ชุดสืบทุจริตครู ผช. เสนอฟัน “ชินภัทร” เพิ่ม ฐานไม่รักษาความลับราชการ

29 สิงหาคม 2556

“ชินภัทร” โดนอีก! กรรมการสืบข้อเท็จจริงทุจริตสอบครูผู้ช่วย เสนอฟันวินัยร้ายแรงเพิ่มความผิด “ฐานไม่รักษาความลับราชการ” พ่วง “อนันต์-ไกร” เข้าด้วย “ พนิตา” แจงละเอียดยิบพบกระบวนการเก็บรักษาข้อมูลสำคัญรวมทั้งข้อสอบ กุญแจเซฟ ไปจนถึงการตรวจรับหละหลวมทุกขั้นตอน ขณะที่ “สุเทพ” ลอยตัวเหตุคณะกรรมการฯตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่มีเอี่ยว ซึ่งตรงกับที่ดีเอสไอให้ความเห็น

วานนี้ (28 ส.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามเห็นชอบตามที่นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการสอบครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นเหตุพิเศษ ว 12 ได้ส่งสรุปผลสอบเพิ่มเติม นายอนันต์ ระงับทุกข์ ผู้ตรวจราชการศธ. อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายสุเทพ ชิตยวงศ์ ผู้ตรวจราชการ ศธ.อดีตผู้ช่วยเลขานุการ กพฐ. นายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผล สพฐ.อดีต ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ. และข้าราชการที่เกี่ยวข้องเสนอส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ขอให้ปลัดศธ. เป็นผู้ชี้แจง

ด้าน นางพนิตา กล่าวว่า คณะกรรมการสืบสวนฯ ได้สรุปผลและเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ข้าราชการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศธ. จำนวน 8 ราย ในความผิดฐานกระทำผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ด้วยการรักษาความลับของราชการ ดังนี้ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. ,นายอนันต์ , นายไกร และคณะกรรมการตรวจรับจำนวน 5 ราย โดยจะส่งสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงไปให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงชุดที่มีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธาน สอบสวนต่อไปเพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนการสอบสอนในประเด็นการทุจริตนั้นตนได้รายงานต่อ รมว.ศึกษาธิการ ว่าให้รอผลจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพราะมีการเจาะตัวบุคคลและมีอำนาจในการเรียกตรวจสอบเส้นทางการเงินได้

นางพนิตา กล่าวชี้แจงว่า สำหรับกรณี นายชินภัทร ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสืบสวนฯได้เสนอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่ครั้งนี้เสนอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงเพิ่มเติมฐานการทำผิดระเบียบ ว่าด้วยการรักษาความลับของราชการ เพราะพบว่ามีความผิดพลาดในการเก็บรักษาข้อมูลลับในการสอบครูผู้ช่วยหลายขั้นตอนเรียกว่าทุกกระบวนการหละหลวมไม่คำนึงถึงว่าเรื่องนี้เป็นความลับทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการออกข้อสอบ การเก็บตัวผู้ออกข้อสอบ เรื่องของการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พีซี แล้วถ่ายข้อสอบจากเครื่องพีซีมายังคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ที่มีการสั่งซื้อมาใหม่จำนวน 2 เครื่องเพื่อเก็บข้อมูลข้อสอบหนึ่งเครื่อง และเก็บข้อมูลคำตอบ อีกหนึ่งเครื่อง แต่ไม่มีการระวังดูแลเก็บรักษาโน้ตบุ๊กที่ดีพอ เช่น เมื่อมีการจัดพิมพ์ข้อสอบออกมาเรียบแล้วก็จะต้องตั้งคณะกรรมการทำลายโน้ตบุ๊ก แต่ปรากฎว่าคณะกรรมการฯ ไม่มีคนที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ มีแค่คนเดียวที่มีความรู้และคนที่มีความรู้ยังนำอุปกรณ์ส่วนตัวไปเสียบกับเครื่องโน้ตบุ๊ก โดยไม่มีการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ส่วนตัวนั้นมีข้อมูลใดบ้างหรือไม่ จึงไม่รู้ได้ว่าข้อมูลในโน้ตบุ๊กมีการรั่วไหลไปบ้างหรือยัง เพราะฉะนั้นจุดนี้ถือว่าหละหลวม

