มหา’ลัยลงขัน 200 ล้าน ยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะ

5 มิถุนายน 2556

ASTVผู้จัดการรายวัน – ม.รัฐ และม.เอกชน 33 แห่ง ร่วมมือเป็นเครือข่ายขอยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสาธารณะประเภท 1 ควักกระเป๋าลงขันเบื้องต้น200 ล้านบาท หวังเป็นต้นแบบทีวีมีสาระเน้นข่าวสารร้อยละ 75 ที่เหลือเป็นรายการบันเทิง

วานนี้ (4 มิ.ย.) จุฬากรณ์มหาวิทยาลัยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน ทปอ.พร้อมตัวแทนมหาวิทยาลัยรัฐ ที่เป็นสมาชิก ทปอ. 27 แห่งและมหาวิทยาลัยเอกชน 6 แห่ง ลงนามในความร่วมมือ “เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อบริการสาธารณะ”  เพื่อแสดงความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องบริการสาธารณะประเภทที่ 1 โดย ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ.2551 กำหนดให้สถาบันการศึกษามีสิทธิขอรับใบอนุญาตช่องกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โดยใช้คลื่นความถี่ประเภทสาธารณะ (Free TV) ซึ่งในการประชุม ทปอ.เมื่อวันที่ 28 เม.ย. จึงมีมติให้ยื่นขอใบอนุญาตทีวีดิจิตอลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยื่น โดยมอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้แทนทปอ.ในการยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งทางจุฬาฯทำหนังสือแจ้งมายัง ทปอ.เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ได้จัดทำแผนยื่นขอใบอนุญาต เรียบร้อยแล้ว

ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ตนหวังว่า กสทช.จะพิจารณาเราพอสมควรเพราะสามารถมองเห็นประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายบริการสาธารณะนี้ และยืนยันว่า จะเป็นโทรทัศน์ที่เป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ใครอยากทำก็ทำ หรือไม่ใช่มาแบ่งเวลากันแล้วใครอยากทำอะไรก็ทำ หรือเอานักศึกษาฝึกงาน หรือใครๆ มาทำก็ได้ แต่จะหามืออาชีพมาช่วยบริหารจัดการผังรายการเลือกผลิตรายการที่ตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเราอยากเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการสถานีที่มีรายการที่ดีและมีสาระเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ทปอ.ได้มอบหมายให้จุฬาฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อเสนอแผนงานเพื่อเตรียมเสนอต่อกสทช. ตนจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้น โดยมอบหมาย รศ.ทพ.นพ.ดร.สิทธิชัย ทัคศรี รองอธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธาน โดยในการยื่นขอใบอนุญาตนั้น จะให้รายละเอียดทั้งหมด 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต, บริหารผังรายการและงบประมาณ ส่วนของการบริหารงานนั้น จะดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ มีตัวแทนจาก 3 ส่วนคือ ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยที่ร่วมเป็นพันธมิตร ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกและตัวแทนภาคเอกชน

“ส่วนผังรายการนั้น ออกอากาศ 24 ชั่วโมง จะเป็นรายการข่าวสาร ความรู้ไม่น้อยกว่า 75% ที่เหลือเป็นรายการบันเทิง โดยใช้มืออาชีพจากภายในมหาวิทยาลัยและภายนอก รวมทั้งเครือข่ายของ ม.ต่างๆ มาร่วมกันผลิตรายการส่วนงบประมาณตั้งต้นนั้น มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งลงขันกันไว้ 200 ล้านบาท” ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน

http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32920&Key=hotnews