรง ดังนั้นนักศึกษาที่รู้อยู่แล้วว่าตัวเองต้องการประกอบอาชีพอะไรหลังรับปริญญา จึงจำต้องเลือกเอกในสาขา “วิชาการ” ที่ใกล้เคียงที่สุดกับอาชีพเป้าหมายแทน เช่น ใครอยากเป็นหมอก็ต้องเอกชีวเคมี (biochemistry) อยากเป็นนักการเงินก็ต้องเอกเศรษฐศาสตร์ และถ้าอยากเป็นทนาย ก็ต้องเอกรัฐศาสตร์ (government) แทน

หลักสูตรการศึกษาแนวเสรีของฮาร์วาร์ด – ซึ่งวิชาทั้งหมดคิดเป็นหนึ่งในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมดที่นักศึกษาต้องเรียนก่อนจบปริญญาตรี – เรียกรวมๆ ว่า “core program” มีเป้าหมายที่อธิบายไว้ในเว็บไซต์ core program ดังนี้ :

“ปรัชญาของหลักสูตร core ของเรา ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า บัณฑิตปริญญาตรีจากฮาร์วาร์ดทุกคนควรได้รับการศึกษาในมุมกว้าง ควบคู่ไปกับความชำนาญเฉพาะด้านทางวิชาการสาขาใดสาขาหนึ่ง ปรัชญานี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า นักศึกษาทุกคนควรได้รับคำชี้แนะในการบรรลุเป้าหมายนี้ และคณาจารย์มีหน้าที่นำพวกเขาไปสู่ความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิดที่เป็นคุณลักษณะของชายหญิงผู้มีการศึกษาทุกคน …แต่หลักสูตร core ของเราแตกต่างจากโปรแกรมการศึกษาทั่วไปที่อื่น ตรงที่เรามิได้กำหนดขอบเขตทางวิชาการไว้ที่ความรอบรู้เรื่องวรรณกรรมอมตะชุดใดชุดหนึ่ง ความรู้ลึกซึ้งด้านใดด้านหนึ่ง หรือแม้แต่ความรู้รอบตัวทันสมัยในบางสาขาวิชา แต่เราต้องการแนะนำกระบวนการค้นหาความรู้ ในสาขาวิชาที่เราเชื่อว่าขาดไม่ได้สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรนี้ต้องการแสดงให้นักศึกษาเห็นว่ามีความรู้ และวิธีการสืบค้นความรู้แบบใดบ้างในสาขาวิชาเหล่านี้ ตลอดจนชี้ให้เห็นวิธีการวิเคราะห์ ประโยชน์ และคุณค่าของแต่ละวิธี คอร์สต่างๆ ในแต่ละสาขาของหลักสูตรนี้ “เหมือนกัน” ตรงที่เน้นให้เข้าใจมุมมองและวิธีคิด แม้ว่าหัวข้อจะแตกต่างกัน”

ปรัชญาของการศึกษาแนวเสรี สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมในการออกแบบคอร์สต่างๆ ใน core program ของฮาร์วาร์ด ซึ่งปัจจุบันบังคับให้นักศึก ษาเรียนอย่างน้อยหนึ่งคอร์ส ในแต่ละสาขาต่อไปนี้ :

– วัฒนธรรมต่างชาติ (foreign cultures) – ประวัติศาสตร์ศึกษา (historical study) – วรรณกรรมและศิลปะ (literature and arts) – การใช้เหตุผลเชิงคุณธรรม (moral reasoning) – การใช้เหตุผลเชิงตัวเลข (quantitative reasoning) – วิทยาศาสตร์ (science) – สังคมวิทยา (social analysis) คอร์สที่บรรจุอยู่ใน core program ของฮาร์วาร์ดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น “วิชาพื้นฐาน” เช่น ประวัติศาสตร์โลก 101 หรือวรรณกรรม 101 หรือศิลปะ 101 แบบที่นักเรียนไทยคุ้นเคย แต่เป็นวิชาเกี่ยวกับหัวข้อหรือประเด็นแคบๆ เช่น “ฟลอเรนซ์สมัยเรอเนสซองส์” หรือ “แนวคิดเรื่องฮีโร่ในวรรณกรรมกรีกโบราณ” หรือ “สถาปนิกเอก แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์” คอร์สเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้น่าติดตาม สอนโดยอาจารย์ที่เก่งที่สุดของภาควิชาต่างๆ เปรียบเสมือนเป็น “คอร์สแม่เหล็ก” ดึงดูดให้นักศึกษาใหม่เลือกเรียนเอกในภาควิชาของตน

