Education News

ข่าวการศึกษา เน้นเกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ

“การศึกษา” รากฐานแห่งความ “พอเพียง”

5 มกราคม 2550

เป็นที่ทราบกับดีว่าหลักความ “พอเพียง” สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งใดก็ได้ ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยวิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้วและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นลำดับต่อไป…”

ดั่งพระราชดำริที่ทรงเน้นว่า “การพัฒนาความเจริญต้องพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานที่มั่นคง” ซึ่ง…พื้นฐานจะมั่นคงได้ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ “การศึกษา” เนื่องในโอกาสพิเศษคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานปีใหม่รังสรรค์สิ่งดีเพื่อชีวิตสดใส ได้รับเกียรติจาก รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับสถานศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายขวัญแก้วบอกว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนมีการศึกษา ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้ดี ทัดเทียมกันหมด ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ดี

“การศึกษาเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นมาก จะเห็นได้จากทรงมีพระบรมราโชบายให้เปิดโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เมื่อปี 2531 ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยจัดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ ป.1-ม.6 และให้โรงเรียนดำเนินการตามพระบรมราโชบาย คือ สอนให้นักเรียนรู้จักรักษาความสะอาด เริ่มตั้งแต่ ป.1 พระองค์ทรงเน้นให้เด็กรักความสะอาด เด็กต้องรู้จักซักผ้าเอง ทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำให้สะอาด เพราะพระองค์ทรงถือว่า ห้องน้ำเหมือนห้องรับแขก ทุกอย่างเด็กต้องทำได้ด้วยตัวเอง”

นายขวัญแก้วเล่าว่า เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะมีพระราชประสงค์ให้เด็ก “รู้จักการช่วยเหลือตนเอง” ซึ่งเป็นสิ่ง “สำคัญที่สุด”

“อีกข้อที่ทรงเน้นคือ การอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดี มีเมตตากรุณา ดั่งที่สมเด็จย่าตรัสว่า ความเมตตาคือความสงสาร ส่วนความกรุณา คือ ช่วยตามกำลังความสามารถของตนเอง ไม่ใช่ช่วยเพราะอำนาจ เช่น ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน แทนที่มีน้อยจะทำน้อย กลับไปยืมเงินคนอื่นมาทำเกินฐานะ”

รองเลาขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บอกอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชประสงค์ให้ปลูกฝัง ความประพฤติเรียบร้อย กตัญญูกตเวที ความขยันหมั่นเพียร มีจิตใจโอบอ้อมอารี และรู้รักสามัคคคีเพื่อสันติสุข

“เรื่องสุดท้ายที่ทรงเน้นคือ ให้นักเรียนดำรงชีวิตโดยยึดหลักพอเพียง คือ เมื่อจบจากโรงเรียนไปแล้วสามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงอธิบายว่า ถ้าหากจบมหาวิทยาลัยแล้วเดินเตะฝุ่น นี่ไม่ใช่พระราชประสงค์ แต่ถ้าจบมัธยมแต่สามารถอยู่ได้ด้วยลำแข้งตนเอง สิ่งนี้ต่างหากที่ถือว่าเยี่ยม”

นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ “นักเรียน-นักศึกษา” สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็น “ผู้ใหญ่” ที่รู้จักความ “พอเพียง” อย่างลึกซึ้ง

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2368&Key=hotnews

“ดร.สว่าง”ประธาน”ทปอ.มรภ.”คนใหม่ ชูยกมาตรฐาน”ราชภัฏ”เทียบชั้นม.รัฐ

5 มกราคม 2550

ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พิบูลสงคราม และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า จากการประชุม ทปอ.มรภ.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้เลือกประธาน ทปอ.มรภ.คนใหม่ แทน รศ.ดร.สุพล วุฒิเสน อธิการบดี มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่หมดวาระลงเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2549 โดยผลการคัดเลือกให้ตนเป็นประธาน ทปอ.มรภ.คนใหม่ ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป ส่วนนโยบายของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ยังไม่ได้หารือรายละเอียดในที่ประชุม ทปอ.มรภ. แต่เบื้องต้นตนเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ น่าจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มทำเรื่องที่เหมือนๆ กัน แต่ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกันในทุกเรื่อง เช่น เรื่องการวิจัยเพื่อชุมชน เรื่องนักศึกษาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และเรื่องโครงการพระราชดำริ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนเพื่อวัตถุประสงค์ในการขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นกรณีพิเศษ ทั้งในแง่ของอัตรากำลังคน และงบประมาณ รวมถึงเพื่อดำเนินการให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรัฐทั่วไป เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นสอง

