คลายปม ผ้าเหลืองร้อน พระมิตซูโอะ ลือหนีพุทธพาณิชย์
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 11 มิถุนายน 2556 21:21 น.
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000070503
บทความนี้อ่านแล้ว
ทำให้รู้สึกว่า คุณธรรม กับจริยธรรม แยกกันชัดเจน
ถ้าผู้เกี่ยวข้องรอบท่านมีปัญหา ละม้ายคล้ายคดี [ใบอนุ .. 25ปี]
แสดงว่าเหล่าผู้เกี่ยวข้องมีจริยธรรม แต่ขาดคุณธรรม
ถ้าพระท่านแก้ไขคนอื่นไม่ได้ .. การแก้ไขตนเองอาจเป็นทางออก
เพื่อน ๆ ที่รู้จักก็มีหลายคนเลือก [แก้ไขตนเอง]
ปรากฏการณ์สร้างความตะลึง สะเทือนวงการศาสนา หลังข่าวลาสิกขาบทของพระชื่อดัง “มิตซูโอะ คเวสโก” พระชาวญี่ปุ่น เจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ลูกศิษย์รุ่นแรกของหลวงพ่อชา สุภทฺโท ผู้ซึ่งมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า “ซากุระผลิบานเป็นดอกบัว” แพร่กระจายออกไป ท่ามกลางความสับสน แปลกใจ มีการแถลงข่าว เกิดการตั้งคำถาม เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย เหตุใดพระอาจารย์จึงเลือกเดินทางสู่โลกแห่งความวุ่นวายอีกครั้ง
—
ปมปริศนา ผ้าเหลืองร้อน
อยู่ใต้ร่มกาสาวพักตร์มานานกว่า 37 พรรษา สำหรับพระชาวญี่ปุ่นชื่อดัง “มิตซูโอะ คเวสโก” พระนักคิด นักเขียน นักพูด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนหลายๆ คน แต่จู่ๆ กลับมีข่าวว่าพระมิตซูโอะลาสิกขาแบบกะทันหัน โดยไม่มีใครทราบเรื่องมาก่อน สร้างความตกใจและแปลกใจไม่น้อยให้กับลูกศิษย์ ลูกหาที่เคารพในตัวท่าน และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนก็ยืนยันแล้วว่า พระอาจารย์มิตซูโอะได้ลาสิกขาบทจริง ณ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร กทม. เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2556 แล้วเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดคือประเทศญี่ปุ่นโดยไม่มีกำหนดการกลับ
คลื่นคำถามซัดเข้ามามากมาย เหตุใดพระอาจารย์มิตซูโอะจึงต้องสึก?? ถึงแม้มีการยืนยันสาเหตุแล้วว่า เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพจากโรคเบาหวานที่รุมเร้า แต่ด้วยการไม่รู้กำหนดการลาสิกขาล่วงหน้า คำตอบและท่าทีอึกอักของทางมูลนิธิมายาโคตมี รวมถึงคำให้สัมภาษณ์จากพระอาจารย์หนูพรม สุชาโต รองเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ที่กล่าวว่า “การลาสิกขาของท่าน ทางวัดไม่ทราบว่าไปสึกที่ไหนและอาการป่วยของท่านก็เป็นองค์ประกอบหนึ่ง แต่ขอยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเงินของมูลนิธิแต่อย่างใด และการที่ท่านจะกลับมาหรือไม่ก็ไม่มีใครจะทราบได้” เลยทำให้เราต้องสืบค้นข้อมูลเพื่อตอบคำถามค้างใจนี้ให้กระจ่าง
แหล่งข้อมูลหนึ่งที่เชิญพระอาจารย์คนดังมาร่วมงานและกำลังจะถึงวันงานอีกไม่นานนี้ ได้กล่าวกับทีมงาน ASTV ผู้จัดการ Live ว่าตอนนี้คิวงานถูกยกเลิกทั้งหมด และกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระมิตซูโอะลาสิกขาแบบเงียบๆ นั้น เพราะมีปัญหากับกรรมการชุดปัจจุบัน ที่มีแนวทางการดำเนินงานแบบพุทธพาณิชย์
“คณะกรรมการใหม่เนี่ย เค้าเพิ่งทำงานมาได้ปี สองปีนะ ไม่ใช่คณะกรรมการที่เคยรู้ใจกันมาตลอด จนท่านเป็นท่านทุกวันนี้ พอเปลี่ยนคณะกรรมการใหม่เค้าก็เปลี่ยนมุมมอง วิธีการ เลยอาจทำให้ขาดความเข้าใจบางอย่าง เพราะท่านเป็นคนจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ท่านไม่พูด คือท่านไม่อยากแตะเงินหรอก แต่คนรอบตัวท่านเป็นฝ่ายจัดการ ด้วยวิธีใดบ้างล่ะ มันมากเกินไปจนท่านไม่มีลมหายใจเป็นของตนเอง ท่านเลยสละ และไม่พูดถึงใครตรงนั้นเลยไง ท่านเต็มที่แล้วก็ไปเลย ท่านก็วิเวกของท่านเอง แล้วท่านอาจจะคิดได้ด้วยซ้ำไปนะว่า ในสิ่งที่มันมากเกินไปเนี่ยนะ มันก็เป็นธุรกิจทั้งนั้น
