เกณฑ์วิทยฐานะใหม่เน้น น.ร. 80% แต้มต่อครู’ กันดาร-เหมาหลายชั้น’ 20%

15 พฤศจิกายน 2556

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายนิวัตร นาคะเวช ประธานคณะทำงานปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว17 เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจัดทำรายละเอียดการปรับปรุงหลักเกณฑ์วิทยฐานะ ว17/2552 ที่จะนำมาใช้ในการขอให้มีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศในสายผู้สอน สายผู้บริหารการศึกษา สายผู้บริหารสถานศึกษา และสายศึกษานิเทศก์ ซึ่งหลักเกณฑ์วิทยฐานะที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะให้น้ำหนักของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การประเมินวิทยฐานะสายผู้สอนจะให้น้ำหนักของผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนร้อยละ 80% ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจะกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยในหลายๆ ด้าน อย่างคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ผลการทดสอบอื่นๆ ผลการทดสอบกลางที่กำลังจะดำเนินการอยู่ คะแนนด้านปัญญา ความมีจิตสาธารณะ การเคารพสังคมของผู้เรียน ส่วนอีก 20% จะดูปริมาณและสภาพงานของครู โดยครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนห่างไกลกันดาร ครูที่มีภาระงานสอนหลายชั้น และครูที่อยู่ในโรงเรียนที่อัตราครูขาด จะมีคะแนนให้ในส่วนนี้ด้วย

สำหรับการประเมินวิทยฐานะสายผู้บริหารสถานศึกษา จะให้น้ำหนักผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนประมาณ 50% และ 20% จะในส่วนของครู อย่างการส่งเสริมการพัฒนาครู การส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพ และสัดส่วนที่เหลือ จะดูการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา การมีส่วนร่วมกับชุมชน

“การดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนนั้น จะนำคะแนนโอเน็ตของผู้เรียนมาพิจารณา 2 ลักษณะทั้งระดับชาติ และระดับโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขนาดเล็กนั้น จะดูพัฒนาการของผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนมากกว่าที่จะนำมาเปรียบเทียบกับผลระดับชาติ หากนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ก็จะมีคะแนนส่วนนี้ โดยวิธีการนี้จะเป็นผลดีกับโรงเรียนขนาดเล็กเพราะหากนำผลคะแนนของเด็กมาเปรียบเทียบกับคะแนนระดับชาติ โรงเรียนเหล่านี้ก็จะมีคะแนนต่ำกว่าระดับชาติอยู่แล้ว นอกจากผลคะแนนโอเน็ตแล้ว จะนำผลคะแนนส่วนอื่นๆ มาดูด้วย อย่างผลการทดสอบกลางที่เป็นนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทางคณะทำงานได้บรรจุไว้ในการประเมินวิทยฐานะนี้แล้ว” นายนิวัตรกล่าว และว่า การประเมินวิทยฐานะใหม่นี้ หลักการสำคัญคือจะทำให้ครูไม่ต้องทิ้งห้องเรียน และไม่ต้องไปจ้างใครทำผลงาน เพราะการจะผ่านการประเมินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นหลัก ทั้งนี้ เมื่อจัดทำรายละเอียดทั้งหมดเสร็จแล้ว สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะต้องนำเสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ระบบฯ นำเสนอนายจาตุรนต์พิจารณาต่อไป โดยคาดว่าน่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2557 กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัด

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34791&Key=hotnews