คุณภาพการศึกษากับธุรกิจการศึกษา (itinlife398)
มีโอกาสเข้าอบรมเรื่อง CHEQA และมีประเด็นซักถามเรื่องการเผยแพร่เอกสารของสถาบันการศึกษาเพื่อใช้ตอบเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพราะมีสมมติฐานว่าสังคมต้องการดูเอกสารที่ใช้ตอบการมีคุณภาพการศึกษา แต่สถาบันการศึกษาหลายแห่งไม่เปิดเผยเอกสารที่ใช้ตอบว่าตนเองมีคุณภาพอย่างไร จะเปิดเผยเฉพาะช่วงที่ผู้ประเมินเข้าไปตรวจสอบเพียง 3 – 7 วันเท่านั้น ต่อมาเข้าอบรมเรื่องการขอรับความคุ้มครองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้เข้าใจว่าปัจจุบันการศึกษาแบ่งเป็นสองขั้วคือคุณภาพการศึกษากับธุรกิจการศึกษา เมื่อมีการแข่งขันย่อมทำให้ผู้บริหารในสถาบันการศึกษาบางแห่งเกรงว่าข้อมูลจะรั่วไหล และสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน จึงไม่พร้อมเปิดเผยเอกสารแบบหมดเปลือก
หลังประกาศผล Admission 2556 นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเอกชนมีที่นั่งเหลือว่างกว่า 90,000 คน ยังเปิดรอรับนักเรียนที่สอบแอดมิชชั่นกลางไม่ได้ สถาบันของเอกชนรับนักศึกษาในระบบนี้ได้เพียงร้อยละ 10 แต่สถาบันของรัฐรับได้ร้อยละ 80 ของเป้าหมาย เพราะนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์มักเลือกสถาบันของรัฐ ย่อมทำให้เกิดการแข่งขันในการรับนักศึกษาระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากข้อมูลในสื่อพบว่าสถาบันการศึกษาของรัฐหลายแห่งยังเปิดรับตรงรอบพิเศษเพิ่มเพราะยังไม่ได้ตามเป้าที่กำหนด แล้วยังมีบางหลักสูตรเปิดภาคพิเศษเพิ่มและมีค่าเรียนสูงกว่าเอกชน
คุณภาพการศึกษาหมายถึงความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน และตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาตามพรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีผลต่อสถานศึกษาทุกระดับ ในสถาบันการศึกษาของรัฐเริ่มออกนอกระบบ เริ่มคิดแบบธุรกิจ จึงเป็นเหตุให้ต้องเปิดศูนย์นอกที่ตั้งไปแข่งขันกับภาคเอกชน แต่คุณภาพการศึกษากลับไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด แม้เป็นสถาบันของรัฐก็อาจต้องถูกยุบศูนย์นอกที่ตั้งเนื่องจากจำนวนและคุณวุฒิอาจารย์ประจำไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด เพราะคุณภาพต้องมีความเข้าใจ การลงทุนและอาจไม่คุ้ม ทำให้สถาบันการศึกษาทั้งภาคเอกชน และภาครัฐที่ต้องออกนอกระบบต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษาเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้คุณภาพการศึกษาลดลง
http://thainame.net/edu/?p=1353