ท่านถูกนิมนต์ไปไหนต่อไหน โดยมีคนจัดการให้ตลอด ตัวท่านเองไม่ได้ใส่ใจเรื่องเงินหรอก แต่วิธีคิด การดำเนินงาน กลายเป็นว่าท่านเลยมานึกว่า ตัวท่านกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งคิดว่าท่านเก็บความรู้สึกนี้มานานแล้ว ท่านรู้มานานแล้วว่ากลุ่มคนพวกนี้วางกำหนดการให้ท่านไปนู่น ไปนี่ แต่ท่านไม่ว่าใคร เป็นนิสัยของท่านอยู่แล้ว คือท่านไม่อยากว่าใคร แล้วคำที่แถลงๆ กัน ที่ออกมาพูด คือไม่อยากให้มีเรื่องราว เพราะจะกระทบกับคนที่อยู่ตามมูลนิธิ ทั้งงานเขียนของท่านต่างๆ สิ่งต่างๆ มันยังต้องดำเนินอยู่ ทีนี้ก็รู้แล้วว่าไอ้สิ่งต่างๆ ดำเนินอยู่ อย่างน้อยสะท้อนไปถึงพระชื่อดังรูปอื่นๆ ที่ทำธุรกิจในเชิงจัดกิจกรรมต่างๆ มันเป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะอาจทำให้เสียบุคลากรคือพระดีๆ ได้ ซึ่งครั้งนี้ท่านสอนให้ทุกคนอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง จะได้รู้ว่า ที่เอาท่านมาบังหน้าเนี่ย คนไม่ปฏิบัติตามคำสอนท่านเลย คนที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดไม่ปฏิบัติแบบท่าน คนใกล้ชิดไม่นึกถึงหัวใจท่าน”
—
ชี้ให้เห็น ความไม่เที่ยง
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การลาสิกขาของพระขวัญใจคนไทยครั้งนี้ ก็เป็นเหตุการณ์ที่เตือนสติชาวพุทธได้เป็นอย่างดี ถึงความไม่เที่ยง พระอาจารย์ที่ศึกษาและเผยแพร่ธรรมะมาอย่างยาวนาน มีผลงานเขียนที่ประทับใจคนอ่าน มีมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในหลายๆ ด้าน แน่นอนว่าสร้างความตะลึงให้ประชชาชนที่เลื่อมใสในตัวท่านไม่น้อย นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตนเองรู้สึกตกใจเช่นกันกับการลาสิกขาแบบกะทันหันของพระมิตซูโอะเช่นนี้
“ตอนแรกที่ทราบข่าวก็ไม่อยากเชื่อ ช็อกไปเลย เพราะไม่คิดว่าท่านมิตซูโอะจะสึก แต่คนจะคลอดลูก พระจะสึก ห้ามกันไม่ได้ ถือเป็นเรื่องของความพอใจของท่าน ท่านน่าจะคิดทำดีที่สุดแล้ว ส่วนเหตุผลของการสึกครั้งนี้น่าจะเป็นเหตุผลส่วนตัว ที่เรามิอาจจะทราบได้ เพราะที่ผ่านมาท่านไม่เคยมีเรื่องเสื่อมเสีย หรือมีปัญหา มีความขัดแย้งเรื่องใดๆ ท่านทำดีมาโดยตลอด เมื่อท่านสึกออกไปก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่ท่านได้สร้างแนวทางปฏิบัติไว้จะมีลูกศิษย์สืบทอดต่อไป อย่างไรก็ตาม กรณีมีกระแสข่าวว่าพระมิตซูโอะสึกที่วัดชนะสงครามฯ นั้น บอกตรงๆ ผมไม่ทราบว่าท่านสึกที่ไหนจริงๆ เพราะการสึกอยู่ที่ผู้บวชพอใจว่าจะสึกที่ไหน กับใคร”
อีกด้านหนึ่ง ในพระธรรมวินัย การลาสิกขา ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป ที่พึงกระทำได้ หากกายไม่พร้อม ใจไม่พร้อม อย่างที่ตัวท่านเองมีปัญหาด้านสุขภาพ อาจทำให้ปฏิบัติกิจของสงฆ์ไม่สะดวก การลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาสเพื่อได้รักษาสุขภาพ และทำงานเผยแพร่ศาสนาก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เช่นที่ ดร.บุญรอด บุญเกิด คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวอธิบาย
“โดยหลักการทางพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศไทยไม่ค่อยยึดติดกับการลาสิกขาอยู่แล้ว การบวชแล้วสึกเป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณพร้อมทั้งร่างกายและด้านจิตใจเนี่ย ก็คงอยู่ในสมณเพศต่อไป แต่ถ้าเกิดว่าร่างกายไม่พร้อม จิตใจไม่พร้อม มีปัญหาอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็สามารถที่จะลาสิกขาได้ปกติ แต่ว่าพอดีท่านเป็นชาวต่างชาติส่วนนึง อีกส่วนนึงคือท่านเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับ คนไทยก็เลยจะคิดว่าท่านจะอยู่ตลอดไป อย่างหลวงพ่อปัญญาฯ ท่านพุทธทาสฯ
พอท่านลาสิกขา อาจทำให้คนมองว่าท่านมีปัญหาหรือเปล่า แต่ตามความเป็นจริง ท่านจะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหา ท่านก็สามารถที่จะลาสิกขาหรือจำพรรษาต่อไปได้ โดยไม่ผิดระเบียบตรงไหนของพระวินัย แล้ววันนี้ท่านสึกไปแล้ว วันหน้าถ้าท่านพร้อม ท่านจะกลับมาบวชอีกก็ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ท่านสามารถทำได้ เพราะสาเหตุที่ท่านสึก ท่านไม่ได้มีข้อผิดพลาด แต่ถ้าสึกโดยมีข้อผิดพลาดก็จะไม่สามารถกลับมาบวชได้อีก ซึ่งข้อผิดพลาดเนี่ย หมายถึงต้องอาบัติขั้นหนักของวินัยสงฆ์”
—
ขอชาวพุทธ “อย่า ยึด ติด”
กล่าวได้ว่าพระอาจารย์มิตซูโอะ เป็นดั่งร่มไม้ใหญ่ของพุทธศาสนาในประเทศไทย ชาวพุทธหลายคนที่ชื่นชอบในคำสั่งสอนของท่าน แนวคิดที่เอามาประยุกต์ได้จริง จากจุดนี้เอง โลกออนไลน์จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย ส่วนมากยินดีกับเส้นทางที่ท่านเลือก บางส่วนอาจคิดร้ายไม่น่าฟัง ไปจนถึงบางส่วนที่ว่า เสียใจที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมกับพระมิตซูโอะอีก บางส่วนเลยคิดออกมาเสียงดังว่า คงไม่ไปปฏิบัติธรมแล้ว ประโยคนี้สามารถบอกอะไรหลายอย่างกับเราว่าตอนนี้ผู้คน “ยึดมั่นในตัวพระ” หรือ “ยึดมั่นในคำสอน” กันแน่
“จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้น สมมติว่ามีคนพูด “ฉันไม่เป็นคนไทยแล้ว” เอ้า ทำไมล่ะ “คนไทยไม่ดี คนไทยมีคดีข่มขืน ขอลาออกจากความเป็นคนไทย อย่างนั้นหรือเปล่า ตรงนี้นะ พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่า ไม่ให้เรายึดติดกับตัวบุคคล เพราะตัวบุคคลมันไม่แน่ อาจจะดีหรือชั่ว อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ แต่ให้ยึดในหลักการหรือองค์กรหลัก
สมมติอย่างในมหาวิทยาลัย เราชอบผู้ชายคนนึง แล้วเค้าลาออก ต่อไปเราจะไม่เรียนที่มหาวิทยาลัยนั้นแล้วหรอ ซึ่งความจริงถึงจะเปลี่ยนอธิการบดี คณบดี เปลี่ยนอาจารย์สอน มหาวิทยาลัยก็ยังอยู่ได้ เพียงแต่ว่าคนที่เข้ามาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตรงนี้ก็เช่นเดียวกัน คือพระอาจารย์ตอนที่เป็นสมณเพศอยู่ ก็สอน คนก็เลยยึดติดในตัวท่าน แล้วพอคิดว่าท่านสึกไปแล้ว ก็คงจะไม่มีคนดีๆ คนเก่งๆ อย่างนี้อีกแล้ว ก็เลยไม่มาปฏิบัติธรรม ซึ่งนั่นแสดงว่าเรายึดติดอยู่กับบุคคล ดังนั้นถ้าบุคคลเปลี่ยน แต่องค์กรยังอยู่ เราก็ต้องปฏิบัติตามหลักธรรมที่ท่านอาจารย์มิตซูโอะ หรือที่ตามหลักพุทธศาสนาสอนไว้ ถ้าหลักการมันถูกต้อง จะใครสอนก็เหมือนกัน ท่านสึกไปแล้ว ถึงแม้จะเป็นฆราวาสจะมาสอนก็ได้ ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลก เพราะปัจจุบันสำนักธรรมที่เป็นฆราวาสก็เยอะแยะไป” ดร.บุญรอด กล่าว
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ที่ทำให้ (อดีต) พระอาจารย์มิตซูโอะ เลือกกลับมาครองฆราวาสอีกครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้ผู้คนยังเคารพและศรัทธาในตัวท่านคือการยืนยันที่จะเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาต่อไป เพราะการลาสิกขาไม่ใช่อุปสรรคในการปฏิบัติธรรม ถ้าใจนั้นยังคงเป็นพระ
