ห้วงเวลาของการประมูลคลื่นความถี่ 3G เพิ่งผ่านไปไม่นาน คณะกรรมการ กสทช. ขยับเร็ว เร่งแก้ปัญหาที่คาราคาซัง ฝันที่รอวันเป็นจริงของใครหลายคน
! http://bit.ly/XXT4iy
ในแวดวงทีวี “ดิจิทัลทีวี” ต่างประเทศออกอากาศไปนานแล้ว เมืองไทยเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ช่วงการประมูลและขอใบอนุญาตการออกใบอนุญาตให้ ออกอากาศในระบบดิจิทัลครั้งนี้มีทั้งหมด 48 ช่อง นอกเหนือจากการออกอากาศในรูปแบบอื่นที่มีอยู่แล้ว อย่าง ฟรีทีวี ในระบบอะนาล็อกแบบเดิม ทีวีดาวเทียม และเคเบิ้ลท้องถิ่นโดยเปิดให้ขอใบอนุญาตตามคุณสมบัติ (Beauty Contest) สำหรับประเภทช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง และบริการชุมชน 12 ช่องส่วนอีกกลุ่มจะเป็นช่องบริการธุรกิจ 24 ช่อง ใช้ลักษณะรูปแบบการประมูล ประกอบด้วย ช่องทั่วไป 20 ช่องและช่องเอชดี 4 ช่อง
สำหรับนักนิเทศฯแล้ว ครั้งนี้น่าจะเป็นมากกว่าการเป็นผู้ติดตามความเคลื่อนไหว วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น ด้วยผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมหารือร่างสถานีโทรทัศน์สาธารณะ (Campus TV) ที่กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชั้นนำ 7 แห่ง จัดขึ้นอันได้แก่ ม.หอการค้า ม.กรุงเทพ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ม.ศรีปทุม ม.อัสสัมชัญ ม.เนชั่น และ ม.หัวเฉียวฯ ถึงแนวทางการยื่นขอจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะเพื่อการศึกษา ฟังแนวความคิดที่แต่ละสถาบันร่วมถกประเด็นต่างๆ มีความน่าสนใจมาก แนวคิด “ร่วมทุน ร่วมสร้าง ร่วมเผยแพร่สู่สังคม” การร่วมกันผลิตรายการครอบคลุมเนื้อหารายการตั้งแต่ ข่าว เศรษฐกิจ สารคดี บันเทิง และกีฬา เรียกว่าครบทุกอรรถรสของเนื้อหารายการทีวีทีเดียว และสอดคล้องกับลักษณะสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ที่กำหนด ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นคลังปัญญา นำความรู้สู่สังคมวงกว้าง เป็นเวทีสร้างคนสู่สนามมืออาชีพ ทำให้รู้สึกอยากกระตุ้นต่อให้หลายภาคส่วนการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษารัฐ เอกชน น้อยใหญ่ช่วยกันให้เกิดขึ้นจริง
65 ปีที่สังคมไทยมีรายการโทรทัศน์ดูและมากกว่า 40 ปีที่มีการเรียนการสอนนิเทศศาสตร์นิเทศฯ แต่ละมหาวิทยาลัยมีภารกิจที่สำคัญหลายด้าน อาทิเช่น บทบาทด้านงานวิจัยวิเคราะห์ปรากฏสื่อในสังคมไทยศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆ แต่ภาพที่ฉายออกมาอย่างเด่นชัด คือ ตักศิลาทางนิเทศฯ ผู้ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตสร้างนักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่เข้าสู่แวดวงงานสื่อสาร มวลชน บ่อยครั้งที่นักนิเทศศาสตร์ แสดงบทบาทของการเป็นผู้ทำหน้าที่ ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์สื่อในหลากมิติ โครงสร้าง บทบาทหน้าที่ เนื้อหาของสื่อจนคนในแวดวงสื่อเอง คงเกิดคำถามในใจ อยากถามกลับเหมือนกันว่า “ลองมาทำดูไหม อยากเห็นเหมือนกัน ว่ารายการที่ดีควรเป็นเช่นไรเมื่อคนสอนสื่อ ลงมากำกับเอง ทำเอง” อันนี้เป็นคำพูด มุมมองเล็กๆ ที่เพื่อนๆ ในแวดวงสื่อเคยพูดกับผมไว้
