‘รมว.ศธ.’ ยันวิชานาฏศิลป์ยังอยู่ในตำรา

16 ตุลาคม 2556

“สบศ.” ซัด “สพฐ.” ลืมรากเหง้าความเป็นไทย ไม่บรรจุวิชานาฏ ศิลป์ไทยในหลักสูตรใหม่ ชี้เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ที่จำเป็นต้องเรียน ห่วง นศ.วิทยาลัยนาฏศิลป์ 12 แห่งทั่วประเทศ จบแล้วจะทำอะไร “จาตุรนต์” ชี้สังคมเข้าใจผิดและขยายความจนเลยเถิด แจงไม่ได้ตัดออกจากหลักสูตรใหม่ แต่บรรจุในกลุ่มความรู้สังคมและความเป็นมนุษย์ ยันจำเป็นต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับองค์ความรู้

จากกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดในโซเชียล มีเดีย ว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัดสินใจไม่นำวิชานาฏศิลป์ไทยบรรจุในหลัก สูตรการศึกษาพื้นฐานฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเด็กไทยมีปัญหาในด้านการศึกษาตกต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในสังคม ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์(สบศ.) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า วิชานาฏศิลป์ไทย แสดงถึงความเป็นไทย และคนไทย จะต้องเรียน ไม่จำเป็นเฉพาะแต่วิชานาฏศิลป์ รวมถึงวิชาอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศีลธรรม ยกตัวอย่างวิชาหน้าที่พลเมือง ที่ไปแทรกอยู่ในวิชาสังคม ปรากฏว่า ก็ไม่มีการเรียนการสอนที่จริงจัง ส่งผลให้สังคมเกิดปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่จำเป็นของคนไทย ควรจะต้องรู้เพราะเป็นวิถีของคนไทย

นายสิริชัยชาญ กล่าวต่อว่าทั้งนี้ การนำวิชานาฏศิลป์ไปทิ้งและกำหนดกลุ่มการเรียนกว้างในหมวดสังคม โดยไม่มีการกำหนดรายชื่อ แสดงว่า จะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ โดยไม่มีรายชื่อจริง ๆ ว่า กำหนดให้เรียนนาฏศิลป์ ซึ่งทั้งที่จริงแล้ว หลักสูตรควรเขียนให้ชัดเจน และพัฒนาศักยภาพของนักเรียนต้องให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เช่น ควรจะต้องเรียนนาฏศิลป์ไทย- พื้นบ้าน-สากล ดนตรีไทย-สากล ประวัติ ศาสตร์ไทย-โลก วิชาเหล่านี้ เป็นวิชาที่จะส่งผลให้พฤติกรรมเด็กนุ่มนวลขึ้น เป็นคนสุขุม ที่สำคัญหากเมื่อเครียดก็ใช้วิชาเหล่านี้บำบัดความเครียดได้ด้วย

นายสิริชัยชาญ กล่าวอีกว่าหาก ศธ. ไม่มีการกำหนดวิชานาฏศิลป์ไว้ในร่างหลักสูตรการใหม่ ยอมรับว่าจะเกิดผลกระทบ ต่อวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงโรงเรียน สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาเหล่านี้ เนื่องจาก ผู้เรียนส่วนใหญ่ เมื่อเรียนจบแล้ว จะเป็นครูสอนนาฏศิลป์ หาก ศธ. ไม่กำหนดว่า เด็กไทยเรียนไม่เรียนนาฏศิลป์ก็ได้ ต่อไป สบศ. หรือสถาบันการศึกษาที่ ผลิตเด็กหรือครูนาฏศิลป์ จะผลิตไปเพื่ออะไร เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดอย่าง ศธ. ไม่สั่ง แล้วโรงเรียนจะรับครูเหล่านี้หรือไม่ ก็จะส่งผล กระทบออกมาเป็นลูกโซ่

“ปัจจุบันนี้ ครูนาฏศิลป์ ดนตรี ตามโรงเรียนก็ขาดบุคลากรเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ตอนนี้นำวิชาเหล่านี้ไปแอบไว้ในกลุ่มสังคมและความเป็นมนุษย์ โดยข่าวออกมาว่า ก็อยู่ในวิชาศิลปะนั่นแหละ จะพูดอย่างนี้ก็พูดได้ เมื่อไม่ปรากฏในกลุ่มสาระ ใครจะมานั่งตีความว่าต้องเรียน ทุกวันนี้ 8 กลุ่มรายวิชา วิชานาฏศิลป์ ดนตรี ศิลปะ แต่ละวิชาเรียนยัง ไม่ถึงหน่วยก็จะแย่อยู่แล้ว ซึ่งคิดว่า หากไม่กำหนดมีผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะวิชาเหล่านี้คือ สัญลักษณ์ของคนไทยของชาติ” อธิการบดี สบศ. กล่าว
ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศธ. เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มอาจารย์นาฏศิลป์จากทั่วประเทศ จะรวมกลุ่มยื่นหนังสือต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อทวงถามถึงเหตุผลการตัดรายวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะมีการปรับปรุงใหม่ว่า ยังไม่ เคยได้ยินเรื่องการตัดวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรฉบับใหม่ และจากการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยได้ยินในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งจากการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหลักสูตร ก็พบว่าข้อความหรือข่าวที่ส่งกันไปในโซเชียลมีเดียไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะหลักสูตรใหม่ไม่ได้มีการตัดวิชานาฏศิลป์ออก โดยการปรับหลักสูตรครั้งนี้ได้มีการจัดกลุ่มสาระการเรียนรู้กันใหม่จาก 8 กลุ่ม เป็น 6 กลุ่มความรู้ โดยวิชานาฏศิลป์ถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มความรู้สังคม และความเป็นมนุษย์ สำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ส่วนในระดับมัธยมศึกษาจะอยู่ในระบบวิชาเลือก

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่าการจัดทำหลักสูตรฉบับใหม่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากแล้ว และผมได้ เร่งรัดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่สนใจให้มากขึ้น รวมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความคืบหน้าในเรื่องการปรับหลักสูตร ซึ่งการปรับปรุงหลักสูตร ถือเป็นเรื่องจำเป็น และจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากหลักสูตรฉบับปัจจุบันที่ใช้กันอยู่นี้ไม่สอดคล้องกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการที่จะให้การศึกษาแก่เด็ก และเยาวชน อีกทั้งหลักสูตรเก่าที่มี 8 กลุ่ม สาระฯ ก็เกิดปัญหามากโดยเฉพาะในเด็ก เล็กที่เป็นปัญหาทำให้การใช้เวลาในการเรียน สำหรับวิชาพื้นฐานที่จำเป็นมาก ๆ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ เหลืออยู่น้อย ส่งผลให้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กในวิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์อยู่ในสภาพที่ไม่น่าพอใจอย่างมาก

“ขณะนี้เรื่องการตัดวิชานาฏศิลป์ออกจากหลักสูตรใหม่ มีการนำไปขยายความในแบบผิด ๆ และนำไปเชื่อมโยงกับวิชาอื่น เรียกว่าแต่งเสริมตกแต่งกันจนเลยเถิดไปมาก ดังนั้นจึงจะต้องมีการชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องนี้ให้ทุกคนเข้าใจว่าไม่ได้มีการตัดวิชานาฏศิลป์ออก และจำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตรเพราะอะไร” รมว.ศธ.กล่าว.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34475&Key=hotnews