แชร์ไม่แชร์ บนสื่อสังคมออนไลน์
การใช้สื่อออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดีย คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ถ้าชอบต้องกด “Like” ถ้าใช่ต้องกด “Share” คงเป็นกิจกรรมที่พบได้ทั่วไป
! http://bit.ly/1b8RM0W
โดย : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล
หรือกลายเป็นวัตรปฏิบัติของการใช้โซเชียลมีเดียไปแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องราวครึกโครมใหญ่โตสะเทือนสังคมออนไลน์ประเด็นการกด Like หรือ Share บางเรื่องบางประเด็นอาจจะเป็นสิ่งที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จนกลายเป็นกระแสทางสังคมเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิ หรือเสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์ของผู้ใช้หรือไม่
หากพิจารณาดีๆ ตัดประเด็นเหล่านั้นออกไป สร้างกรอบปฏิบัติที่ดีของการใช้สื่อออนไลน์ โดยเริ่มต้นที่ตัวผู้ใช้สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งใหญ่โตที่จะต้องคำนึงถึงมากนัก มนุษย์ยุคสารสนเทศ การแลกเปลี่ยนแบ่งปันเป็นกิจกรรมกลุ่มทางสังคมจากยุคการแลกเปลี่ยนเชิงสิ่งของในยุคเก่าก่อนไปสู่ยุคการแลกเปลี่ยนแบบดิจิทัล ข้อมูลในรูปของ ข้อความ คลิปเสียง ภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว บนสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ที่มีภูมิทัศน์ของความหลากหลายในการแบ่งปันข้อมูล อาทิ บทความออนไลน์ผ่านบล็อก คลิปวีดิโอผ่านยูทูป ข้อความ โพสต์ข้อความบนแฟนเพจเฟซบุ๊ค เป็นต้น ประเด็นของการแบ่งปันของมนุษย์ยุคออนไลน์ มี 2 สิ่งหลัก คือ การแบ่งปันสิ่งที่มีความสำคัญ และการแบ่งปันความสนุกสนาน นอกนั้นก็เป็นการแบ่งปันเพื่อสะท้อนความเชื่อของตนเอง สะท้อนบุคลิกตัวตน การแนะนำสินค้า ภาพยนตร์ และอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วการแชร์ คือ “การแบ่งปันสิ่งที่มีความน่าสนใจ”
สามประการพื้นฐานสู่การเริ่มต้นการแบ่งปันที่ดีสามารถทำได้ง่าย เริ่มจากตัวผู้ใช้ ประการแรก ระมัดระวังข้อความหรือบทสนทนา อาทิ บนเฟซบุ๊คผู้ใช้งานสามารถส่งข้อความ โพสต์ภาพถ่าย หรือวีดิโอบนหน้ากระดานคนอื่นได้ แม้จะดูเหมือนกิจกรรมการส่งข้อความหากันคล้ายการส่งผ่านอีเมล์ของคนสองคน แต่มันสามารถเห็นโดยบุคคลทั่วไปที่เป็นเพื่อนของคนใดคนหนึ่ง ระมัดระวังประเด็นส่วนตัวกลายเป็นประเด็นที่วิ่งรอบโลก สิ่งนี้พบได้ในชีวิตประจำวันตามหน้าสื่อ อาทิ ข่าวกอสซิปของดารา ผ่านเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม คลิปหลุด แปลก จุดกระแสบนยูทูป ที่กลายเป็นประเด็นครึกโครม สื่อกระแสหลักนำไปเล่นขยายต่อ ดังนั้น เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นวิจารณญาณของผู้ใช้งานที่จะพิจารณา หากรู้ว่าสึกว่าไม่สะดวกที่จะแบ่งปันกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนแปลกหน้าที่ไม่สนิทชิดเชื้อ ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง
ประการที่สอง ข้อมูลส่วนบุคคลและองค์กรข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ไม่ควรที่จะโพสต์ เพราะเป็นการเชื้อเชิญ บุคคลที่ไม่ประสงค์ดี เข้ามาใกล้ หรือคุกคามชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัว ส่วนข้อมูลองค์กรหลายต่อหลายองค์กร ข้อมูลกิจกรรมบางอย่างเป็นสิ่งที่เป็นความลับ เช่น โครงการใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หากข้อมูลหลุดรั่วออกไปยังคู่แข่ง ก็สร้างมูลค่าความเสียหายแก่บริษัท หลายองค์กรจึงมีการจำกัดการเข้าถึงการใช้โซเชียลมีเดีย หรือการจำกัดการเข้าใช้เว็บไซต์บางเว็บ เพราะกลัวสิ่งที่พนักงานจะแชร์ออกไปด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม หนทางที่สะดวกกว่าคือการส่งผ่านอีเมล์ส่วนตัว และตระหนักเสมอว่าสิ่งที่กำลังนำเสนอออกไปบนโซเชียลมีเดียหากเกี่ยวข้องกับองค์กรควรสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร
ประการที่สาม พาสเวิร์ด ดูเหมือนประเด็นที่ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีใครทำกัน แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่า เรื่องพื้นๆ ทั่วไป สามารถสร้างเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้เสมอ พาสเวิร์ดไม่จำเป็นต้องเป็นพาสเวิร์ดบัตรเครดิต พาสเวิร์ดการล็อกอินเข้าเว็บไซต์ที่เป็นระบบสมาชิก หรือเครือข่ายโซเชียลมีเดียอื่นๆ น้อยคนนักที่ใช้เครือข่ายแต่ละแห่ง ใช้พาสเวิร์ดคนละชุดกัน หรือบางเครือข่ายก็อนุญาตให้ล็อกอิน ด้วยชุดพาสเวิร์ดผ่านเครือข่ายหนึ่งได้ เช่น คุณสามารถล็อกอินเข้ายูทูปด้วย ล็อกอินด้วยบัญชีผู้ใช้ของกูเกิล หรือล็อกอินเข้าพินเทอเรสต์ ที่สามารถล็อกอินด้วยบัญชีผู้ใช้อย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ หลายต่อหลายโซเชียลมีเดีย ให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ที่ไม่ต้องจดจำพาสเวิร์ด หรือใช้พาสเวิร์ดหลายชุด พึงระลึกไว้เสมอ บางครั้งด้วยความคาดไม่ถึงการณ์ ให้เพราะสนิทกัน ให้เพราะเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้งานได้ข้อมูลส่วนตัวหลุดเพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่เสมอ
โลกของโซเชียลมีเดีย เครือข่ายสังคมการแบ่งปันทุกสิ่งอย่าง มองด้านดี เป็นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคมขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาในทุกมิติ ชีวิตส่วนตัว งาน สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี บ่อยครั้งที่สังคมออนไลน์แห่งนี้พูดถึงการใช้งานสื่อ แต่ไม่ค่อยจะนำเสนอ การรู้เท่าทันสื่อและใช้งานสื่ออย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรพึงระลึกเสมอว่าทุกสิ่งอย่าง ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์จะถูกบันทึกและปรากฏอยู่ตราบนานเท่าที่ยังมีคำว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ยังเป็นที่รู้จักของมวลมนุษย์
! http://bit.ly/1b8RM0W
Tags : ชินกฤต อุดมลาภไพศาล