4 มกราคม 2550
10 สุดยอดนวัตกรรมแห่งปี 2549 จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกมาแล้ว เชื่อว่าบรรดาเอสเอ็มอีสามารถจับกระแสธุรกิจในอนาคตได้ไม่ยาก ไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่หลายธุรกิจเป็นธุรกิจที่มีผลกับโลกอนาคตเลยทีเดียว เอสเอ็มอีที่มองการณ์ไกลไม่สามารถอยู่ได้โดยการซื้อลิขสิทธิ์จากประเทศอื่นเท่านั้น แต่ในฐานะที่เราเองเป็นผู้คิดเราย่อมได้เปรียบ
10 สุดยอดนวัตกรรมที่คัดเลือกมาในครั้งนี้ มีเกณฑ์ในการตัดสินโดยพิจารณาจาก 1.รูปแบบธุรกิจใหม่ 2.สนับสนุนด้วยเทคนิคทางเทคโนโลยีที่โดดเด่น 3.เป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพในตลาดโลก 4.มีการบริหารองค์กรที่ดี 5.มีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา 6.ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวด้านนวัตกรรม
หลายธุรกิจไล่ตามอนาคต และหลายธุรกิจกำลังอยู่ในกระแสขณะนี้
1.สเต็มเซลล์…นวัตกรรมการแพทย์ในอนาคต
ดำเนินการโดย บริษัท ไทย สเตมไลฟ์ จำกัด เป็น นวัตกรรมการรักษาโรคแทรกซ้อนในระบบเส้นเลือดของ ผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยใช้ สเต็มเซลล์ (stem cells) กระตุ้นไขกระดูกของผู้ป่วย ช่วยในการสร้างเซลล์เนื้อเยื่อ อวัยวะ และระบบต่างๆ ภายในร่างกาย
โอกาสธุรกิจอยู่ตรงที่ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ถูกตัดขาปีหนึ่งราว 40,000 คนต่อปี ในขณะเดียวกันผู้ป่วยเหล่านี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตกราว 1,000,000 บาทต่อครั้ง แต่หากใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์พบว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 200,000 บาทเท่านั้น สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 32,000 ล้านบาทต่อปี
2.ข้าวกล้องสด…หอมกรุ่นจากท้องนา
ดำเนินการโดย บริษัท ซีเรียลเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นนวัตกรรมในการเก็บรักษาข้าวกล้องสดได้นานขึ้นคือราว 6-9 เดือน รักษาความสดได้เหมือนข้าวใหม่
โอกาสทางธุรกิจก็คือ ทำให้เกิดมูลค่าจากข้าวกล้องปกติราคา กิโลฯละ 20-30 บาท นวัตกรรมตัวนี้จะช่วยทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 3-5 เท่า จากคุณค่าทางโภชนาการที่สูงขึ้นนั่นเอง
3.ระบบเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน…บ้านใหม่ของชีวิตใต้ท้องทะเล
ดำเนินการโดย บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด เป็นที่รู้กันว่าปลาการ์ตูนเพาะเลี้ยงยาก แต่เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูนของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาจะช่วยให้การผลิตปลาการ์ตูนส่งออกได้มากขึ้น อย่างต่ำตกประมาณเดือนละ 15,000 ตัว
คิดง่ายๆ ปลาการ์ตูนขายปลีกราคาตัวละ 16 ดอลลาร์ จำหน่ายส่งในราคาตัวละประมาณ 7-8 ดอลลาร์ หรือราว 320 บาทต่อตัว
4.สมองกล CNC ชุบชีวิตเครื่องจักรกลไทย
โดย บริษัท โนออล จำกัด ในนามของสมาคมเครื่องจักรกลไทย (TMA) เป็นการสร้างชุดควบคุมเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (CNC controller) ที่เป็นสมองของเครื่องจักรเพื่อสั่งงานควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น การเคลื่อนที่ของชิ้นงาน การเปลี่ยนหัวกัดแบบต่างๆ การหมุนของหัวกัด การปรับระยะ ตลอดจนไปถึงการควบคุมระบบหล่อเย็น
ที่สำคัญก็คือเครื่องควบคุมสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้หลากหลายรูปแบบ น่าจะเป็นการพลิกโฉมการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมในประเทศไทยเลยทีเดียว นั่นก็หมายความว่าเรามีอำนาจในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ในทางหนึ่ง
