ลุ้นชื่อบอร์ดสาง ‘ร.ร.เล็ก’ สระแก้วดิ้นรวมชั้นแก้ยุบ

21 พฤษภาคม 2556

สภาการศึกษาทางเลือกฯรอลุ้น ‘พงศ์เทพ’ รักษา คำพูดหรือไม่ 31 พ.ค.นี้ หากบิดเรื่อง พร้อมก่อม็อบเคลื่อนไหวใหญ่ อีกทั้งชงชื่อบอร์ดสางปม ร.ร.เล็ก ให้ รมว.ศธ.เห็นชอบแล้ว

กลุ่มทางเลือกฯเปิดโผร่วมถก ศธ. เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเลือกไทย เปิดเผยว่า ได้เสนอรายชื่อผู้แทน “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก” ให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ในส่วนของผู้แทนของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กจาก 4 ภูมิภาค ภูมิภาคละ 2 คน ผู้แทนชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2 คน กลุ่มการศึกษาทางเลือก 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ประกอบด้วย นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.ร.ร.) มีชัยพัฒนา ทั้งยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นางเตือนใจ ดีเทศ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และนางประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ส่วนกรรมการ ฝ่าย ศธ.ยังไม่ทราบมีใครร่วมบ้าง

ลุ้น’พงศ์เทพ’รักษาคำพูดหรือไม่

นายชัชวาลย์กล่าวต่อว่า จะรอดูท่าทีของนายพงศ์เทพว่าจะไปในทิศทางใด ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมลักษณะดังกล่าวมาแล้วแต่ก็ล้มเหลว ไม่มีการทำงานต่อเนื่อง จึงยังไม่วางใจว่าการตั้งคณะกรรมการครั้งนี้จะส่งผลดีทำให้เกิดการทำงานร่วมกันจริงหรือไม่ โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม จะรอฟังนโยบายการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่นายพงศ์เทพจะแถลงต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศว่าเป็นอย่างไร หากไม่เป็นไปตามที่พูดไว้ คงต้องมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และเสนอให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะรัฐจัดการศึกษาล้มเหลว ทำให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน ทางแก้ปัญหาคือรัฐต้องเปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่มีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นชุมชน วัด อปท. จัดการศึกษาได้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดนรัฐสนับสนุนงบประมาณและลดหย่อนภาษีให้ รัฐยังไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเลย” นายชัชวาลย์กล่าว

‘นครพนม’เหลือ 7 คน แต่สู้ต่อ

ที่ จ.นครพนม กระแสนโยบายการยุบควบโรงเรียน ยังคงสร้างความวิตกกังวลให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่นเดียวกับโรงเรียนบ้านหนองลาดควาย ต.โพนทอง อ.เรณูนคร จ.นครพนม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 1 เป็น 1 ใน จำนวน 262 แห่งในสังกัดที่มีนักเรียนน้อยที่สุดหรือเล็กที่สุดของจังหวัด ปัจจุบันเหลือ 7 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 4 คน เรียนในระดับชั้นประถมศึกษา 3-5 โดยมีครู 3 คน

นายเวสแก้ว ยอดมงคล อายุ 57 ปี ผอ.ร.ร.บ้านหนองลาดควาย เผยว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับผู้ปกครองนักเรียนสรุปคัดค้านการยุบโรงเรียน ขณะนี้ยังเปิดสอนตามปกติ พร้อมประสานงานกับ สพป.นครพนม เขต 1 ทำโครงการนำร่องนำนักเรียนไปเรียนร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียงที่มีศักยภาพ แต่กิจกรรมทุกอย่างยังทำที่โรงเรียนเดิมเป็นปกติ  พร้อมเรียนควบแต่ยังคงที่เดิม