“เราต้องการอยู่ในมาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยรัฐทั่วไป แต่ไม่จำเป็นต้องเป็น World Class University ซึ่งในปัจจุบันทางสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็เริ่มพูดถึงเรื่องคุณภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ฉะนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งใดที่ดำเนินงานในลักษณะทำไร่เลื่อนลอย หรือเปิดศูนย์และวิทยาเขตโดยไม่ได้คุณภาพ ก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ซึ่งผมจะหยิบยกปัญหาเรื่องนี้มาพูดคุยกันในที่ประชุม ทปอ.มรภ.ในโอกาสต่อๆ ไป” ดร.สว่างกล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2364&Key=hotnews

เล็งหักเงินวิทยฐานะแก้หนี้ครู

5 มกราคม 2550

นายบำเรอ ภานุวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนเอง และผู้บริหารของธนาคารออมสิน ได้เข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เสนอว่า สกสค. ควรนำเรื่องครูเป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบ บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาหนื้สินครู โดยถือเป็นเรื่องด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่จะนำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ จำนวนครูที่ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูกับทาง สกสค. จำนวน 131,217 คนนั้น พบว่า มีครูเป็นหนี้นอกระบบ 45,650 คนคิดเป็นมูลหนี้ 11,082,808,552 บาท เฉลี่ยสูงถึง 200,000 บาทต่อคน ขณะที่ครูเป็นหนี้บัตรเครดิต มีจำนวน 4,403 คน คิดเป็นมูลหนี้ 2,416,946,328 บาท เฉลี่ย 70,000 บาท ต่อคน

รองเลขาธิการ สกสค.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สกสค.จะขอรายชื่อครูที่ได้รับเงินวิทยฐานะ จากทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อมาดูว่ามีครูที่ได้รับเงินวิทยฐานะคนใดบ้าง ที่ลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินกับทาง สกสค. เพื่อจะได้นำเงินวิทยฐานะที่ครูแต่ละคนได้รับ มาใช้จ่ายดอกเบี้ยแทนการหักเงินเดือน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแต่ครูต้องยินยอมให้หักเงินวิทยฐานะ ส่วนกรณีที่ครูไม่ได้รับเงินวิทยฐานะนั้น จะมีการจัดเป็นบัญชีที่ 2 เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: กรุงเทพฯ–5 ม.ค.—สยามรัฐ

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2357&Key=hotnews

ปฏิรูปครูก่อน

5 มกราคม 2550

ผ่านไปอีกแล้วหนึ่งปีที่การศึกษาต้องเสียเวลากับการต้องนำปัญหาเก่าๆ ที่ซุกกันไว้ใต้พรมสะสมกันมาหลายสมัย ออกมาชำระสะสางกันใหม่อีกรอบ โดยเฉพาะปัญหาการปฏิรูปครูที่ยังไปไม่ถึงไหน

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ และคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ที่เวลานี้หลายท่าน ได้เข้าไปนั่งเป็นใหญ่เป็นโตในสถาบันอุดมศึกษาและในองค์กรมหาชนที่มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายในเรื่องการประกันคุณภาพสถานศึกษา ต่างเคยพูดเป็นเสียงดียวกันว่า

ถ้าปฏิรูปครูไม่ได้ ก็อย่าไปหวังว่าจะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ

และวันนี้รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนถึงการปฏิรูปครูเห็นได้จากผลงานทางวิชาการผ่านกองกระดาษ มีเงินวิทยฐานะเมื่อผ่านการประเมินสูงขึ้น มีใบประกอบวิชาชีพที่แสดงถึงศักดิ์ศรีเหมือนวิชาชีพอื่น มีคุรุสภาที่บอกตนเองว่าเป็นสภาครู แต่ไม่ค่อยคิดทำอะไรในเชิงพัฒนาวิชาชีพครู

มีสำนักงานสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สก.สค.) ที่คอยขายของผ่อนส่งให้ครูได้เป็นหนี้เป็นสิน มากกว่าจะคิดสร้างความมั่นคงให้สมาชิกครูตามชื่อ

นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานกคศ.หรือกค.ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คอยเป็นนิติบริกรให้กับนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีมากกว่าหลักการที่ผดุงไว้ซึ่งโปร่งใส เป็นธรรม เป็นที่พึงแก่ข้าราชการครูที่ดี มีความรู้ ความสามารถให้มีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างที่ควรจะเป็น

จึงมิแปลกที่มีผลออกมาว่า ครูตกประเมิน 2 ใน 3 ผ่านเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเพียงการประเมินจากเอกสารเท่านั้น และยังพบว่านักเรียนอ่านหนังสือไม่ออกมีจำนวนถึงเกือบล้านคน

ขอถามหน่อยเถอะว่า นี่มิใช่ความล้มเหลวในการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาหรืออย่างไร หากเจาะลึกเอาผลจริงๆ อาจจะต่ำกว่านั้นก็ได้

ดังนั้น จึงขอฟันธงได้เลยว่า การปฏิรูปการศึกษาแม้ใครคนไหนจะเข้ามารับผิดชอบศธ. ตราบใดที่การปฏิรูปครูยังไปไม่ถึงไหน

ก็ยากที่จะสำเร็จได้โดยง่าย

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2361&Key=hotnews

ไอซีทีเผยโฉมป้ายจัดระดับเกมออนไลน์

5 มกราคม 2550

กระทรวงไอซีทีเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับภัยออน ไลน์ โดยเฉพาะเกมออนไลน์ ทำป้ายจัดระดับความเหมาะสมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน

สื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลบางอย่างก็เป็นโทษ แต่บางอย่างก็มีประโยชน์มหาศาล เพื่อป้องกันไม่ให้เผยแพร่เว็บไซต์ที่ผิดศีลธรรมและป้องกันเยาวชนจากข้อมูลที่ไม่เหมาะสม ที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้ดำเนินมาตรการ ต่าง ๆ เพื่อปราบปรามสื่อลามกในโลกออนไลน์

นางมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า การดำเนินการต่าง ๆ มีทั้งการติดตาม สืบสวน การรุกรานอาชญากรรมต่าง ๆ รวมทั้งภัยที่มาจากการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสารสนเทศ เบาะแสเหล่านี้มาจากการแจ้งผ่านทางโทรศัพท์ จดหมายและทางเว็บไซต์ http://www.cyberclean.org/

กระทรวงไอซีทีได้จัดพนักงานเพื่อทำหน้าที่คัดกรองเว็บไซต์ที่ได้รับแจ้งว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม จากนั้นก็รวบรวมหลักฐาน ทั้งจากผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลหรือข้อความที่ผิดกฎของผู้ต้องสงสัย หากพบว่าผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดจริง ก็จะส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรณีอาชญากรรมทั่วไป กระทรวงวัฒน ธรรม หากเป็นความผิดเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรม สำนักงานนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ในกรณีความผิดเกี่ยวกับภาพโบราณสถานที่ปรากฏในสื่อ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในกรณีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง กระทรวงไอซีทีได้จัดทำโครงการ House Keeper เพื่อแจกโปรแกรมสำเร็จรูปฟรี ให้ผู้ปกครองนำโปรแกรมไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันเว็บไซต์และกำหนดเวลาการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กและเยาวชน

ส่วนการจัดทำมาตรฐานจัดความรุนแรงและความเหมาะสมของเกมออนไลน์ โดยโครงการจัดทำป้ายจัดระดับเกมออนไลน์ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและสิทธิการรับรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของเกมที่มีขายหรือให้บริการในประเทศไทย โดยป้ายเตือนจะมี 2 ลักษณะ คือ

ป้ายจัดระดับความเหมาะสมอายุของผู้เล่นเกม 4 ระดับอายุ ดังนี้ 3+ 6+ 12+ และ 18+ และเรต All หมายถึง เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย รวมถึงป้ายพิเศษสำหรับเกมที่รอการพิจารณา หรือ Rate Pending

ป้ายเตือนความรุนแรงและประเภทของเนื้อหา หรือข้อความกำกับเนื้อหา (Content Descriptor) จะใช้คู่กับป้ายจัดระดับอายุทั้ง 4 ระดับ ยกเว้นป้าย ALL โดยป้ายเตือนจะมี 7 ประเภทเนื้อหา คือ

มีการใช้ภาษาไม่เหมาะสม (Bad Language)

มีเนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด (Drugs)

มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพนัน (Gamble)

มีเนื้อหาน่ากลัว (Fear)

มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก (Love)

มีเนื้อหาทางเพศ (Sexual)

