เป็นข่าวกันไปพอสมควรแล้ว สำหรับ ทีวีสาธารณะในระบบดิจิทัล ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.
เปิดเผยว่าจะมีทั้งหมด 12 ช่อง โดยกำหนดค่อนข้างแน่นอนแล้ว 6 ช่อง โดย 4 ช่องแรกเป็นช่องที่เราคุ้นเคยกันอยู่ คือ 5, 7,11 และ ไทยพีบีเอส (ภายใต้เงื่อนไขต้องคืนคลื่นอนาล็อกก่อน) ส่วนอีก 2 สำหรับช่องเพื่อความปลอดภัย และช่องเพื่อความมั่นคง ว่ากันว่าเป็นไปตาม พ.ร.บ.กลาโหม
! http://bit.ly/10DG6aJ
ทั้ง 6 ช่องนี้ สมควรได้รับจัดสรรคลื่นโดยอัตโนมัติหรือไม่ เป็นประเด็นที่ยังต้องถามหาความชอบธรรม
ส่วนที่เหลืออีก 6 ช่อง ที่ กสทช. จะพิจารณาให้องค์กรหรือหน่วยงานใดนั้น ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์กติกาการคัดเลือกแต่อย่างใด แต่สุภิญญา กลางณรงค์ เสียงข้างน้อยอีกเช่นเคย เห็นว่า กสทช. ควรมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน เพื่อความโปร่งใส กรรมการตัดสินจะได้มีหลักยึด ดังนั้น การจัดเวทีระดมสมองเรื่อง “เกณฑ์การคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สำหรับการประกอบกิจการบริการสาธารณะ” หรือรู้จักกันในชื่อ “บิวตี้คอนเทสต์” ที่ กสทช. สุภิญญา ในฐานะกรรมการคนหนึ่ง พยายามทำให้การตัดสินใจของ กสทช. ต่อเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติที่สามารถนำไปหามูลค่าได้มหาศาล มีความโปร่งใส สังคมตรวจสอบได้
เกณฑ์การคัดเลือกผู้เหมาะสมให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ในกิจการสาธารณะ ที่ทีมงาน กสทช.สุภิญญา จัดทำเป็นร่างมาให้เวทีระดมความคิดเห็นนั้น ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1. ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ 2. การผลิตรายการและที่มาของเนื้อหารายการ 3. ความทั่วถึง 4. แหล่งเงินทุนและการใช้เงินทุน 5.กลไกการติดตามตรวจสอบภายในองค์กร และ 6.การมีส่วนร่วมและการคุ้มครองผู้บริโภค
ในเวทีได้อภิปรายและเสนอข้อคิดเห็นมากมาย แต่โดยส่วนตัวนั้น สนใจมากๆ ใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ เรื่องเกี่ยวกับศักยภาพหน่วยงานที่จะเสนอตัว ซึ่งเวทีเสนอในประเด็นนี้ค่อนข้างเยอะ
ประเด็นที่สอง คือ เรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์” ที่ดูเหมือนจะไม่มีตัวอักษรใดในร่างที่สื่อถึงเรื่องนี้เลย ในตอนท้าย ตัวเองจึงได้เสนอความเห็นไปว่า…
คิดว่าการกำหนดเกณฑ์เหล่านี้ไม่ควรเป็นไปเพื่อการหาทีวีสาธารณะที่ดีที่สุด แต่ต้องหาทีวีสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ฉะนั้นการเข้าถึงก็ดี เกณฑ์คุณภาพต่างๆ ที่พูดถึงก็ดี รู้สึกว่ากำลังจะได้ช่องที่ลงทุนไปแล้วจะไม่มีคนดูมากนัก อยากให้ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะถ่วงดุลให้ได้ระหว่าง 3 มุมนี้ คือ
หนึ่ง ทำอย่างไรให้ผู้เสนอตัว มีทุนที่จะยืนระยะได้ หมายความว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนอยากเข้ามาชมรายการคุณภาพ คุ้มค่ากับการเผาเวลาไปนาทีละ 2 แสน หรือวันละ 5 ล้าน (ข้อมูลจากเวที) มันมหาศาลนะ ฉะนั้นถ้าให้เขามาลงทุนแล้วบอกไม่ให้หากำไร ไม่ให้หารายได้ หรือหาได้เท่าที่จำเป็น แล้วใครจะเข้ามาเพราะว่ามันไม่น่าจูงใจเลย ฉะนั้น ทำอย่างไรให้ผู้เสนอมีรายได้พอที่จะยืนระยะในการพัฒนารายการและสถานีให้ดีขึ้นในอนาคต ซึ่ง กสทช.อาจจะดูเรื่องการให้ทุนอุดหนุนบางส่วน หรือให้มีโฆษณาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผลิตรายการที่ด้อยคุณภาพหรือเรียกแต่เรตติ้ง
สอง ที่ต้องให้น้ำหนักด้วย คือ “คุณค่าต่อสังคม” ทั้งการเป็น “พลเมือง” หรือการให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเข้ามาใช้หรือเกิดประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ประเด็นนี้พูดกันค่อนข้างเยอะแล้ว
สาม ที่ไม่ค่อยมีคนพูดกัน แต่คิดว่าต้องให้ความสำคัญมากที่สุดอีกมุมหนึ่งด้วย คือ เรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ ที่รายการออกมาแล้วดูสนุก หรือทำออกมาแล้วมีคนอยากดู จะเรียกว่าเรตติ้งก็ได้ พูดถึงเรตติ้งอาจจะดูเป็นเชิงลบ แต่ความคิดสร้างสรรค์อยู่ในเกณฑ์ข้อไหน เพราะร่างที่ทีมงาน กสทช.สุภิญญา นำเสนอมา ยังไม่เห็นประเด็นนี้
ตอนนี้ประชาชนเลือกดูทีละรายการแล้ว เขาดูยูทูป เขาไม่ดูทั้งสถานี ไม่ดูทั้ง 24 ชั่วโมง ไม่ดูตามเวลาที่ออกอากาศ แต่เข้ามาเลือกดูภายหลังได้ ในรายการที่เขาชอบ ฉะนั้น การที่เขาจะเข้ามาดูช่องทีวีสาธารณะ นั่นแปลว่ารายการต้องโดนเขาจริงๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องให้น้ำหนักให้ได้ระหว่าง 3 มุมที่ว่านี้ คือ 1.ให้มีเงินทุนที่จะยืนระยะได้จริงและมีแผนเลี้ยงตัวเองได้จากแหล่งไหนก็ตาม 2.คุณค่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ไม่ใช่แค่เกิดช่องละครหรือรายการที่มีอยู่แล้วในกระแสหลัก และ 3.เรื่องความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำให้คนเข้ามาชมรายการมีคุณภาพอย่างที่ตั้งใจกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะทำให้เกิดประสิทธิภาพจริง ๆ ของการลงทุนและการใช้ทรัพยากรสาธารณะ
สุดท้ายที่ประชุมสรุปเกณฑ์ออกมาได้ 5 ด้าน คือ ด้านที่เกี่ยวกับองค์กร ด้านเทคนิค ด้านเนื้อหา ด้านการเงิน และด้านธรรมาภิบาล ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรติดตามได้จากผลการประชุมของบอร์ด กสทช.เร็ว ๆ นี้
เขียนโดย วนิดา วินิจจะกูล ในกรุงเทพธุรกิจ
! http://blog.nation.ac.th/?p=2633