วารสารศาสตร์ กับคอนเวอร์เจ้นท์ และความเสี่ยงสูง
หากเราไม่พิจารณาปรากฏการณ์ วารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนท์ (Convergence Journalism) หรือรูปแบบการรายงานข่าวแบบหลากหลายสื่อ
ในมิติการปรับตัวของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งในแง่ทัศนคติของคนทำงาน ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียน การสอน นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ เพื่อให้มีทักษะในการทำงานในแบบ multi-tasking skills แล้ว ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามไป ก็คือ ระดับจิตสำนึกความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมก็เป็นความท้าทายของนักข่าวในยุคมีเดีย คอนเวอร์เจ้นท์ด้วย
การร่วมกันในการวางแผน เลือกช่องทางในการส่งสาร ไม่ว่าจะผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ สื่อดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ สื่อสังคมออนไลน์ที่มีความไวสูง แน่นอนที่สุดว่า ผู้บริโภคข่าวสารจะได้ประโยชน์ โดยสามารถเข้าถึงข่าว หรือข้อมูลในช่องทางที่ง่าย และสะดวกสบายขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการก็อาจได้ประโยชน์ในการลดต้นทุนการผลิต และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าในสื่อดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันภาระรับผิดชอบของบรรณาธิการ และนักข่าวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นการฟ้องคดี ในช่องทางสื่อดิจิตอลหรือสื่อใหม่
เริ่มจากสื่อดั้งเดิม ความรับผิดชอบของบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ขอบเขตความรับผิดตามหลักสันนิษฐานของกฎหมายเดิมนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือไม่ เพราะในทางคดี บรรณาธิการหลายคนที่ถูกฟ้องคดีก็ยังต้องรับผิดในฐานะตัวการร่วมในการหมิ่นประมาท ถึงแม้ว่าฝ่ายโจทก์หรือผู้เสียหาย จะไม่สามารถนำสืบได้ว่า บรรณาธิการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ แม้จะมีการตราพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ขึ้นใช้บังคับแล้ว ในหลายคดีโจทก์ก็ยังอ้าง พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว ในคำขอท้ายฟ้องเพื่อให้ลงโทษจำเลยอีก เช่น คดีที่นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฟ้องบรรณาธิการ กรุงเทพธุรกิจ และเมื่อไม่นานมานี้ ข้อสอบวิชากฎหมาย ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ยังอ้างพระราชบัญญัติการพิมพ์ เป็นคำถามในการสอบ
แต่หลังจากมีคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ หลักในการพิจารณาอาจเปลี่ยนไป
พิพากษาศาลฎีกา ที่ 4948/2554 คดีหมิ่นประมาท ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โจทก์ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ 1 บริษัทหนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด ที่ 2 นายวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ที่ 3 และนายจิระพงศ์ เต็มเปี่ยม ที่ 4 ยืนยันหลักการบรรณาธิการไม่ต้องรับผิด เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งจะเป็นประเด็นข้อต่อสู้สำคัญของจำเลย ที่เป็นบรรณาธิการต่อไป
คดีนี้ โจทก์ ระบุว่าจำเลยร่วมกันหมิ่นประมาท โดยตีพิมพ์จดหมายจากผู้อ่าน ในคอลัมน์ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พูด” พาดหัวคอลัมน์ว่า “พลังเงียบ” มีข้อความบางตอนว่า มีการสร้างกระแสอย่างเป็นขบวนการ และอย่างเป็นระบบเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องแจ้งความเท็จแสดงทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีผู้นำของประเทศ จนทำให้ผู้คนทั่วไปคิดว่า ผู้นำของประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่เหนือกฎหมาย และอยู่เหนือสามัญชน
จำเลยที่ 1 ตอบจดหมายผู้ใช้ชื่อว่า “พลังเงียบ” ว่า เห็นด้วยทุกอย่างครับที่เขียนมา
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ก่อนที่ศาลฎีกา จะพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ข้อความที่ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พูด” เป็นการแสดงความคิดเห็น ความเป็นห่วงเป็นใยในกฎระเบียบกติกา และความถูกต้องของบ้านเมือง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ติชมด้วยเจตนาสุจริต ด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทำได้โดยชอบตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน สื่อมวลชนภายใต้รัฐธรรมนูญ มิใช่เป็นการใส่ความโจทก์ ขณะที่จำเลยที่ 1 นำข้อความในจดหมายของผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “พลังเงียบ” เขียนถึงจำเลยที่ 1 มาลงพิมพ์ในคอลัมน์ “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พูด” ซึ่งเป็นคอลัมน์ประจำของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์รายวันแนวหน้านั้น อยู่ในช่วงที่โจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“..ตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และถือว่าเป็นตำแหน่งที่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งประเทศ โดยสถานะของโจทก์จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชน ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่โจทก์ต้องประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของจริยธรรม”
ศาลฎีกา ตัดสินว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ส่วนจำเลยที่ 4 ในส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือที่ตนเป็นบรรณาธิการ จำเลยที่ 4 ย่อมพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดในส่วนนี้
นี่เป็นการยืนยันหลักการตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ว่าไม่ได้บัญญัติให้ บรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการร่วมกับผู้ประพันธ์ บรรณาธิการจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้ประพันธ์ หากอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย นำสืบไม่ได้ว่าบรรณาธิการมีส่วนร่วมในการประพันธ์บทประพันธ์หรือมีส่วนร่วมรู้ เห็นกับการโฆษณาบทประพันธ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ อย่างไร ถือว่าบรรณาธิการไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย ดังที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติ ว่า
“บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และ โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่ บัญญัติไว้ในกฎหมาย”
ศาลไม่อาจนำหลักสันนิษฐาน ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ที่ได้ยกเลิกไปแล้วมาพิจารณาลงโทษบรรณาธิการได้
สำหรับการเสนอข่าวในรูปแบบของ วารสารศาสตร์ คอนเวอร์เจ้นท์ ยังไม่มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน แต่มีการฟ้องคดีแล้วจำนวนมาก ประเด็นที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ คือ บรรณาธิการ หรือ นักข่าวยังต้องรับผิดชอบในทุกสื่อที่เป็นช่องทางในการนำเสนอข่าวหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการอ้างอิงไปยังเว็บไซต์อื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ส่งสาร เช่น กรณีการที่ผู้เสียหายไปพบข้อความหมิ่นประมาทใน google.com บรรณาธิการยังต้องรับผิดชอบอยู่ในระยะเวลายาวนาน เพียงใด นับจากวันที่นำเสนอข่าวในครั้งแรก
โอกาสในการส่งข่าวที่ฉับไว ผ่านสื่อที่หลากหลาย จึงอาจหมายถึงความเสี่ยงสูงที่ต้องรับผิดชอบในทางคดีด้วย
http://blog.nation.ac.th/?p=2555