มีเนื้อหารุนแรง (Violence)

การออกแบบระดับเกม ได้ทำการศึกษาจากการจัดระดับเกมออนไลน์ในต่างประเทศ รวมถึง วิเคราะห์สภาพแวดล้อมปัญหาการเล่นเกมในไทย เรตการจัดระดับของไทยจะคล้ายกับการจัดระดับในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ในไทยจะเพิ่มป้ายเตือนความรุนแรงและป้ายเนื้อหาพิเศษ สำหรับเกมที่มีเนื้อหาขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของไทย (Contra to Thai Culture) และเกมไม่มีจุดจบมีแนวโน้มเสพติด (Endless Game)

ดังนั้น ตลอดปี 2550 กระทรวงไอซีทีจะเร่งเผยแพร่และให้ความรู้ที่แฝงมากับสื่ออินเทอร์เน็ตและเกมออนไลน์แก่เยาวชนและผู้ปกครอง รวมถึงโครงการศึกษาวางระบบการเฝ้าระวังการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่เหมาะสม

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.dailynews.co.th

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2345&Key=hotnews

มะกันฟ้อง3บ.มือถือโลกละเมิดสิทธิบัตร‘บลูทูธ’

4 มกราคม 2550

อัมสเตอร์ดัม (รอยเตอร์ส/สำนักข่าว ตปท.) – สถาบันวิจัยสหรัฐฟ้องซัมซุง โนเกีย และมัตสึชิตะ ฐานละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีบลูทูธ

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานเมื่อวันที่ 3 มกราคม ว่า มูลนิธิด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐ ได้ทำการฟ้องร้องโนเกีย, ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และมัตสึชิตะ เจ้าของแบรนด์ พานาโซนิค 3 ผู้ผลิตโทรศัพท์ชื่อดังของโลก ในข้อหาทำการละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีบลูทูธ

มูลนิธิด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งได้ยื่นฟ้องร้องในนามของ มหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐ ระบุไว้ในคำร้องที่ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางในรัฐวอชิงตัน ของสหรัฐ ว่า ทั้ง 3 บริษัทได้มีการผลิต, นำมาใช้ และนำเข้าสินค้ามายังสหรัฐ พร้อมทั้งทำการจำหน่ายและอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการข้างต้นได้มีการละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีบลูทูธ

“มัตสึชิตะ, ซัมซุง และโนเกีย ควรที่จะได้รับใบอนุญาตในการนำเทคโนโลยีบลูทูธไปใช้สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ” สถาบันวิจัยจากสหรัฐ กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้เป้าหมายสำหรับการฟ้องร้องของสถาบันวิจัยของสหรัฐในครั้งนี้ จะอยู่ที่การจำหน่ายชิปบลูทูธ ที่ผลิตโดยซีเอสอาร์ บริษัทชิปยักษ์ใหญ่จากอังกฤษ ซึ่งได้มีการผลิตชิปสำหรับใช้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากเช่น โทรศัพท์มือถือ หรือแล็ปท็อป ทว่า มูลนิธิด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ก็ไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อซีเอสอาร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปบลูทูธแต่อย่างใด

ทว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้หุ้นของซีเอสอาร์ ได้ปรับตัวลดลง 4.3% มาอยู่ที่หุ้นละ 631 เพนซ์ ในระหว่างการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์กรุงลอนดอน ของอังกฤษในวันเดียวกันนี้

ทั้งนี้ ซีอาร์เอส ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานด้านกล่าว

เช่นเดียวกับ ซัมซุง,พานาโซนิค และโนเกีย ที่ปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็นใดๆ

“เราอยู่ในระหว่างการศึกษาข้อฟ้องร้องที่ได้รับ” ไอจา-ริตตา โฮวิเนน โฆษกของโนเกีย กล่าว

สำหรับ หุ้นของโนเกียในระหว่างการซื้อขายวันเดียวกันนี้ ได้ปรับตัวลดลง 0.8% ในระหว่างการซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์กรุงเฮลซิงกิในฟินแลนด์ ขณะที่ที่หุ้นของซัมซุงได้ร่วงลง 2.2% ด้วย

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: กรุงเทพฯ-04 ม.ค.—โพสต์ทูเดย์

