“การศึกษา” รากฐานแห่งความ “พอเพียง”

5 มกราคม 2550

เป็นที่ทราบกับดีว่าหลักความ “พอเพียง” สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งใดก็ได้ ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยวิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้วและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นลำดับต่อไป…”

ดั่งพระราชดำริที่ทรงเน้นว่า “การพัฒนาความเจริญต้องพัฒนาขึ้นจากพื้นฐานที่มั่นคง” ซึ่ง…พื้นฐานจะมั่นคงได้ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ “การศึกษา” เนื่องในโอกาสพิเศษคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานปีใหม่รังสรรค์สิ่งดีเพื่อชีวิตสดใส ได้รับเกียรติจาก รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับสถานศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายขวัญแก้วบอกว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนมีการศึกษา ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้ดี ทัดเทียมกันหมด ทุกอย่างก็จะเป็นไปได้ดี

“การศึกษาเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นมาก จะเห็นได้จากทรงมีพระบรมราโชบายให้เปิดโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เมื่อปี 2531 ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช โดยจัดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ ป.1-ม.6 และให้โรงเรียนดำเนินการตามพระบรมราโชบาย คือ สอนให้นักเรียนรู้จักรักษาความสะอาด เริ่มตั้งแต่ ป.1 พระองค์ทรงเน้นให้เด็กรักความสะอาด เด็กต้องรู้จักซักผ้าเอง ทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำให้สะอาด เพราะพระองค์ทรงถือว่า ห้องน้ำเหมือนห้องรับแขก ทุกอย่างเด็กต้องทำได้ด้วยตัวเอง”

นายขวัญแก้วเล่าว่า เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นให้เด็กทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะมีพระราชประสงค์ให้เด็ก “รู้จักการช่วยเหลือตนเอง” ซึ่งเป็นสิ่ง “สำคัญที่สุด”

“อีกข้อที่ทรงเน้นคือ การอบรมสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดี มีเมตตากรุณา ดั่งที่สมเด็จย่าตรัสว่า ความเมตตาคือความสงสาร ส่วนความกรุณา คือ ช่วยตามกำลังความสามารถของตนเอง ไม่ใช่ช่วยเพราะอำนาจ เช่น ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน แทนที่มีน้อยจะทำน้อย กลับไปยืมเงินคนอื่นมาทำเกินฐานะ”

รองเลาขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บอกอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชประสงค์ให้ปลูกฝัง ความประพฤติเรียบร้อย กตัญญูกตเวที ความขยันหมั่นเพียร มีจิตใจโอบอ้อมอารี และรู้รักสามัคคคีเพื่อสันติสุข

“เรื่องสุดท้ายที่ทรงเน้นคือ ให้นักเรียนดำรงชีวิตโดยยึดหลักพอเพียง คือ เมื่อจบจากโรงเรียนไปแล้วสามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงอธิบายว่า ถ้าหากจบมหาวิทยาลัยแล้วเดินเตะฝุ่น นี่ไม่ใช่พระราชประสงค์ แต่ถ้าจบมัธยมแต่สามารถอยู่ได้ด้วยลำแข้งตนเอง สิ่งนี้ต่างหากที่ถือว่าเยี่ยม”

นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ “นักเรียน-นักศึกษา” สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็น “ผู้ใหญ่” ที่รู้จักความ “พอเพียง” อย่างลึกซึ้ง

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: http://www.matichon.co.th/

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2368&Key=hotnews

Leave a Comment