“ร.ร.บ้านหนองลาดควายอยู่กับชุมชนมากว่า 50 ปี สร้างหลายคนเป็นข้าราชการ มีหน้าที่การงานที่ดีจำนวนมาก หากนำไปเรียนควบถือเป็นเรื่องดีแต่คงสภาพโรงเรียนเดิมไว้ การพัฒนาการศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กหรือใหญ่สามารถพัฒนาได้เท่าเทียมกัน เบื้องต้นโรงเรียนได้สนองนโยบายกระทรวงศึกษา นำนักเรียนไปเรียนร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียงที่มีศักยภาพด้านวิชาการ ส่วนเรื่องกิจกรรมหรือวิชาการเรียนอื่นๆ ยังคงสอนที่โรงเรียน” นายเวสแก้วกล่าว และว่า ในอนาคตส่วนที่เป็นอาคารเรียนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 1 หลัง จะส่งมอบให้ใช้ประโยชน์ในชุมชนต่อไป หรือเป็นสถานที่

ดูแลนักเรียนวัยก่อนเกณฑ์

สุรินทร์เข้าข่ายยุบมัธยม 4 แห่ง

ที่ จ.สุรินทร์ นายไพบูลย์ ศิริมา ผอ.ร.ร.ศรีสำเภาลูน อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ในฐานะประธานกลุ่ม ร.ร.พัฒนาคุณภาพจังหวัดสุรินทร์ (โรงเรียนขนาดเล็ก) กล่าวว่า โครงการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ไปควบรวมกับโรงเรียนขนาดกลางหรือใหญ่ในระดับมัธยมศึกษา ของ จ.สุรินทร์ มีเข้าข่ายยุบ 4 โรง ได้แก่ ร.ร.แสงทรัพย์ราชประชาวิทยาคาร อ.เมืองสุรินทร์ มีนักเรียน 108 คน, ร.ร.แร่วิทยา อ.เขวาสินรินทร์ 86 คน ร.ร.ทุ่งกุลาพิทยาคม อ.ท่าตูม 118 คน และ ร.ร.บึงนครประชาสรรค์ อ.จอมพระ 101 คน ตนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่ต้องพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริงของแต่ละโรงอยู่ห่างกันแค่ไหน และผู้ปกครองมีฐานะยากจน รัฐบาลต้องลงทุนในทุกเรื่องเพื่อให้เด็กได้เรียน ส่วนโรงเรียนระดับประถมศึกษา จ.สุรินทร์ ไม่มีเข้าข่ายโดนยุบ มีแต่ควบรวมแต่ก็มีไม่กี่แห่ง

ยกเว้น’ร.ร.ริมวัง’-กันดารหนัก

นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวหลังลงพื้นที่โรงเรียนริมวัง 2 บ้านผาวี หมู่ 8 ต.ป่าหุ่ง อ.พาน จ.เชียงราย สัปดาห์ก่อน ว่า เป็นโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร การเข้าออกยากลำบากห่างจากตัว อ.พานถึง 27 กิโลเมตร เป็นเส้นทางขึ้นลงเขาถนนลูกรัง เปิดสอนระดับอนุบาลจนถึง ป.6 มีนักเรียน 26 คน ครูและผู้บริหารรวม 3 คน ถือเป็นโรงเรียนที่มีความจำเป็นของชาวบ้านอย่างมาก ไม่สามารถยุบได้ ด้วยหลายปัจจัยทั้งเรื่องเส้นทาง

สระแก้วคละ 3 ชั้นไปด้วยกันได้

นายสุรพล น้อยแสง ผู้อำนวยการ สพป.สระแก้ว เขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน มีทั้งหมด 13 แห่ง และมีคุณภาพพอสมควร สังเกตจากผลสัมฤทธิ์การสอบโอเน็ต โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน คะแนนอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้นักเรียนที่มีจำนวนน้อยได้ใช้วิธีสอนแบบคละกัน โดยให้ชั้น ป.1 ป.2 และ ป.3 อยู่ชั้นเดียวกัน จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนครู และยังทำให้นักเรียนระดับ ป.1 ป.2 สามารถเรียนรู้มีความรู้ระดับ ป.3 ได้ ส่งผลให้ผลการสอบโอเน็ตสูงตามมาด้วย

ผอ.ภูซางใกล้เกษียณ-ลูกน้องสู้ต่อ

นายสงกรานต์ สุปินะเจริญ ผอ.ร.ร.บ้านดอนไชย ต.เชียงแรง อ.ภูซาง จ.พะเยา กล่าวว่า ทั้งครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองนักเรียน ต่างไม่ขอยุบรวมไปเรียนกับโรงเรียนอื่น แต่จากนั้นเมื่อตนเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2556 โรงเรียนบ้านดอนไชยจะไม่มีผู้บริหาร ครูผู้สอนทั้ง 6 คน ก็ต้องแบกรับภาระหน้าที่จัดการเรียนการสอนทั้งระบบต่อไป โดยมี ผู้ปกครองในชุมชนและคณะกรรมการสถานศึกษาให้ความช่วยเหลือดูแลต่อไป

บ้านหนองไผ่เร่งหา น.ร.เพิ่ม

นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร ผู้อำนวยการ สพป.นครราชสีมา เขต 1 เปิดเผยว่า สพป.นครราชสีมา เขต 1 ประกอบด้วย อ.เมือง และ อ.โนนสูง มีโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียนต่ำกว่า 60 คน 19 โรง และกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กต่ำกว่า 40 คน 7 โรง กำลังทำแผนเรื่องนี้ หากโรงเรียนใดผู้บริหารชุมชนเข้มแข็ง และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีผลสัมฤทธิ์ดีจะเข้าสนับสนุน บางโรงเรียนหาเงินด้วยการทอดผ้าป่ามาเป็นเงินอัตราจ้าง เรื่องนี้จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“มีโรงเรียนที่มีเด็กต่ำที่สุด 27 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพราะเป็นช่วงเปิดเทอมใหม่ เช่น โรงเรียนบ้านหนองไผ่ล้อม อ.เมือง เดิมมีนักเรียน 47 คน ขณะนี้เพิ่มเป็น 52 คนแล้ว และยังมีเด็กทยอยเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งโรงเรียนพยายามหาเด็กมาเพิ่มเพราะกลัวถูกยุบ โดยหลังวันที่ 20 พฤษภาคม จะทราบว่ามีโรงเรียนใดบ้างเข้าข่ายที่จะถูกยุบ ก่อนสรุปเสนอ สพฐ.ต่อไป” นายปฐมฤกษ์กล่าว

เผยตึกร.ร.ถูกยุบถูกปล่อยร้าง

นายอำนาจ สูงยิ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ่อนอก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 สั่งยุบโรงเรียนบ้านละลอง หมู่ 6 เมื่อหลายปีก่อน ล่าสุดยังไม่มีหน่วยงานใดประสานงานมาที่ อบต.ให้เข้าใช้ประโยชน์จากตึกอาคารเรียนปูน 2 ชั้น ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรม กลายเป็นแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติดกลุ่มวัยรุ่น ทราบว่าอาคารโรงอาหารได้ใช้เป็นที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งโรงเรียนที่ถูกยุบควรมีการพิจารณาเพื่อให้ชุมชนใช้ในการทำประโยชน์ไม่ควรปล่อยทิ้งร้าง

ชายแดนใต้หนุนนโยบายศธ.

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เปิดเผยว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พบว่ามีโรงเรียนประถมจำนวนหนึ่งที่มีแนวโน้มนักเรียนลดลงทุกปี จนบางโรงเหลือเด็ก 20-30 คน แต่เด็กกลับไปเพิ่มจำนวนในโรงเรียนสอนศาสนาของเอกชน ทั้งนี้เห็นด้วยให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อง่ายต่อการดูแลและการรักษาความปลอดภัยบุคลากรทางการศึกษา ทาง สพป.ต้องเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนถึงความจำเป็น

นายประสิทธิ์ รัตนแคล้ว ผู้อำนวยการ สพป.นราธิวาส เขต 1 เปิดเผยว่า โรงเรียนในสังกัดที่อยู่ในเกณฑ์โรงเรียนขนาดเล็กนักเรียนน้อยกว่า 60 คน มี 2 แห่งคือ โรงเรียนบ้านโคกเคียน อ.เมืองนราธิวาส และโรงเรียนบ้านจอเบาะ อ.ยี่งอ ยอมรับว่าเห็นด้วยกับนโยบายยุบโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนขนาดเล็กจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ เพราะมีครูไม่ครบตามกลุ่มสาระวิชา เด็กๆ จะมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนในวงแคบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32770&Key=hotnews