คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ปัญหา…อนาคต’แท็บเล็ต’

8 พฤษภาคม 2556

ธเนศน์ นุ่นมัน ผ่านไปกว่า 8 เดือน นักเรียนชั้น ป.1 ทั้งหมด 8.6 แสนคน ได้ลองใช้แท็บเล็ตจากนโยบายรัฐบาล ที่เริ่มแจกตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยสรุปว่า แท็บเล็ตยังสนับสนุนการเรียนการสอนได้ไม่ดีนัก เนื่องจากเนื้อหาของหนังสือที่มีอยู่ในแท็บเล็ตเน้นการแปลงจากหนังสือเรียนมาเป็นไฟล์พีดีเอฟ หรือส่วนใหญ่ยังเป็นเพียง 2 มิติขาดการสร้างรูปแบบบทเรียนต่างๆ อยู่
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำวิจัยผลการใช้งานแท็บเล็ตของนักเรียนชั้น ป.1 กับโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 503 โรงเรียน นักเรียน 7,078 คน ครูผู้สอน 533 คน เน้นเก็บข้อมูลผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจริงๆ หวังจะนำผลการวิจัยมาเป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับแนวทางการใช้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้แบบใหม่
ผลวิจัยที่ได้ระบุในเชิงบวกว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เด็กชั้น ป.1 ตื่นตัวใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเองยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการได้ดียังพบด้วยว่าเด็ก 72% ใช้แท็บเล็ตสืบหาความรู้เอง รวมถึงนำมาทำความเข้าใจและสรุปเป็นองค์ความรู้
ปัญหาที่พบจากการใช้แท็บเล็ตเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่น การชาร์จแบตในโรงเรียน แบตเตอรี่หมดเร็วเครื่องทำงานช้าและดับเองเด็กมีอาการปวดเมื่อยนิ้วปวดตา เคืองตา แสบตา เวียนหัว ปวดบริเวณคอและไหล่ และปวดหลังบ้างเล็กน้อยจากการใชแท็บเล็ต ยังพบอีกว่าเด็กชั้น ป.1 เล่นกับเพื่อนน้อยลง หลังจากได้รับแท็บเล็ตประมาณ 35.96%
งานวิจัยของ สพฐ.เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาว่า ทำเอง ชงเอง จึงยากที่จะเห็นผลลบต่อโครงการแท็บเล็ต  เพราะเนื้อหางานวิจัยไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ปกครองทั่วประเทศอยากได้ยินจาก สพฐ. คือแผนระยะยาวที่วางไว้สำหรับแท็บเล็ตที่จะเริ่มกลายเป็นอุปกรณ์ตกรุ่นใกล้สิ้นสุดระยะประกัน
แท็บเล็ตรอบแรกยังมีคำถามหลายเรื่องอย่างไรก็ตามการจัดซื้อแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.1 และ ม.1 ปีการศึกษานี้ อีก 1.7 ล้านเครื่องก็เดินหน้าเต็มสูบ ขณะเดียวกันสำนักงบประมาณ ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับลดงบปี 2557 ในโครงการจัดซื้อแท็บเล็ตนักเรียนชั้น ป.4 และ ม.4 วงเงิน 7,000 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของโครงการ

สพฐ.ได้ออกมาชี้แจงกรณียื่นงบแบบตีเช็คเปล่าว่านักเรียนหรือ ม.4 เป็นต้นไป ต้องใช้คอมพิวเตอร์สำหรับชิ้นงานที่ซับซ้อนขึ้น ต้องมีสมรรถนะสูงกว่าแท็บเล็ต ถือเป็นครั้งแรกที่ สพฐ.ออกมาแตะเบรกการจัดซื้ออุปกรณ์นี้ และเป็นคำถามใหม่ถึงโครงการนี้ว่าในอนาคตจะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32630&Key=hotnews

Leave a Comment