อนาคตโรงเรียนขนาดเล็กของเมืองไทย การแก้ปัญหาจะต้องไม่มีรูปแบบเดียว

14 พฤษภาคม 2556

ดร.พิษณุ ตุลสุข หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ

…ไม่มีผู้ปกครองคนใดที่ไม่ต้องการให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ!
หากท่านได้เดินทางไปในชนบทหรือต่างจังหวัดมักจะพบเห็นรถรับส่งนักเรียนวิ่งขนเด็กจากตำบลหมู่บ้านเข้ามาเรียนในเมืองเป็นจำนวนมาก บางรายอาจจะต้องเดินทางถึง 30-40 กม. เพื่อมาเรียนโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด หรือโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียนเอกชนหลายแห่งจะมีรถไปรับนักเรียนถึงหน้าบ้าน มีครูพี่เลี้ยงนั่งรถดูแลมาด้วย ภาพเช่นนี้เป็นปกติในทุกจังหวัดทุกเช้า เด็กก็จะนั่งหลับอ่อนเพลีย เพราะการตื่นแต่เช้าและต้องเดินทางไกล แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองยินดีเพราะลดภาระการรับส่งลูกไปโรงเรียนและเชื่อมั่นว่าลูกได้ไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ

ดังนั้นหากผู้ปกครองมีกำลังทางเศรษฐกิจพอที่จะส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพได้ก็จะส่งไปแน่นอน รถขนนักเรียนก็จะวิ่งผ่านหน้าโรงเรียนในหมู่บ้านในชนบทสู่เมืองใหญ่ ลูกของคนมีฐานะดีในเมืองใหญ่ก็จะถูกส่งไปเช่าหอพัก บ้านเช่า ในจังหวัดที่มีโรงเรียนดัง ๆ คุณภาพดี ลูกของคนร่ำรวยในจังหวัดก็จะถูกส่งไปเรียนยังเมืองหลวงหรือโรงเรียนนานาชาติ หรือคนในเมืองหลวงก็ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศเพราะข้อสรุปก็คือ ทุกคนรักลูกอยากให้ลูกเรียนในโรงเรียนดีมีคุณภาพ มีสังคมที่ดี มีอนาคตดี มีใครไม่รักลูกบ้าง

แต่ก็ยังมีอีกหลายครอบครัวที่พ่อแม่ติดขัดปัญหาด้านการเงิน หรือฐานะยากจนจึงไม่มีปัญญาส่งลูกไปเรียนที่ไหน จำใจให้ลูกเรียนอยู่ในโรงเรียนใกล้บ้านในหมู่บ้าน ดังที่เห็นเป็น “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่มีอยู่ถึง 14,816 โรงเรียนของ สพฐ. ในปัจจุบัน
จากสาเหตุดังกล่าวจึงเกิดโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุกปี โดยที่หากจะจำกัดคำว่า “โรงเรียนขนาดเล็ก” หมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนต่ำกว่า 120 คนลงมาเป็นโรงเรียนขนาดเล็กจะพบข้อมูลดังนี้ ปีการศึกษา 2546 มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก 10,877 โรง, ปีการศึกษา 2550 เพิ่มเป็น 13,518 โรง, ปีการศึกษา 2554 เพิ่มเป็น 14,669 โรง ปีการศึกษา 2555 เพิ่มเป็น 14,816 โรง และในปีการศึกษา 2556 ยังไม่มีการสำรวจแต่คาดว่าจำนวนจะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน และในจำนวนนี้ย่อมมีโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนลงมาอยู่ไม่น้อยกว่า 5,962 โรงเรียน เช่นเดียวกัน
ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กคืออะไร ? ปัญหาสำคัญอันดับแรก คือ คุณภาพของนักเรียน จากการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหรือรางวัลจากการแข่งขันทักษะทางวิชาการต่าง ๆ จะพบว่า โรงเรียนขนาดเล็ก คุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนขนาดกลาง คุณภาพต่ำกว่า โรงเรียนขนาดใหญ่ และหากนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนขนาดเล็กตัดออกจากค่าเฉลี่ยรวมของ สพฐ.ในระดับประเทศ คิดเทียบค่าเฉลี่ยรวมจากโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่จะทำให้ค่าเฉลี่ยรวมของ สพฐ. สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นข้อสรุปว่า คุณภาพนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กโดยภาพรวมต่ำจริง แล้วทำไมต้องให้เด็กไทยเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ

ปัญหาลำดับที่สองโรงเรียนขนาดเล็กขาดแคลนทรัพยากร เพราะการจัดสรรงบประมาณของ สพฐ. ยืนอยู่บนบรรทัดฐานของค่าใช้จ่ายรายหัว แม้จะบวกเพิ่มพิเศษอย่างไรก็ได้ไม่เท่าโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมากอยู่ดี การลงทุนด้านค่าก่อสร้างอาคาร ค่าครุภัณฑ์ วัสดุสื่อต่าง ๆ ก็มีข้อจำกัด เพราะ สพฐ.เป็นพ่อแม่ที่มีลูกมาก มีโรงเรียนในสังกัดถึง 31,116 โรง แม้จะมีงบประมาณรวมกันแล้วจะมากที่สุดนับเป็น 3 แสนล้านบาท ก็ตาม