นอกจากนี้ core program ยังเป็น “พื้นที่แนวร่วม” ให้อาจารย์ต่างสาขา ต่างคณะ มาร่วมสอนนักเรียนด้วยกันแบบ “บูรณาการ” เพื่อชี้ให้เห็นวิธีมองประเด็นต่างๆ จากมุมมองของแต่ละสาขา คอร์สแบบนี้ส่วนใหญ่ได้รับความนิยมมาก อาทิ คอร์ส core ชื่อ “Thinking about Thinking” (คิดเกี่ยวกับคิด) สอนพร้อมกันโดยอาจารย์สามคนจากสามภาควิชา ได้แก่ กฎหมาย วิทยาศาสตร์ และเทววิทยา (theology) มุ่งเน้นการตีกรอบ ให้นิยามคำว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” และ “ความจริง” ในแต่ละสาขา ตลอดจนกระบวนการต่างๆ สาขาเหล่านี้ใช้ค้นหาความจริงเหล่านั้น สไตล์การสอนของคอร์สนี้คือ ในแต่ละวันอาจารย์สามคนจะหยิบยกประเด็นขึ้นมาถกกันหนึ่งเรื่อง เช่น ความยุติธรรม ความเป็นตัวของตัวเองของมนุษย์ การแสดงความเห็นต่างของพลเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล และความน่าจะเป็น ฯลฯ

กว่าคอร์สนี้จะจบ นักศึกษาไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีคิดของนักคิดในสามสาขานี้เท่านั้น แต่ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ในโลก ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิชาการหลากหลายสาขา ในการสำรวจ วิเคราะห์ และอภิปราย เพื่อพัฒนาสังคมมนุษย์

เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาแนวเสรี คือ ทักษะในการคิด คุณธรรมที่มั่นคง และวุฒิภาวะทางอารมณ์

เพราะวิธีปฏิบัติของปรัชญาการศึกษาแนวเสรีคือการบังคับให้นักศึกษาเรียนคอร์สต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเชื่อว่า จะช่วยให้พวกเขามี “…ความรู้ ทักษะทางปัญญา และนิสัยทางความคิด” ในภาษาของฮาร์วาร์ด เป้าหมายของการศึกษาแนวเสรี จึงเป็นได้มากกว่า – และควรเป็นมากกว่า – การศึกษาแนววิชาชีพ

กล่าวคือ ถ้าเราคิดว่านักศึกษาควรมีคุณสมบัติอื่น นอกเหนือจากทักษะการใช้เหตุผล เช่น คุณธรรมหรือศีลธรรม และวุฒิภาวะทางอารมณ์ เราก็ควรรวมคุณสมบัติเหล่านี้เข้าเป็น “เป้าหมาย” ของการศึกษาแนวเสรี และออกแบบหลักสูตรมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายนี้

การ “ขยาย” ขอบเขตของเป้าหมาย และโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาแนวเสรีไปในแนวนี้ จะไม่กระทบกระเทือนหลักสูตรการศึกษาแนววิชาชีพ ซึ่งเป็นส่วนของ “วิชาเอก” ที่นักศึกษาต้องเรียนอยู่แล้วก่อนจบปริญญา

หากเป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาแนววิชาชีพ (สามในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมด) คือการผลิต “ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพ” ในสาขาต่างๆ เพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน เป้าหมายของหลักสูตรการศึกษาแนวเสรี (หนึ่งในสี่ของหน่วยกิตทั้งหมด) ควรเป็นการผลิต “ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม” เพื่อสนองความต้องการของสังคมและโลก ซึ่งกำลังถูกกลบด้วยเสียงเรียกร้องที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ของตลาดแรงงาน

เพราะ “ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพ” และ “ปัญญาชนผู้ทรงคุณธรรม” นั้น ควรเป็นคุณสมบัติของคนคนเดียวกัน ไม่เช่นนั้นสังคมก็จะมีแต่ผู้เชี่ยวชาญที่ไร้คุณธรรม ใช้ความฉลาดและความรู้เพื่อรักษาและเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตัวเองถ่ายเดียว

