ทปอ.หาทางกันลอกผลงาน

3 พฤษภาคม 2556

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณี ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ระบุถึงปัญหาการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ที่ยังไม่สามารถปราบปรามได้ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่งพยายามจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาอย่างเข้มข้น และมหาวิทยาลัยก็พอจะรู้ว่ามีบริษัทที่รับจ้างทำเรื่องเหล่านี้อยู่ ทั้งนี้มักจะพบปัญหาในกลุ่มนักศึกษาที่เรียนภาคพิเศษ ระดับผู้บริหารที่มาเรียน ส่วนใหญ่จะลอกผลงานมา แต่มหาวิทยาลัยก็สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีการหารือกันว่า ในอนาคต วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาทุกระดับจะต้องมีใบรับรองว่าผ่านการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้ลอกผลงานของคนอื่นมา จึงจะสามารถให้เข้าสอบและจบการศึกษาได้ และควรมีการแจ้งข้อห้ามในการทำวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาด้วย เช่น ห้ามคัดลอกผลงานผู้อื่นมาโดยไม่อ้างอิง เป็นต้น เพราะถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ผิดกฎหมายและต้องถูกถอดปริญญา

ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจ้างทำวิทยานิพนธ์ หรือการลอกผลงานทางวิชาการของผู้อื่นเท่ากับการทุจริตทางวิชาการ ซึ่งน่าห่วง และปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยมที่ทุกคนคิดว่าต้องมีปริญญาหลายใบเพื่อเพิ่มดีกรี และหลงผิดว่าจะได้มาโดยวิธีใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้อย่างแท้จริง ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้คนไปทำธุรกิจประเภทนี้ ถือว่าทำผิดทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง ดังนั้นหากจะเอาผิดก็ต้องเอาผิดทั้งคู่ เพื่อป้องกันไม่ให้วงวิชาการเสื่อมเสียไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามในส่วนของเครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์ฉบับภาษาไทยที่จุฬาฯ กำลังพัฒนานั้น คาดว่าจะใช้ได้ประมาณเดือนกรกฎาคมนี้.

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32593&Key=hotnews

Leave a Comment