สพฐ.รับระบบ ‘ซ่อมเสริม’ ไม่เข้มข้น จำเป็นต้องซ้ำชั้นหากเด็กคุณภาพต่ำ

20 กันยายน 2556

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.56 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีแนวคิดจะทบทวนนโยบายตกซ้ำชั้นว่า ตนเห็นด้วยหากจะมีการทบทวนนโยบายเรียนซ้ำชั้น เพราะต้องยอมรับว่าการสอนของโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตรงตามมาตรฐานการสอน จึงมุ่งเน้นให้ความรู้ เพื่อที่เด็กจะนำไปต่อยอดเรียนต่อได้ ไม่ค่อยมีการให้เด็กซ้ำชั้น หากมีปัญหาการเรียนโรงเรียน ก็จะมีระบบซ่อมเสริมมาช่วยแก้ ยกเว้นแต่ว่าเด็กคนนั้นมีปัญหาจริงๆ เรียนไม่ไหว ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครูผู้สอน และทางโรงเรียนว่าจำเป็นต้องให้ซ้ำชั้นหรือไม่

ระบบซ่อมเสริมที่ไม่เข้มข้น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพของเด็ก เพราะด้วยระยะเวลาจำกัดหรือจำนวนของเด็กที่ต้องซ่อมเสริมมีมาก ประกอบกับความเอาใจใส่ของครูที่บางครั้งดูแลเด็กไม่ทั่วถึง จึงต้องปล่อยผ่านไปสู่การเรียนระดับต่อไป จนเป็นปัญหาเด็กเรียนไม่ทันเพื่อน ไม่เข้าใจการเรียนจนสะสมจนกลายเป็นดินพอกหางหมูกระทบต่อการเรียนรู้ รวมถึงมีปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็เป็นอุปสรรคต่อการเรียน   อย่างไรก็ตาม สพฐ.จะมีการคัดกรองเด็กที่มีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เพื่อพัฒนาและแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง เชื่อว่าเมื่อแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะช่วยให้ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กที่พอกพูนอยู่ลดลง” นายชินภัทร กล่าว

ที่มา: http://www.siamrath.co.th