—
เปิดประวัติพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่น บวชในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท คณะมหานิกาย ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก มีชื่อเดิมว่า “มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ” เป็นชาวจังหวัดอิวะเตะ ประเทศญี่ปุ่น เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 สำเร็จการศึกษาในระดับไฮสคูล (เทียบเท่าระดับ ปวช. หรือ มศ.5 ตามระบบการศึกษาไทย) สาขาเคมี ณ เมืองโมะริโอะกะ จังหวัดอิวะเตะ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงทำงานจนสามารถเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง และออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2514
พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้เดินทางมาสู่ประเทศไทย หลังจากได้เดินทางแสวงหาธรรมะที่แท้จริงมาแล้วจากหลายประเทศทั่วโลกทั้งอินเดีย, เนปาล, อิหร่าน, ยุโรป แล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่เดิมจะไปยังแอฟริกา ไปเป็นที่อินเดียอีกครั้งในปี พ.ศ. 2517 แต่ได้เปลี่ยนใจเมื่อระลึกได้ถึงพุทธคยา เห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและประจักษ์ต่อใจตนเองว่า แท้จริงแล้วความสุขที่แท้จริงอยู่ที่จิตใจภายในตนเอง จึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก มาสู่การแสวงหาจากภายใน
ในชั้นแรกท่านไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย และเกิดความพอใจที่จะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียตลอดชีวิต แต่ต่อมาเกิดปัญหาว่าวีซ่าของท่านหมดอายุ ท่านจึงเดินทางมาประเทศไทยอีกครั้งเพราะมีผู้แนะนำให้ท่านไปศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศไทย เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ หลังจากนั้นเมื่อท่านบรรพชาได้ 3 เดือน ท่านได้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม มีผู้แนะนำท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา สุภทฺโท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อตั้งแต่บัดนั้น และได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ได้รับฉายา “คเวสโก” หมายถึง “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง”
หลังพระมิตซูโอะ อุปสมบทได้ 7 ปี จึงขออนุญาตหลวงพ่อชาออกธุดงค์ ปฏิบัติธรรมที่ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 1 ปี และกลับมาที่วัดหนองป่าพง เมื่อทราบว่าหลวงพ่อชาอาพาธ จนเข้าสู่ พ.ศ. 2529 ท่านก็เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 พระมิตซูโอะ และพระญาณรโต ได้ออกธุดงค์ในประเทศญี่ปุ่นด้วยการเดินเท้า จากสนามบินนาริตะสู่อนุสรณ์สถานแห่งสันติภาพ เมืองฮิโรชิมา ระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 72 วัน สร้างความสนใจแก่คนไทยและคนญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงชีวิตที่เรียบง่ายแบบพระธุดงค์
หลังจากที่ท่านกลับมาประเทศไทย ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บุกเบิกสร้างวัดป่าสุนันทวนาราม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดป่านานาชาติ พร้อมกับฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง พระมิตซูโอะ คเวสโก เป็นเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2544 นับว่าเป็นสาขาที่ 117 ของวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live