เปิดเทอมใหม่ปลายด้านขวาน “ครูใต้” พร้อมสู้เพื่อลูกศิษย์

17 พฤษภาคม 2556

นครินทร์ ชินวรโกมล/ ปทิตตา หนูสันทัด/ ธรณิศวร์ พิรุณละออง

บรรยากาศเปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2556 ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ท่ามกลางกระแสไฟใต้ที่ยังคุกรุ่นด้วยกลิ่นควันปืน แม้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามปรับแผนรักษาความปลอดภัยให้แก่ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ทว่าลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของบุคลากรทางการศึกษา ย่อมมีบ้างที่บ้างครั้งรู้สึกหวาดระแวงต่อภัยที่มองไม่เห็น

แต่ทุกครั้งที่ “แม่พิมพ์ของชาติ” จ้องมองดูตาของนักเรียน พวกเขาเห็นเงาสะท้อนความคาดหวังของเด็กๆ ที่ต้องการเป้าหลอมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า นั่นคือเห็นผลเหนือความกลัว ที่พวกเขาเสียสละอุทิศตนเพื่อลูกศิษย์

“ครูต่างอยู่กันอย่างหวาดผวา ไม่มีกำลังใจเลย หลังจากอาสาสมัครทหารพรานที่เคยมาตั้งฐานปฏิบัติการใกล้กับโรงเรียนถอนกำลังออกไป และเปลี่ยนมาเป็นกำลังทหารแทน ในการประชุมร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อหามาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่ครูในพื้นที่ก็ได้เสนอไปว่า เมื่อเปลี่ยนทหารพรานมาเป็นทหารแล้ว อยากให้มีมาตรการที่ทำให้ครูวางใจมากขึ้น”

“ที่ผ่านมาเส้นทางที่ครูจะเดินทางมายังโรงเรียนเคยเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดมาแล้วถึง 3 ครั้ง เหตุการณ์ยิงเจ้าหน้าที่ หรือการใช้อาวุธสงครามยิงใส่บ้านพักของบุคลากรในโรงเรียน นี่คือสิ่งที่ทำให้ครูต่างเสียขวัญ ที่ทำได้ขณะนี้ทุกโรงเรียนในพื้นที่มีการปิดล็อกประตูโรงเรียนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย เป็นการป้องกันบุคคลภายนอกเข้ามาภายในโรงเรียน” นางประภา ศรีเมือง ครูโรงเรียนบ้านป่าบอน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บอกกล่าวความรู้สึก

เช่นเดียวกับ นายอับดุลรอมัน ยาเมาะ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลิมุด อ.เมือง จ.ยะลา บอกว่า แน่นอนว่าทุกคนระมัดระวังตัวมากขึ้น ต้องใช้ชีวิตให้ปลอดภัยที่สุด เพราะในช่วงเวลาหนึ่งเราเป็นครู อีกช่วงเวลาหนึ่งเราคือชาวบ้าน การใช้ชีวิตประมาทไม่ได้

สำหรับมาตรการดูแลความปลอดภัยในวันแรกของการเปิดภาคการศึกษา มีเจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่ทหาร เข้ามาดูแล ส่วนตัวแล้วรู้สึกอุ่นใจ ที่พบว่าในตลอดเส้นทางมีการรักษาความปลอดภัยเป็นระยะๆ ในเส้นทางการเดินทางของครู โดยเฉพาะในเขตของโรงเรียนก็มีเจ้าหน้าที่มากขึ้น มีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา

“ส่วนการดูแลความปลอดภัยของตัวเองและเพื่อนครู ทุกเช้าจะมีการรวมตัวกัน แล้วเดินทางมาโรงเรียนพร้อมๆ กันตามเวลาที่ทางเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ โดยมีอาสาสมัครทหารพรานนำทางมา ระยะหลังยอมรับว่ามีความอบอุ่นใจมากขึ้นในการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่” นายอับดุลรอมันกล่าว

นางนุชนาฎ พลายแสง ครูโรงเรียนวัดบุพนิมิต หมู่ 1 ต.แม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งมีบ้านพักอยู่ภายในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา เล่าว่า เมื่อปี 2548 ทำหน้าที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดโคกหญ้าคา หมู่ 6 ต.คลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เคยถูกกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มรถยนต์โดยสาร ขณะที่เดินทางจากโรงเรียนเพื่อกลับที่พักพร้อมเพื่อนครูหลายคน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คนขับรถและชาวบ้านเสียชีวิต 2 คน

