ชินกฤต อุดมลาภไพศาล
การทำงานในยุคดิจิทัลทุกวันนี้ผูกอยู่กับเรื่องของแอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์ม และเครือข่ายสารสนเทศความเร็วสูง แม้กระทั่งระบบออกอากาศวิทยุโทรทัศน์
ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ! http://bit.ly/Z7sPgA
การเปลี่ยนผ่านระบบออกอากาศบ้านเรา ก็ให้สาระความสำคัญอยู่ที่แพลตฟอร์ม อนาล็อกสู่ดิจิทัล ทั้งระบบความคมชัดปรกติ (Standard Definition) และความคมชัดสูง (High Definition) สาระสำคัญอย่างเนื้อหารายการ “Content is the King ” กลับกลายเป็นเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง มีการจุดประกาย สร้างประเด็น ก่อให้เกิดความตระหนักแล้วก็เงียบหายไป แล้วหวนกลับมาใหม่เหมือนระลอกคลื่นเนื้อหา คุณภาพรายการจึงเสมือนสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญในลำดับรอง
ทว่ายังมีสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังดิจิทัลคอนเทนต์ (Content) อย่างการจัดการสารสนเทศสื่อดิจิทัลยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง ถูกให้ความสำคัญในมุมมองที่เงียบงันของโลกดิจิทัลมีเดียสำหรับสังคมไทย ทั้งๆ ที่ สังคมยุคข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลถูกสร้างขึ้นทุกเวลาทุกวินาที ผ่านอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์พกพาที่ทำหน้าที่มากกว่าหนึ่งภารกิจงาน โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ที่ทำหน้าที่มากกว่าการใช้เป็นโทรศัพท์ ยังใช้เพื่อการถ่ายภาพ สื่อสารข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ การไหลบ่าของข้อมูลอันมหาศาล การจัดการกลับเป็นสิ่งที่ต้องบริหารจัดการอย่างยิ่งยวดข้อมูล (Data) เป็นภาษาละติน หมายถึง สิ่งที่ให้ (Given) เมื่อสู่ยุคของโลกดิจิทัล ข้อมูล (Data) คือสิ่งที่บันทึก การจัดการ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ข้อมูลที่เกิดขึ้นอาจจะอยู่ในรูปแบบของ คำพูด ความคิดเห็น การพูดคุยบนเว็บสื่อสังคมออนไลน์ การเช็คอินผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ การถ่ายภาพผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือแล้วอัพโหลด ก็ถือเป็นข้อมูล ดังนั้น จะเห็นว่ากิจกรรมทุกสิ่งอย่างในโลกดิจิทัลล้วนสร้างให้เกิดข้อมูลขึ้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ ยิ่งก่อให้เกิดข้อมูลดิจิทัลมากเท่านั้น
ข้อมูลดิจิทัล นับวันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การจัดการข้อมูลปริมาณมาก โดยใช้โครงสร้างการจัดเก็บไฟล์ในรูปแบบของแฟ้ม โฟลเดอร์ ตามโครงสร้างระบบจัดเก็บไฟล์ของคอมพิวเตอร์อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม หากเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล แต่คงไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เมื่อเป็นข้อมูลระบบองค์กร อาทิเช่น การค้นหาข้อมูลที่มีความเฉพาะเจาะจง จะมีความยากลำบาก และใช้เวลามากขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณข้อมูลที่มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการที่จะต้องมีระบบการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี ระบบที่เรียกว่า “Digital Asset Management” (DAM) ในช่วงปีที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึง การเพิ่มขึ้นของ DAM ประการหนึ่งก็มาจากการขับเคลื่อนก้าวข้ามไปสู่ยุคสื่อดิจิทัล (File-Based Media) อันเป็นสิ่งที่ทำให้การร่วมมือ หรือการค้นหาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ตัวแปรอื่นๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องการผลิตสื่อ และแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพ และต้องการลดค่าใช้จ่าย
DAM (Digital Asset Management) เป็นความหมายกว้างๆ ครอบคลุมถึงการจัดการระดับองค์กร รูปแบบสื่อดิจิทัล ทั้งในแบบของรูปภาพดิจิทัล เอกสาร มีความแตกต่างกับ MAM (Media Asset Management) ซึ่งเน้นไปทางด้านวีดิโอ และเสียง และเป็นระบบที่สำคัญยิ่งสำหรับองค์กรสื่อที่จะนำมาใช้ ตัวอย่างในการนำเอาระบบเหล่านี้มาใช้ในการทำงาน เช่น สถานีโทรทัศน์ ฝ่ายผลิตรายการ ถ่ายฟุตเทจรายการมา โหลดไฟล์ไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ แชร์ไฟล์ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิต ช่างตัดต่อ คนเขียนบท โปรดิวเซอร์ สามารถเข้าถึงไฟล์ เลือกรูปแบบไฟล์ที่ตนต้องการมาใช้งาน การค้นหาวีดิโอคลิปทำได้อย่างรวดเร็ว ย่นระยะเวลาในการทำงาน เมื่อทำงานเสร็จ จัดเก็บไฟล์รายการเข้าระบบ จัดตารางออกอากาศจากไฟล์รายการที่ทำเสร็จเรียบร้อยพร้อมออกอากาศ เหล่านี้เป็นการสร้างกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย เสริมความคล่องตัวในการทำงาน ลดความซ้ำซ้อนของงาน
แต่การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เส้นเขตแดนโลกจริงและโลกเสมือนได้สลายหายไป การทำงานอยู่กับที่นั่งอยู่กับโต๊ะได้ถูกตัดออกจากโลกความเป็นจริง สู่โลกการทำงานเสมือนจริง ที่เราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ คลาวด์ (Cloud) คือนิยามใหม่ที่ก้าวเข้ามา กิจกรรมบนคลาวด์เกิดขึ้นหลากลักษณะตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน สิ่งที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคย อย่างพื้นฐานที่สุดน่าจะเป็นการใช้เพื่อเป็นที่เก็บข้อมูล รูปภาพ คลิปวีดิโอ อย่าง Dropbox Youtube Sound Cloud หรือ Google Drive เป็นต้น กิจกรรมทางด้านสื่อ อย่างการผลิตรายการโทรทัศน์ การตัดต่อวีดิโอก็ก้าวเข้าไปสู่อาณาจักรของระบบคลาวด์ บุคลากรในทีมสามารถทำงานพร้อมกันจากสถานที่ต่างกัน ซอฟต์แวร์ที่ถูกปรับปรุงใหม่อยู่เสมอ คอมพิวเตอร์ที่ไม่ต้องการสมถนะสูงนักในการเข้าสู่ระบบ สร้างความรวดเร็วคล่องตัวในการทำงาน ปริมณฑลสาธารณะของการทำงานยิ่งเปิดกว้าง ปริมาณข้อมูล คอนเทนต์ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ระบบสารสนเทศการจัดการสื่อ (MAM) ยิ่งทวีบทบาทมากขึ้น จากระบบ MAM บนคอมพิวเตอร์เวิร์คสเตชั่น ก้าวกระโดดไปจัดการข้อมูลบน คลาวด์ การจัดการสื่อ คอนเทนต์มหึมาให้เป็นระบบ
สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ฉุกคิด สำหรับองค์กรสื่อที่ยังไม่ได้วางแผนการรองรับไว้ หรือมองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญไปกว่าการลงทุนด้านการผลิต บุคลากร เพราะท้ายที่สุด คอนเทนต์ดี “การจัดการ ” คอนเทนต์เยี่ยม คือมูลค่าที่สำคัญยิ่งสำหรับองค์กรสื่อ
! http://blog.nation.ac.th/?p=2668