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงบางประการว่าในประเทศนี้ โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งยังมีคุณภาพที่ดี ได้รับรางวัลโรงเรียนรางวัลพระราชทาน 2-3 ครั้ง เป็นเกียรติประวัติ เพราะผู้อำนวยการและครูเอาใจใส่จริงจังบวกกับผู้นำชุมชนและผู้ปกครองในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของโรงเรียน ทุกคนมีความสุขอยู่กับโรงเรียนที่เป็นศูนย์รวมในการพัฒนาของหมู่บ้านและชุมชน และในขณะเดียวกันยังมีโรงเรียนขนาดเล็กที่จำเป็นต้องคงอยู่ อาทิ โรงเรียนเกาะโหลน เกาะแก่งอีกหลายเกาะ โรงเรียนบนยอดดอยและป่าเขา โรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่สงบและปลอดภัย ที่ถึงอย่างไรโรงเรียนเหล่านี้จะต้องคงอยู่เพื่อให้เด็กไทยที่เกิดในถิ่นฐานเหล่านี้ได้สิทธิและโอกาสในการก้าวถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงก็ต้องได้รับการแก้ปัญหาและดูแลอย่างมีคุณภาพด้วย แม้ว่าจะเป็นการลงทุนต่อหน่วย (จำนวนเด็กนักเรียน) สูงกว่าพื้นที่ปกติก็ตาม

ทุกปัญหาต้องมีทางออก ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็ก จะต้องได้รับการแก้ไขแน่นอน ทั้งในเรื่องของคุณภาพและเชิงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ และความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการอย่างไม่หยุดหย่อน จนโรงเรียน ของ สปช. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติเดิม) ประมาณ 35,000 โรง จึงเหลือเพียงโรงเรียนซึ่งนับรวมโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิมประมาณ 31,116 โรงแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความคงอยู่และเลิกล้มไปตามสภาพของความจำเป็นและการจำยอม

แต่การยุบเลิกย่อมไม่ใช่ทางออกทางเดียว! เมื่อครั้งผู้เขียนอยู่ในตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงผลักดันโครงการวิจัยเพื่อกำหนดอนาคตโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทยไว้โดยมีหัวเรื่องวิจัย 16 เรื่อง (ตามข้อมูลล้อมกรอบ) ใช้นักวิจัย ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการสังกัด สพฐ. และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 100 กว่าคน มาร่วมเป็นทีมวิจัย 16 ทีม ซึ่งหัวเรื่องการวิจัยล้วนแล้วแต่จะสามารถตอบปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กที่ถกเถียงกันในเวทีสื่อสาธารณะในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วน เป็นการแก้ปัญหาอย่างมีอนาคต มองอนาคตระยะยาวและรองรับด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

หลักการวิจัยทั้ง 16 เรื่อง จะอยู่ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ประการคือ 1. คุณภาพของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก 2. สิทธิและโอกาสในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชนคนไทยทุกคนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และ 3. ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของภาครัฐ

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพลังและการขับเคลื่อนของนักวิจัยทั้ง 16 ทีม ซึ่งขณะนี้น่าจะดำเนินการไปได้ใกล้จะเสร็จแล้ว และจะเป็นคำตอบอันสำคัญต่อรัฐบาล และประชาชนของประเทศไทยทั้งผู้ยากไร้ขาดโอกาส และผู้ที่กำลังวุ่นอยู่กับปัญหาและแสวงหาคำตอบว่าอนาคตของโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร แต่คำตอบสุดท้ายจะต้องยืนอยู่บนหลักการว่า ‘การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของประเทศไทยจะต้องไม่มีรูปแบบเดียวที่ใช้แก้ปัญหาได้ ทุกโรงเรียนทั่วประเทศจะต้องขึ้นอยู่กับบริบท และสภาพการณ์ของแต่ละโรงเรียน แต่ละชุมชนเป็นสำคัญ”.
16 หัวข้อวิจัยฯ

ขณะนี้น่าจะอยู่ในระหว่างการดำเนินการและบางเรื่องดำเนินการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนำเสนอเพื่อให้เป็นแนวคิดและการมองปัญหาทั้งระบบ อาทิ

1. เรื่องผลคุณภาพนักเรียนใน รร.ขนาดเล็ก

2. เรื่องการศึกษาผลการประเมินคุณภาพภายนอก

3. เรื่องการบริหารจัดการ

4. เรื่องปัจจัยที่ทำให้ รร.ขนาดเล็กอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ

5. เรื่องรูปแบบการบริหารจัดการศึกษา

6. เรื่องการศึกษาความคุ้มค่า เชิงการลงทุน

7. เรื่องการศึกษาผลกระทบด้านสิทธิและโอกาสทางการศึกษา จากการยุบรวม รร.ขนาดเล็ก

8. เรื่องความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการควบรวม รร.ขนาดเล็ก

9. เรื่องปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมหรือเลิกล้มรร.ขนาดเล็ก

10. เรื่องการบริหารงานบุคคล เพื่อรองรับการบริหารจัดการ รร.ขนาดเล็กในอนาคต

11. เรื่องรูปแบบการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของ รร.ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ

12. เรื่องการจัดการศึกษารร.ขนาดเล็ก โดยอาศัยองค์กรเอกชนเป็นแนวคิดใหม่

13. เรื่องการบริหารทรัพย์สิน รร.ขนาดเล็ก กรณีที่ยุบรวม หรือเลิกล้มเป็นการเตรียมหาทางออกไว้ก่อน

14. เรื่องรูปแบบการใช้แท็บแล็ต เพื่อยกระดับคุณภาพนักเรียนใน รร.ขนาดเล็ก

15. เรื่องการพัฒนาการจัดการศึกษาแบบคละชั้นใน รร.ขนาดเล็ก และ

16. เรื่องสามทศวรรษ รร.ขนาดเล็กของประเทศไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่บ่งบอกถึงความพยายามในการแก้ปัญหาที่ผ่านมากว่า 30 ปีเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานและสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์และกำหนดนโยบายอนาคตได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ.

–เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32684&Key=hotnews