20 กันยายน 2556
มติบอร์ดคุรุสภา ฟื้นหลักสูตรป.บัณฑิตอีกครั้งหลังจากสั่งยกเลิกไปแต่ปี 53 คาดเริ่มเปิดสอนได้อย่างช้าปี 57 พร้อมมอบคุรุสภา ไปทำหลักเกณฑ์แบบเข้มข้นและให้สอนเฉพาะในที่ตั้งเท่านั้น เน้นเปิดโอกาสครูจ้างสอน ในร.ร.ที่มีปัจจุบันมีอยู่ราว 6-7 หมื่นคนพร้อมย้ำตั๋วครูไม่ใช่ทางผ่าน
วานนี้ (19 ก.ย.) นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ใหม่อีกครั้ง ภายหลังที่ได้มีการยกเลิกการจัดการสอนไปเมื่อปี 2553 เนื่องจากเกิดปัญหาว่าสถาบันไปจัดการเรียนการสอนไม่มีคุณภาพและเกิดปัญหาซื้อขาย ป.บัณฑิตขึ้น ขณะเดียวกันการเปิดสอนก็ไปรับคนที่ไม่ได้เป็นครูมาเรียนซึ่งไม่เป็นไปตามที่คุรุสภากำหนด อย่างไรก็ตาม เหตุที่คณะกรรมการฯ มีมติให้สอน ป.บัณฑิต อีกครั้งเพราะขณะนี้มีความจำเป็นและต้องการเปิดโอกาสให้คนที่เป็นครูจ้างสอน ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 6-7 หมื่นคน แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้พัฒนาตัวเอง เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตฯ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไปวางหลักเกณฑ์และแบบประเมินการติดตามหลักสูตรการเรียนการสอนทางด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งจะควบคุมตั้งแต่หลักสูตร จำนวนผู้เรียน รายชื่อผู้เรียน รายชื่อผู้สอน เป็นต้น โดยจะต้องส่งมาให้คุรุสภาอนุญาตก่อน ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจัดทำหลักเกณฑ์ให้เสร็จสิ้นและเริ่มเปิดหลักสูตรป.บัณฑิตได้อีกครั้งอย่างช้าในปีการศึกษา 2557 นี้
“สำหรับป.บัณฑิตที่จะเปิดใหม่นี้ จะเปิดให้เฉพาะคนที่เป็นครูอยู่แล้ว เช่นครูอัตราจ้างในโรงเรียนต่าง ๆ แต่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้นไม่รับคนทั่วไป โดยจะต้องได้รับการรับรองจากสถานศึกษาว่า เป็นได้ทำการสอนจริง ๆ นอกจากนั้นที่ประชุมยังหารือเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปิดสอนป.บัณฑิต โดยเห็นว่าที่ผ่านมาวิชาชีพครูค่อนข้างเป็นวิชาชีพที่มีความอะลุ่มอล่วย ทำให้หลายสถาบันจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ ดังนั้นอนาคตถ้าต้องการให้วิชาชีพครูมีคุณภาพจริง ๆ ต้องดูแลเชิงคุณภาพอย่างเข้มข้น ทั้งหลักสูตร จำนวนผู้เรียน คุณภาพผู้เรียน รวมถึงหลักเกณฑ์สำหรับสถาบันที่จะเปิดสอน ป.บัณฑิต ก็จะต้องเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนจะต้องมีตัวตนจริง ๆ จำนวนผู้สอนกับจำนวนนักศึกษาเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และจะอนุญาตให้เปิดสอนเฉพาะในที่ตั้งเท่านั้น ไม่ให้เปิดสอนนอกสถานที่ตั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ” นายไพฑูรย์ กล่าว
ส่วนกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดการปลดล็อกใบประกอบวิชาชีพครูเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถในสาขาที่ขาดแคลน อาทิ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ สามารถเป็นครูได้นั้น นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า อาจจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะทุกวันนี้คุรุสภาก็เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้จบวิชาชีพทางการศึกษาสามารถเข้ามาเป็นครูได้อยู่แล้ว โดยมีหลักการว่าหากโรงเรียนต้องการจ้างคนที่จบสาขาเฉพาะทางที่ไม่ใช่วิชาชีพทางการศึกษามาเป็นครูก็สามารถจ้างได้ แต่ต้องขออนุญาตคุรุสภา ซึ่งก็มีเงื่อนไขว่าจะสามารถสอนได้เป็นเวลา 2 ปี โดยในระหว่างนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการของคุรุสภาซึ่งมีหลายช่องทางเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพทางการศึกษา แต่หากยังไม่ได้ก็สามารถต่ออายุได้อีก 2 ปีเท่ากับว่ามีเวลาถึง 4 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนด 4 ปีแล้วยังไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพอีกก็ต้องออกจากวิชาชีพนี้ไป
“ปัจจุบันมีครูที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพอยู่ถึง 6-7 หมื่นคน แสดงให้เห็นว่าคุรุสภาก็ไม่ได้ปิดกั้นให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นครู เพียงแต่คุรุสภาต้องการคนที่สนใจเข้ามาเป็นครูอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นเรื่องการปลดล็อกใบประกอบวิชาชีพครูไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือคนวิชาชีพอื่นมาอาศัยวิชาชีพครูเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพครูไปสมัครเพื่อเรียนต่อ เช่นคนจบสายวิทยาศาสตร์มา แต่เรียนแค่พอผ่านจะทำงานสายวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้จึงมาเป็นครูเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพไปใช้ประโยชน์อื่น ทั้งที่ จริงแล้วไม่ได้สนใจที่จะเป็นครูทำให้วิชาชีพครูถูกมองว่าเป็นวิชาชีพเผื่อเลือก เป็นอะไรไม่ได้ก็มาเป็นครู”นายไพฑูรย์ กล่าว
http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34185&Key=hotnews