ดังนั้น คอร์สที่บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาแนวเสรี จึงไม่ควรเป็นแค่ “วิชาเบื้องต้น” ของภาควิชาต่างๆ เท่านั้น หากควรถูกออกแบบมาอย่างประณีต เฉพาะเจาะจง และคำนึงถึงมิติด้านคุณธรรม และอารมณ์เป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น คอร์สสาขา moral reasoning ใน core program ของฮาร์วาร์ด เป็นตัวอย่างของความพยายามให้นักศึกษามองเห็นมุมมองด้านศีลธรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่คอร์สสาขา foreign cultures พยายามสอนให้นักศึกษามองเห็น เข้าใจ และนับถือแนวคิดและคุณค่าต่างๆ ในวัฒนธรรมที่ต่างจากพื้นเพของตน

หลักสูตรการศึกษาแนวเสรีที่ดี ไม่ควรพยายาม “บังคับ” ให้คนเป็นคน “ดี” ในกรอบที่อาจารย์หรือสังคมตีความ (เช่น ด้วยการบังคับให้จำว่าศีล 5 มีอะไรบ้าง ฯลฯ) แต่เน้นที่หลักเหตุผล และบริบทของประเด็นทางคุณธรรมมากกว่า ว่าทำไมมุมมองนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับที่ไม่ควรบังคับให้นักศึกษาท่องจำปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์ แต่เน้นการอภิปรายเรื่องบริบท เหตุผล และประเด็นต่างๆ ในเหตุการณ์เหล่านั้นแทน

ซึ่งแน่นอน ก่อนที่เราจะสอนแบบนี้ได้ สังคมไทยและสถาบันการศึกษาเองจะต้องเลิก “ยึดติด” อยู่กับแบบแผนการสอนในอดีต ซึ่งสอนเพียง “ประวัติศาสตร์กษัตริย์ไทย” ในฐานะ “ความจริงตายตัว” ที่ไม่อนุญาตให้ใครซักถามหรือตีความ ไม่ใช่ “ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยในขอบเขตประเทศไทย” อย่างที่วิชาประวัติศาสตร์ควรจะเป็น

“สฤณี” ตั้งคำถามว่า…

เราต้องการให้บัณฑิตปริญญาตรีไทยเป็นคนฉลาด เก่งภาษาอังกฤษ มีทักษะความรู้พอที่จะหางานทำ เอาตัวรอดในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้ เท่านั้นเองหรือ ?

เราคิดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ มีหน้าที่ “ป้อน” ลูกจ้างที่มีศักยภาพให้กับตลาดแรงงาน เท่านั้นเองหรือ ?

ถ้าเป้าหมายของการศึกษาระดับอุดมศึกษามีเพียงแค่นี้ เราจะหา “พลเมืองดี” รุ่นใหม่ ที่มีคุณธรรม มีสำนึกทางสังคม รู้ทันนักการเมืองขี้โกง พร้อมสละเวลามาช่วยวิเคราะห์แก้ไขปัญหาบ้านเมืองเมื่อชาติต้องการ ได้จากที่ไหน ?

หรือเราจะโทษแต่พ่อแม่และผู้นำทางศาสนา ว่าอบรมบ่มนิสัยเยาวชนมาไม่ดีพอ โทษสภาพแวดล้อม ค่านิยม และนามธรรมอื่นๆ ที่จับต้องไม่ได้ ว่าทำให้เขาเสียคน หรือโทษตัวเด็กเองว่า ไม่เข้มแข็งพอที่จะทนแรงดึงดูดอันเย้ายวนของลัทธิบริโภคนิยมสุดขั้วได้ ?

ขอบข่าย “ความรับผิดชอบ” ของสถาบันการศึกษาไทย เริ่มต้นและสิ้นสุดตรงไหน ?

ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะเริ่มอภิปรายกันอย่างจริงจังว่า “เป้าหมาย” หรือ “ปรัชญา” ของการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น คืออะไรกันแน่ ?

ทุกคนรู้ดีว่า ระบบการศึกษาไทยต้องมีการปฏิรูปขนานใหญ่ แต่มีน้อยคนที่เสนอว่า เป้าหมายของการปฏิรูปนั้นคืออะไร รูปแบบของการศึกษาที่เราอยากเห็นนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2319&Key=hotnews

Leave a Comment