ถกปฏิรูปหลักสูตร-ตำรา ป.1-ม.3 หั่นสาระวิชาเหลือ 6 กลุ่ม/ม.ปลายแตกรายวิชามากขึ้น

17 เมษายน 2556

ภาวิช” นัดประชุม คกก.ปฏิรูปหลักสูตรและตำราฯ รอบ 2 วันที่ 20-21 เม.ย.นี้ เผยเตรียมถกลงลึกรายละเอียดหลักสูตรใหม่ที่หั่นเหลือ 6 กลุ่มสาระเฉพาะ ป.1-ม.3 ว่าจะกำหนดน้ำหนักแต่ละกลุ่มและชั่วโมงเรียนอย่างไร ส่วน ม.ปลายจะแตกกลุ่มสาระให้เป็นรายวิชามากขึ้น ตั้งเป้านำร่องใช้หลักสูตรใหม่ ปีการศึกษา 2556 นี้ ใน รร.สาธิตและ รร.ชั้นนำของ สพฐ. หากสำเร็จค่อยประกาศใช้ทั่วประเทศ

ศ.พิเศษภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยความคืบหน้าการปฏิรูปหลักสูตรฯ ว่า เบื้องต้นเราได้กำหนดหลัก สูตรใหม่ให้มี 6 กลุ่มสาระ ได้แก่ 1.ภาษาและ วัฒนธรรม (Language and Culture) 2.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Work Life) 4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร (Media Skill and Communication) 5.สังคมและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity) และ 6.อาเซียน ภูมิภาคและโลก (Asean Region and World) จากปัจจุบันที่แบ่งเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังลงในรายละเอียดแต่ละกลุ่มสาระแล้ว ซึ่งน่าจะชัดเจนขึ้นหลังจากประชุมคณะกรรมการฯ ชุดที่ตนเป็นประธาน ในวันที่ 20-21 เม.ย.นี้

ประธานฯ กล่าวอีกว่า ซึ่งขอบเขตการประชุมดังกล่าว ได้แก่ การออกแบบภาพกว้างการเรียนตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่จะแบ่งเป็น 6 กลุ่มสาระ จะมีรายละเอียดอะไรบ้าง ทั้งกำหนดน้ำหนักกลุ่มต้องมีสัดส่วนเท่าไหร่ แล้วกำหนดเป็นรายชั่วโมงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีบางกลุ่มสาระเมื่อถึงระดับชั้น ม.ปลาย ก็ต้องแตกเป็นรายวิชา อย่างกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ช่วงประถมศึกษากับ ม.ต้น หรือ 9 ปีแรกอาจเรียกอย่างนี้ แต่เมื่อถึง ม.ปลาย หรือ 3 ปีหลังก็ต้องแตกเป็นรายวิชา เช่น วิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การออกแบบหลักสูตรครั้งนี้ก็มีโจทย์ท้าทายหลายอย่าง ทั้งกรณีหลักสูตรจะช่วยให้นักเรียนทำอะไรได้บ้าง สำหรับกลุ่มนักเรียนที่ประสงค์เรียนแค่ ม.6 ขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้นักเรียนกลุ่มนี้แทนที่จะเรียนถึงแค่ ม.6 ก็ให้ไปเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แทน เพราะที่สุดแล้วก็จะมีลู่ทางการทำงานที่ดีกว่าการจบ ม.6 แน่นอน หรือหากจะต่อยอดการศึกษาก็ยังสามารถเรียนถึงประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และเรียนต่อระดับปริญญาตรีสายปฏิบัติการของสถาบันการอาชีวศึกษาได้อีก ฉะนั้นนอกจากเราจะปรับเรื่องระบบการศึกษา ก็ต้องปรับระบบแนะแนวใหม่ด้วย เพื่อจะสามารถกระจายคนเรียนสายอาชีพมากขึ้นได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลักสูตรใหม่จะออกแบบมารองรับกับการใช้แท็บเล็ตที่รัฐบาลเตรียมขยายแจกในหลายชั้นเรียนอย่างไร ศ.พิเศษภาวิชกล่าวว่า เรื่องนี้เราต้องออกแบบการใช้แท็บเล็ตให้เข้ากับหลักสูตรใหม่มากกว่า ซึ่งหัวใจสำคัญคือเนื้อหาที่ปรากฏในแท็บเล็ตที่ต้องเปิดกว้างและเสรีในการจัดทำ และต้องไม่ใช่การที่ภาครัฐจ้างภาคเอกชนจัดทำแล้วอัดเนื้อหาเข้าไปอย่างเดียว เพราะหากทำอย่างนี้ เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อหาเหล่านั้นก็จะล้าสมัย อย่างไรก็ตาม การจัดทำเนื้อหาที่ดีควรเปิดตลาดให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะภาคเอกชนจะแข่งขันกับเนื้อหาอีเลิร์นนิงที่ทันสมัยอยู่ตลอด มิฉะนั้นก็จะขายไม่ได้

“คงเป็นวิธีที่ผิดหากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะไปจ้างบริษัทเอกชนมาทำเนื้อหาอีเลิร์นนิง ฉะนั้นต้องใช้วิธีใหม่ ซึ่งแนวคิดนี้จะรวมไปถึงการจัดทำตำรา ตามโครงการตำราแห่งชาติของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม การที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังจัดทำเนื้อหาอีเลิร์นนิงเพื่อบรรจุในแท็บเล็ตเอง ก็เป็นวิธีที่ใช้ในระยะเริ่มต้นได้ เพื่อไม่ให้แท็บเล็ตเป็นเครื่องเปล่า แต่ในระยะยาวต้องมีการเปิดเสรีการจัดทำเนื้อหา” ศ.พิเศษภาวิชกล่าว

ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่นั้น คิดว่าน่าจะเริ่มทดลองใช้ได้ในปีการศึกษา 2556 นี้ โดยเฉพาะกับโรงเรียนชั้นนำ เช่น โรงเรียนสาธิตของบางมหาวิทยาลัย โรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงบางแห่งของ สพฐ. เป็นต้น จนเวลาผ่านไป ซึ่งก็อาจใช้เวลาหลายปีที่หลักสูตรใหม่ใช้ได้ประสบผล ก็ค่อยทยอยปรับใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป อย่างไรก็ดี มองว่าหลักสูตรก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การศึกษาประสบผลสำเร็จ และเป็นเหมือนพิมพ์เขียวที่คอยกำหนดทิศทาง ถึงแม้คนที่มาขับเคลื่อนจะทำเป็นหรือไม่เป็นบ้าง ก็ยังเดินอยู่ในแนวทาง แต่หลักสูตรก็ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เพราะที่สุดแล้วทั้งตัวครูและระบบการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้าง ศธ. ที่ต้องรองรับและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราถึงจะไปสู่ความสำเร็จได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32432&Key=hotnews

Leave a Comment