คอลัมน์: รายงานพิเศษ: ไทย ชูยกระดับคุณภาพการศึกษา…บนเวทียูเนสโก

19 พฤศจิกายน 2556

วารินทร์ พรหมคุณ
องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization :UNESCO) มีภารกิจหลักครอบคลุมการส่งเสริมด้านการศึกษาพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์วัฒนธรรม และการสื่อสาร เพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิก

และในทุก 2 ปี ยูเนสโกจะจัดประชุมสมัยสามัญ ซึ่งในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 37 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีสสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก 194 ประเทศเข้าร่วมสำหรับประเทศไทย มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลไทยที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย และในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ด้วย

Ms.Alissandra Cummins  ประธานคณะกรรมการบริหารยูเนสโก กล่าวว่า ประชาคมโลกมีพันธกิจร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะรวบรวมความคิดของผู้นำด้านการศึกษา นำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคต เพื่อก่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างยั่งยืน โดยยูเนสโกจะเป็นหุ้นส่วนสำคัญของโลกในการให้ประชาคมโลกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาภายหลังปี 2558

Mrs.Irina Bokova  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก กล่าวว่า ภายหลังปี 2558 ประชาคมโลกจะต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการขจัดความยากจน การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เคารพในสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมสันติภาพ และการดำเนินงานด้านการศึกษาจะเป็นวาระสำคัญ โดยจะต้องมีการดำเนินงานในลักษณะข้ามสาขา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาของ 2558 ซึ่งเด็กทุกคนจะต้องได้เรียนหนังสือและประชาชนทุกคนมีการศึกษาตลอดชีวิต ขณะเดียวกันจะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนให้มีนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะที่เป็นสตรี ทั้งนี้ ยูเนสโกจะต้องมีบทบาทสำคัญและกำหนดบทบาทที่ชัดเจนในวาระการพัฒนาภายหลังปี 2558

สำหรับประเทศไทย…นายจาตุรนต์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้แทนรัฐบาลไทย ได้แถลงต่อเวทีนี้ โดยมุ่งเน้นความสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนของโลก ให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ริเริ่ม “การจัดการศึกษาเพื่อปวงชน”  เมื่อปี 2543 และยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพื่อประชาชนคนไทยได้เข้าถึงการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่สังคมแห่งความรู้ สังคมแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม และมีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้ ในปี 2557 ประเทศไทยยังรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก เพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ภายหลังปี 2558 ต่อไป

“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการจัดการศึกษาเพื่อให้คนไทยทุกคนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถประสบผลสำเร็จในการดำรงชีวิต โดยในปี 2557 รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณร้อยละ 20.5 ของงบประมาณชาติ ให้แก่การจัดการศึกษา เพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนอย่างมีศักยภาพ อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศวาระแห่งชาติด้านการศึกษาให้ปี 2556 เป็นต้นไป เป็นปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งเน้นความสำคัญในการวางรากฐานพัฒนาเด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ การพัฒนาทักษะชีวิต การรู้หนังสือ และการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ในทุกระดับ ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษาโดยปฏิรูปการศึกษาแบบบูรณาการมีการเชื่อมโยงกัน”

นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ยังแสดงความเห็นสอดคล้องว่าวาระการพัฒนาในอนาคตจะต้องตั้งอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชน และการยึดมั่นในค่านิยมสากลแห่งความเท่าเทียมกันความยุติธรรม และความมั่นคงของประชาชนทุกคน โดยให้การสนับสนุนข้อริเริ่ม”Global Education First Initiative”ทั้งโลก..การศึกษาต้องมาก่อน

“นโยบายการจัดการศึกษาของไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาของยูเนสโก ที่มองโลกในอนาคต เราจะส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ให้ความสำคัญต่อการสร้างองค์ความรู้ ค่านิยม ทักษะในการดำรงชีวิตซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการสร้างสังคมแห่งความร่วมมือ ความมีสันติภาพ และเป็นสังคมที่ประชาชนมีความร่มเย็นเป็นสุข

…ประเด็นหนึ่งที่ไทยกำลังเร่งพัฒนาคือ การสนับสนุนเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญพัฒนาการเรียนการสอน เนื้อหาบทเรียน มาตรฐานการเรียนรู้ และการประเมินผล ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาโดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมความรู้ เสริมสร้างทักษะและการจ้างงาน และสุดท้ายนี้รัฐบาลไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับยูเนสโก โดยเฉพาะเรื่องพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาสู่ประชาชนอันเป็นเครื่องมือขจัดปัญหาความยากจน การป้องกันความรุนแรง และส่งเสริมให้เกิดสันติภาพโลกอย่างยั่งยืน

ด้านนางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานฝ่ายการศึกษา ยูเนสโก ได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานของยูเนสโกโดยเฉพาะเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน  Education for All หรือ EFA2015 ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาตลอดชีวิตการเพิ่มโอกาส การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของไทย ที่มุ่งเน้นคุณภาพ เพิ่มโอกาส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการศึกษาต่อเนื่อง…การเข้าถึงการบริการการศึกษา การส่งเสริมให้ประชาชนไทยอ่านออกเขียนได้ การปฏิรูปหลักสูตร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นประชาคมโลกที่ทรงประสิทธิภาพตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในทศวรรษที่ 21…รู้ใช้เทคโนโลยี คิดวิเคราะห์ได้ และเป็นกำลังพลที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานโลกอนาคต เป็นต้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=34827&Key=hotnews