ยุบ ร.ร.ขนาดเล็ก เน้นบริหารไม่ใช่ นร.

23 พฤษภาคม 2556

นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพ(สวพ.) และอดีตคณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)  กล่าวในการแถลงข่าวกรณีรมว.ศึกษาธิการมีนโยบายสั่งยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 1.7 หมื่นแห่งทั่วประเทศที่อาคารศศินิเวศน์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คนควรแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่อยู่ๆประกาศยุบไปเลย หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่บนพื้นราบที่ตั้งอยู่ห่างกันไม่ถึง 15 กิโลเมตร ก็วางระบบบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเน้นปัจจัยสำคัญได้แก่ ครู นักเรียน หลักสูตรและอุปกรณ์การศึกษา เช่น จัดครูมาสอนเพิ่มเติมโดยจ้างครูเกษียณในวิชาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และมีรถรับส่งครูให้มาสอนที่โรงเรียน หรือหากกรณีจำเป็น เช่น โรงเรียนมีนักเรียนไม่ถึง 10 คน มีครูไม่ครบชั้นเรียน ก็ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อจัดรถรับส่งเด็กไปเรียนในโรงเรียนใกล้เคียงที่มีความพร้อมด้านครูมากกว่า

“หากดำเนินการข้างต้นไปแล้วผู้ปกครองและชุมชนเห็นว่าคุณภาพการศึกษาไม่ดีขึ้น ถ้าจำเป็นจะต้องยุบโรงเรียนจริงๆเชื่อว่าผู้ปกครองชุมชนคงยอมรับได้ เมื่อทำเช่นนี้แล้วโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพ ก็จะลดจำนวนลงไปเรื่อยๆจนเหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆขณะเดียวกันก็ต้องดูแลเด็กที่มีอยู่วัยเรียนและต้องย้ายติดตามพ่อแม่ไปในพื้นที่ต่างๆเช่น งานก่อสร้าง ทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 1 แสนคนด้วย” นายชัยณรงค์ กล่าว

อดีตกรรมการบริหารสมศ.กล่าวต่อไปว่า ศธ.จะต้องส่งเสริมให้โรงเรียนรัฐบาลที่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดซึ่งมีประมาณ 8 พันแห่งทั่วประเทศให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลลักษณะเดียวกับโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เนื่องจากโรงเรียนกลุ่มนี้มีความพร้อมด้านครูและบุคลากร รวมทั้งการสนับสนุนของผู้ปกครองและชุมชนก็ควรให้ความเป็นอิสระในการบริหารเพื่อให้ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 175 แห่งจะได้มีเวลาไปดูแลโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ที่มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32803&Key=hotnews