ข่าว Twitter เมื่อต้นเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ว่า Elon Musk สั่งปลดพนักงานประจำไปราว 3,700 คน หรือครึ่งหนึ่งของพนักงานทั้งหมด และได้ปลดอีก 4,400-5,500 คน ในกลุ่มพนักงานสัญญาจ้าง แล้วเมื่อ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 มีข่าวปลดวิศวกรเพิ่มอีก 50 คน เพราะ เขียนโค้ดไม่มีคุณภาพ (Code is not satisfactory) ส่วนอีกกลุ่มได้รับคำเตือนเรื่อง ประสิทธิภาพในการทำงาน (Performance warning) สะท้อนว่าบริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพที่วัดเชิงปริมาณได้ โดยใช้การประเมินประสิทธิภาพของพนักงานมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนวัฒนธรรมขององค์กรอย่างจริงจัง ซึ่งการประเมินจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการทำข้อตกลงในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ (Performance Agreement) แล้วจึงมีการประเมินประสิทธิภาพ (Performance Appraisal)
ข่าวนี้ทำให้นึกถึงการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครู โดยรู้จักในชื่อ วPA ที่มาจากคำว่า Performance Agreement และ Performance Appraisal ซึ่งมี 3 คำสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) Performance แปลว่า สมรรถนะ สมรรถภาพ การกระทำ พฤติกรรม ประสิทธิภาพ 2) Agreement แปลว่า การเห็นด้วย การเห็นชอบร่วมกัน การยอมรับร่วมกัน ข้อตกลง ความตกลง 3) Appraisal แปลว่า การประเมิน การตีค่า การประเมินค่า การหาค่า
ซึ่งมีนักวิชาการระดับประเทศออกมาเคลื่อนไหว แล้วสนับสนุนการประเมินวิทยฐานะ พร้อมกับให้กำลังใจว่าไม่ยากอย่างที่คิด โดยเชื่อว่า ข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ PA ตามหลักเกณฑ์ใหม่ จะช่วยพัฒนาการศึกษา ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ช่วยให้ครูคิดค้น และพัฒนาเทคนิคการสอนใหม่ ๆ โดยเฉพาะการใช้ Active Learning มาแทน Passive Learning โดยข้อมูลอ้างอิงสำคัญคือ ผลการทดสอบภาษาอังกฤษของเด็กไทยที่มีผลการจัดอันดับอยู่ที่ 97 จากทั้งหมด 111 ประเทศทั่วโลก อ้างอิงจากข้อมูล 2.1 ล้านคน หากเทียบกับ 100 เท่ากับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 87 อันดับนี่เกือบสุดโลก แต่ถ้าเราใช้การสอนที่มีประสิทธิภาพ คุณครูมีข้อตกลงพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ เชื่อว่า อันดับของไทยจะเลื่อนขึ้นมาเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่ยากนัก บริษัท Twitter ก็เหมือนประเทศไทย ถ้าคุณครูพัฒนางานได้อย่างมีทั้งคุณภาพ และประสิทธิภาพ ก็เชื่อได้ว่าการศึกษาไทยจะก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว