สำรวจผู้เรียนครู 5 ปี ทั้งเกิน-ทั้งขาด’ไม่สมดุล’

10 มิถุนายน 2556

ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ
ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.)

จากการสำรวจจำนวนผู้เรียนในสถาบันผลิตครู จากมหาวิทยาลัยของรัฐเดิม มหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยเอกชน สถาบันการพลศึกษา และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า มีผู้เรียนในสาขาวิชาต่างๆ ในชั้นปีที่ 1-5 ที่จะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2556-2560
ตามลำดับ จากมากไปหาน้อยดังนี้
1) พลศึกษา สุขศึกษา 54,542 คน
2) การปฐมวัย 27,136 คน
3) ภาษาอังกฤษ 24,748 คน
4) สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 22,884 คน
5) คณิตศาสตร์ 22,656 คน
6) ภาษาไทย 20,537 คน
7) วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป 17,847 คน
8) คอมพิวเตอร์ศึกษา เทคโนโลยีการศึกษา 17,562 คน
9) การประถมศึกษา 8,119 คน
10) ดนตรี 4,180 คน
11) ชีววิทยา 4,024 คน
12) ศิลปศึกษา ทัศนศิลป์ จิตรกรรม 3,899 คน
13) นาฏศิลป์ (ไทย สากล) นาฏยดุริยางคศาสตร์ 3,810 คน
14) เคมี 2,917 คน
15) ฟิสิกส์ 2,813 คน
16) ภาษาจีน 2,229 คน
17) วิศวกรรมอุตสาหกรรม 2,203 คน
18) การศึกษา 2,025 คน
19) การศึกษาพิเศษ 1,834 คน
20) วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม 1,668 คน
21) วิศวกรรมเครื่องกล 1,594 คน
22) วิศวกรรมไฟฟ้า 1,283 คน
23) เกษตรกรรม เกษตรศาสตร์ สิ่งแวดล้อม 1,225 คน
24) วิศวกรรมโยธา 1,166 คน
25) จิตวิทยา 1,116 คน
26) คหกรรมศาสตร์ 980 คน
27) ธุรกิจศึกษา บริหารธุรกิจ 705 คน
28) อุตสาหกรรม 688 คน
29) ครุศาสตร์วิศวกรรม 410 คน
30) ภาษาญี่ปุ่น 337 คน
31) การวัด การวิจัย การประเมินผลการศึกษา 332 คน
32) เทคโนโลยีอุตสาหกรรมศึกษา 295 คน
33) ครุศาสตร์สภาพแวดล้อมภายใน 284 คน
34) ครุศาสตร์การออกแบบ 283 คน
35) การศึกษานอกระบบ 282 คน
36) สถาปัตยกรรม 248 คน
37) การสอนวิทยาศาสตร์ทั่วไป 169 คน
38) บรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ 158 คน
39) วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ 156 คน
40) ภาษาฝรั่งเศส 120 คน
41) การงานอาชีพและเทคโนโลยี 33 คน
42) การบริหารการศึกษา 13 คน
43) อิสลามศึกษา 12 คน

รวมผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในทุกสาขา แต่ละปี ดังนี้ ปีการศึกษา 2556 จำนวน 29,844 คน ปีการศึกษา 2557 จำนวน 40,437 คน ปีการศึกษา 2558 จำนวน 56,382 คน ปีการศึกษา 2559 จำนวน 71,530 คน ปีการศึกษา 2560 จำนวน 61,329 คน ทั้งนี้ จนถึงปีการศึกษา 2560 หรืออีก 5 ปี จะมีผู้สำเร็จรวมทั้งสิ้น 259,522 คน

จากที่ สกอ. โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. เป็นประธานการประชุมอธิการบดีและคณบดีในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู 5 ปี เพื่อวางแผนการ ผลิตครู และมีการเสนอผลการสำรวจ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2556 พบว่ามีจำนวนผู้เรียนเกินความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครูมากในบางสาขาวิชา และคาดว่าจะขาดแคลนในหลายสาขาวิชา และมีมติให้สถาบันฝ่ายผลิตพิจารณาทบทวนแผนการผลิตนั้น

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 สภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ได้ทำการสำรวจ ปรากฏว่าสาขาวิชาที่มีผู้เรียนเกินความต้องการมีจำนวนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ และสาขาที่คาดว่าจะขาดแคลนก็ยังคงมีผู้เรียนน้อยตามเดิม และจำนวนภาพรวมเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 คน คือ 259,522 คน จากเดิมที่พบจากการสำรวจครั้งก่อนประมาณ 240,000 คน ในขณะที่ข้อมูลครูจะเกษียณอายุราชการประมาณ 100,000 คน แต่เชื่อว่าจะได้อัตราแทนเพียง 20,000 คน หรือร้อยละ 20 เท่านั้น

โดยสรุป สถาบันฝ่ายผลิตครู ไม่สามารถลดจำนวนและเพิ่มจำนวนให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ อาจเป็นเพราะมี การกำหนดแผนการรับและประกาศรับสมัครไปแล้ว ทั้งระบบรับตรงและแอด มิสชั่นส์กลาง

สำหรับข้อแนะนำที่ ส.ค.ศ.ท.เคยหารือกันไว้คือ
1) ลดหรืองดรับผู้เรียนในสาขาวิชาที่ เกินความต้องการ โดยเฉพาะ 8 สาขา วิชา เพิ่มจำนวนผู้เรียนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน กรณีสถาบันฝ่ายผลิตมีความพร้อม ในปีต่อไป
2) โอนย้ายผู้เรียนไปในสาขาวิชาที่เกินไปเรียนในสาขาวิชาขาดแคลน ตามความพร้อมของสถาบันฝ่ายผลิต ตามความสามารถ และตามความสมัครใจของผู้เรียน
3) สนับสนุนให้บัณฑิตเรียนเพิ่มในสาขาวิชาที่ขาดแคลน อีกสาขาหนึ่ง (ปริญญาเดียวกันสาขาที่สอง)
4) เปิดโอกาสให้สถาบันฝ่ายผลิต เทียบโอนหรือโอนย้ายนักศึกษาหรือรับบัณฑิตปริญญาอื่น เข้าเรียนในสาขาวิชาที่มีความขาดแคลน หรือเข้าเรียนในระดับปริญญาโท ทางการสอน
การแก้ปัญหากรณีสาขาวิชาที่มีการผลิตเกิน (หากยังคงจำนวนเท่าเดิม)
1) พัฒนาทักษะความสามารถพิเศษ เพื่อสร้างโอกาส และตรงตามความต้องการผู้จ้างงานอื่นนอกจากการเป็นครู
2) พัฒนาทักษะภาษาเพื่อให้สามารถสอนในโรงเรียนนานาชาติ หรือในประเทศอื่น ทั้งในอาเซียนและนานาชาติ เช่น ทักษะภาษาอังกฤษหรือภาษาอาเซียน
3) จัดให้มีการเรียนปริญญาอื่นควบคู่ไปด้วย
ส่วนตัวเห็นว่าสาขาวิชาที่มีผู้เรียนเกินความต้องการ คือสาขาวิชาที่มีผู้เรียนมากกว่า 10,000 คน ส่วนสาขาวิชาที่คาดว่าจะขาดแคลน คือ สาขาวิชาที่มีผู้เรียนไม่เกิน 5,000 คน สำหรับสาขาวิชาที่น่าเป็นห่วงคือ สาขาวิชาด้านพลศึกษา สุขศึกษา ส่วนสาขาวิชาภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์อาจหางานอื่นทำได้ สำหรับคณิตศาสตร์อาจไปทดแทนที่อัตราที่ขาดแคลนอยู่เดิมแล้ว อาจจะเกินไม่มากนัก
ส่วนสาขาที่จะขาดแคลนและจะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ ได้แก่ สาขาวิชาเคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ รวมทั้งสาขาวิชาด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาอาเซียน พบว่าไม่มีการผลิต ควรต้องพิจารณาขยายการผลิต

ปัญหาการผลิตนี้ เป็นเพราะกระทรวงศึกษาธิการไม่มีข้อมูลความต้องการที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน ที่สำคัญประเทศไทยมีการยุบกรมการฝึกหัดครู จึงไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบแผน
การผลิต จึงต่างคนต่างผลิต ในขณะที่ ส.ค.ศ.ท.เป็นเพียงองค์กรที่ตั้งขึ้นมา นอกเหนือกฎหมายกำหนด ขาดอำนาจ สั่งการหรือตัดสินใจใดๆ หน่วยงานที่เกี่ยวกับครูมีมากแต่ไม่มีหน่วยงานใดทำหน้า ที่นี้และขาดความเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ คณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งมาอย่างยาวนาน ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐเดิม มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ เปิดรับตามความพร้อมที่มีอยู่ ทำให้เกินและขาดในบางสาขาวิชาไม่สอดคล้องกับความต้องการ

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นปัญหาเชิงปริมาณซึ่งจะส่งผลในเชิงคุณภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดบ้าง โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าไม่ถือว่าเรื่องการผลิตครูนี้เป็นเรื่องใหญ่ คนในประเทศนี้จะขาดคุณภาพ ไม่มีทางปรองดอง ไม่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ แต่ฝ่ายการเมืองคงชอบเพราะคนขาดคุณภาพแล้วปกครองง่าย (ยากจน เหลื่อมล้ำ ประชานิยม ซื้อเสียงได้อำนาจต่อไป)

และขอวิงวอนคณบดีและอธิการบดี การพิจารณาจำนวนรับเข้าเรียนเพื่อหวังเป้าหมายทางงบประมาณ โดยไม่ห่วงใยลูกศิษย์และความเป็นวิชาชีพชั้นสูงด้วย ตกงานถูกดูแคลนแล้วมันจะเป็นวิชาชีพชั้นสูงได้อย่างไร

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32963&Key=hotnews