กระทรวงวัฒนธรรมตั้งโครงการ “นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่น.ร.พิการ”

5 มกราคม 2550

รายงานการศึกษา  กุมารี วัชชวงษ์

เพื่อเด็กๆ ผู้พิการทางร่างกายได้เปิดรับสุนทรียภาพ สัมผัสซาบซึ้งศิลปวัฒนธรรม ได้เล่นดนตรี ระบำรำฟ้อน โครงการ “เอื้ออาทรและห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” จึงก่อกำเนิดขึ้นโดยวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เป็นโครงการนำร่องของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยจัดครูนาฏศิลป์และดนตรีไทยหลักสูตรระยะสั้นสอนนักเรียนผู้พิการ นอกจากความรู้ เด็กๆ ยังได้ผ่อนคลายความเครียด ใกล้ชิดศิลปะ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญ กระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้

โรงเรียนในโครงการ ประกอบด้วย “โรงเรียนกาวิละอนุกูล” สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสมองและสติปัญญา คุณครูที่เข้าไปคือครูสอนการฟ้อนงิ้ว ศิลปะของภาคเหนือ สอนด้วยความเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่มักจะมีสมาธิสั้น จึงสลับด้วยการให้เล่มเกมสนุกสนาน ขณะที่ “โรงเรียนโสตอนุสารสุนทร” เป็นสถานศึกษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางหู ก่อนจะมาคุณครูจึงต้องฝึกเรียนภาษามือเพื่อสื่อสารอธิบายท่าทางการเต้นและการฟ้อนรำให้เด็กๆ และที่สุดก็รำได้สวยตามจังหวะทั้งที่ไม่ได้ยินดนตรี สุดท้ายคือ “โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ที่นี่ วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ค้นพบช้างเผือก เด็กพิการทางสายตา 5 คน ได้เข้าเป็นนักเรียนเพื่อเป็นนักดนตรีไทยต่อไป

หลังจากลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการนำร่อง “เอื้ออาทรห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่จัดครูเข้าไปสอนเด็กผู้พิการตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา โดยวธ.ต้องการส่งเสริมสติปัญญา ดึงความสามารถของเด็กออกมา ที่สำคัญมีเด็กหลายคนที่มีความสามารถพิเศษด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย อย่างเด็กที่มีความพิการทางสายตาจะมีประสาทสัมผัสทางการได้ยินดีมาก บางรายเป็นอัจฉริยะทางดนตรีไทยได้เลยทีเดียว ดังนั้น วธ.จะสนับสนุนเด็กเหล่านี้โดยรับไว้เป็นนักเรียนในสังกัดวิทยาลัยนาฏศิลป์ และส่งเสริมให้ศึกษาต่อสาขาดนตรีในระดับอุดมศึกษา หากเด็กมีความตั้งใจและผลการเรียนดีก็จะหาทุนเพื่อส่งเสริมให้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอก เพื่อให้กลับมาเป็นอาจารย์สอนด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยต่อไป

“การสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้กับนักเรียนผู้พิการจะช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าว และเด็กสามารถนำพื้นฐานจากนาฏศิลป์และดนตรีไทยไปปรับใช้ในชีวิตด้านอื่นๆ อาทิ เด็กหูหนวกบางคนมีความตั้งใจเรียนนาฏศิลป์และรำไทยมาก หากมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเด็กอาจเรียนต่อในระดับปริญญาตรีและนำไปใช้ประกอบอาชีพ หรือเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนได้ด้วย ทางด้านครูที่เข้าไปก็พบว่าครูที่ไปสอนในวันเสาร์อาทิตย์นั้นทำด้วยใจจริงๆ โดยวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่เป็นต้นแบบการสอนนาฏศิลป์และดนตรีไทยให้กับผู้พิการ มีการจัดทำคู่มือการเรียนดนตรีไทยเป็นอักษรเบรล ดังนั้น ผมจะขยายผลการจัดโครงการนี้ไปยังวิทยาลัยนาฏศิลป์กรุงเทพฯ และประสานความร่วมมือกับโรงเรียนเศรษฐเสถียรต่อไป” ปลัดวธ.กล่าว

ด้านนางเพียงแข จิตรทอง อาจารย์ผู้สอนนาฏศิลป์และการฟ้อนรำให้กับน้องๆ ผู้พิการทางหู เปิดเผยว่า ตนและอาจารย์จันทิวา เกษร เพื่อนครูที่ช่วยกันสอนนักเรียนหูหนวกต้องฝึกหัดเรียนภาษามือให้เข้าใจ ขณะเดียวกัน ก็จะมีอาจารย์ของโรงเรียนโสตอนุสารสุนทรช่วยแปลภาษามือสอนการรำให้กับนักเรียนอีกทอดหนึ่ง โดยครูจะสาธิตให้ดู ซึ่งแม้เด็กๆ จะมีการนับจังหวะท่ารำแตกต่างจากคนทั่วไป แต่สามารถนับจังหวะและเรียนรู้นาฏศิลป์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะความชื่นชอบ มีความสนใจ และมีพรสวรรค์ สามารถจดจำท่าได้เร็วไม่แพ้กัน

“น้องเฟย”น.ส.สุดารัตน์ พนมพิบูลย์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โสตอนุสารสุนทร ส่งภาษามือเล่าว่า ชอบเรียนนรำไทยมากเพราะทำให้บุลคิกภาพดีขึ้น อีกทั้งเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่สวยงาม และเยาวชนควรสืบสานต่อไป น้องเฟยไม่ชอบการเต้นสมัยใหม่ที่มีท่าทางยั่วยวนและใส่เสื้อผ้าโป๊เปลือย ซึ่งดารานักร้องในปัจจุบันเป็นตัวอย่างให้วัยรุ่นทำตาม ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากเคยเป็นสังคมที่เรียบร้อย มีมารยาท เปลี่ยนเป็นสังคมที่วุ่นวายยุ่งเหยิง เกิดปัญหาตามมา จึงอยากเชิญชวนให้เด็กรุ่นใหม่ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมไทยเอาไว้ แล้วเลือกเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกในด้านดีๆ จะเหมาะสมกว่า

นักเรียนจากโครงการ “เอื้ออาทรและห่วงใย นาฏศิลป์ดนตรีไทยสู่คนพิการ” ฝากถึงเยาวชนทุกคน

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2370&Key=hotnews

Leave a Comment