“จดจำเหตุการณ์ครั้งนั้นได้จนถึงทุกวันนี้ ยอมรับว่ากลัวเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ แต่ยังทำหน้าที่ครูที่โรงเรียนวัดโคกหญ้าคาจนถึงเดือนธันวาคม 2555 จึงได้ขอย้ายมาที่โรงเรียนวัดบุพนิมิต ที่ ต.แม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี จนถึงปัจจุบัน สำหรับพื้นที่ อ.แม่ลาน รู้สึกปลอดภัยกว่าที่ อ.ยะรัง เส้นทางที่เดินทางจากบ้านในเขตเทศบาลนครยะลา ไปยังโรงเรียน มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร จะพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารดูแลรักษาความปลอดภัยให้ตลอดเส้นทาง เราต้องระวังตัวในทุกครั้งที่เดินทาง และจะปฏิบัติตามที่ไปประชุมกับทางหน่วยกำลังในช่วงก่อนเปิดภาคเรียน คณะครูที่โรงเรียนทุกคนจะรวมตัวกันเดินทางไปโรงเรียน และเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัยให้” นางนุชนาฎกล่าว

เช่นเดียวกับ นายสมเจตน์ ศรีหิรัญ ครูโรงเรียนบ้านลูโบะลือซง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า การปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่กองกำลังในครั้งนี้ สร้างความพึงพอใจให้แก่คณะครู ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาอีกครั้ง และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ตลอดไป เหมือนช่วงในวันเปิดเทอมวันแรก ที่มีการคุ้มกันทุกระยะทั้งในโรงเรียนและระหว่างการเดินทางไปกลับของคณะครู

น.ส.กนกวรรณ บือราเฮง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตันหยง ต.บาเระใต้ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส อันเป็นพื้นที่ซึ่ง นายชลธี เจริญชล อายุ 51 ปี ครูในสังกัด ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตภายในโรงเรียน เหตุเกิดในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา บอกว่า ทางโรงเรียนมีมาตรการเข้มงวดต่อการเข้า-ออกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง จะต้องมีการตรวจสอบ ส่วนทางโรงเรียนได้จัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ดูแลเวรยามช่วงกลางคืน หากครูคนไหนมีธุระกลับค่ำ หรือต้องไปธุระเพียงลำพัง จะมีทหารไปด้วย
ด้าน นายสุพล จันทรประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า กำลังหลักที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยครูและโรงเรียนคือเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง รวมถึงกลุ่มของนำท้องถิ่น ถือเป็นการสนธิกำลังเข้ามา แนวทางนี้ทำให้มั่นใจได้บ้างถึงความปลอดภัยยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เปิดภาคการศึกษามาใหม่ปีนี้ ยุทธวิธีของฝ่ายทหารนำมาใช้เพื่อปิดช่องโหว่จากการลงมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยมีเป้าหมายคือ “ครู” โดยใช้ยุทธวิธี “แผนพรานไพร”

แผนดังกล่าวถูกนิยามขึ้นโดย พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 คือการเฝ้าระวังป้องกัน ตลอดจนดูแลความปลอดภัยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มีความปลอดภัย มีความเชื่อมั่นต่อแผนดูแลความปลอดภัยครูช่วงการเปิดภาคเรียน เน้นไปที่การวางกำลังตามถนนสายหลัก สายรองในหมู่บ้าน ย่านชุมชน ตลอดจนชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการก่อเหตุร้าย ซึ่งมีการจัดหน่วยปฏิบัติออกเป็นชุดย่อยออกลาดตระเวนเดินเท้าไปตามเส้นทางหลักเส้นทางรองและตามพื้นที่เทือกเขา ไร่นา ตลอดอาณาเขตติดสองฝั่งถนนที่ประชาชน โดยเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ใช้ในการเดินทางไป-กลับโรงเรียน เพื่อเป็นการป้องกันและคุมพื้นที่ให้มีความปลอดภัย

นอกจากนี้ยังจัดชุดเคลื่อนที่เร็วคอยประจำจุดตามรายทาง การตรวจเข้มรถ บุคคลเป้าหมาย ที่สัญจรไปมาผ่านจุดตรวจร่วม 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกตรอง เพื่อเป็นการลดช่องว่างและป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อความไม่สงบมีโอกาสที่จะออกมาก่อเหตุสร้างสถานการณ์ได้อย่างอิสระ ถือเป็นการปฏิบัติการเชิงรุกร่วมกันของหน่วยกำลัง โดยที่ครูทุกคนต้องได้รับการดูแลความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นครูไทยพุทธ ครูไทยมุสลิม ตลอดจนครูโรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐ หรือครูในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามตามปอเนาะ จะอยู่ในแนวทางเดียวกันคือ การที่ต้องดูแลความปลอดภัยขั้นสูงสุด
เมื่อผู้ไม่หวังดีพยายามใช้กลยุทธ์ทางจิตวิทยาสร้าง “ความกลัว” ให้เกิดในกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา นี่คือโจทย์ที่ฝ่ายความมั่นคงต้องปกป้องชีวิตครูทุกคน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32745&Key=hotnews