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2343&Key=hotnews

ธ.ใช้โอกาสวันเด็กเปิดเวทีให้เด็กพูด

4 มกราคม 2550

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ในวันเด็กแห่งชาติปีนี้ ตนมีแนวความคิดที่จะให้ วธ. จัดงานให้มีรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม โดยต้องการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกทางความคิดมากขึ้น เช่น การเปิดเวทีเสวนาเยาวชน เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรจะทำอะไรและควรที่จะปฏิบัติตนอย่างไรในการเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ ตลอดจนเป็นเวทีให้เด็กได้สำรวจตนเองว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรให้เหมาะสมกับการเป็นเด็กดี ในขณะเดียวกันวธ.จะเชิญผู้แทนเยาวชนทั่วประเทศ เด็กพิการ เด็กด้อยโอกาสให้มาร่วมงานและร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “การเป็นคนดีของชาติ คนดีของแผ่นดิน” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาด้วย ทั้งนี้วธ.จะเชิญหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมฟังความคิดเห็นของเยาวชนด้วย

นายวีระ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้วธ.ยังจะจัดกิจกรรม เพื่อให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จะมีกิจกรรมวิชาการ “ของเล่นเด็ก” กิจกรรมของเล่นจากสื่อสิ่งประดิษฐ์ การจับสลากของรางวัล การบรรเลงดนตรีไทย-สากล การแสดงนาฏศิลป์, พิพิธภัณฑสถานช้างต้น จะมีนิทรรศการพิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า จะจัดประกวดวาดภาพสำหรับ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาและเด็กเล็ก, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี จะจัดประกวดคำขวัญ เรียงความชิงทุนการศึกษา เป็นต้น สำหรับในส่วนภูมิภาค วธ.จะเปิดโบราณสถาน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้เข้าชมฟรี และจะจัดกิจกรรมวาดภาพ การแสดงนาฏศิลป์ไทยให้เหมือนกับส่วนกลาง

“ผมกำลังประสานกับทางสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะเชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในการเปิดงานวันเด็กและร่วมรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนด้วย” ปลัดวธ.กล่าว.

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: –เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 ม.ค. 2550-

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2342&Key=hotnews

รมว.ศธ.ไม่หวั่นม็อบอดข้าวประท้วง

4 มกราคม 2550

ร่างพ.ร.บ.นอกระบบ-“กฤษณพงศ์”สั่งรับมือ น.ศ.วอนผู้ใหญ่ฟัง-จี้”ประชาพิจารณ์-ลงมติ”

เมื่อวันที่ 3 มกราคม ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่คัดค้านนโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล โดยจะนุ่งขาวห่มขาว และไปรวมตัวกันประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 มกราคม เพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ภายใน 3 วัน หากรัฐบาลไม่มีคำตอบที่ชัดเจนก็จะอดข้าวประท้วง ว่า เป็นการแสดงออกแบบสันติวิธีที่ทำได้ ซึ่ง ศธ.ไม่จำเป็นต้องเตรียมรับมือ เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องไปตกลงกันเอง ตนยืนยันว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ เพราะเชื่อว่าผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ว่าที่เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นครูอาจารย์ไม่สบายใจ และไม่อยากให้นิสิตนักศึกษาทำเช่นนี้ ถ้ามีข้อมูลอะไรก็อยากให้เสนอแนะกับมหาวิทยาลัย หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ไม่ควรว่ากลุ่มนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ทำผิด ควรใช้หลักความเข้าใจในการมองปัญหา และช่วยกันแก้ไข อย่างไรก็ตาม มองว่านักศึกษาไม่ควรประท้วง เพราะจะกระทบด้านความปลอดภัยและสุขภาพของตัวเอง อย่างไรก็ตามจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือ โดยเฉพาะผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้สร้างสะพานเชื่อมโยงระหว่างอาจารย์และนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วย โดยผู้บริหารแต่ละสถาบันต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับนิสิตนักศึกษามากขึ้น เพื่อประโยชน์ทั้งนักศึกษาและผู้บริหาร

นายยศ ตันสกุล นักศึกษาปี 1 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานเครือข่ายนักเรียนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ความจริงแล้วนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวอยากให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลมาทำประชาพิจารณ์อีกรอบหนึ่ง รวมทั้งตอบข้อซักถามให้ชัดเจน และให้ประชาชนลงมติว่าจะให้ผ่านหรือไม่ จะได้เกิดความชัดเจนกันทุกฝ่าย เพราะแม้จะทำให้ล่าช้าแต่ก็เป็นผลดีกับทุกคน

