คอลัมน์: อาชีวะ…สร้างสรรค์: “ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

23 พฤษภาคม 2556

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมง สังกัด สอศ.มาตั้งแต่ปี 2546

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” อย่างเป็นทางการ กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการร่วมกัน 3 ปี

ความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองแนวพระราชดำริเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้ครู นักเรียน นักศึกษา และชุมชน คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ในด้านชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนท้องถิ่น ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน วิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ ส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพใน 4 กิจกรรม คือ การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์น้ำ ปศุสัตว์ และการรักษาสิ่งแวดล้อม, เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ในการทำเกษตรกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนให้ ครู นักเรียน นักศึกษา ได้ทดลอง คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

มีวิทยาลัยทำหน้าที่ศูนย์ประสานงานโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระดับภาค4 แห่ง เพื่อประสานการดำเนินงาน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานประจำปี ทั้งระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่น เข้ารับรางวัลจาก กฟผ.และเผยแพร่ผลการดำเนินงานในระดับประเทศ
กฟผ.จะมีหน้าที่นำเสนอรายละเอียดของโครงการให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่เข้าร่วมรับทราบ เพื่อนำไปปฏิบัติ สนับสนุนงบประมาณให้แก่วิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ แห่งละ 20,000 บาท สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น จัดเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสานงาน และติดตามผลการดำเนินงาน สนับสนุนการตรวจประเมินผลการดำเนินตามโครงการ และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด และสนับสนุนด้านวิชาการ
สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ จะส่งกิจกรรมเข้ารับการประเมินผลซึ่งได้แก่ ผลการดำเนินงานภายในสถานศึกษา และการขยายผลสู่ชุมชน และ/หรือ การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยมีผู้แทน กฟผ.และ สอศ. ร่วมเป็นคณะกรรมการประเมินผล

นอกจากนี้ ทั้ง สอศ.และ กฟผ.ยังต้องร่วมกันประชาสัมพันธ์โครงการ และจัดกิจกรรมเผยแพร่ผลการดำเนินงานในรูปแบบการประชุมวิชาการ และ/หรือนิทรรศการระดับประเทศ อย่างน้อย 1 ครั้ง
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ว่า “เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาด้านเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตของท้องถิ่น ตลอดจนรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็งด้วยการพึ่งพาตนเอง จะเป็นอีกกำลังสำคัญในการพัฒนาให้สังคมไทยมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง และนำพาประเทศสู่ความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน  นับเป็นอีกโครงการดีๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สอศ.และ กฟผ.
www.vec.go.th

–มติชน ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)–

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32802&Key=hotnews