“ทาง สพฐ.ใช้วิธีเช่าตู้นิรภัยของธนาคาร 3 ตู้ไว้เก็บโน้ตบุ๊กบรรจุข้อสอบ ซึ่งในระเบียบพัสดุไม่มีการกำหนดให้เช่าตู้นิรภัยธนาคารเพื่อเก็บรักษาข้อมูลที่เป็นความลับ ขณะเดียวกันการรักษากุญแจตู้เซฟก็หละหลวมมาก ตู้นิรภัยแต่ละตู้มีกุญแจหลายชุด และมีผู้ถือกุญแจ 3 ราย คือนายชินภัทร นายอนันต์ และนายไกร แต่คนที่รู้รหัสและมีกุญแจทั้ง 3 ตู้ คือ นายไกร ขณะเดียวกันพบว่า ทั้ง 3 คนไม่ได้เก็บกุญแจตู้เซฟไว้กับตัวเอง โดยกุญแจของนายชินภัทรอยู่ที่ นายสุเทพ กุญแจของ นายอนันต์ อยู่ที่เลขานุการ ส่วนนายไกรได้มอบกุญแจทั้ง 3 ตู้พร้อมรหัสไว้เลขานุการ เท่ากับว่าเลขานุการของนายไกรจะเปิดตู้นิรภัยได้ตลอดเวลาแม้นายไกรจะไม่อยู่ก็ตาม อีกทั้งในส่วนของการเก็บกุญแจสำรอง ตามระเบียบกำหนดให้ต้องเก็บที่ตู้เซฟธนาคาร ก็ไม่มีการเปิดบัญชีในนาม สพฐ. หรือมีคณะกรรมการร่วมเปิดเหมือนบัญชีธนาคารทั่ว ๆ ไป แต่เป็นการเปิดบัญชีโดยใช้ชื่อ นายไกร คนเดียวและยังเดินทางไปเปิดบัญชีเพียงคนเดียวด้วย จึงไม่ทราบได้ว่าตอนไปเปิดได้ใส่กุญแจหรือไม่ หรืออาจจะไม่ได้ใส่ก็ได้ เพราะไม่มีพยานรู้เห็น แต่ภายหลังเปิดบัญชีก็มีภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกภาพว่า นายไกร ไปเปิดตู้เซฟคนเดียวเหมือนกันแต่ไม่รู้ว่าเปิดทำอะไร ถือว่าผิดระเบียบ” นางพนิตา กล่าว

นางพนิตา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเพิ่มเติมกรณีที่ สพฐ.ได้สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง บริษัท จันวาณิชย์ ซิเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ทำการพิมพ์และประมวลผลสอบ ซึ่งในสัญญาระบุว่า สพฐ.ต้องจ่ายเงินให้ต่อเมื่อ บ.จันวาณิชย์ฯ ได้ส่งรายชื่อผู้สอบผ่านพร้อมใบคะแนนให้ สพฐ.เรียบร้อย แต่ปรากฎว่า เมื่อ บ.จันวาณิชย์ฯ ส่งรายชื่อผู้สอบผ่านมาให้ สพฐ.ก็ทำการประกาศผลสอบทันที ทั้งที่ บ.จันวาณิชย์ ยังไม่ได้ส่งใบคะแนน ตามที่กำหนดในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างถือเป็นการทำข้ามขั้นตอนเพราะกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้นตามการจัดซื้อจัดจ้าง

“จากผลการสืบสวนของคณะกรรมการฯ นายสุเทพ นั้นเป็นรายเดียวที่ไม่ถูกเสนอตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยนั้น เนื่องจาก นายสุเทพ นั้นไม่ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการประมวลผลมาแต่ต้น เพิ่งมาได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านการประมวลผลข้อมูลในช่วงกลางเดือนมกราคม 2556 ภายหลังการจัดการสอบเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2556 อีกทั้ง นายสุเทพ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประมวลข้อมูล เพราะในข้อเท็จจริง สพฐ. ได้จ้าง บ.จันวาณิชย์ฯ ทำการประมวลผลข้อมูลแล้ว บ.จันวาณิชย์ฯ ก็ไม่ได้มาปรึกษาใด ๆ กับนายสุเทพ ซึ่งข้อคิดเห็นของกรรมการฯ ชุดดิฉันเห็นสอดคล้องกับความเห็นของดีเอสไอว่า นายสุเทพ ไม่เกี่ยวข้อง”นางพนิตา กล่าว

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=33900&Key=hotnews