ป.ตรี อาชีวศึกษาต้องให้ สกอ.รับทราบ
ป.ตรี อาชีวศึกษาต้องให้ สกอ.รับทราบ ป้องกันบัณฑิตรับราชการไม่ได้
เพราะก.ค.ศ.-ก.พ. ไม่รับรองและตีค่าเงินเดือน
โดย ทีมข่าวการศึกษา ไทยรัฐออนไลน์
20 มิถุนายน 2556, 05:00 น.
นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้อนุมัติหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยี/สายปฏิบัติการ ของสถาบันการอาชีวศึกษา ทำให้มีข้อสงสัยว่าจะต้องส่งหลักสูตรให้ สกอ.รับทราบก่อนหรือไม่นั้น โดยหลักการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะตีค่าเงินเดือนของใบปริญญาบัตร ก็ต่อเมื่อหลักสูตรนั้นได้รับการรับทราบจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สกอ.) หาก สกอ.ไม่รับทราบ ก.ค.ศ.และ ก.พ. ก็จะไม่รับรองและตีค่าเงินเดือนให้ ซึ่งบัณฑิตที่จบหลักสูตรนั้นๆ ก็จะเข้ารับราชการไม่ได้ และยิ่งถ้าเป็นวิชาชีพเฉพาะหลักสูตรนั้นก็จะต้องผ่านสภาวิชาชีพด้วย เช่น หลักสูตรแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยใดก็ตามเมื่อสภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตรแล้วจะต้องส่งให้แพทยสภาก่อน เมื่อผ่านแพทยสภาแล้วจึงจะส่งมาให้ สกอ.รับทราบ จากนั้นจึงจะส่งให้ ก.พ.และ ก.ค.ศ.ตีค่าเงินเดือน เป็นต้น
เลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อว่า หากไม่มีขั้นตอนให้ สกอ.รับทราบ บัณฑิตก็จะรับราชการไม่ได้ แต่หากคิดว่าผู้ที่จบหลักสูตรใดก็ตามจะไม่เข้ารับราชการแน่นอนก็ไม่จำเป็นต้องให้ สกอ.รับทราบก็ได้ อย่างไร ก็ตาม ที่ผ่านมามีปัญหาว่า บางมหาวิทยาลัยส่งหลักสูตรให้ สกอ.รับทราบ ขณะที่หลักสูตรเดียวกันบางมหาวิทยาลัยก็ไม่ส่ง จึงเกิดกรณีสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการครูไม่ได้ เนื่องจาก ก.ค.ศ.ไม่รับรอง ทั้งที่เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของผู้เรียนเลย แต่เป็นความบกพร่องของสถาบันหรือมหาวิทยาลัย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ก็น่าจะส่งมาให้ สกอ.รับทราบ.