คุณภาพนักเรียน3จว.ใต้ เรื่องใหญ่ที่รอรัฐบาลเยียวยา

3 มกราคม 2550

เด็กนักเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ผู้บริหาร ครู อาจารย์ ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญทำให้คุณภาพนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

เห็นได้ชัดจากคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ทั้ง 5 วิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ฟ้องชัดเจนว่า นักเรียนในพื้นที่ดังกล่าวได้คะแนนต่ำที่สุดของประเทศมานานแล้วเพราะรูปแบบจัดการศึกษาที่รัฐจัดให้ ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านที่กว่า 80% นับถือศาสนาอิสลาม พูดภาษามลายู

รวมทั้งตามหลักศาสนาเด็กๆ มุลสิมต้องเรียนศาสนาที่โรงเรียนตาดีกา จนจบตามหลักสูตรอิสลามศึกษาทั้ง 3 ระดับคือ อิลสามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮ์) อิสลามศึกษาตอนกลาง(มุตวัษซีเฎาะฮ์)และอิสลามศึกษาตอนปลาย(ซานวียะฮ์) เมื่อจบหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลายเรียกว่าจบอนุปริญญาด้านศาสนาอิสลาม สามารถเรียนศาสนาระดับสูงที่ต่างประเทศได้ ขณะที่รัฐบาลไทยออกกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ (ม.3)เด็กๆมุสลิมจึงต้องเรียนศาสนาที่ตาดีกาในช่วงเย็นหรือเสาร์-อาทิตย์ และเรียนสายวิชาสามัญวันจันทร์-ศุกร์

เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ เด็กมุสลิมหลายคนเรียนต่อในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แทนที่จะเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมทั่วไปในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่สอนศาสนาในช่วงเช้า และสอนวิชาสามัญในช่วงบ่ายเพราะต้องการให้ลูกหลานได้เรียนศาสนา และตัวเด็กเองไม่ต้องทำงานหนัก

กระทรวงศึกษาธิการจึงส่งเสริมให้โรงเรียนของรัฐหัดเปิดหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อให้เด็กมุลสิมเรียนในโรงเรียนของรัฐ ขณะนี้นำร่องไปแล้วใน 142 โรงเรียน ก่อนจะขยายผลตามความสนใจของแต่ละโรงเรียนในปีการศึกษา 2550 และหลอมหลักสูตรสามัญกับหลักสูตรอิสลามศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อลดภาระการเรียนเด็กมุลสิม แต่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งคิดระบบเทียบโอนการศึกษาศาสนาด้วย โดยให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดปัตตานี (ศนจ.ปัตตานี) เป็นเจ้าภาพ

รวมทั้งส่งเสริมให้มีการสร้างวิธีการสอนภาษาไทยที่เหมาะสมกับภาคใต้ ให้โรงเรียนประถมศึกษาจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาเป็น 2 ภาษา ในชั้นเด็กเล็กให้ครูเปลี่ยนมาใช้ภาษามลายูถิ่นสื่อสารในห้องเรียนเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ภาษาไทย

มีการนำร่องวิธีการจัดการเรียนการสอน “สองภาษา” ไปแล้วในโรงเรียนประถม 12 แห่ง ก่อนที่จะมีการสรุปผลและขยายผลต่อไปรวมทั้งให้โรงเรียนเปิด “สอนภาษามลายูกลาง” ในโรงเรียน โดยเตรียมนำร่องที่โรงเรียนนราสิกขาลัย จ.นราธิวาส แต่ไม่ได้รับการตอบรับเพราะยึดทำตามนโยบายจากส่วนกลางเกินไป ไม่ได้คำนึงว่า วงจรชีวิตของชาวมุสลิมเจ้าของพื้นที่เป็นอย่างไรแล้วปรับให้สอดคล้องกัน

เพราะในความเป็นจริงระบบของการเรียนศาสนายังซ้ำซ้อน เด็กที่เรียนอิลสามศึกษาตอนต้นหรืออิบติดายะฮ์แล้ว เมื่อเรียน ม.ปลาย ที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิลสาม ต้องเรียนอิบติดาอียะฮ์ซ้ำอีก บางครั้งจนจบ ม.6 แล้วเด็กยังเรียนไม่จบหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนปลาย ต้องเรียนอีก 1 ปีทำให้เสียโอกาสไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย และยังเป็นช่วงเวลาที่เด็กวัยรุ่นเหล่านี้ถูกชักจูงได้ เพราะพวกเขามีเวลาว่างหลังเรียนศาสนาอยู่มาก

ฉะนั้นหากเปิดโอกาสให้มี “การเทียบโอนวิชา” ที่พวกเขาเรียนมาแล้วได้ เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้ว ไม่ต้องเรียนซ้ำซ้อน ทำให้เขาเหลือเวลาที่จะเรียนวิชาการเสริมได้ ล่าสุด ศธ.ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปเปิดสอนระดับ ปวช.ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพิ่มช่องทางชีวิตให้นักเรียนของโรงเรียนกลุ่มนี้ หากไม่สามารถเรียนต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยสามารถหางานทำได้ หรือเบนเข็มไปเรียนต่อด้านอาชีพแทน

หากทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ จะทำให้ผู้ปกครองเปลี่ยนแนวคิดส่งลูกเรียนต่อในประเทศไทย จากเดิมที่ไม่นิยมส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการแต่ให้เรียนศาสนา เพราะเชื่อว่าการส่งลูกเรียนศาสนาอย่างน้อยยังทำให้มีงานทำ เป็นครูสอนศาสนา ไปเรียนต่อต่างประเทศโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อย เพราะมหาวิทยาลัยที่สอนด้านศาสนามีทุนการศึกษาให้ เช่นที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร ที่ประเทศอียิปต์ หรือถ้ามีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย

การทำให้คุณภาพนักเรียนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณจัดการศึกษา ให้เหมาะกับวิถีชีวิตมุสลิม ปรับระบบการเรียนการสอนที่เรียนได้ทั้งศาสนาและสามัญ เรียนจบแล้วมีงานทำ รวมทั้งมีระบบเทียบวุฒิการศึกษาให้นักเรียนที่ไปเรียนต่อศาสนาจากต่างประเทศ และมีงานรองรับ เมื่อกลับมาเมืองไทย จะมีชีวิตทีดีตามอัตภาพในสังคมที่เหมาะสมน่าจะทำให้ชาวไทยมุลสิมอยู่ได้อย่างพอเพียง ตามหลักการสอนของศาสนาอิสลาม

แหล่งที่มา/ผู้ส่ง ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=2290&Key=hotnews

Leave a Comment