มติ ก.ค.ศ. ชัดเจนสั่งเพิกถอนบรรจุครูผู้ช่วยคะแนนสูงผิดปกติ

20 พฤษภาคม 2556

“พงศ์เทพ” มั่นใจมติ ก.ค.ศ.ชัดเจนกว่าหนังสือของดีเอสไอ ย้ำอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯไม่ต้องกังวล รอดูหนังสือก่อน

วานนี้(19พ.ค.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติให้แจ้งไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา 119 เขต และผู้อำนวยการโรงเรียนให้พิจารณาเพิกถอนการบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูในตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีมีความจำเป็นหรือเหตุพิเศษ ว 12 จำนวน 344 รายตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ก.ค.ศ.และอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เนื่องจากเห็นว่าบุคคลเหล่านั้นกระทำการเข้าข่ายทุจริต ในการทำข้อสอบผิดในข้อเดียวกันและมีคะแนนสอบที่สูงผิดปกติ แต่ทาง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ยังเห็นว่า มติดังกล่าวมีความไม่ชัดเจน และต้องการให้ก.ค.ศ.มีคำสั่งให้ดำเนินการเพิกถอนอย่างเป็นทางการ ว่า มติ ก.ค.ศ.เมื่อวันที่ 17 พ.ค.มีความชัดเจนแล้ว และจะทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้ง ซึ่งก็คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน มีความมั่นใจในการดำเนินการมากขึ้น เพราะหนังสือของ ก.ค.ศ.ระบุชัดเจนว่าให้ผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งดำเนินการเพิกถอนทั้ง 344 รายให้ออกจากราชการ ตามมาตรา 49 ของพ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากการทุจริตการสอบถือเป็นความไม่เหมาะสมในการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมตินี้ถือเป็นข้อมูลที่ทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ และผู้มีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้งดำเนินการตามมาตรา 49 ได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวล

“ผมคิดว่าสาเหตุที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ยังไม่มั่นใจเพราะหนังสือของ ก.ค.ศ.ยังไปไม่ถึงแต่ยืนยันว่ามติของ ก.ค.ศ.ชัดเจนกว่าหนังสือของดีเอสไอ ที่แจ้งไปยัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เชื่อว่าเมื่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เห็นหนังสือของ ก.ค.ศ.จะมีความมั่นใจที่จะดำเนินการตามมติมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ รอดูรายละเอียดในหนังสือของก.ค.ศ.ก่อน ไม่อยากให้ไปกังวลมากเกินไป”  นายพงศ์เทพกล่าว

นายพงศ์เทพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตสอบครูผู้ช่วย ที่มีนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. เป็นประธานได้เสนอให้ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายอนันต์ ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายไกร เกษทัน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบงานบริหารบุคคลและนิติกร สพฐ. และนายสุเทพ ชิตยวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ราชการเสียหายร้ายแรง ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารคำให้การของนายพิษณุ ตุลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดของศธ. ซึ่งได้มีการสรุปเสนอให้ดำเนินการทางวินัยร้ายแรงกับผู้บริหารสพฐ.3 ราย ประกอบด้วยดร.ชินภัทร นายอนันต์ และนายไกร เพราะมีมูลสงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดวินัยกรณีละเลยหรือจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ขณะนี้นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศธ. ยังไม่ได้รายงานผลสืบสวนฯชุดที่มีนางพนิตา เป็นประธานมายังตน แต่ในเบื้องต้นเมื่อได้รับข้อมูลแล้ว จะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงในกรณีที่มีข้อมูลอ้างอิงถึงว่าเจ้าตัวละเลยการปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์ เชื่อว่าเมื่อนายเสริมศักดิ์ได้รับผลการสืบสวนของคณะกรรมการฯชุดดังกล่าวแล้ว เร็ว ๆ นี้คงจะนำเข้ามาหารือกับตน เพราะอำนาจการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการระดับสูงถือเป็นอำนาจของ รมว.ศธ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะต้องตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการระดับ 10 และ 11 จริง ๆ จะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการสอบสวน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่าถ้าถูกสอบสวนทางวินัยร้ายแรงแล้วจะต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะการสอบสวนจะต้องดูข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องที่สามารถอ้างอิงถึงกันอย่างรอบด้าน ส่วนกรณีของนายสุเทพที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการศธ.นั้น ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอชื่อแต่งตั้งข้อมูลยังไม่ชี้ชัดขนาดนี้จึงเป็นสิทธิที่จะได้รับการเสนอชื่อ

ที่มา: http://www.dailynews.co.th

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32763&Key=hotnews