5.แป้งเด็กจากแป้งข้าวเจ้า ธุรกิจใหม่ของข้าวไทย
โดย บริษัท เนอเชอร์ แคร์ จำกัด เป็นการนำแป้งข้าวเจ้ามาใช้ทดแทน ทอลคัม (talcum) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่นำเข้ามาและแป้งข้าวโพดโดยการดัดเปลงทางเคมีจนมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแป้งฝุ่นที่ใช้กันในปัจจุบัน จุดที่น่าสนใจอยู่ที่ตลาดรวมของผลิตภัณฑ์หลังอาบน้ำมีมูลค่าตลาดราว 3,500 ล้านบาท คิดเป็นแป้งเด็กราวๆ 55% แป้งเย็น 34% แป้งหอม 9% และแป้งน้ำ 2% ในขณะที่บ้านเรานำเข้าทอลคัมปีละ 600 ล้านบาท
6.บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ…จากธรรมชาติคืนสู่ธรรมชาติ
โดย บริษัท บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด เป็นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย จากเดิมที่นำไปเป็นเชื้อเพลิง แต่การนำมาพัฒนาจนกลายเป็นบรรจุภัณฑ์หลากหลาย เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ แถมยังเป็นบรรจุภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
7.ตะกร้อผิวนุ่ม เตะไม่เจ็บ
โดย บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด เป็นเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติกให้มีพื้นผิวนุ่มขึ้น
เตะไม่เจ็บ โอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจก็คือ มูลค่าตลาดของลูกตะกร้อในประเทศปัจจุบันอยู่ราวๆ 150 ล้านบาท ซึ่งตลาดของตะกร้อพลาสติกสามารถเติบโตได้เท่าตัว เนื่องจากนโยบายในการส่งเสริมกีฬาในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมชนและหมู่บ้าน ประกอบกับตะกร้อขาดวัสดุธรรมชาติที่เริ่ม หายากขึ้นทุกวัน
8.แขนกล…สุดยอดระบบอัตโนมัติ แขนกล (Articulate Arm) บริษัท นิวสมไทยมอเตอร์เวอค จำกัด ร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เคลื่อนไหวได้อิสระทั้ง 5 แกน แบกรับน้ำหนักชุดอุปกรณ์ได้ 6 กิโลกรัม ทำงานได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตัวเลขที่น่าสนใจอยู่ตรงผลการคาดการณ์จำนวนแขนกลทั่วโลกที่จะติดตั้งเพิ่มในปี 2550 พบว่ามีมากกว่า 106,300 ตัว และมีโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศจำนวนมากที่มีความต้องการนำไปใช้ ทางบริษัทจึงได้วางแผนการพัฒนาแขนกลขนาดเล็กราคาย่อมเยาแต่ยังคงคุณภาพสูงไว้เพื่อทำตลาดในประเทศด้วย
9.เครื่องล้าง…กระบอกไตเทียม โดย บริษัท เมดิทอป จำกัด เป็นนวัตกรรมในการล้างไตเทียม คือสามารถนำกระบอกไตเทียมที่ใช้ไปแล้วนำกลับมาใช้ได้อีก เป็นการลดการนำเข้า ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยจากราคาค่าล้างไต 4,200 บาทต่อครั้ง เหลือ 2,200 บาทต่อครั้ง โอกาสทางธุรกิจไม่ต้องพูดถึง
10.เก้าอี้น้ำยางพารา…นุ่มยิ่งกว่านุ่ม โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซุ่ย สตูดิโอดีไซน์ เป็นการผลิตเก้าอี้นุ่มจาก ยางพาราต้นทุนต่ำ กระบวนการไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้านักอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งมูลค่าของตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านมีมูลค่าทางการตลาดประมาณ 250 พันล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัว 10% ต่อปี
แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/prachachart
moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2317&Key=hotnews