ครูพันธุ์ใหม่ ยุคดิจิทัล
! http://bit.ly/19jRb58
โดย อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา
สมัยอดีต “การไหว้ครู” เป็นพิธีกรรมที่ศิษย์แสดงถึงความเคารพและยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ ว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้
และศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการจึงพร้อมใจกันปวารณาตัวเพื่อรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และสัญลักษณ์ที่มักจะพบในพานไหว้ครูแบบดั้งเดิมมักจะประกอบด้วย “ข้าวตอก” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย “ดอกมะเขือ” เป็นสัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนและการมีสัมมาคารวะ “ดอกเข็ม” เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาที่ฉลาดหลักแหลม และ “หญ้าแพรก” เป็นสัญลักษณ์ของความอดทนและความมีวิริยะอุตสาหะ ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าว ได้ถูกผลิตซ้ำและสืบทอดคุณค่าและความหมายเกี่ยวกับคุณลักษณะศิษย์ที่พึงประสงค์มาเป็นระยะเวลานาน
แต่ในยุคปัจจุบันสัญลักษณ์พานไหว้ครูได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และในช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวพิธีไหว้ครูของวัยรุ่นในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาบางแห่ง ที่ได้สร้างสรรค์พานไหว้ครูเป็นโลโก้กูเกิล เฟซบุ๊ค และไลน์ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อต้องการสื่อว่าโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงและทันสมัยมากขึ้น ทั้งกูเกิล เฟซบุ๊ค และไลน์ถือเป็นสื่อใหม่ (New media) ที่วัยรุ่นได้นำมาใช้ในการติดต่อสื่อสารจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
เมื่อข่าวดังกล่าวเผยแพร่ไป ปรากฏว่ามีกระแสตอบรับจากสังคมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการนำสัญลักษณ์สื่อใหม่ (New media) และสื่อสังคม (Social media) มาเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมไหว้ครู โดยวัยรุ่นโดยส่วนใหญ่มองว่า พานไหว้ครูยุคใหม่เป็นการสืบทอดสัญลักษณ์และประเพณีในเชิงสร้างสรรค์ แต่ในทางกลับกันผู้ใหญ่บางคนกลับไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าสัญลักษณ์ของพานไหว้ครูดังกล่าว อาจเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือและความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมไหว้ครูแบบดั้งเดิมให้เสื่อมถอยลงไป ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้นำเสนอปรากฏการณ์ดังกล่าวเพื่อตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด แต่สิ่งที่สนใจก็คือการสื่อสารเชิงสัญญะที่แฝงเร้นอยู่ในพานไหว้ครู สัญลักษณ์สื่อใหม่และสื่อสังคมที่ปรากฏบนพานไว้ครูได้สถาปนาความหมายและสถานภาพของ “ครูพันธุ์ใหม่ในยุคดิจิทัล” ขึ้นในสังคมไทย
อาจกล่าวได้ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารสามารถเข้าถึงผู้รับสารได้สะดวก รวดเร็ว เป็นจำนวนมาก โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ สื่อใหม่ (New media) ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ไอแพด โน้ตบุ๊ค ได้ถูกสถาปนาให้กลายเป็น “ครูพันธุ์ใหม่” ที่ สามารถแสวงหาคำตอบให้กับคนทุกเพศทุกวัยในทุกเรื่อง ทุกที่ และทุกเวลาโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และบางครั้งเราก็มักจะได้ยินครูบางท่านสบถในห้องเรียนด้วยความท้อแท้ใจในการสอนเด็กยุคใหม่ที่ก้มหน้าก้มตาดูสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ค หรือไอแพดโดยไม่สนใจครูผู้สอนว่า “เด็กสมัยนี้เชื่อคอมฯ มากกว่าเชื่อครู”
ข้อมูลจากการสำรวจของเว็บไซต์ alexa.com ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าใช้บริการมากกว่า 1 ล้านคนต่อวัน แสดงข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันเฟซบุ๊ค (Facebook.com) ได้กลายเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก รองลงมาคือกูเกิล (google.com) และ ยูทูป (http://www.alexa.com) เป็นที่น่าสังเกตว่า คนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยปราศจากการติดต่อสื่อสารกับโลกออนไลน์ในทุกช่วงเวลาของชีวิต เช่น ตื่นนอน เดินทาง กินอาหาร เดินทาง พักผ่อน หรือแม้แต่ในยามที่ครูกำลังสอนในชั้นเรียน ผู้ส่งสารในโลกดิจิทัลยังคงสื่อสารและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารทั้งทางตรงและทางอ้อม
จุดเด่นของสื่อใหม่คือการให้อำนาจกับผู้รับสารในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารและการแสดงความคิดเห็นแบบสองทาง (Two-way-communication) โดยไม่ต้องกลัวการทำโทษ หรือกลัวว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิด จึงกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้สนใจให้เข้ามาใช้บริการในเว็บไซต์มากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้อ่านหนังสือหรือตำราที่นับวันจะมีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากการสื่อสารแบบทางเดียวไม่สามารถตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นในยุคดิจิทัล หรือแม้แต่ครูพันธ์ดังเดิม (บุคคล) หากมุ่งที่เน้นการสอนแบบทางเดียวโดยไม่สร้างการมีปฏิสัมพันธ์แห่งการเรียนรู้ก็อาจไม่ได้รับความสนใจจากศิษย์ในยุคสมัยนี้
อย่างไรก็ดี แม้ครูพันธุ์ใหม่จะได้รับการยอมรับว่าสามารถให้ความรู้ที่รอบด้านอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถสร้างความรู้สึกแห่งความไว้วางใจระหว่างครูกับศิษย์ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ส่งสารในโลกดิจิทัลแม้จะทำหน้าที่ให้ความรู้แต่ก็ไม่มีตัวตนที่สามารถสัมผัสได้ รวมทั้งไม่สามารถให้คำปรึกษาหรือเยียวยาความทุกข์ของศิษย์ได้อย่างเข้าใจ หรือแม้แต่การสร้างทัศนคติและจิตสำนึกที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริง เพราะสื่อออนไลน์เป็นเพียงช่องทาง หรือเครื่องมือในการสื่อสารแต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นมนุษย์ หากเป็นเช่นนี้แล้วครูพันธ์ใหม่อาจมีสถานะเป็นเพียง “เปลือก” ในการสร้างความรู้ แต่ไม่ใช่ “แก่น” ที่สร้างคุณค่าแห่งการเรียนรู้ของศิษย์แบบครูสมัยก่อนก็เป็นได้
เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์สื่อใหม่ในพานไหว้ครูที่เปลี่ยนไปจึงสะท้อนให้เห็นเพียงรูปแบบการสื่อสารในพิธีกรรม แต่ยังขาดการสถานะครูพันธุ์ใหม่อย่างสมบูรณ์หากยังไม่ทำหน้าที่ในการสร้างจิตสำนึกของศิษย์ให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ (ผู้รู้จักใช้เหตุผล, ผู้มีจิตใจสูง) ได้อย่างสมบูรณ์
! http://bit.ly/19jRb58
Tags : อัญญาวีร์ อุนสวัสดิ์อาภา