“พื้นที่…โอกาส…การลงทุน” ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่สถาบันอุดมศึกษาน่าจะลองนำเสนอร่วมกัน ร่วมมือกันในการทำรายการ ให้พื้นที่นักศึกษาในการแสดงความสามารถจากการเรียนการสอนเดิมๆ ที่สอนให้เรียนรู้ในห้องเรียน สตูดิโอ นักศึกษาสร้างผลงาน เผยแพร่ทางสื่อใหม่ หรือส่งเข้าประกวดตามแต่โอกาส งานที่ชนะเลิศที่ถึงจะมีโอกาสออกสื่อกระแสหลักอย่างทีวี หนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีทุนทรัพย์ก็มีโอกาสดีหน่อย ที่จะมีช่องรายการของตัวเอง อย่าง RSU Wisdom แชนเนล ม.รังสิตหรือ ABAC Channel ม.อัสสัมชัญ ยังไม่นับรวมมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งที่จัดการสอนทางไกลผ่านทางโทรทัศน์ หรือภาคเอกชนที่ทำช่องรายการเพื่อการศึกษา แม้จะมีงบประมาณในการดำเนินการ แต่เนื้อหารายการดึงดูด น่าสนใจต่างหากที่จะตรึงกลุ่มผู้ชมให้เป็นแฟนช่องรายการ นับว่าเป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการ หลายแห่งเลือกที่จะผลิตรายการเองบางส่วน และมีบริษัทเอกชนร่วมผลิต ยังไม่นับรวมค่าเช่าโครงข่าย ค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม โอกาสสำหรับสถาบันการศึกษาขนาดเล็กจึงเกิดขึ้นได้ยาก ขณะเดียวกันหากเป็นช่องดิจิทัลทีวีเหมือนที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษานิเทศฯ เล็กหรือใหญ่ ก็มีโอกาสร่วมกันในการใช้พื้นที่ร่วมกัน กระจายความเสี่ยงในแง่การลงทุน
“สร้างสรรค์…มืออาชีพ” นิเทศฯแต่ละมหาวิทยาลัย มีจุดเด่นที่ต่างกันออกไป การสร้างสรรค์ นำเสนอรูปแบบรายการตามความถนัด สร้างบรรทัดฐานใหม่ของการทำรายการทีวี ในฐานะที่นักนิเทศศาสตร์ผู้ทำการศึกษาผู้ที่เข้าใจปรากฏการณ์สื่อ เข้าใจเทคโนโลยี ดังนั้น ก็ควรที่จะเป็นแบบอย่างในการผลิตรายการที่ดี นักศึกษาแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะโอกาสใช้เวทีตรงนี้ประชันความสามารถผ่านรูปแบบ การบริหารงานจริงที่นักศึกษาทุกสถาบัน จะต้องคิดรูปแบบ เนื้อหารายการ จัดทำงบประมาณการผลิต นำเสนอรายการไปยังสถานีหากรายการได้รับการอนุมัติ จึงจะได้ผลิตออกอากาศ เกิดการแข่งขันกันสร้างประสบการณ์ทำงานควบคู่กันไปกับประสบการณ์เรียนรู้
ยุคสมัยหนึ่ง นักวิชาการนิเทศฯ เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสื่อ เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก เวลาเหล่านั้นเดินทางมาถึงแล้ว พร้อมหรือยัง ? เหล่าโค้ช ผู้ที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยง ผู้ปลุกปั้นนักสื่อสารมวลชน คนรุ่นใหม่ ที่จะลงสนามในฐานะผู้เล่นและโค้ชไปพร้อมกัน แวดวงกีฬามีปรากฏให้เห็น แล้วแวดวงวิชาการหล่ะ ?
เรียบเรียงโดย ชินกฤต อุดมลาภไพศาล
บทความจากกรุงเทพธุรกิจ
! http://blog.nation.ac.th/?p=2472