“จริงๆ แล้วหลายๆ คนก็ไม่ได้คัดค้านการออกนอกระบบ เพราะถ้าดีจริงก็ออกไปเลย แต่ที่ผ่านมาไม่มีคำตอบชัดเจนในเรื่องต่างๆ ทั้งงบประมาณ ค่าเล่าเรียน และอื่นๆ แล้วก็ทะเลาะกันไปมาผ่านสื่อ ยิ่งถ้าประท้วงและถึงขั้นอดข้าวก็คงเหนื่อยหน่อย จริงๆ อยากให้หันหน้าเข้าหากัน พวกผมไม่ได้มีเจตนาจะว่าผู้ใหญ่ แต่อยากให้ผู้ใหญ่ฟังบ้าง เพราะรู้สึกเป็นห่วง ไม่อยากให้เกิดสภาพแบบระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาใหม่ หรือแอดมิสชั่นส์ ที่เกิดปัญหาในการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต” นายยศกล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2341&Key=hotnews

ศธ.เร่งนำร่องกระจายอำนาจเริ่มพ.ค.นี้

4 มกราคม 2550

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนที่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ว่า ครม.ได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหาร ตามที่ ศธ.เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ ให้มีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไปไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง ซึ่งแบ่งสถานศึกษาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1. สถานศึกษาที่มีจำนวน นักเรียนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป และมีผลการประเมินคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ทุกมาตฐานในระดับดี รวมทั้งมีความพร้อมในการบริหารและการจัดการศึกษา และประเภทที่ 2. สถานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษและให้รวมถึงกลุ่มเครือข่ายสถานศึกษาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดกลุ่มตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป เพื่อให้สามารถรองรับการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาได้ ทั้งนี้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศรายชื่อสถานศึกษาประเภทที่ 1 ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ ส่วนการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้เป็นไปตามกฎหมายของหน่วยงาน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาให้ส่วนราชการยึดหลักการ ได้แก่ ยึดหลักเอกภาพด้านมาตรฐานและนโยบายด้านการศึกษา, มีความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา รวมทั้งขีดความสามารถและความรับผิดชอบของผู้รับการกระจายอำนาจ, มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่, มุ่งให้เกิดผลสำเร็จอยู่ที่สถานศึกษาโดยเน้นให้สถานศึกษามีความเข้มแข็งเพิ่มความคล่องตัวให้การดำเนินการกระจายอำนาจทั้ง 4 ด้านไปยังสถานศึกษามากที่สุด, เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพให้แก่สถานศึกษา และมอบหมายให้ผู้มีหน้าที่รับ ผิดชอบในการดำเนินการเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่อง นั้น ๆ โดยตรง

“หลังจากนี้จะมีการจัดส่งร่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และผมจะลงนามเพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อรองรับการนำร่องการกระจายอำนาจไปยัง สพท. และสถานศึกษา 600 โรง ให้ทันในเดือนพฤษภาคม นี้” ศ.ดร.วิจิตร กล่าว.

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.dailynews.co.th

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2340&Key=hotnews

แอ้ดไฟเขียว-วิจิตรเฟ้นชื่อรมช.ศึกษาฯ

4 มกราคม 2550

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ตนได้หารือกับพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถึงการแต่งตั้งรมช.ศึกษาธิการ ซึ่งนายกฯเห็นชอบในหลักการอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ในส่วนของรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมนั้น นายกฯให้ตนเสนอรายชื่อไป คาดว่าจะสามารถเสนอรายชื่อให้นายกฯ พิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือนม.ค.นี้ ทั้งนี้ ผู้ที่จะมาเป็นรมช.ศึกษาธิการนั้นตนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นนักการศึกษา แต่จะต้องเป็นผู้ที่รู้เรื่องการศึกษาเป็นอย่างดี เพราะไม่อยากให้มานับหนึ่งใหม่ แต่อยากให้มาถึงก็ทำงานได้เลย

“นายกฯให้ผมเสนอรายชื่อมา ซึ่งผมจะเสนอเพียงรายชื่อเดียว เพราะเพียงชื่อเดียวก็ยังหายากเต็มที เพราะคนเก่งๆ ที่ผมเล็งไว้ก็ไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กันหมดแล้ว ก็เลยต้องหาคนใหม่มาแทน” นายวิจิตรกล่าว

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2337&Key=hotnews  – เว็บไซต์ข่าวสด (Th)